ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 เมษายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เงาตะวันออก |
เผยแพร่ |
เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล
อุษาวิถี (24)
อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)
แม้จะแยกพิจารณาได้เป็น 2 แนวคิด แต่ทั้งสองแนวคิดนี้ต่างสัมพันธ์กันอย่างควบคู่กันไป จะแยกแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งออกเป็นเอกเทศไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือว่า ขงจื่อไม่ได้มองบุคคลในเชิงปัจเจกแบบแยกส่วน โดยมิได้สัมพันธ์กับสถาบันการเมืองการปกครองหรือสังคมที่บุคคลคนนั้นสังกัด แต่ในขณะเดียวกัน ขงจื่อก็ไม่ได้มองว่า สถาบันการเมืองการปกครองที่ดีจะแยกตนออกจากหลักจริยธรรมที่พึงมีไปได้เช่นกัน
การดำรงอยู่ควบคู่กันไปของสองแนวคิดนี้ของขงจื่อ นับเป็นการประมวลจากภูมิปัญญาความรู้และประสบการณ์ที่สังคมจีนสั่งสมมาก่อนหน้ายุคของเขา
ในแง่นี้จึงนับได้ว่า ขงจื่อได้ใช้สติปัญญามาประมวลเข้มกับความรู้และภูมิปัญญาที่เขามุมานะศึกษา แล้วนำมาสรุปเป็นแนวคิดต่างๆ ออกมาอย่างเป็นระบบระเบียบ
จนแนวคิดของเขาได้กลายเป็นอีกมาตรฐานทางจริยธรรมและเกณฑ์คุณค่าหนึ่งให้แก่สังคม (จีน) ไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแนวคิดของขงจื่อมีรากฐานมาจากความรู้หรือภูมิปัญญาก่อนยุคสมัยของเขา ดังนั้น ครั้งหนึ่งเมื่อมีการพบกันระหว่างขงจื่อกับเหลาจื่อนั้น เหลาจื่อได้แสดงข้อคิดเห็นต่อแนวคิดของขงจื่อไว้อย่างน่าสนใจ
โดยข้อคิดที่ว่าของเหลาจื่อได้แยกอธิบายเป็นประเด็นว่า
หนึ่ง สิ่งที่ขงจื่อค้นคว้ามานั้นเป็นเรื่องราวโบราณเก่าแก่ที่ไม่ควรยึดถือมากจนเกินไป
สอง ผู้มีความรู้และคุณธรรมที่มีชีวิตอยู่ในกาลอันควร ก็ควรที่จะมีบทบาทของตน แต่ถ้าไม่ ก็ควรรักษาตนให้รอด
และ สาม ผู้เป็นปราชญ์บัณฑิตควรวางตนให้เรียบง่ายและบริสุทธิ์ ขงจื่อควรละความทระนง ความทะเยอทะยาน ความยโสและความเพ้อฝัน เพราะไม่เป็นคุณแก่ภารกิจของขงจื่อเอง
โดยรวมแล้วเหลาจื่อเห็นว่า แนวคิดของขงจื่อว่าไม่มีอะไรใหม่ และยังเห็นว่า การที่ขงจื่อมีเจตนารมณ์ที่จะนำแนวคิดของตนมาใช้แก้กลียุคในสังคมจีนขณะนั้น เป็นเรื่องที่กระทำได้ยากยิ่ง
ในแง่นี้เป็นไปได้ว่า เหลาจื่อเข้าใจสถานการณ์ทางการเมือง และพฤติกรรมของชนชั้นปกครองในขณะนั้นเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะนำเอาแนวคิดของขงจื่อไปแก้ปัญหากลียุค
ที่สำคัญ เหลาจื่อยังเห็นต่อไปว่า การที่ขงจื่อจะนำแนวคิดของตนไปใช้ปฏิบัติในความเป็นจริงนั้น มีแต่ขงจื่อจะต้องเข้าไปมีบทบาททางการเมืองด้วยการเป็นขุนนางหรือนักการเมืองเท่านั้น จึงจะสามารถผลักดันแนวคิดของตนให้มีผลในทางปฏิบัติได้
แต่กระนั้น วิธีเช่นนี้เหลาจื่อก็ยังคงเห็นว่าขงจื่อเพ้อฝันเกินไป และจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อขงจื่อจะต้องมีความทระนงและทะเยอทะยานในทางการเมืองไปด้วย และหากเป็นเช่นนี้ก็ย่อมหมายความว่า ขงจื่อจะต้องใช้อัธยาศัยหรืออัตตาของตนเป็นใหญ่
ซึ่งในทรรศนะของเหลาจื่อเห็นว่า ไม่ใช่วิถีที่ปราชญ์ทั้งหลายพึงกระทำ
