นกของพ่อ | เรื่องสั้น : กิติศักดิ์ ศรีแก้วบวร

เรื่องสั้น | กิติศักดิ์ ศรีแก้วบวร

นกของพ่อ

 

บ้านที่ผมอาศัยมาตั้งแต่เล็ก เป็นห้องแถวไม้สองชั้นอยู่ริมซ้ายสุด หน้ากว้างสี่เมตรสองห้องติดกัน เอาผนังกั้นออก ประตูบานเฟี้ยมยาวเป็นแนว หลังคามุงกระเบื้องดินเผา หน้าบ้านติดถนนสายเล็กทอดไปบรรจบถนนสายหลัก ถัดออกไปทางขวาเป็นห้องแถวของเพื่อนบ้านอีกหลายคูหา

ด้านหลังของบ้านมีลานดิน ให้พ่อได้ปลูกไม้ผลอย่างกระท้อน ชมพู่ มะม่วง กล้วย อย่างละต้นสองต้น อีกฟากเป็นแปลงผักสวนครัวย่อมๆ แซมด้วยไม้พุ่มดอกสวยอย่างดาวเรือง ดาวกระจาย บานชื่น เว้นทางเดินเล็กๆ ไปสู่ลำคลอง ริมซ้ายขวาปักลำไม้ไผ่เรียงเอาไว้ระดับเอว พอเป็นรั้วรอบขอบชิด สุดทางลงไปเป็นศาลาริมน้ำ

พ่อภูมิใจในบ้านหลังนี้มาก ด้วยสร้างจากน้ำพักน้ำแรง แม่เปิดบ้านด้านหนึ่งรับตัดเสื้อผ้า แม่ของผมวัยหกสิบสี่เป็นคนใจดี ขณะที่พ่อแก่กว่าสามปีเป็นคนค่อนข้างเคร่งขรึม แต่บทจะดีก็ดีใจหาย งานอดิเรกของพ่อหลังเกษียณราชการนอกจากอ่านหนังสือแล้ว มักจะขลุกอยู่หลังบ้านไม่ปลูกผักสวนครัว ก็ดูแลต้นไม้ที่ปลูกไว้ พ่อไม่ชอบสัตว์เลี้ยงอย่างแมวหรือสุนัขเหมือนบ้านอื่น ทว่าชอบเลี้ยงนกเป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะตระกูลนกเขา อย่างเช่น นกเขาใหญ่ นกเขาชวาและนกเขาไฟ หากตัวไหนตายลงก็หามาเลี้ยงใหม่แทน

แต่นั่นก็นานมาแล้ว…

 

“กรุ๊ก กรู้… กรุ๊ก กรู้… กรุ๊ก กรู้…”

ผมยังจดจำเสียงร้องของนกเขาใหญ่ในกรงหวายทรงกลม ที่พ่อแขวนเลี้ยงเอาไว้หลังบ้าน มันมักจะขันคูขึ้นเป็นจังหวะทุกเช้า หลังสิ้นเสียงดุเหว่าซึ่งแว่วมาไกลๆ ประสานเสียงไก่ขันตอนใกล้รุ่งได้เสมอ

นกเขาใหญ่ลำตัวสีน้ำตาล ขนด้านหลังสีเข้มกว่าส่วนท้อง หัวสีเทา ข้างคอและท้ายทอยมีแถบสีดำกว้าง และมีจุดกลมเล็กๆ สีขาวกระจาย มองดูคล้ายปกเสื้อ ส่วนนกเขาชวาหรือบ้างก็เรียกว่านกเขาเล็กนั้น ลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำตัวสีน้ำตาล หัวสีเทา ข้างคอมีแถบดำสลับขาวเป็นลายตามขวาง คล้ายลายของทางม้าลาย ส่วนหลังสีเข้ม ที่ท้องสีจาง

แต่นกเขาตัวที่ผมจำได้ติดตา คงไม่พ้นนกเขาไฟตัวผู้ หัวสีเทาน้ำเงิน ปีกกับลำตัวสีน้ำตาลแดง มีแถบสีดำที่ต้นคอ เหตุเพราะว่าพ่อนำมาเลี้ยงได้เพียงไม่กี่วัน ก็เกิดเรื่องไม่ดีขึ้นในบ้านไม่หยุดหย่อน วันแรกพี่ชายผมก็เล่นซนจนพลาดตกต้นไม้แขนเดาะ อีกสองวันถัดมาถึงคิวผมขี่จักรยานเหยียบก้อนหินบนถนน จนเสียหลักล้มกลิ้งได้แผลถลอกปอกเปิกทั่วตัว

