จับตากองทัพ ปลดแอก 3 ป. โอลด์ โซลเยอร์ คึกคัก ลุ้นนั่ง ‘สนามไชย 1’ คุมกลาโหม จัดโผ ถอดสลักรัฐประหาร

แม้จะยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐบาลใหม่ หรือจะนายกฯ คนเก่า ในขั้วรัฐบาลใหม่ก็ตาม

แต่กองทัพเริ่มส่องมองประเมินกันแล้วว่า ใครจะเป็น รมว.กลาโหม มาดูแลกองทัพในช่วงเวลาสำคัญ ที่ถูกจับตามองว่า มีโอกาสเกิดความวุ่นวายตามมาหลังการเลือกตั้ง หรือการมีรัฐบาลใหม่

ยิ่งในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งมีการชูประเด็นปฏิรูปกองทัพยกเลิกเกณฑ์ทหาร และจัดการเด็ดขาดกับการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งจากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมรักษาการ ก็ปลุกให้คนไทยคิดว่า อาจจะเกิดความไม่สงบเกิดขึ้น จึงหยิบยกบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 “ไร้รัก ไร้ผล” ขึ้นมาย้ำหลายครั้ง รวมถึงการให้การบ้านผู้บัญชาการเหล่าทัพไปคิดว่าจะทำยังไงที่ให้ประเทศเกิดความสงบเรียบร้อย

ก่อนขึ้นเวทีประกาศตนว่า ผู้นำจะต้องเป็นผู้นำด้านความมั่นคง เพื่อดูแลทั้งในประเทศและปัญหาความขัดแย้งนอกประเทศและในภูมิภาค ราวกับจะตอกย้ำว่า ความมั่นคงสำคัญกว่าด้านเศรษฐกิจ

แต่อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจอยู่แล้วว่า แม้ไม่ต้องสั่ง แค่มองตาก็รู้แล้วว่า ผบ.เหล่าทัพจะสนับสนุนตนเองเป็นนายกฯ ต่อไปแน่นอน เพราะที่ผ่านมา ก็ดูแลกองทัพ อนุมัติทุกโครงการ จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และไม่ล้วงลูกการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร ที่น่าจะเป็นการซื้อใจน้องๆ ผบ.เหล่าทัพได้

แม้ว่ากับบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. จะมีระยะห่างกันอยู่บ้างก็ตาม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็เชื่อมั่นน้องๆ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงที่จบโรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายร้อยสามเหล่าทัพ จะตระหนักคิดได้ว่าควรจะต้องให้ใครเป็นนายกฯ

เพราะสำหรับกองทัพแล้ว หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ไม่ว่าจะควบ รมว.กลาโหมเองหรือไม่ก็ตาม จะเกิดแรงกระเพื่อมในกองทัพน้อยที่สุด เพราะได้มีการวางตัวทายาทในกองทัพในตำแหน่งต่างๆ ไว้ล่วงหน้า 5-10 ปีแล้ว

โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งสำคัญในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ต้อนรับรัฐบาลใหม่พอดี

 

แต่ทว่าในช่วงนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังทำหน้าที่นายกฯ และ รมว.กลาโหม รักษาการอยู่ ที่คาดกันว่าหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 และในระหว่างที่รอการรับรอง ส.ส. ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และช่วงการจัดตั้งรัฐบาล และเลือกนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคมนั้น ก็จะรู้กันแล้วว่าใครเป็นนายกฯ และใครจะเป็น รมว.กลาโหม

หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้กลับมาเป็นนายกฯ โดยมารยาทแล้ว ต้องรอให้นายกฯ และ รมว.กลาโหมคนใหม่มาจัดโผทหาร

คาดว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ถึงขั้นที่จะขอให้ กกต.อนุมัติรับรองให้จัดโผทหารในระหว่างที่เป็นรัฐบาลรักษาการ เพราะรัฐบาลรักษาการไม่สามารถโยกย้ายข้าราชการได้ ยกเว้นขออนุมัติกับ กกต.ก่อน

แต่ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจเกรงว่าจะเกิดการล้างบางกองทัพหากปล่อยให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจัดโผทหาร

หรือในกรณีที่เกิดความวุ่นวายหรือไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จนเลยเวลาที่ 4 ผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดปัจจุบันจะต้องเกษียณราชการ 30 กันยายน 2566 แต่ตามระเบียบราชการแล้ว ก็สามารถให้คนที่เป็นรอง ผบ.เหล่าทัพ รักษาการไปก่อน แต่สถานการณ์เช่นนี้ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม นายทหารในกองทัพจำนวนไม่น้อย ที่อุ่นใจว่าแม้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้มาเป็นรัฐบาล ก็จะต้องมีบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ร่วมรัฐบาลด้วย และ พล.อ.ประวิตรก็จะเป็นเกราะกำบังที่ดีให้กับน้องๆ ในกองทัพ

แม้ว่าจะมีแกนนำ พปชร.ออกมาประกาศว่า พล.อ.ประวิตรจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยก็ตาม แต่อาจเป็นแค่กลยุทธ์ เพราะกลัวเสียคะแนนนิยมฝ่ายสลิ่ม และพวกไม่เอาระบอบทักษิณ ที่จะพากันเทคะแนนให้พรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์กันหมด

ขณะนี้เริ่มมีการมองกันแล้วว่า ใครจะมาเป็น รมว.กลาโหม หลังมีรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้ง

หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัยหลังการเลือกตั้ง หากไม่ควบ รมว.กลาโหมเอง พล.อ.ประยุทธ์ก็จะให้บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรองนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม ดูแลกองทัพในยามวิกฤตนี้แทน เพราะมั่นใจในตัวพี่รอง 3 ป.คนนี้ที่สุด

และจะดึงตัวบิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ที่มากประสบการณ์ 6 ปี มาทำหน้าที่ รมช.กลาโหม ช่วยงานบิ๊กป๊อก ในการดูแลกองทัพ งานความมั่นคงต่อ เพราะแม้ พล.อ.ชัยชาญจะมาสู่จุดนี้ได้เพราะ พล.อ.ประวิตรก็ตาม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็เชื่อในความเป็นมืออาชีพ และเชื่อใจ พล.อ.ชัยชาญตลอด 4 ปีที่ตนเองเป็น รมว.กลาโหม

แม้ พล.อ.อนุพงษ์จะประกาศวางมือทางการเมือง ไม่ไปต่อแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ พล.อ.อนุพงษ์ยังคงช่วย พล.อ.ประยุทธ์แบบเต็มตัว ในฐานะ รมว.มหาดไทย ที่ยังลงพื้นที่ต่างจังหวัดด้วยทุกทริป ยกเว้นที่ไปในนามพรรครวมไทยสร้างชาติเท่านั้น

ทั้งนี้ การที่ พล.อ.อนุพงษ์ประกาศวางมือ ก็เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่า จะยอมปล่อยเก้าอี้ “มท.1” ให้คนอื่น หรือพรรคอื่น เพื่อเป็นเก้าอี้ในการต่อรอง ดึงดูดให้พรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลกับ รทสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์

เพราะที่ผ่านมา กว่า 8 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็ไม่ยอมแตะต้องเก้าอี้ มท.1 ของ พล.อ.อนุพงษ์เลย แม้ว่าในห้วงที่เป็นรัฐบาล 4 ปีหลังจะมีแรงกดดันจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ให้บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พี่ใหญ่ หัวหน้าพรรค พปชร. นั่ง มท.1 ก็ตาม แต่ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ ก็เมินเฉย

ถึงขั้นที่ในเวลานั้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ถึงขั้นเอ่ยปากกับ พล.อ.อนุพงษ์ ถึงความอึดอัดของ ส.ส.พรรคที่ไม่อาจเข้าถึง พล.อ.อนุพงษ์ ที่ไม่อำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือใดๆ ส.ส.ในพื้นที่ ในการช่วยเหลือประชาชนเลย จน พล.อ.อนุพงษ์ต้องยอมรับปากว่า จะปรับตัวพร้อมแจกเบอร์มือถือให้ ส.ส.พปชร.

