สงกรานต์ (น้ำลาย) นโยบาย ‘หมื่นบาท’ คิดใหญ่ ‘ทำได้-ไม่ได้’?

วาทกรรมประชานิยมอยู่ในการเมืองมามากกว่า 21 ปีแล้ว ย้อนกลับไปเริ่มจาก นิตยสาร Far Eastern Economic Review ฉบับวันที่ 18 มกราคม 2544 ใช้ทฤษฎี Populism ที่อธิบายการเมืองแบบละตินอเมริกาในเชิงลบ มาอธิบายนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ไม่กี่วันถัดมา พิชิต ลิขิตกิจสมบูณ์ และนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการทั้งสองคนได้แปลคำว่า Populism ว่า “ประชานิยม” เป็นครั้งแรก ในเวทีวิชาการการนำเสนองานวิชาการที่คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และปรากฏเป็นภาษาเขียนครั้งแรกในบทความที่เขียนโดยเกษียร เตชะพีระ ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับ 3 กุมภาพันธ์ 2544

ตั้งแต่นั้นมาคำนี้ก็ใช้กันอย่างกว้างขวางและแพร่หลายในเชิงการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายทางการเมืองของรัฐบาลทักษิณเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาก็ถกเถียงกันอย่างหนัก

แน่นอนว่าจนถึงปัจจุบัน ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่านโยบายประชานิยมนั้นผิดหรือถูก เพราะต้องถกเถียงกันอีกเยอะ เช่น จะใช้เกณฑ์ไหนมาตัดสินว่านโยบายใดเข้าข่ายประชานิยม ถ้าคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ คนส่วนน้อยเสียประโยชน์ จะเรียกประชานิยมไร้ความรับผิดชอบไหม เป็นต้น

หากมองว่านโยบายประชานิยมผิด แต่นโยบายประชานิยมที่รัฐบาลทักษิณเริ่มต้นและส่งผลดีต่อประเทศอย่างมาก เช่น 30 บาท รักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ กลับได้รับการยอมรับกว้างขวาง แม้แต่รัฐบาลที่เข้ามาจากการยึดอำนาจยังสานต่อ ไม่สามารถล้มเลิกได้

จะว่าก็ว่าเถอะ รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากระบบ คสช.ซึ่งปัจจุบันลงเลือกตั้งและแตกออกเป็น 2 สาขา ก็ยังใช้แนวทางนโยบายประชานิยมหาเสียง เกทับบลั๊ฟฟ์แหลกกันอยู่เวลานี้

สรุปคือประชานิยมไม่ได้ผิด อยู่ที่ว่านโยบายนั้นวางอยู่บนเหตุผลคุณค่าอะไร คิดมาเพื่อเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาสิ่งใด มีระบบที่มาการเงินการคลังไหม สมเหตุสมผลไหม นโยบายประชานิยมที่ผิดคือคิดมาลอยๆ ไม่สนบริบท ไม่สอดคล้องกับปัญหาสังคม ไม่ดูที่มาที่ไปของเงินและผลลัพธ์

 

ต้องยอมรับเป็นการโยนระเบิดนโยบายลูกใหญ่มาในช่วงท้ายของเพื่อไทย ในขณะที่พรรคคู่แข่งต่างประกาศนโยบายประชานิยมอื่นๆ ไปกันหมด กับนโยบายเติมเงินในดิจิทัลวอลเล็ตให้ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปใช้จ่ายภายใน 6 เดือน รัศมี 4 กิโลเมตรรอบที่พัก จำนวนเงิน 1 หมื่นบาท

บิ๊กเซอร์ไพรส์เลยทีเดียว… ถามว่าใหญ่โตขนาดไหน ยกตัวอย่างยอดชมคลิปข่าวดังกล่าวของมติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ เฉพาะแค่ในเฟซบุ๊ก คลิปนี้คลิปเดียวยอดเข้าถึงคนมากกว่า 1.1 ล้านคนภายในเวลารวดเร็ว คนกดไลก์กว่า 5 หมื่นคน แชร์ต่อกว่า 5 พันครั้ง แสดงความเห็นอีก 5 พันความเห็น

แต่ก็เกิดคำถามขึ้นมากมาย เช่น จะเอาเงินมาจากไหน กู้มาหรือไม่?

