ล้านนา-คำเมือง : หมาขนคำ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “หมาขนคำ”

แปลว่า หมาขนสีทอง

“หมาขนคำ” เป็นนิทานชาดก มีคติสอนธรรมประจำใจ คนโบราณส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ จึงมีนิทานสอนใจมากมาย

ในล้านนาก็เช่นเดียวกัน คนล้านนาเรียกนิทานพื้นบ้านที่ออกแนวชาดกว่า “นิทานธรรม”

นิทานชาดกที่มีหมาเป็นพระเอกเดินเรื่อง มีสองเรื่องที่คนโบราณมักจะเอามาสับสนปนกัน

เรื่องแรกคือ “กำพร้าบัวตอง” หรือ “ปรมโฆสา”

กับอีกเรื่องคือ “สุวัณณเมกฆะหมาขนคำ” เนื่องจากถ่ายทอดต่อๆ กันมาด้วยคำบอกเล่าเสียเป็นส่วนใหญ่

ต่อไปนี้เป็นเรื่องเล่าเรื่อง “กำพร้าบัวตอง”

มีนายพรานคนหนึ่งเอาหมาตัวเมียขนสีทองมาเลี้ยง วันหนึ่งหมาตั้งท้องทั้งๆ ที่แถบนั้นไม่มีหมาตัวผู้สักตัว นายพรานกลัวคำครหาของชาวบ้านว่าตัวเองสมสู่กับหมา จึงเอาหมาไปปล่อยป่า

แม่หมาเดินอุ้มท้องไปถึงดอยสามเส้า แล้วออกลูกมาเป็นสาวสวยสองคน พอเป็นสาว เจ้าเมืองได้ข่าวความสวยของสองพี่น้องก็รับเอาไปเป็นเมีย

พอแม่หมากลับมาจากป่า หาลูกไม่เจอ ก็เสียใจคร่ำครวญจนพระอินทร์เห็นใจ บันดาลให้แม่หมาพูดภาษาคนได้

แม่หมาจึงออกไปตามหาลูกสาวถึงในวัง บอกทหารยามว่ามาหาเจ้านายเก่า ทหารวังจึงพาแม่หมาไปหาลูกสาวผู้พี่

นางพี่เกิดความอับอายไม่อยากให้ใครรู้ว่ามีแม่เป็นหมา จึงทุบตีแม่ปางตาย

พอน้องสาวรู้เรื่อง ก็รับเอาแม่ไปเยียวยา

ทีนี้สามีนางมา นางน้องไม่อยากให้สามีรู้เรื่อง จึงขอหีบใหญ่มาใส่แม่ซุกซ่อนเอาไว้ แต่แล้วแม่หมาก็ตายในหีบ เมื่อสามีขอเปิดหีบดู นางก็ร่ำไห้ด้วยกลัวว่าความลับจะถูกเปิดเผยว่านางเอาหีบมาใส่แม่ ร้อนถึงพระอินทร์ให้มาช่วยอีก

พอสามีนางเปิดหีบดูปรากฏว่าพระอินทร์ทำให้ร่างแม่หมาอันตรธานไปกลายเป็นแก้วแหวนเงินทองมากมาย เมื่อเจ้าเมืองถามว่าเอาสมบัติมาจากไหน

นางตอบว่ามาจากบ้านเดิม ดอยสามเส้า และขอกลับไปเอาสมบัติมาอีก

ที่แท้นางน้องเสียใจที่แม่ตายเพราะน้ำมือพี่ คิดจะไปกระโดดผาตายตามแม่ แต่พอกระโดดลงไป ร่างนางตกใส่หัวฝีของยักษ์ที่เผอิญป่วยทนทุกข์ทรมานอยู่ เมื่อฝีแตก ยักษ์ก็หายปวดในทันที จึงตอบแทนนางด้วยการมอบแก้วแหวนเงินทองให้

นางน้องไม่ตายกลับได้สมบัติเพิ่ม ขนเข้าไปในเมืองอีกมากมาย

นางพี่รู้เรื่องเข้าก็ขอสามีออกไปเอาสมบัติบ้าง แต่พอนางกระโดดผาลงไปก็ถูกยักษ์จับกิน

นิทานเรื่องนี้มีหลายสำนวน รายละเอียดแตกต่างกันไปแล้วแต่คนเล่า นับเป็นนิทานสอนใจฉบับชาวบ้าน