แต่แรงกดดันก็ยังไม่สิ้นสุด จนถึงขั้นที่แกนนำกลุ่มปากน้ำ แสดงความต้องการให้ พล.อ.ประวิตรเป็น รมว.มหาดไทยแทนเพื่อความได้เปรียบในการทำงานในพื้นที่ให้ประชาชนและในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

อีกทั้ง พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้อยากจะเป็น รมว.มหาดไทย บอกแค่เพียงว่าแล้วแต่นายกฯ

จุดแตกหักของ พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประวิตร ในฐานะพี่น้อง 3 ป. จึงมาอยู่ที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ ส.ส.กลุ่มปากน้ำงดออกเสียงไม่โหวตไว้วางใจให้ พล.อ.อนุพงษ์ แถมทั้ง พล.อ.ประวิตรยังประกาศว่า หากมีการปรับคณะรัฐมนตรี ก็จะให้ตัวแทนกลุ่มปากน้ำนั่งเก้าอี้ รมต. แล้วก็เป็นจริง เมื่อมีการปรับ ครม. นายสุนทร ปานแสงทอง แกนนำกลุ่มปากน้ำ ก็ได้เป็น รมช.มหาดไทย

แต่จุดแตกหักของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กันคือ ในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ให้ พล.อ.ประวิตร นั่ง มท.1

เพราะในเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้แรมโบ้ เสกสกล อัตถาวงศ์ และตุ๋ย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ไปแอบตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ รอไว้แล้ว จึงไม่อาจติดดาบ มท.1 ให้ พล.อ.ประวิตรได้

ส่งผลให้ความสัมพันธ์พี่น้อง 3 ป. ยิ่งแตกร้าวลึก และยิ่งแตกหัก เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ย้ายไปอยู่ รทสช. และกลายเป็นคู่แข่งของพรรค พปชร. และกลายเป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้นายกฯ กันเอง

พล.อ.อนุพงษ์จึงถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติและแยกทางเดินออกมาจาก พล.อ.ประวิตร มากอดคอกัน 2 ป. สู้กับพี่ใหญ่ เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ถือเป็นกุนซือคนสำคัญ เป็นรุ่นพี่ที่เสมือนเป็นเพื่อนคู่คิดให้กับ พล.อ.ประยุทธ์มาตลอด

อีกทั้งมีความสนิทสนมกัน ตั้งแต่เป็นทหารเสือราชินีเติบโตมาใน ร.21 รอ. ด้วยกัน ตั้งแต่เป็นผู้พัน ผู้การกรม จนขึ้นเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. แบบหายใจรดต้นคอกันมาเลยทีเดียว

พล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะน้อง ต้องยอม พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่มาตลอด แม้แต่เมื่อเวลา พล.อ.ประวิตรอารมณ์เสีย ก็มักแสดงทีท่ากับ พล.อ.อนุพงษ์ ต่อหน้าผู้คน และพูดอะไรพี่ใหญ่ก็มักจะไม่ค่อยฟังไม่ค่อยเชื่อ

ตรงกันข้ามกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นรุ่นน้องที่ให้ความเคารพเมื่อ พล.อ.อนุพงษ์แนะนำหรือบอกสิ่งใด ขอสิ่งใด พล.อ.ประยุทธ์ก็จะทำตามเสมอ จึงไม่แปลกที่ พล.อ.อนุพงษ์จะเลือกข้างอยู่ฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์

แต่หากเป็นกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ และ พล.อ.ประวิตร พรรคพลังประชารัฐ จับมือกันจัดตั้งรัฐบาล ด้วยความจำเป็นที่จะต้องรวมเสียง ส.ส.ที่ได้ เพื่อต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาล หาก พล.อ.ประวิตรจำเป็นต้องเสียสละให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ตัว พล.อ.ประวิตรเองแม้อยากจะนั่งเก้าอี้นายกฯ แต่อาจเจอใบสั่ง ให้ต้องเสียสละ หรือในกรณีที่อาจได้ ส.ส.น้อยกว่าพรรค รทสช.

