วัดพระธาตุแช่แห้ง อนุสรณ์ของความสัมพันธ์ ‘เมืองน่าน-เมืองสุโขทัย’ ในอดีต

 

วัดฯระฯพธาุตฯแช่แห้งฯ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “วัดพะทาดแจ้แห้ง”

หมายถึง วัดพระธาตุแช่แห้ง

วัดพระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 บ้านหนองเต่า ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน

อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร เดิมเป็นวัดราษฎร์ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ยๆ บนดอยภูเพียงแช่แห้ง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน บริเวณที่เป็นศูนย์กลางเมืองน่านเดิม หลังจากที่ย้ายมาจากเมืองปัว

องค์พระธาตุสามารถมองเห็นได้แต่ไกล เนื่องจากสูงถึง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 22.5 เมตร มีสีเหลืองอร่าม เพราะบุด้วยแผ่นทอง ลักษณะของเจดีย์เป็นทรงระฆัง ส่วนฐานทำเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ รองรับฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม และแปดเหลี่ยม ซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น

องค์ระฆังมีชั้นบัวคว่ำเหนือฐานแปดเหลี่ยม ตกแต่งคล้ายกลีบบัว หรือลายใบไม้แทน ลายดังกล่าวนี้คงได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่า ซึ่งนำมาต่อเติมขึ้นภายหลัง เมื่อล่วงเข้าพุทธศตวรรษที่ 24

พระธาตุแช่แห้งเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นอนุสรณ์ของความรักและความสัมพันธ์ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีต สร้างในสมัยเจ้าพระยาการเมือง (เจ้าผู้ครองนครน่าน ระหว่าง พ.ศ.1869-1902) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงิน และพระพิมพ์ทอง ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาการเมืองเสด็จไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัย (วัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ.1897

องค์พระเจดีย์ที่เป็นแบบล้านนา เป็นเจดีย์ทรงระฆัง สันนิษฐานว่าพระธาตุแช่แห้งได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย โดยรอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลืองผสมทองแดง) ทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่าน

ตามตำนานของวัดพระธาตุแช่แห้งกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง

พรฯธาตฯุแช่แห้งฯจังฯหวฯัดน่านฯ พระธาตุแช่แห้งจังหวัดน่าน

ภายในวัดพระธาตุแช่แห้งมีวิหารหลวง มีพระเจ้าล้านทอง ประดิษฐานอยู่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่เป็นศิลปะแบบล้านนา วิหารพุทธไสยาสน์ มีเจดีย์สีขาวศิลปะพม่าเป็นเจดีย์ที่จำลองมาไว้ให้กราบไหว้บูชา มีบันไดนาคสองตัว ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าพระบรมธาตุ เป็นมุมที่สามารถเห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองน่านได้ในบริเวณกว้าง

พระธาตุแช่แห้งยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษกน้ำบ่อแก้ว จังหวัดน่าน ใช้ทำน้ำอภิเษก โดยเมื่อปี พ.ศ.2373 เจ้าเมืองน่านได้ขุดบริเวณลอมเชียงของ พบว่ามีพลอยสีน้ำผึ้ง ขุดลึก 4 เมตร มีน้ำพุขึ้นในบ่อ น้ำก็ขึ้นมาเต็มปากบ่อ ประชาชนเชื่อถือว่าน้ำในบ่อนี้เป็นน้ำวิเศษ เรียกว่า น้ำบ่อแก้ว

พระธาตุแช่แห้งถือว่าเป็นมนต์เสน่ห์แห่งล้านนาตะวันออก เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของคนจังหวัดน่านมาอย่างยาวนาน ทุกปีจะจัดงานนมัสการพระบรมธาตุแช่แห้ง ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 6 (เหนือ) ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคม คนน่านเรียกกันว่า งานหกเป็ง นมัสการพระธาตุแช่แห้ง

ปัจจุบันกระทรวงวัฒนธรรมประกาศให้เป็นเทศกาลหนึ่งใน 16 เทศกาลประเพณีไทย เพื่อให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ตามคติการไหว้พระธาตุตามปีนักษัตรของคนล้านนา เชื่อว่าหากได้เดินทางไปนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง •