เกณฑ์ทหารครบรอบ 120 ปี | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรก 21/04/2023

ในเดือนเมษายนอย่างนี้ ข่าวสารที่มีเป็นประจำทุกปีเรื่องการตรวจคัดเลือกทหารเข้ากองประจำการ หรือพูดที่ง่ายๆ ว่าการเกณฑ์ทหารนั่นแหละครับ

แต่ละปีก็จะมีข่าวในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่เรื่องดาราคนไหนไปเกณฑ์ทหารบ้าง เรื่องคนจับใบดำใบแดงแล้วมีอาการยินดีหรือโศกเศร้าจนถึงเป็นลมเป็นแล้งบ้าง

เรื่อยไปจนถึงเรื่องทุจริตการเกณฑ์ทหารที่เล่าลือกันไปต่างๆ

มาถึงเดือนเมษายน พุทธศักราช 2566 คือปีนี้ กิจกรรมการเกณท์ทหารมาพอดีกันกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเพื่อที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

ข่าวเรื่องการเกณท์ทหารจึงมีสีสันเพิ่มเติมเข้าไปในแง่มุมที่เข้มข้นมากขึ้น

เพราะมีประเด็นทางการเมืองที่มีพรรคการเมืองบางพรรคเสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เพื่อเปลี่ยนไปใช้ระบบสมัครใจสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการแทน

เวลานี้กำลังฝุ่นตลบเชียวครับ เพราะพรรคการเมืองอีกจำนวนหนึ่งมีความเห็นกลับหัวกลับหางกันเลยทีเดียว โดยบอกว่าการยกเลิกการเกณฑ์ทหารจะทำให้กระทบถึงความมั่นคงของประเทศชาติ เกิดมาเป็นลูกผู้ชายชาติหนึ่งก็ต้องรับใช้ชาติด้วยการไปเป็นทหารสิ

ข้างฝ่ายที่เสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแต่เปลี่ยนไปใช้ระบบสมัครใจก็อธิบายว่า หากทำตามนโยบายที่เสนอนี้ได้แล้วจะเป็นการประหยัดเงินของประเทศได้อย่างไร การรักชาติสามารถทำได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องไปเป็นทหารเพียงอย่างเดียว รวมทั้งการใช้เวลาสองปีในหน่วยทหารก็ตัดรอนโอกาสในชีวิตของทหารเกณฑ์ไปหลายอย่าง

ในขณะที่ฝุ่นยังตลบเป็นฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อยู่อย่างนี้ ลองมาฟังผมเล่าความเก่าสักเรื่องหนึ่งดีไหมครับ

 

เรื่องมีอยู่ว่าในอดีตกาลนานโพ้น จะถอยหลังขึ้นไปจนถึงสมัยสุโขทัยหรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่แน่ใจว่าในสมัยอยุธยาตอนต้นมีเรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เกิดขึ้นแล้ว

เรื่องคือว่า สังคมไทยยุคนั้นแบ่งคนออกเป็นชนชั้นสี่ระดับด้วยกัน โดยมีพระเจ้าแผ่นดินอยู่บนยอดสุดของชนชั้นทั้งสี่ ชนชั้นทั้งสี่ได้แก่ เจ้านาย ขุนนาง ไพร่ และทาส

เจ้านายนั้นคือญาติวงศ์พงศาของพระเจ้าแผ่นดิน ขุนนางคือคนที่ทำงานให้กับพระเจ้าแผ่นดินโดยมียศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ

ถัดไปคือไพร่ ได้แก่ชายสามัญชนคนทั้งปวงที่อยู่ในบ้านเมือง ที่อยู่ในช่วงอายุวัยฉกรรจ์ไปจนถึงวัยปลดชรา

ส่วนชนชั้นต่ำสุดคือทาส หมายถึงผู้ที่ขายตัวหรือถูกบังคับลงเป็นผู้รับใช้

เรื่องของทาสและการเลิกทาสนั้นมีการพูดการเรียนกันมามากแล้วในบ้านเรา คนไทยท่องจำขึ้นใจมาได้แต่ไหนแต่ไรแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลิกทาสด้วยวิธีการอันละมุนละม่อม ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้นายทาสและตัวทาสเองรวมทั้งสังคมโดยรวมมีเวลาที่จะปรับตัว

การเลิกทาสในบ้านเราจึงไม่ต้องรบราฆ่าฟัน เกิดเป็นสงครามกลางเมืองอย่างในประเทศ

แต่เรื่องของการเลิกไพร่ดูจะเป็นเรื่องลี้ลับซับซ้อนเกินความเข้าใจของคนจำนวนไม่น้อย

 