แม่ฝังใจว่าเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้น ต้องเกิดจากนกตัวนั้นอย่างแน่แท้

“พ่อเอามันไปปล่อยไกลๆ เลยนะ ตั้งแต่ได้นกตัวนี้มา มีแต่ปัญหาในบ้านตลอดเลย” แม่เอ่ยขึ้นอย่างขุ่นเคืองขณะทำแผลใส่ยาให้ผม

“นกมันไปเกี่ยวอะไรด้วยเล่า” พ่อพูดขัดขึ้น

“เชื่อฉันเถอะ ปล่อยมันไปนะพ่อ” แม่อ้อนวอนอย่างกังวล

กระทั่งพ่อทนแรงกดดันของแม่ไม่ไหว จึงจำใจต้องปล่อยมันไปเพื่อตัดรำคาญ

 

นกปรอดหัวโขนเป็นนกอีกชนิดหนึ่งที่พ่อเลี้ยงไว้ มันเป็นนกขนาดเล็ก หัวสีดำ หงอนตั้งมองคล้ายหัวโขน แก้มสีขาว มีแถบแดงหลังตา ส่วนคอและลำตัวด้านล่างสีขาว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมดำ หางสีน้ำตาลดำ ปลายหางสีขาว และบริเวณก้นสีแดง ปกติมันเป็นนกป่า เสียงร้อง “ริก ริก…” สดใสไพเราะ ก้องกังวาน แต่เมื่อเกิดความนิยมนำมาประชันเสียงร้องในกรง มันจึงได้ชื่อใหม่ว่า นกกรงหัวจุก พ่อเลี้ยงมันไว้ในกรงไม้ทรงเหลี่ยม ให้กล้วยน้ำว้าสุก หนอนหรือแมลงกินทุกวัน ผมคลับคล้ายคลับคลาว่า บางตัวถูกขอยืมเอาไปเป็นนกต่ออยู่เนืองๆ

ตอนผมเรียนอยู่ชั้นประถมจำได้เลาๆ ว่าพอตื่นขึ้นล้างหน้าล้างตาแล้ว พ่อก็มักจะออกมาหลังบ้าน

“หวัดดี พ่อจ๋า” นกในกรงใหญ่มีหลังคากว้างยาวหนึ่งเมตรสูงเมตรเศษ ส่งเสียงเจื้อยแจ้ว เมื่อพ่อไปยืนข้างกรง

“เออๆ ว่าไงวะเจ้าทอง” พ่อเอ่ยทักทายนกขุนทอง ที่มีลูกศิษย์คนหนึ่งนำมาให้เลี้ยง อย่างอารมณ์ดี

“หวัดดี พ่อจ๋า หวัดดี พ่อจ๋า…” เจ้าทองกระโดดโลดเต้นดีใจ ส่งเสียงร้องซ้ำแล้วซ้ำอีก

นกขุนทองเป็นนกที่สามารถเลียนเสียงพูดของคนได้ ลำตัวป้อมสีดำเหลือบเป็นมัน หางสั้น ปีกแหลมยาว มีลายพาดสีขาวบริเวณขนปลายปีก มีติ่งเนื้อสีเหลืองสดคลุมทั่วท้ายทอยและใต้ตา ปากมีสีแดงส้ม

ด้วยความสงสัย เหตุใดพ่อฝึกให้นกขุนทองพูดอย่างคนได้ ผมจึงถามพ่อในวันหนึ่ง ก่อนได้คำตอบว่า การที่จะสอนนกขุนทองนั้น ต้องดูที่อายุของนกด้วย เพราะถ้านกอายุมากไปเกินหนึ่งปีจะสอนให้พูดให้จำได้ยาก หากเป็นลูกนกที่เราเลี้ยงมากับมือเลยยิ่งดี การสอนนกพูดควรใช้เวลาในช่วงเช้า โดยเริ่มสอนนกให้พูดจากคำสั้นๆ ก่อน เช่น แม่… พ่อ… ทอง… คุยกับมันทุกวันบ่อยๆ มันจะจำคำที่เราสอน กระทั่งเริ่มลอกเลียนแบบเสียงของเรา และจะค่อยๆ เปล่งเสียงออกมาทีละนิด เมื่อสามารถเปล่งเสียงได้อย่างชัดเจนแล้ว จึงสอนคำอื่นๆ ที่ยาวขึ้น พยายามสอนเพิ่มไปทีละนิด นกก็จะสามารถพูดออกมาได้เอง