ต่อให้ พล.อ.ประวิตรอยากนั่งเก้าอี้ มท.1 แต่หากต้องยกให้พรรคร่วมรัฐบาล ไปๆ มาๆ พล.อ.ประวิตรก็อาจจะต้องซ้ำรอย กลับมาเป็นรองนายกฯ และ รมว.กลาโหมเช่นเมื่อครั้งเคยเป็นในรัฐบาล คสช.

แต่ถ้าเลือกได้ พล.อ.ประยุทธ์คงไม่อยากให้ พล.อ.ประวิตรกลับมาคุมกลาโหม คุมกองทัพอีก เพราะอาจกลายเป็นหอกข้างแคร่ในวันหนึ่งข้างหน้า

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล

แต่ในกรณีที่ พล.อ.ประวิตรได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะในสูตรจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ตามที่มีดีลกันไว้ หรือเป็นขั้วที่ 3 ร่วมรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคที่เคยร่วมรัฐบาลปัจจุบันกัน

แม้ใจ พล.อ.ประวิตรอยากจะเป็นนายกฯ ด้วย และควบ รมว.มหาดไทยด้วย แต่สูตรคณิตศาสตร์พรรคร่วมรัฐบาล อาจทำให้ต้องยอมสละเก้าอี้ มท.1 ให้เสี่ยหนูอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แลกกับการยอมมาร่วมรัฐบาล

แต่ พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้อยากจะควบ รมว.กลาโหม แต่ก็จำเป็นต้องคุมกองทัพด้วยตนเอง เพื่อถอดสลักการรัฐประหาร เพราะหากเป็นรัฐบาลที่จับมือกับพรรค เพื่อไทย จะตัองระวังฝ่ายตรงข้าม ที่จะมาเจาะยางในกองทัพ โดยเฉพาะขั้วอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ หากไม่ได้เป็นรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี เพราะฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ยังมีเพาเวอร์ในกองทัพ และยังมีกลุ่มที่สนับสนุนการรัฐประหารปี 2557 แบ๊กอัพอยู่

หาก พล.อ.ประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.กลาโหม ก็อาจจะให้บิ๊กน้อย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา น้องรักที่ดึงกลับจากหัวหน้าพรรครวมแผ่นดิน ให้มาอยู่พรรคพลังประชารัฐ เป็น รมช.กลาโหม

แต่ก็มีข่าวสะพัดในกระทรวงกลาโหมว่า ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร หรือ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หรือ รมว. กลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ก็จะเป็น รมช.กลาโหมต่อไป แม้จะมีบิ๊กทหารเกษียณรอบตัวพี่น้อง 2 ป.มากมาย ที่ร้องจะมาช่วยดูแลกองทัพและงานความมั่นคงก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประวิตรได้เชิญบิ๊กแอ๊ด พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รุ่นพี่ จปร.10 ซึ่งเป็นอดีต รมว.กลาโหมในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มาเข้าพรรคพลังประชารัฐเพื่อช่วยการเลือกตั้งในภาคอีสาน

หาก พล.อ.ประวิตรได้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และได้โควต้าเก้าอี้ รมว.กลาโหมก็อาจจะให้ พล.อ.ธรรมรักษ์ได้กลับมาคุมกลาโหมอีกครั้งเพื่อแก้ตัว เพราะครั้งก่อนถูกบิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผบ.ทบ. ใช้กลยุทธ์ลับลวงพรางในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยึดอำนาจนายทักษิณ ชินวัตร ขณะเดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่อเมริกา

จนทำให้ พล.อ.ธรรมรักษ์ตายใจจากกลยุทธ์ลับลวงพราง ที่ตนเองเป็นต้นตำรับของงานการข่าวนี้ แต่กลับถูก พล.อ.สนธิย้อนศรใช้วิชานี้ลับลวงพราง ทำให้คิดว่าไม่กล้ารัฐประหาร