ผมขอขยายความก่อนครับว่า ที่ว่าไพร่เป็นชายสามัญชนนี้ อย่าเข้าใจว่าไพร่มีอิสระเสรีสำราญอย่างคนไทยทุกวันนี้นะครับ หากแต่ไพร่ต้องมีสังกัด ที่โบราณเรียกว่า “มูลนาย” คนที่เป็นนายของไพร่นี้อาจจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านายหรือขุนนางก็ได้ สุดแต่พระเจ้าแผ่นดินจะโปรดให้เป็นไป

ถ้าเป็นไพร่ที่ขึ้นตรงกับในหลวงก็เรียกว่า “ไพร่หลวง” แต่ถ้าเป็นไพร่ที่ขึ้นตรงกับเจ้านายหรือขุนนางอื่นจะเรียกว่า “ไพร่สม”

ในสมัยอยุธยาเมื่อเป็นไพร่มีนายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไพร่หลวงหรือไพร่สมต้องมีการทำเครื่องหมายไว้เป็นหลักฐานโดยวิธีการสักเครื่องหมายหรือตัวอักษรบอกหมวดหมู่ไว้ที่ท้องแขน การปลอมสักคือการดัดแปลงลายสักให้เปลี่ยนรูปเป็นอย่างอื่นถือว่าเป็นความผิดมหันตโทษกันเลยทีเดียว

เพราะทำให้ระบบราชการรวนเรสับสน ปวดหัว ฮา!

 

หน้าที่ของไพร่นั้นต้องเข้าไปทำงานรับใช้มูลนายสลับกันกับการอยู่บ้านของตัวเอง อย่างที่โบราณเรียกว่า “เข้าเดือนออกเดือน”

ย่อมาจากเนื้อความเต็มที่ว่า ไพร่ต้องเข้าไปรับราชการทำงานฟรีหนึ่งเดือน แล้วกลับมาอยู่บ้านหนึ่งเดือน ครบเดือนก็กลับไปรับราชการหรือทำงานประจำอีกรอบหนึ่ง สลับกันไปอย่างนี้ตลอดทั้งปี

งานที่ไปทำนั้นมีสารพัดครับ ตั้งแต่งานบ้านงานเรือน ตักน้ำ ตำข้าว พายเรือ แบกเสลี่ยง

ถ้าเจ้าขุนมูลนายต้องออกไปรบทัพจับศึก ไพร่ก็ต้องไปในกองทัพด้วย

ในยามสงบ ถ้าผู้เป็นนายต้องไปขุดคลองหรือไปก่อพระเจดีย์สร้างวัด ไพร่ก็ติดตามไปทำการงานเหล่านั้นด้วย

การทำหน้าที่ทั้งปวงนี้ไพร่ไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่อย่างใด ถ้ามูลนายจะเอื้อเฟื้อให้ก็เป็นความเมตาส่วนตัว แต่ไพร่จะไปเรียกร้องบังคับกะเกณฑ์อะไรไม่ได้

นั่นหมายความว่าอาหารการกินไพร่ก็ต้องขวนขวายหากินเองหรือติดเสบียงกรังไปจากบ้าน

ผู้เป็นนายของไพร่ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายหรือขุนนางก็ตาม ก็ได้อาศัยกำลังแรงของไพร่นี่เองเกื้อหนุนให้สามารถดำรงเกียรติศักดิ์อยู่ได้

เพราะอย่าลืมนะครับว่า มูลนายเหล่านั้นไม่มีเงินเดือนอย่างเช่นปัจจุบัน การที่ได้รับมอบหมายให้มีไพร่อยู่ในบังคับบัญชาจึงเป็นการตอบแทนการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ไปโดยปริยาย

 

การเข้าเดือนออกเดือนอย่างนี้ ตามทางวิชาการที่มีการวิเคราะห์ในชั้นหลังมีความเห็นว่า ทำให้เกิดผลติดตามมาคือผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในครัวเรือน เพราะเป็นผู้ที่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนตลอดเวลาไม่ต้องเดินทางห่างหายไปไหน

ตรงกันข้ามกับคุณพ่อบ้านที่ประเดี๋ยวมาประเดี๋ยวไป หวังพึ่งพาอาศัยอะไรไม่ได้

พูดอีกนัยยะหนึ่ง ก็อาจกล่าวได้ว่าระบบไพร่นั้นทำให้ภาครัฐเข้มแข็ง แต่ทำให้ภาคครัวเรือนหรือประชาสังคมอ่อนแอ

ขออนุญาตแอบกระซิบแทรกไว้ตรงนี้หน่อยหนึ่งว่า ลูกศิษย์ของผมที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเอาสำนวน “เข้าเดือนออกเดือน” นี้ไปใช้สำหรับชีวิตการศึกษากฎหมายในคณะแห่งนั้น เพราะมีการสอบบ่อยเหลือเกิน หนึ่งปีการศึกษามีสองภาคเรียน แต่ละภาคเรียนมีการสอบสองครั้งคือสอบกลางภาคและสอบปลายภาค การสอบแต่ละครั้งต้องเตรียมตัวอย่างน้อยหนึ่งเดือน