“และที่สำคัญ ต้องจับมันตัดลิ้นเสียก่อน” พ่อเฉลยเคล็ดลับ

“หา!….” ผมอุทานด้วยความตกใจ

“ใช้กรรไกรตัดลิ้นมัน ให้ปลายมนเหมือนลิ้นคน มันจะพูดชัดขึ้น” พ่อยิ้มๆ อธิบายเพิ่ม

“แล้วมันไม่เจ็บเหรอพ่อ” ผมยังแปลกใจไม่หาย

“ก็ใส่ยาให้มันสิ คงไม่เจ็บมากหรอก” พ่อว่า

ทุกเช้าก่อนให้มันกินข้าวคลุกปลาย่างที่ปนพริกขี้หนูตำละเอียด พ่อจะคอยสอนให้มันพูดซ้ำๆ ว่า พ่อจ๋า พ่อจ๋า แรกๆ มันก็ไม่สนใจ พอนานเข้าจึงเริ่มตะแคงหูฟัง เอียงคอมองเวลาพ่อสอน

พอสายพ่อจะเปลี่ยนน้ำให้ มันจะลงเล่นน้ำสักพักจึงขึ้นมายืนเกาะคอน สลัดขนจนน้ำกระจาย ยืนผึ่งแดดไซ้ปีกไซ้หาง พ่อจะเด็ดพริกขี้หนูเม็ดเล็กสีแดงมาให้มันกินทั้งเม็ด แรกๆ ต้องจับป้อน พอเริ่มชินมันจะกระโดดมาริมกรง ยื่นหัวออกมาข้างนอก จิกกินพริกถึงในมือพ่อเลยทีเดียว

“ให้กินพริกขี้หนูเผ็ดๆ ร้อนปากร้อนลิ้น มันจะพูดได้เร็ว” พ่อเผยทีเด็ดอีก

จริงของพ่อ เจ้าทองโดนพริกเผ็ดจี๋เข้าไปก็กระโดดไปทั่วกรง โผขึ้นเกาะคอนอ้าปากกระดกลิ้นริกๆ ผ่านไปเกือบปี เจ้าทองก็เริ่มพูดได้อ้อแอ้ กระทั่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

 

เจ้าทองอยู่เป็นสมาชิกหนึ่งของบ้านเราเกือบเจ็ดปี ปรากฏว่าปีนั้นพายุเข้านาน ฝนกระหน่ำทั้งวันทั้งคืนราวสัปดาห์ พ่อตากฝนจนเป็นไข้นอนซม แม่ให้กินยา เช็ดตัวก็แล้วแต่ไข้ก็ไม่ลด แถมยังไอโขลกๆ ทั้งคืน จนพ่อบอกว่ารู้สึกแน่นหน้าอก แม่จึงตัดสินใจพาส่งโรงพยาบาล สุดท้ายหมอบอกว่าพ่อเป็นโรคปอดบวม

“เฮ้อ เบื่อแล้ว เมื่อไหร่จะได้กลับบ้านเสียที” พ่อถอนหายใจยาวพลางเอ่ย วันที่แม่พาผมไปเยี่ยมพ่อ

“คราวนี้ได้รู้รสชาติของการถูกจับให้อยู่ในที่แคบๆ ทั้งวันทั้งคืนแล้วสิ” แม่ได้ทีสัพยอกเรื่องที่พ่อจับนกมาขังกรง

โชคดีที่คราวนั้นพ่อปลอดภัย แต่กลับเป็นเจ้าทองที่โชคร้าย ตอนพ่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น ผมเห็นเจ้าทองดูหงอยเหงาเซื่องซึมไปมาก ไม่ยอมกินน้ำกินอาหาร อาจเพราะคนที่มันสนิทมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นลูกนกกระทั่งโตก็มีแต่พ่อเท่านั้น

ครบห้าวันที่พ่อหายไป มันก็ตายคากรง อีกสองวันต่อมาพ่อจึงกลับบ้านได้

 

