ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 เมษายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
รายงานชิ้นล่าสุดของสถาบันเพื่อการวิจัยสันติภาพสากลแห่งสตอกโฮล์ม องค์กรวิชาการอิสระที่มุ่งวิจัยสงครามและสันติภาพ ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม ระบุว่า กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างกองทัพและพลานุภาพทางทหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 21 เรื่อยมา
ระหว่างปี 2000-2021 การใช้จ่ายด้านการทหารของทุกประเทศรวมกันแล้วเพิ่มขึ้นจาก 1.12 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2000 เป็น 2.11 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2021
ที่สำคัญก็คือในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มูลค่ารวมของงบประมาณทางทหารของบรรดาประเทศในเอเชียและโอเชียเนีย เมื่อคิดเป็นสัดส่วนกับมูลค่างบประมาณทางทหารของทั้งโลก เพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราด จาก 18 เปอร์เซ็นต์เป็น 28 เปอร์เซ็นต์
เหตุปัจจัยสำคัญที่สุดอันเป็นที่มาให้การใช้จ่ายด้านการทหารในเอเชียเพิ่มสูงขึ้นมากดังกล่าวก็คือ การที่จีนตะลุยเสริมสร้างและขยายศักยภาพทางทหารของตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทุบทำลายสภาวะแวดล้อมสงบสันติที่บรรดานานาประเทศเพียรพยายามสร้างขึ้นทีละเล็กทีละน้อยผ่านเวทีการประชุมและการเจรจาหารือต่างๆ ลง
เปิดเผยให้เห็นจุดเปราะบางที่สามารถกลายเป็นชนวนให้เกิดสงครามขึ้นในภูมิภาคหลายต่อหลายจุดด้วยกัน
จุดที่สามารถเป็น “แฟลชพอยต์” หรือชนวนสงครามในเอเชียที่ใหญ่ที่สุดเห็นจะเป็นกรณีของ “ไต้หวัน” ซึ่งทุกฝ่ายเป็นกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะตกเป็นเหยื่อของแผนผนวกดินแดนของจีน ที่ถือว่าไต้หวันเป็น “มณฑล” หนึ่งของตน ไม่ใช่ประเทศเอกราชแต่อย่างใด
ผู้สันทัดกรณียอมรับทั่วกันว่าความเสี่ยงต่อการที่จีนแผ่นดินใหญ่จะตัดสินใจใช้กำลังทหารบุกเพื่อยึดครองไต้หวันในเวลานี้ พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาในช่วงหลายสิบปีหลังมานี้จะแตกต่างกันออกไปตรงที่ว่าจะเป็น “เมื่อใด” เท่านั้นเอง
แม้แต่บรรดาผู้นำทางทหารของสหรัฐอเมริกา ก็ให้ตัวเลขวันเวลาแตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าเป็นภายในปี 2023 นี้ หรือไม่ก็เป็นปี 2025 และ 2027
การประเมินทางทหารของสหรัฐอเมริกามีนัยสำคัญไม่น้อย เนื่องจากสหรัฐและไต้หวันมีความตกลงร่วมกันว่า สหรัฐอเมริกาจะให้ความคุ้มครองต่อไต้หวันในกรณีที่ถูกโจมตี
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนเตือนว่า การประเมินทางทหารดังกล่าวอาจถูกขยายให้เกินเหตุ เพื่อหวังล็อบบี้งบประมาณทางทหารเพิ่มเติม
ในทำนองเดียวกับที่กระแสเรื่องนี้ถูกกระพือโหมเกินจริงในไต้หวัน เพราะประธานาธิบดีที่นั่นหวังเปลี่ยนทัศนคติสาธารณชนให้หันมาสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล แต่ต้องผิดหวังไม่น้อยเช่นกัน
ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพ ในปี 2023 นี้งบประมาณทางทหารของจีนจะเพิ่มขึ้นอีก 7.2 เปอร์เซ็นต์ ทำให้งบฯ กิจการทหารโดยรวมพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ทางการสหรัฐอเมริกายังคงตั้งข้อสังเกตไว้ว่า งบฯ ทหารของจีน เมื่อใช้จ่ายจริงๆ จะสูงขึ้นกว่าที่ประกาศออกมาราว 2 เท่าตัว
แล้วก็เป็นเหตุให้เมื่อต้องจัดทำงบประมาณทางทหาร สหรัฐอเมริกาจึงหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนศักยภาพของกองทัพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นอันดับแรก และเพิ่งให้ความเห็นชอบให้ไต้หวันจัดซื้ออาวุธ “ใหม่” จากสหรัฐอีก 619 ล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง
การเสริมสร้างสมรรถนะทางทหารของจีนกระทบต่อดุลยภาพทางทหารในภูมิภาคอย่างชัดเจน
