ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (1) การปรับยุทธศาสตร์ของสหรัฐ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (1)

การปรับยุทธศาสตร์ของสหรัฐ

 

“จีนมีแนวโน้มที่จะใช้กำลังเป็นทางเลือก เมื่อผู้นำจีนเชื่อว่า ข้าศึกกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบในสมดุลของกำลัง ในขณะที่จีนกำลังมีความอ่อนแอจากปัญหาความไม่สงบภายใน”

Graham Allison (2018)

 

การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจใหญ่ในเวทีโลกปัจจุบันกำลังทวีความเข้มข้นมากขึ้น

สหรัฐอเมริกาในสถานะของการเป็น “มหาอำนาจเก่า” ดูเสมือนหนึ่งว่ากำลังอยู่ในภาวะถดถอย แต่ก็มิได้หมายความว่าสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะตกต่ำอย่างฟื้นตัวไม่ขึ้น และกำลังหมดสิ้นสภาพไปแต่อย่างใด

(การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่เห็นได้ชัดจากตัวแบบการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991)

ขณะที่จีนในความเป็น “มหาอำนาจใหม่” กำลังอยู่ในภาวะทะยานขึ้น ซึ่งหลายคนที่ติดตามการก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจของจีน ได้เรียกปรากฏการณ์ว่า “The Rise of China”

ฉะนั้น ผลที่เกิดจากการแข่งขันเช่นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การพาโลกกลับสู่ยุคสงครามเย็น และอาจจะต้องเรียกว่าเป็น “สงครามเย็นใหม่” ซึ่งตามมาด้วยการแบ่งค่ายทางการเมืองในเวทีโลก พร้อมกับมีแรงเสียดทานระหว่างความเป็นคู่แข่งขันไม่แตกต่างจากยุค “สงครามเย็นเก่า”

กล่าวคือ การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 20 ที่การแข่งขันเช่นนี้มีส่วนโดยตรงต่อการกำหนดระเบียบระหว่างประเทศ

ดังนั้น ในบทนี้จะกล่าวถึงการปรับยุทธศาสตร์ของสหรัฐในการตอบโต้กับการขยายอิทธิพลของจีนในทางภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชีย ซึ่งจะมีส่วนโดยตรงการกำหนดยุทธศาสตร์ของรัฐในเอเชีย

 

ยุทธศาสตร์ใหม่

การเปิดการตอบโต้ทางยุทธศาสตร์ของผู้นำสหรัฐแม้จะเริ่มเห็นจากการดำเนินการของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในการประกาศการกลับมาของสหรัฐสู่เวทีการเมืองเอเชีย ด้วยคำประกาศนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” (Pivot to Asia)

และเริ่มเห็นชัดต่อมาในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ตัดสินใจใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ อันนำไปสู่การขับเคลื่อนแนวนโยบายในแบบ “ลัทธิกีดกันการค้า” (protectionism) ซึ่งผลของนโยบายนี้คือ การก่อตัวของ “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐกับจีนจากปี 2017 เป็นต้นมา

สำหรับประเด็นสำคัญในทางความมั่นคงนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ได้นำเสนอแนวคิดของการปรับยุทธศาสตร์ของสหรัฐในเอเชียคู่ขนานตามกันไปกับการเปิดสงครามการค้า เพื่อรับมือกับการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค

เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าการรุกของจีนเกิดขึ้นทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง และมีผลกระทบโดยตรงกับสถานะของสหรัฐในเอเชีย อันนำไปสู่การกำเนิดของยุทธศาสตร์ใหม่ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก”

ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะมีส่วนอย่างมากต่อการกำหนด “ภูมิทัศน์ใหม่” ของเอเชียในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์ชุดนี้นำไปสู่การก่อตัวของภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของเอเชียด้วย

 

ถ้าย้อนกลับไปพิจารณายุทธศาสตร์เก่าของสหรัฐที่มีต่อภูมิภาคเอเชียแล้ว จะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์นี้ถูกกำหนดจากคุณลักษณะของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ อันเป็นผลจากสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพสหรัฐมีบทบาทอย่างสำคัญในยุทธบริเวณแปซิฟิก

ฉะนั้น ยุทธศาสตร์ของสหรัฐนับจากจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นในเอเชียเป็นต้นมา จึงวางอยู่บนเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็น “เอเชีย-แปซิฟิก” (Asia-Pacific) และเป็นคำเดิมที่นักความมั่นคงมีคุ้นเคยกันมาโดยตลอด

ดังนั้น หากมองภูมิภาคนี้ในบริบทของยุทธศาสตร์ทหารและความมั่นคงก็คือ การนิยามพื้นที่ที่เป็น “ยุทธบริเวณ” สำหรับกองทัพสหรัฐในยามสงคราม หรือเป็น “อาณาเขตทางการเมือง” สำหรับการวางนโยบายของสหรัฐทั้งในยามสันติและในยามสงคราม