จะว่าไปแล้วผมก็เคยมีนกที่เคยเลี้ยงไว้เหมือนกัน มันเป็นนกพิราบที่บินหลงเข้ามาในบ้าน แล้วหาทางออกไม่เจอ บินชนโน่นชนนี่ไปทั่ว กระทั่งหมดแรงตกลงมากกองกับพื้น บินต่อไปไหนไม่ได้ ผมจึงเอามันมาเลี้ยงไว้ในกรงนกเขาของพ่อที่ว่างอยู่

นกพิราบรูปร่างคล้ายนกเขา แต่ขนาดใหญ่กว่า และมีหลากหลายสี แต่ส่วนใหญ่ที่พบได้ทั่วไป ลำตัวจะสีเทาอมฟ้า ปีกแต่ละข้างมีแถบสีดำสองแถบแทรก บริเวณคออาจมีสีเขียวเหลือบม่วง ผมเคยได้ยินเขาบอกว่า นกพิราบขาวเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ

สมัยนั้นช่วงหัวค่ำ ผมจะติดภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ฉายทางโทรทัศน์มาก มีฉากหนึ่งที่พระเอกนำจดหมายน้อยผูกติดขานกพิราบ แล้วปล่อยให้มันบินไปส่งข่าวสหายผู้ห่างไกล ผมว่ามันช่างแสนรู้อย่าบอกใครเชียว เช้าวันรุ่งขึ้น ผมจึงเอาอย่างบ้าง พลันเขียนจดหมายในกระดาษแผ่นเล็กถึงตัวเอง ม้วนผูกขานกพิราบของผม แล้วบอกให้พี่ชายช่วยนำมันไปปล่อยจากถนนหน้าบ้าน ส่วนผมมารอรับมันอย่างกระหยิ่มใจอยู่ที่ริมคลองหลังบ้าน

ปรากฏว่าเฝ้ารอจนมืดค่ำ นกพิราบตัวนั้นก็หายลับ ไม่บินกลับมาหาผมอีกเลย…

ช่วงปิดเทอมใหญ่ของปีหนึ่ง ผมมีโอกาสได้เลี้ยงนกอีกครั้ง มันเป็นนกกระเต็นสีฟ้า-ส้ม ที่โชคร้ายมากินเบ็ดที่ใช้ลูกปลาเป็นเหยื่อ ถูกเบ็ดเกี่ยวปากเข้าอย่างจัง พยายามดิ้นหนีอย่างไรก็ไม่หลุด จนสิ้นไร้เรี่ยวแรง ผมรู้สึกสงสารจับใจ จึงปลดมันมาใส่กรงเลี้ยงไว้ ตั้งใจว่าพอมันหายดี จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ผมตกปลาซิวตัวเล็กสดๆ มาให้มันกิน พร้อมน้ำสะอาดใส่ภาชนะเล็กๆ วางไว้ให้ในกรง ทว่า เพียงเช้าอีกวันมันก็ตายลง

ตั้งแต่วันนั้นผมจึงบอกกับตัวเองว่า จะไม่ขอเลี้ยงนกใดๆ อีกเป็นอันขาด!

 

 

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ผมไม่ได้กลับบ้านมาเป็นปี ด้วยกำลังหัวหมุนกับการงานประจำ กลับบ้านหนนั้น ผมเริ่มสังเกตเห็นกรงนกที่เคยแขวนไว้ชายหลังบ้านชักเริ่มบางตา พ่อบอกว่าหลังเกษียณความอยากจะเลี้ยงนกดูเหมือนจะลดลง นกหลายชนิดที่เคยมีหายไป เหลือนับตัวได้ เพิ่งรู้จากปากแม่ว่าพ่อทยอยแจกให้ลูกศิษย์ ลูกหลาน หรือคนรู้จักไปบ้าง ถูกงูเขียวเขมือบเสียบ้าง ตายเพราะเป็นโรคไปก็หลายตัว

พอการงานเริ่มเป็นหลักแหล่งและอยู่ตัว ปีต่อมาผมจึงลางานมาครึ่งเดือน เพื่อบวชให้พ่อกับแม่ ขณะครองชุดนาคสีขาวสะอาดตาอยู่หลังบ้าน เตรียมจะออกเดินทางไปประกอบพิธีที่วัดใกล้บ้านนั้น

“ทำบาปมาเยอะแล้ว วันนี้ถือโอกาสทำบุญบ้าง” พ่อเปรยด้วยใบหน้าเอิบอิ่ม “ลูกบวชทั้งที”