ด้วยเหตุนี้ เหลาจื่อจึงสรุปข้อคิดดังกล่าวที่ให้แก่ขงจื่อว่า หากขงจื่อยึดถือในแนวคิดของตนเป็นที่ตั้งอย่างที่ว่ามาแล้ว แม้จะอยู่ในครอบครัวก็ทำตนให้เหมาะสมไม่ได้ แม้รับราชการก็ปรับตนให้เหมาะสมกับราชการก็ไม่ได้เช่นกัน
และสิ่งที่เหลาจื่อได้กล่าวต่อขงจื่อนั้น ต่อมาก็ได้รับการพิสูจน์ เมื่อขงจื่อนำตนเองเข้าไปมีบทบาททางการเมือง
กล่าวคือ แม้ขงจื่อจะได้ตั้งสำนักของตนขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่ชนทั่วไปก็ตาม แต่ในบางช่วงชีวิตของขงจื่อยังได้นำตนเข้าไปมีบทบาททางการเมืองอีกด้วย โดยตลอดช่วงที่เข้าไปมีบทบาทที่ว่านี้ ขงจื่อหาได้ละเลยการเผยแพร่ความรู้หรือสั่งสอนศิษยานุศิษย์ของตนไปด้วยไม่
ดังนั้น ในระหว่างที่มีบทบาทดังกล่าวอยู่นั้น จึงยังคงปรากฏภาพความสัมพันธ์ของขงจื่อกับศิษย์และบุคคลอื่นอยู่เสมอ ทั้งนี้ บทบาททางการเมืองของขงจื่ออาจแยกอธิบายออกเป็นระยะได้
ดังนี้
ระยะที่หนึ่ง เป็นระยะที่ขงจื่อยังพำนักอยู่ที่รัฐหลู่ และได้เกิดการรัฐประหารขึ้นใน ก.ค.ศ.517 ขณะนั้นขงจื่อซึ่งมีอายุได้ 35 ปี ได้หลีกหนีความปั่นป่วนวุ่นวายไปยังรัฐฉี อันเป็นรัฐชั้นเอกในยุควสันตสาร์ท ที่รัฐนี้ขงจื่อได้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองโดยให้คำปรึกษาทางการเมืองแก่ผู้นำบางคน
และเป็นรัฐแรกที่ขงจื่อได้แสดงแนวคิดเรื่องความเที่ยงแห่งนาม (เจิ้งหมิง) ขึ้นมา
แต่โดยรวมแล้วแนวคิดของขงจื่อกลับไม่ได้รับการตอบรับจากเหล่าขุนนาง โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องขนบจารีต (หลี่) โดยมหาเสนาบดีของรัฐนี้เห็นว่า ตัวอย่างที่ขงจื่อสอน เช่น การเข้าหาคน การเดินเหิน การแต่งกาย การวางหน้า ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก
ด้วยเหตุนี้ ขงจื่อจึงอยู่ที่รัฐฉีได้ประมาณ 2 ปีจึงกลับไปยังรัฐหลู่อีกครั้ง ขณะนั้นขงจื่อมีอายุได้ 37 ปี
ระยะที่สอง หลังจากที่ล้มเหลวจากรัฐฉีแล้ว ขงจื่อได้ยุติบทบาทของตนเป็นเวลานานนับสิบปี ระหว่างนั้นมีขุนนางจากเมืองเฟ่ยเฉิง (ปัจจุบันคืออำเภอเฟ่ยเซี่ยน มณฑลซานตง) มาเชิญให้ขงจื่อให้เป็นขุนนางของรัฐ
ในชั้นแรกขงจื่อกระตือรือร้น แต่มาภายหลังเกิดความลังเล และได้ปฏิเสธไปในที่สุด
ตราบจนเมื่ออายุได้ 51 ปี ขงจื่อก็ได้รับตำแหน่งขุนนางในรัฐหลู่ บทบาททางการเมืองในระยะนี้ของขงจื่อนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นด้านบริหาร รัฐมนตรี หรือนักการทูต จนรัฐฉีซึ่งพ่ายแพ้ต่อบทบาททางการทูตของขงจื่อต้องหาทางเอาชนะให้ได้
แผนการก็คือ รัฐฉีได้จัดส่งหญิงงามและม้าชั้นดีมามอบให้แก่รัฐหลู่เพื่อเป็นการล่อใจผู้นำรัฐหลู่ให้ลุ่มหลง แผนของรัฐฉีประสบความสำเร็จ ด้วยผู้นำของรัฐหลู่ไม่ฟังคำทัดทานของขงจื่อ
ในที่สุด ขงจื่อก็ตัดสินใจเดินทางออกจากรัฐหลู่ใน ก.ค.ศ.497 ขณะมีอายุได้ 55 ปี
ระยะที่สาม ชีวิตของขงจื่อนับแต่ที่ออกจากรัฐหลู่เป็นต้นไป นับเป็นช่วงเวลาแห่งการเดินทางจาริกไปยังถิ่นฐานต่างๆ ในแผ่นดินจีนอย่างแท้จริง โดยมีศิษย์และผู้ติดตามอีกจำนวนหนึ่งร่วมเดินทางด้วย
การเดินทางในระยะนี้ได้เกิดบางเหตุการณ์ที่น่าสนใจขึ้นมาจนเป็นที่เล่าขานสืบมา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022