ดังจะเห็นได้ว่าในส่วนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐนั้น กองบัญชาการที่รับผิดชอบยุทธบริเวณนี้ก็คือ “กองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิก” (The Pacific Command หรือ PACOM) ที่ตั้งอยู่ที่ฮาวาย หรือในส่วนของกระทรวงต่างประเทศ ส่วนงานที่รับผิดชอบพื้นที่นี้ก็คือ “สำนักงานกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก” (The Bureau of East Asian and Pacific Affairs)

 

แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์สำคัญในทางการเมืองระหว่างประเทศในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 ด้วยการเติบใหญ่ของจีนแล้ว ทำให้เกิดคำถามโดยตรงต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ที่วางอยู่บนพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์เดิมคือ “เอเชีย-แปซิฟิก” ว่ายังมีประสิทธิภาพมากพอในการรับมือกับการขยายอำนาจจีนในเอเชียหรือไม่

โดยเฉพาะการขยายขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ ที่เห็นถึงเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้ขนาดเศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากเศรษฐกิจของสหรัฐ

จะเห็นได้ว่าขนาดของเศรษฐกิจสหรัฐมีมูลค่า 25.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เศรษฐกิจจีนมีขนาด 19.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และอันดับสามคือ เศรษฐกิจญี่ปุ่น 4.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (Global GDP 2022 จาก Visual Capitalist)

ซึ่งขนาดของเศรษฐกิจอันดับ 3 นั้น ห่างจากอันดับ 2 อย่างมาก ในอีกด้าน ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วเศรษฐกิจจีนจะก้าวขึ้นมาแซงสหรัฐเพื่อเป็นอันดับ 1 ได้เมื่อใด

 

เศรษฐกิจจีนก้าวกระโดด

การเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลจีนสามารถขยายขีดความสามารถทางทหารได้ด้วยการพัฒนาระบบยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ และการยกระดับขีดความสามารถทางทหารของกองทัพจีนเกิดขึ้นคู่ขนานกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะเดียวกัน อำนาจทางเศรษฐกิจเช่นนี้เป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลปักกิ่งใช้เป็นเครื่องมือในการขยายอิทธิพลทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางจาก “การวิจัยและพัฒนา” (R&D) ภายในจีน

การดำเนินการเช่นนี้ส่งผลให้ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของจีนเพิ่มสูงมากขึ้นทั้งในส่วนของทหารและพลเรือน และทำให้จีนไม่อยู่ในฐานะของการเป็น “รัฐพึ่งพา” ทางเทคโนโลยีจากรัสเซียเช่นในยุคสงครามเย็นเก่า อันเป็นผลจากการ “ก้าวกระโดด” ของเศรษฐกิจจีนที่เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ผลจากสภาพการเติบโตของจีนในมิติต่างๆ ทำให้การดำเนินนโยบายของจีนต่อเอเชียเป็นดัง “การรุกใหญ่” เช่น การนำเสนอโครงการ “ความคิดริเริ่มแถบและเส้นทาง” (BRI) ที่จีนจะเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่อยู่ในเครือข่ายเป้าหมายของระบบคมนาคมขนส่งของจีน ภายใต้เงินทุนจีน แต่ต้องมาพร้อมกับการนำเข้าแรงงานจีน

อาจกล่าวได้ว่าเรากำลังเห็น “การก้าวกระโดด” ของเศรษฐกิจจีน และเปิดโอกาสให้จีนขยายบทบาทและอิทธิพลในเอเชียโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยอุดมการณ์เช่นในอดีต แต่อาศัยอำนาจทางเศรษฐกิจแทน อาจจะเปรียบเทียบได้ว่าคล้ายคลึงกับบทบาทของญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา

การขยายบทบาทและอิทธิพลของจีนในฐานะมหาอำนาจใหม่ในเอเชียเช่นนี้ เกิดขึ้นในบริบทของสถานการณ์ที่ดูเหมือนมหาอำนาจเก่าอย่างสหรัฐจะเป็นฝ่ายถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานะทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ไม่อยู่ในภาวะรุ่งเรืองเช่นในอดีต

การขยายตัวของจีนผ่านเครื่องมือทางเศรษฐกิจจึงเป็นการรุกใหญ่ ที่สหรัฐ (และอาจต้องรวมถึงฝ่ายตะวันตก) ต้องเผชิญ อีกทั้งยังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญอันเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบกับเศรษฐกิจและสังคมของโลกตะวันตกอย่างมาก

 