ดังนั้น หากได้กลับมาเป็นกลาโหมอีกครั้ง พล.อ.ธรรมรักษ์จึงมีภารกิจในการถอดสลักการรัฐประหารคุมกองทัพให้อยู่

พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

แต่อีกสูตรหนึ่ง หากนายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยได้เป็นนายกรัฐมนตรี จากที่ไม่ได้มองเก้าอี้ “สนามไชย 1” เท่าใดนัก แต่ด้วยสถานการณ์อาจทำให้นายอนุทินจะต้องยึดเก้าอี้ รมว.กลาโหมไว้ในโควต้าพรรคภูมิใจไทยเองก็เป็นได้

เพราะก็มีกระแสข่าวมาตลอดว่า นายอนุทินก็มีบิ๊กทหารที่สนิทสนมเคารพรักใคร่ ไปมาหาสู่กันอยู่เนืองๆ เล็งไว้ว่าจะให้เป็น รมว.กลาโหม โดยเป็นอดีต ผบ.ทหารสูงสุดถึง 2 คน

แต่ในทางกลับกันหากเปลี่ยนขั้วรัฐบาล พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มี พล.อ.ประวิตรพรรคพลังประชารัฐรวมด้วย

คาดกันว่าพรรคเพื่อไทยก็จะยึดเก้าอี้ รมว.กลาโหมไว้เอง เพราะได้ประกาศที่จะจัดการปฏิรูปกองทัพอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องกันการรัฐประหารในอนาคต

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก

ดังนั้น คนที่จะมาเป็น รมว.กลาโหม ที่จะดูแลกองทัพต้องมีความเด็ดขาด และมีบารมี ที่อาจจะเป็นพลเรือน เช่น นายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่เป็นนักวิชาการและเป็นลูกทหารสนใจเรื่องของกองทัพ

ที่สำคัญเป็นรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่ประกาศว่า รัฐบาลจะไม่ยอมลาออก ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี 22 พฤษภาคม 2557 จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่า “งั้นผมขอยึดอำนาจตั้งแต่นาทีนี้”

และคาดกันว่า ชื่อของบิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกลาโหม ที่ปัจจุบันเป็นทีมงานที่ปรึกษาของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ก็จะกลับมาอีกครั้ง ที่อาจจะเป็น รมช.กลาโหม ให้นายชัยเกษม หรืออาจเป็น รมว.กลาโหมเองก็เป็นได้

พล.อ.นิพัทธ์เป็นนายทหารในสายพรรคเพื่อไทย เพราะเมื่อครั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ และควบ รมว.กลาโหมหญิง ได้ตั้งเป็นปลัดกลาโหม แต่แค่ 8 เดือนก็เกิดการรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์เซ็นคำสั่งแรกย้าย พล.อ.นิพัทธ์เข้ากรุทันที แม้ว่าจะเป็นรุ่นน้องทหารเสือราชินีอยู่ ร.21 รอ.มาก็ตาม

อีกทั้งตลอดเวลา 8 ปีที่ผ่านมา แม้จะได้รับแต่งตั้งให้เป็น สนช.ปลอบใจ แต่ พล.อ.นิพัทธ์เจอคำสั่งไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ และถูกบล็อกไม่ให้เป็นคณะกรรมการสิทธิฯ (กสม.) จนต้องไปเอาดีในเรื่องการเขียนบทความและการเป็นยูทูบเบอร์

หากได้กลับมาสู่ชายคากลาโหมอีกครั้ง เชื่อได้ว่า พล.อ.นิพัทธ์ที่มีบทเรียนมาแล้วน่าจะดูแลกองทัพได้เป็นอย่างดี แถมยังมีบิ๊กโด่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต ผบ.ทบ. และอดีต รมช.กลาโหม เป็นเพื่อนรักเตรียมทหาร 14 อีกด้วย

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต

ขณะที่มีบิ๊กทหารรุ่นเก่าอีกคน อย่างบิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม ในยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่เป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 ของนายทักษิณ แต่ครั้งนั้นโดน พล.อ.ประยุทธ์ใช้วิชาสร้างความสนิทสนม ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เชื่อใจ จนสนับสนุนให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ควบ รมว.กลาโหมหญิงเอง โดยปลด พล.อ.อ.สุกำพลออก