ผมได้ยินพ่อพูดกับแม่ ถึงกับน้ำตารื้น อยู่ๆ พ่อก็เปิดกรงปล่อยนกเขาชวาตัวที่รักมาก อย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยจนผมรู้สึกปีติราวได้รับบุญนั้นไปเต็มๆ

ลาสิกขากลับมาทำงานตามปกติได้ราวสามเดือนแล้ว ผมยังไม่มีจังหวะกลับบ้านอีกเลย ใจหนึ่งแสนห่วงใยพ่อกับแม่ที่แก่ชราลงมาก ขณะพี่ชายผมแยกออกไปสร้างครอบครัวที่อีกจังหวัดหนึ่งแล้ว ได้แต่สื่อสารผ่านเสียงกับแม่เสียเป็นส่วนใหญ่ วันนั้นแม่เล่าให้ผมฟังว่า…

ตอนนี้นกเลี้ยงในบ้านเหลือนกเขาใหญ่ตัวเดียวแล้ว เป็นตัวที่พ่อรักมากที่สุด ผมนึกออกทันทีว่าเป็นตัวไหน แม่ว่าช่วงหลายวันมานี้ มันมีท่าทางแปลกๆ ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อน คือมันมักจะตีปีกพึ่บพั่บจนขนกระจุยกระจาย บางทีก็เอาหัวพุ่งชนกรงอย่างแรง วันละหลายๆ ครั้ง ราวกับว่ามันไม่อยากอยู่ในกรงนั้นอีกต่อไปแล้ว

แม่บอกอีกว่า แล้วพักนี้จู่ๆ พ่อก็มีอาการคันขึ้นตามร่างกาย อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นกัน โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ ใบหน้าและท้ายทอย เห็นพ่อเกาอย่างแรงอยู่บ่อยๆ จนหนังศีรษะตกสะเก็ด ลอกออกมาเป็นแผ่น บางครั้งก็มีผมร่วงติดมาด้วย จนแม่เริ่มเป็นกังวล เพราะนับวันยิ่งลุกลามและรุนแรงขึ้น

พ่อไปหาซื้อยาหมอตี๋แถวบ้านมากินระยะหนึ่งแล้วก็ไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น แม่จึงคะยั้นคะยอให้ไปตรวจกับหมอโรคผิวหนังในตัวจังหวัด กลับมาบ้านพ่อบอกกับแม่ หมอว่าเป็นโรค ‘สะเก็ดเงิน’ ให้ยากินมาสองขนานพร้อมกับยาทาชนิดน้ำมาด้วย ตอนนี้ยาส่งกลิ่นฉุนไปทั้งบ้าน รับยามาสองรอบแล้วก็ไม่หายเสียที ระยะหลังพ่อเลยไม่ไปเสียดื้อๆ

หลายวันต่อมาผมโทรศัพท์กลับไปเล่าเรื่องราวบางอย่างกับแม่ หลังอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่ง ว่าด้วยความเชื่อที่ว่า ใครรังแกหรือทำทารุณกรรมสัตว์ตัวใด แล้วจะถูกสัตว์ตัวนั้นเรียกร้องการชดใช้กรรม อย่างที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า ‘สัตว์ใช้ชาติ’ ให้ตัวเองหรือลูกหลานได้รับเคราะห์กรรมในลักษณะเดียวกันหรือคล้ายๆ กันนั้น

แม่จึงเผยให้ฟังบ้างว่า อันที่จริงแม่เคยอยากทำห่อหมกปลาช่อนขายอยู่เหมือนกัน หลังบ้านมีใบยองามๆ ปลาช่อนตัวเขื่องในคลองก็เยอะแยะ แต่ติดที่ต้องทำปลาเอง แค่นึกถึงว่าจะต้องทุบหัวปลาช่อนสักตัว เห็นมันชักดิ้นต่อหน้าต่อตาแล้วก็ทำไม่ลง ทั้งสงสารและกลัวมันจองเวรมาใช้ในชาติภายหลัง

แต่นั่นแหละ พ่อเป็นคนหัวแข็ง ไม่ยอมลงให้กับใครหรืออะไรง่ายๆ แม้แต่แม่ แม่จึงขอร้องผม ให้ลองพูดเรื่องนี้กับพ่อด้วยตัวเอง ผมขอเวลาแม่ตั้งหลักอยู่วันหนึ่งเต็มๆ ก่อนโทรศัพท์หาพ่อในค่ำวันต่อมา