ในขณะเดียวกันผู้นำเช่นทรัมป์กลับแสดงท่าทีที่เป็นดัง “การลดบทบาท” ของสหรัฐในเอเชีย เช่น การถอนตัวจากข้อตกลงการค้าภาคพื้นแปซิฟิกหรือ “TPP” (The Trans-Pacific Partnership)

ซึ่งแตกต่างจากท่าทีของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่พยายามผลักดันนโยบายให้สหรัฐมีบทบาทในเอเชียมากขึ้น เช่น นโยบายการสร้างสมดุลใหม่ในเอเชีย (Rebalancing Asia) หรือที่เรียกกันว่า “นโยบายเอเชียตะวันออกของโอบามา” (The Obama’s East Asian Policy) หรืออาจกล่าวได้ว่าทรัมป์ไม่ใส่ใจกับนโยบายของการสร้างพันธมิตรในแบบเดิม ที่เป็นรากฐานของนโยบายความมั่นคงของสหรัฐมาตลอดยุคสงครามเย็น

ดังนั้น คำถามสำคัญในทางยุทธศาสตร์คือ สหรัฐจะรับมือกับการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในเอเชียอย่างไร เนื่องจากสหรัฐมีข้อจำกัดในทางเศรษฐกิจมากขึ้น

แต่จีนกลับสามารถใช้พลังอำนาจทางเศรษฐกิจที่ตนมีในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แบบ “BRI” ที่อาศัยการขยายอิทธิพลของจีนผ่านระบบพันธมิตรทางเศรษฐกิจ แทนการใช้ระบบพันธมิตรทางทหารในแบบของสหรัฐ

 

การจัดวางยุทธศาสตร์ใหม่

แม้ในช่วงต้นของประธานาธิบดีทรัมป์จะยังไม่มีนโยบายต่อเอเชียที่ชัดเจน แต่ในเดือนธันวาคม 2017 รัฐบาลสหรัฐได้ออกแนวคิดใหม่ที่มีชื่อ “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดเผย” (The Free and Open Indo-Pacific Strategy) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” (The Indo-Pacific Strategy) ดังที่ปรากฏในเอกสารช่วงปลายปี 2017 ชื่อ “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ” (National Security Strategy, December 2017)

และต่อมาทิศทางนี้มีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อทรัมป์ได้ประกาศในการประชุมเอเปคที่เวียดนามในตอนต้นปี 2018 แนวคิดทางยุทธศาสตร์ใหม่คือ การมองภูมิภาคนี้เป็นภาพใหญ่ในทางภูมิรัฐศาสตร์คือ “อินโด-แปซิฟิก” ไม่ใช่แบบเดิมที่เป็น “เอเชีย-แปซิฟิก”

และแนวคิดนี้ถูกตอกย้ำอีกครั้งจากคำประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนายเจมส์ แมตทิส ในการประชุมที่สิงคโปร์

ทิศทางยุทธศาสตร์ใหม่ที่สำคัญคือ การขยายอาณาบริเวณทางภูมิรัฐศาสตร์ให้มีขอบเขตกว้างขวางมากขึ้น หากพิจารณาในมุมแคบคือ การรวมเอาอินเดียเข้ามาอยู่ในยุทธศาสตร์นี้ แต่หากคิดในบริบทที่กว้างขึ้นก็คือ การรวมเอาอาณาบริเวณของมหาสมุทรอินเดียเข้ามาในยุทธศาสตร์ใหม่ อันเป็นการส่งสัญญาณของการวางยุทธศาสตร์ที่ต้องการจะเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน หรือเป็นดัง “ยุทธศาสตร์สองมหาสมุทร” ในนโยบายของสหรัฐ การวางยุทธศาสตร์เช่นนี้ทำให้ยุทธบริเวณทางทหารสำหรับกองทัพสหรัฐในเอเชียเปลี่ยนแปลงไปทันที

กองบัญชาการแปซิฟิกเดิมจึงมีชื่อใหม่ว่า “กองบัญชาการภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก” (The Indo-Pacific Command)

 

ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ยังคาดหวังให้เกิดระบบพันธมิตรใหม่ ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือสี่ประเทศ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น “จตุรมิตร” (The Quadrilateral Relationship) ระหว่างสหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย

และหากพิจารณาจากมุมมองของทั้งสี่ประเทศแล้ว ก็พอจะสรุปได้ว่า

ประเทศทั้งหมดนี้ล้วนมีความกังวลอย่างมากกับการขยายบทบาทและอิทธิพลของจีนในภูมิภาค สหรัฐจึงคาดหวังว่ายุทธศาสตร์จตุรมิตรเช่นนี้จะทำให้เกิดการคานบทบาทของจีนในส่วนต่างๆ ของเอเชียอย่างได้ผล!