เพราะในเวลานั้น พล.อ.อ.สุกำพลแสดงทีท่าขึงขังว่าจะคุมเข้มกองทัพ และมีกระแสข่าวลือมาตลอดว่าจะเปลี่ยน ผบ.ทบ. ที่ตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.ปีแรก ตั้งแต่ยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และมีอายุราชการถึง 4 ปี

และในห้วงนั้น ปรากฏการงัดข้อกันระหว่าง พล.อ.อ.สุกำพล กับ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่เนืองๆ จนที่สุด คนที่โดนปลดคือ พล.อ.อ.สุกำพล ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กลับกลายเป็น ผบ.ทบ.ที่สนิทสนมกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์มากที่สุด และกลายเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว จนนายกฯ หญิงวางใจ ก่อนถูกรัฐประหารในที่สุด

ดังนั้น พล.อ.อ.สุกำพล ที่ดูแลรักษาสุขภาพตัวเองมาตลอดก็พร้อมที่จะกลับมาแก้ตัวในการปฏิรูปกองทัพ

 

สําหรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือและผู้บัญชาการทหารอากาศ อาจมีผลแปรเปลี่ยนกับ นายกฯ และ รมว.กลาโหมคนใหม่ แต่มีผลน้อยสุดกับ ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.ทบ. เพราะเป็นทหารคอแดง

เพราะถึงอย่างไร แคนดิเดต ผบ.ทบ. ก็มีแค่ 2 คน คือ บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. และบิ๊กโต พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผช.ผบ.ทบ. เพราะอยู่ในห้าเสือ ทบ. และเป็นทหารคอแดง เนื่องจาก ผบ.ทบ. จะต้องเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 คุมทหารคอแดงในส่วนของ ทบ.ด้วย ไม่อาจที่จะให้พลเอกทหารคอเขียว ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.ได้ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่วางเอาไว้ตั้งแต่บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ.คอแดงคนแรก

รวมถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ก็เป็นทหารคอแดง โดยมีรองอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทหารสูงสุด จ่อคิวเป็นตัวเต็งอยู่

แม้ว่าธรรมเนียมปฏิบัติ ผบ.ทบ.ต้องมาจากทหารคอแดง รวมถึง ผบ.ทหารสูงสุดด้วย นี้จะทำให้เกิดความแปลกแยกในกองทัพเพราะเป็นการปิดโอกาสของทหารคอเขียว ที่เป็นทหารส่วนใหญ่ของกองทัพได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญก็ตาม แต่ฝ่ายการเมืองก็อาจจะเข้ามาปรับเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัตินี้

แต่หากยังคงเป็น พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร หรือ พล.อ.อนุพงษ์ ที่ดูแลกองทัพ ก็คงจะไม่ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นให้ ผบ.ทบ.กลับมาเป็นทหารคอเขียวอีก ยกเว้น ผบ.ทหารสูงสุด ที่อาจจะพอเปลี่ยนแปลงได้

ขณะที่ตำแหน่ง ผบ.ทร.คนใหม่นั้น มีแคนดิเดต 3 คน ตามอาวุโสยศ คือ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผช.ผบ.ทร. พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสธ.ทร. แม้จะเป็นรุ่นน้อง ตท.25 กับ รุ่นพี่ ตท.25 แต่เกษียณอายุราชการ 2568 พร้อมกัน ส่วน พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ที่มีอายุราชการถึง 2567 เท่านั้น

คาดกันว่า หากนายกฯ ยังคงเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะควบ รมว.กลาโหมเองหรือไม่ พล.ร.อ. สุวินก็ยังมีโอกาสที่จะเป็น ผบ.ทร. เพราะได้เปรียบเรื่องอาวุโส