“เห็นแม่บอกว่าพ่อเป็นสะเก็ดเงิน ตอนนี้เป็นยังไงมั่ง” ผมเปิดการเจรจาอย่างบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น

“ไปหาหมอหลายรอบแล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่” พ่อบอกด้วยน้ำเสียงเบื่อหน่าย

“แม่ว่า เห็นนกเขาเอาหัวชนกรงมาหลายวัน จนหัวมันถลอกเหมือนหัวเจ้าของแล้ว” ผมค่อยๆ เลียบเคียง

“นี่แม่เอ็งคงรายงานหมดแล้วสิ หัวนกมันเกี่ยวอะไรกับหัวคนวะ” พ่อส่งเสียงขุ่นมาตามคาด

“อ้าว พ่อไม่เคยได้ยินคนโบราณเขาว่า สัตว์มันใช้ชาติหรือ” ผมย้อนถาม ก่อนปล่อยหมัดตรง “ปล่อยนกเขาตัวนั้นไปเถอะพ่อ”

คืนนั้นผมคุยกับพ่อจนติดลม นานๆ จะคุยกันออกรส และได้ย้อนอดีตให้พ่อฟังเรื่องหนึ่ง

ตอนเป็นเด็กผมเคยเห็นน้าข้างบ้าน ฉวยท่อนไม้ปาเเมว มันแอบย่องมาขโมยปลาที่ตากไว้ เพียงเพื่อจะไล่ไปไกลๆ แต่บังเอิญท่อนไม้กลับไปโดนจุดสำคัญตรงปลายจมูก เลยทำให้มันชักกระตุกอยู่พักใหญ่กระทั่งขาดใจตายตรงนั้น เวลาผ่านไป ครอบครัวนั้นได้ลูกชาย แต่เมื่อคลอดออกมาปรากฏว่าเด็กไม่สมบูรณ์ เป็นโรคลมชักตั้งแต่เด็กจนโต รักษาอย่างไรก็ไม่หาย ผมว่าแมวตัวนั้นอาจผูกอาฆาตก็ได้ ใครไม่เชื่อก็ตามแต่ ทว่า ผมคนหนึ่งละที่ค่อนข้างเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษและกฎแห่งกรรมเสมอมา

เที่ยงของวันรุ่งขึ้น แม่โทรศัพท์มาบอกผมว่า อยู่ดีๆ เมื่อเช้ามืดพ่อก็คะยั้นคะยอให้แม่เตรียมของใส่บาตร พอกรวดน้ำเสร็จสรรพหลังตักบาตร พ่อก็เดินออกไปหลังบ้าน แม่เดินตามไปห่างๆ เห็นพ่อเอื้อมมือเอากรงนกเขาใหญ่ลงมา ก่อนเปิดกรง ปล่อยนกตัวสุดท้ายในบ้านให้เป็นเป็นอิสระ

หลังจากนั้นอีกราวสองสัปดาห์ เสียงดีใจของแม่แทรกมาตามสาย บอกว่าอาการของพ่อค่อยๆ ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ตอนนี้หายขาดจากโรคสะเก็ดเงินแล้ว ทั้งที่ไม่ได้กินยาหรือทายาอะไรเพิ่มเลย

ทั้งพ่อและแม่ต่างรู้สึกอัศจรรย์ใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งนัก พ่อจึงตั้งปณิธานว่าจะไม่เลี้ยงหรือกักขังสัตว์ ไม่ว่าจะชนิดไหนไว้ในบ้านอีก

ผมดีใจอย่างบอกไม่ถูก ที่มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นในบ้าน จะเป็นปาฏิหาริย์หรือความบังเอิญก็ตามแต่ แค่เห็นพ่อกับแม่มีความสุข ผมก็พอใจและมีความสุขที่สุดแล้ว

 

กระทั่งสายวันนี้ ผมได้รับโทรศัพท์จากแม่

“พ่อแกตกบันได หน้ากระแทกพื้น ตอนนี้อยู่โรงพยาบาล หมอบอกว่าลิ้นขาด…แค่นี้ก่อนนะ”

น้ำเสียงร้อนรนของแม่ ทำเอาผมเย็นเยียบไปทั้งร่าง

ภาพของเจ้าทองนกช่างเจรจาตัวโปรดของพ่อ ขณะกำลังกระโดดโลดเต้นพร้อมส่งเสียงดีอกดีใจ พลันวาบเข้ามาในห้วงความคิด… •