นักเศรษฐศาสตร์บางคนถึงกับประกาศตัวว่าแม้จะวิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตลอด แต่พอเพื่อไทยเปิดนโยบายนี้ ก็จำเป็นต้องมายืนตรงข้าม เพราะคำอธิบายของพรรคที่ยังจำกัด จึงนับเป็นนโยบายที่สุ่มเสี่ยงการเงินการคลังอยู่

 

เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อไทย รีบออกมาอธิบายที่มาที่ไปของนโยบายนี้ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโต 2.6% ในขณะที่ประเทศอื่น ซึ่งเคยเป็นรองไทย ตอนนี้โตขึ้น 5% ถือว่าไทยอยู่ในภาวะย่ำแย่ เหมือนคนป่วยที่อยู่ในห้องไอซียู

ฉะนั้น เพื่อไทยต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด จำนวนเงิน 10,000 บาท ระยะเวลาในการใช้คือ 6 เดือน ร้านค้า เอสเอ็มอี อุตสาหกรรมทั้งหลายจะได้ซื้อของมาตุนไว้ เพื่อจะได้มีการซื้อขาย มีการจับจ่ายใช้สอยเกิดขึ้น ทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ

ระยะทางที่วางไว้เบื้องต้นคือ 4 กิโลเมตร อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความจำเป็น โดยจะใช้บล็อกเชนเขียนรัศมีใหม่ได้ อยากให้ใช้ในพื้นที่ชุมชน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ไม่ใช่มากระจุกตัวในเมือง

สำหรับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีประมาณ 50 ล้านคน คิดเป็นเงินประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี ทำครั้งเดียว เม็ดเงินมาจากการจัดสรรงบประมาณ การจัดเก็บภาษี VAT ที่ได้เพิ่มมากขึ้น และการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล รวมทั้งการไปลดสวัสดิการรัฐบางอย่างลง

“ผมไม่อยากให้ใช้คำว่าประชานิยมสุดโต่ง แต่เป็นความจำเป็นและความต้องการของพี่น้องประชาชนที่ต้องการการช่วยเหลือเวลานี้” นายเศรษฐากล่าว

 

ขณะที่ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาฯ เพื่อไทย ชี้แจงเพิ่มว่า กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ใช่คริปโต เคอร์เรนซี แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน สามารถเอามาแลกเป็นเงินบาทได้ทุกเมื่อ ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีการเก็งกำไร ไม่มีการขาดทุน ไม่มีการสร้างมูลค่า ไม่สามารถแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้ ไม่มีราคาตก-ราคาขึ้น ทุกเหรียญมีค่าเท่าเงินบาทเสมอ รับประกันโดยรัฐบาล

ลงถึงมือประชาชนทุกคน (16 ปีขึ้นไป) ทุกบาททุกสตางค์ ใช้จ่ายจริง ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรมตลอดเส้นทาง ใช้ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยสูงสุด สูงกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รู้เส้นทางการเงินทุกธุรกรรม รู้ผู้รับ รู้ผู้จ่าย เป็นระบบที่มีความโปร่งใสสูงสุด ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรม

ยืนยันว่านโยบายดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ปัจจุบันระดับกำลังซื้อของประเทศตกต่ำ เศรษฐกิจตกต่ำกว่าศักยภาพมาก สภาวะดังกล่าวไม่นำสู่เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ได้ รวมทั้งกระเป๋าเงินดิจิทัลสามารถจัดสรรเงินจากงบประมาณ ไม่มีการขึ้นอัตราภาษีใดๆ

ด้าน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบาย พรรค พท. ระบุว่า เพื่อไทยไม่อยากหยอดน้ำข้าวต้มเพื่อให้ยืดจากความตาย แต่จะต้องใช้การปั๊มหัวใจให้กลับคืนมาให้รวดเร็วเพื่อกลับมาแข็งแรง โดยกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่จะปลุกกำลังให้ฟื้นขึ้น เพื่อให้ไปแข่งขันกับต่างประเทศได้ แต่ระหว่าง 6 เดือนนี้จะมีมาตรการอื่นรองรับเพื่อให้เขาขยับไปทำมาหากินได้เพิ่มขึ้น

นั่นคือจุดยืนทางวิชาการหลักๆ จากฝั่งเพื่อไทย

 

แต่ก็เกิดกระแสคัดค้าน การเคลื่อนไหวและตั้งคำถามจากหลายฝ่าย กลายเป็นสงกรานต์ (น้ำลาย) ที่พ่นใส่กันดุเดือด นำโดยนักร้องเจ้าเก่า ศรีสุวรรณ จรรยา ที่เข้าไปร้องกกต.สอบ การหาเสียงด้วยการแจกเงินดิจิทัลดังกล่าวเป็นการใช้ประชานิยมสุดขั้วนั้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประโยชน์ของประชาชนในวงกว้าง

หรือจะเป็นความเห็นนักวิชาการอย่าง รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่ระบุว่า นโยบายดังกล่าวเป็นประชานิยมสุดขั้วแบบนี้ คาดหวังคะแนนนิยม กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้ แต่คำถามคือ จะเอาเงินจากแหล่งไหน เตรียมการอย่างไรกับผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเงินเฟ้อ และหนี้สาธารณะที่อาจเกิดขึ้นตามมา เป็นการคิดใหญ่ แต่ดูจะสุ่มเสี่ยงมากไปหน่อย