อีกทั้งในการโยกย้ายครั้งก่อน ก็มีข่าวสะพัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ไฟเขียวให้ พล.ร.อ.สุวินขึ้นมาเป็น ผช.ผบ.ทร. จนถูกร่ำลือว่า ได้วางตัวเอาไว้แล้ว แถมทั้งเส้นทางรับราชการอยู่ในสายประดู่เหล็ก ที่จะขึ้นแม่ทัพเรือ จึงอาจมีส่วนที่ทำให้ พล.ร.อ.สุวินกลายเป็นเป้า

แต่หากเป็น พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ ไม่ว่าจะควบ รมว.กลาโหม หรือไม่ โอกาสของ เสธ.โอ๋ พล.ร.อ.ชลธิศก็มีสูงกว่า เนื่องจากมีการคาดกันว่า บิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย อดีต ผบ.ทร.คนที่แล้ว ที่ทำงานใกล้ชิด พล.อ.ประวิตรมา และเป็นเพื่อน ตท.20 ของ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ อดีตปลัดกลาโหม มือขวาบิ๊กป้อม จะช่วยผลักดันเต็มที่

และต้องไม่ลืมว่า บิ๊กจ๊อด พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร.คนปัจจุบัน เป็นหนี้บุญคุณ พล.ร.อ.สมประสงค์ ที่ดึงตนเองจากรองเสนาธิการทหาร กองทัพไทย กลับมาเป็น ผช.ผบ.ทร.ในโยกย้ายเมษายน 2565 แล้วจึงดันขึ้นในโยกย้ายตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

ดังนั้น โอกาสของ พล.ร.อ.ชลธิศจะมีมากกว่า พล.ร.อ.สุวิน และ พล.ร.อ.อะดุง เพื่อน ตท.23 เพราะคาดกันว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย พล.ร.อ.สมประสงค์ก็สามารถที่จะเจรจากับ พล.อ.ประยุทธ์ได้ เพราะ พล.ร.อ.สมประสงค์ก็เป็นเพื่อนรัก ตท.20 ของ พล.อ.อภิรัชต์เช่นกัน

ดังนั้น ไม่ว่าพรรค รทสช. หรือ พปชร. มาเป็นแกนนำรัฐบาลใหม่ ก็คาดกันว่า พล.ร.อ.ชลธิศ น่าจะได้เป็น ผบ.ทร. ทั้งด้วยเกมภายใน และเกมการเมืองนอก ทร.

และเป็นไปตามโรดแม็ปของ ตท.23 ที่จะยึดทั้ง 4 เก้าอี้ ผบ.เหล่าทัพใหม่

 

พล.อ.อ.ณรงค์ อินทรชาติ – พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา- พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร

เพราะแคนดิเดต ผบ.ทอ.คนใหม่ ก็ล้วนเป็น ตท.23 ทั้งสิ้น

ทั้งบิ๊กหนึ่ง พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา รอง ผบ.ทอ. อาจมีโอกาสสูงขึ้น หากมีการเปลี่ยนรัฐบาล และบิ๊กจ๋า พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร ผช.ผบ.ทอ. ที่กำลังขับเคี่ยวกับบิ๊กณะ พล.อ.อ.ณรงค์ อินทรชาติ เสธ.ทอ. ที่เชื่อกันว่าเป็นทายาทของบิ๊กป้อง พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ. ที่ถือว่ามีบุญคุณต่อบิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ.คนปัจจุบัน ที่อาจจะต้องยอมเสนอชื่อ พล.อ.อ.ณรงค์ เป็น ผบ.ทอ.ก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีรุ่นน้อง ตท.24 อย่างบิ๊กไก่ พล.อ.อ. พันธุ์ภักดี พัฒนกุล ผช.ผบ.ทอ. เป็นแคนดิเดตอีกคนที่ถือว่ามีความสามารถ เข้าตา จากคอนเน็กชั่นไม่ธรรมดา เป็นที่รักของอดีต ผบ.ทอ.หลายคน แถมเกษียณ 2568 เพราะรุ่นพี่เหลือกันคนละปีเดียว จะเกษียณ 2567

ทั้งหมดนี้จึงขึ้นอยู่กับว่า ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมนั่นเอง