ตรงนี้แหละครับคือ “เข้าเดือน” พอสอบเสร็จแล้วมีเวลาหายใจโล่งอยู่หนึ่งเดือน นับว่าเป็นการ “ออกเดือน” ครบหนึ่งเดือนก็กลับไปเข้าเดือนอ่านหนังสือเตรียมสอบใหม่

โถ! พ่อคุณแม่คุณช่างน่าสงสารจริงๆ

 

ระบบการทำงาน (ฟรี) ของไพร่เป็นอย่างนี้มาจนถึงรัชกาลที่ห้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า ประเพณีอย่างนี้เป็นการกีดขวางต่อความเจริญของบ้านเมือง ประจวบกับเวลานั้นไทยเรากำลังเผชิญกับปัญหาการคุกคามจากอาณานิคมจากมหาอำนาจตะวันตก จึงทรงนำระบบการเกณฑ์ทหารเข้ามาใช้แทนระบบไพร่

โดยให้ชายไทยเข้ารับราชการทหารเป็นเวลาติดต่อกันสองปี เมื่อปลดประจำการแล้วก็ไปใช้ชีวิตเป็นเสรีชนได้ตลอดไป แทนที่จะต้องติดแหง็กอยู่กับระบบไพร่ ไปจนถึงวัยชราจึงจะปลดออกจากหน้าที่ของไพร่

การเปลี่ยนจากระบบไพร่มาเป็นระบบการเกณฑ์ทหารนั้นทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำนองเดียวกันกับการเลิกทาส คือค่อยทำทีละพื้นที่

ถ้าผมจำไม่ผิดดูเหมือนจะเริ่มทำครั้งแรกที่มณฑลนครราชสีมา เมื่อพุทธศักราช 2446 พอได้ผลดีแล้วจึงค่อยขยายออกไปยังมณฑลอื่นและกลายเป็นการเกณท์ทหารทั่วทั้งประเทศในเวลาต่อมา

นับจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ การเกณฑ์ทหารก็อยู่กับบ้านเรามาครบ 120 ปีแล้ว

 

การที่มีพรรคการเมืองเสนอความคิดเรื่องเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารไปเป็นการสมัครใจเข้าเป็นทหาร ขณะที่บางพรรคการเมืองมีความเห็นคัดค้าน น่าจะเป็นโอกาสอันดีนะครับที่เราจะได้เปิดสมองและเปิดสายตาเราให้กว้างขวาง เพื่อทบทวนดูว่านโยบายดังกล่าวมีความเหมาะสมกับสภาพของบ้านเมืองในปัจจุบันเพียงใด

มีคำถามเยอะแยะที่ต้องอภิปรายกัน

เช่น ขนาดของกองทัพควรมีเพียงแค่ไหน ภัยคุกคามที่เป็นสงครามทั้งในแบบนอกแบบของทุกวันนี้มีแนวโน้มเช่นไร ระบบบังคับกับระบบสมัครใจมีข้อดีข้อด้อยอย่างไร งบประมาณที่ต้องใช้สำหรับระบบเกณฑ์กับระบบสมัครใจเปรียบเทียบกันแล้วอะไรคุ้มค่ามากกว่ากัน

รวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ การคิดคำนวนเรื่องโอกาสและการเสียโอกาส ฯลฯ

จำได้ว่าเมื่อตอนที่ผมไปเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้วนั้น อเมริกาเพิ่งยกเลิกการเกณฑ์ทหารและเปลี่ยนมาใช้ระบบทหารสมัครแทน เพราะสงครามเวียดนามเพิ่งเลิกลงใหม่ๆ กองทัพส่งเจ้าหน้าที่มาชักชวนนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปเป็นทหารด้วยแรงจูงใจหลากหลาย

แต่ละประเทศต่างมีเหตุผล วิวัฒนาการและความจำเป็นในเรื่องกำลังพลของกองทัพที่ไม่จำต้องเหมือนกัน

บ้านเราก็ต้องว่าเรื่องของเราโดยเฉพาะ

กำลังเขียนหนังสือดีๆ มาถึงบรรทัดนี้มีคนร้องถามขึ้นมาข้างตัวว่า

ถ้าไม่เกณฑ์ทหารแล้วจะเอาใครไปเป็นทหารรับใช้ จะเอาใครไปตัดหญ้า จะเอาใครไปขับรถส่งลูกเจ้านาย

บ้าแท้ๆ ถามอะไรก็ไม่รู้

ใครจะไปกล้าตอบฮึ