ขณะที่เพื่อนพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่าง ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ออกมาแสดงความเห็นโดยชี้ว่า นโยบายดังกล่าวไม่เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ แต่ก็ยอมรับว่าประชาชนยังรอคำตอบจากเพื่อไทยเพิ่ม เช่น เอาไปใช้หนี้ได้ไหม ต้องคุยอย่างตรงไปตรงมาว่าเอางบประมาณจากไหน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าประชาชนสามารถตัดสินใจได้ว่านโยบายนี้จะเกิดประโยชน์กับเขาจริงหรือไม่

 

ด้านฝ่ายตรงข้ามสุดขั้ว อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ รวมไทยสร้างชาติ ออกมาแสดงความเห็นถึงเพื่อไทยว่าเป็นการขายฝันเงินดิจิทัล ยกตัวอย่างบางประเทศล้มกันทั้งยวง

“…ไม่ว่าจะใช้เงินลักษณะใดก็ตามจะต้องมีเม็ดเงินจริงอยู่เสมอ พูดลอยๆ เท่าไหร่ก็ได้ แต่มันมีงบประมาณที่อยู่ในคลังมีเงินสำรองอยู่ในคลังพอหรือเปล่า ถ้าไม่พอ มันเสี่ยง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ขณะที่ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร. ถึงกับระบุว่า นโยบายนี้ของเพื่อไทย ไม่มีกฎหมายรองรับ ถ้าเข้าสภาจะมีแต่คนต้านและจะแพ้ในขั้นวุฒิสภา

“เชื่อว่าวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ซึ่งหากวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกฎหมายนี้จะถูกยับยั้ง หรือหากผ่านไปเรื่องก็จะถึงศาลรัฐธรรมนูญ ก็คิดว่าศาลจะพิจารณาว่าไม่สามารถดำเนินการได้” ไพบูลย์กล่าว

ด้าน เกียรติ สิทธีอมร จากประชาธิปัตย์ โชว์จุดยืนประชาธิปัตย์ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำเงินภาษีประชาชนไปแจกคนรวย ใน 55 ล้านคน อาจจะมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือประมาณ 10-15 ล้านคน แต่ที่เหลืออีก 35 ล้านคนไม่ได้ต้องการเงินช่วยเหลือ

ก่อนปล่อยหมัดเด็ด อ้างว่า บริษัท แสนสิริ เข้าไปซื้อหุ้นบริษัทแห่งหนึ่งเมื่อปี 2021 เป็นธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล หากนโยบายนี้สำเร็จ มีการขายทรัพย์สินดิจิทัลเพื่อแจกประชาชน บริษัทนี้รวยทันที

แต่ก็โป๊ะแตก ถูกเศรษฐาโต้ทันทีว่า ประชาธิปัตย์เข้าใจผิดอย่างแรง ที่จริงมันแค่การเติมเงินในมือ เอาไปแลกเปลี่ยน กระเป๋าเงินดิจิทัลจะเอาไปซื้อขายไม่ได้ หรือมูลค่าไม่มีเพิ่มลดแต่อย่างใด

 

ส่วนความเคลื่อนไหวของ กกต.ก็ออกแมาแสดงท่าทีขึงขัง สั่งเพื่อไทยชี้แจงที่มาที่ไปของนโยบายให้ชัด ถ้าไม่ชัดเจอปรับ 5 แสน พ่วงวันละหมื่นจนกว่าดำเนินการเสร็จ จนคนตั้งคำถามว่าแล้วประชานิยมของพรรคอื่น กกต.ทำแบบนี้ไหม? (แล้วพรรคที่เคยหาเสียงไว้แล้วทำไม่ได้ กกต.เอาไง?)

อันที่จริง การหาเสียงในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องใช้นโยบายที่ดึงดูดแข่งกันเพื่อให้คนมาเลือก ไม่ว่าจะถูกวิจารณ์เรื่องประชานิยมเพียงใด ถ้าส่งผลดีต่อคนส่วนใหญ่ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ก็ไม่มีปัญหา

เพราะถ้าได้เป็นรัฐบาลแล้วทำไม่ได้ จะต้องถูกต่อว่าด่าทอจากฝ่ายตรงข้าม ภาคประชาสังคม ถูกเล่นงานจากองค์กรอิสระที่มีอยู่มากมาย จนพ่ายแพ้ในเกมการเมืองระบบประชาธิปไตยไปในที่สุด

แต่ทางที่ดีกว่ารอให้คนมาด่า หรือมาไล่ ก็คือต้องทำให้ได้จะดีที่สุด เริ่มจากการอธิบายวิธีคิดให้ชัด อธิบายภาพที่มาที่ไปให้คนเห็น โดยเฉพาะต้องทำให้คนเชื่อว่าหากนโยบายนี้ได้ทำจริงจะไม่พาคนไทยไปลงเหวอีก นั่นคือต้องรอบคอบ รัดกุม ไม่น้ำลาย พลาดไม่ได้อีก

เพราะตอนนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยจมอยู่ใต้เหวมานานเกินพอแล้ว