สถาบันวิจัยสันติภาพชี้ให้เห็นว่า เมื่อปี 2000 จีนยังคงเป็นชาติที่ใช้จ่ายด้านการทหารสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก แต่พอถึงปี 2021 งบประมาณทหารของจีนเทียบแล้วสูงกว่าประเทศที่อยู่ในลำดับถัดมา 13 ประเทศรวมกัน
ทิศทางดังกล่าวส่งผลให้เกิดความตกลงไตรภาคี ระหว่างสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร (ยูเค) และออสเตรเลีย ที่เรียกกันว่าความตกลง “ออคุส” ขึ้น
ภายใต้ความตกลงนี้ สหรัฐและยูเค จะช่วยให้ออสเตรเลียสามารถจัดซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ “อย่างน้อย 3 ลำ” มาประจำการ
แฟลชพอยต์สำคัญถัดมาก็คือ อาณาบริเวณที่เรียกกันว่า “ทะเลจีนใต้” อันเป็นหนึ่งในน่านน้ำที่มีความสำคัญสูงที่สุดของโลกทั้งในแง่ของยุทธศาสตร์และเศรษฐศาสตร์
ทะเลจีนใต้ คือน่านน้ำที่เป็นเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ที่ “คราคร่ำ” มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีสัตว์น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติอยู่มหาศาล ทั้งยัง “คิดกันว่า” เป็นแหล่งสำรองน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่มีนัยสำคัญอีกด้วย
แต่สำคัญที่สุดคือ พื้นที่ในทะเลจีนใต้เป็นแหล่งที่มีการอ้างสิทธิครอบครองทับซ้อนกันมากที่สุดและวุ่นวายที่สุด
จีนอ้างสิทธิครอบครองเกือบทั้งหมดของอาณาบริเวณนี้ภายใต้เส้นแบ่งเขตทางทะเลที่เรียกว่า “ไนน์-แดช ไลน์” แม้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก ปฏิเสธการให้การรับรองคำกล่าวอ้างนี้มาแล้วอย่างเป็นทางการก็ตามที
ในขณะที่ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย, บรูไน และไต้หวัน ก็อ้างสิทธิทับซ้อนการอ้างสิทธิของจีนเช่นกัน
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เฟอร์ดินานด์ มาร์คอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ประกาศ “ไม่ยอมสูญเสียดินแดนแม้แต่นิ้วเดียว” และตกลงขยายสิทธิในการเข้าถึงฐานทัพของตนต่อกองกำลังสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติม
กระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับรัฐบาลอเมริกันและบรรดาพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลียมากขึ้น
เพื่อตอบโต้สิ่งที่ถือว่าเป็น “ท่าทีก้าวร้าวรุกราน” ของจีน ที่ระดมถมทะเลสร้างฐานทัพขึ้นหลายจุด รวมทั้งการก่อกวนและเป็นอันตรายต่อเรือสัญชาติฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้อีกด้วย
แฟลชพอยต์สำคัญอีกแห่งในเอเชียก็คือ เกาหลีเหนือ ซึ่งตลอดปี 2022 ที่ผ่านมาได้ทดลองอาวุธหลากชนิดรวมกันราว 90 ครั้งรวมทั้งหลายครั้งที่เป็นการทดลองขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม)
และแนวโน้มดังกล่าวยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ ที่คิม จอง อึน สั่งการให้ทดลองอาวุธไปแล้วถึง 11 ครั้งด้วยกัน
2 ครั้งในจำนวนนั้นเป็นการทดลองไอซีบีเอ็มกับการทดลองจรวดครูสที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งพัฒนาใหม่ให้มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมที่เปิดตัวไปไม่นานอีกด้วย
การแสดงออกของเกาหลีเหนือ เป็นการแสดงออกโดยตรงต่อเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา แต่กระทบไปทั่วทั้งภูมิภาค
การซ้อมรบประจำปีของเกาหลีใต้กับสหรัฐอเมริกาในปีนี้ ถูกขยายเป็นการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 5 ปี ที่ครอบคลุมถึงการปฏิบัติการของเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาเข้าไปด้วย
ท่าทีและแนวโน้มความแข็งกร้าวของเกาหลีเหนือ ไม่เพียงทำให้ญี่ปุ่นประกาศเพิ่มงบประมาณทางทหารขึ้นเท่าตัวเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีภายในปี 2027 หลังจากที่เคยจำกัดอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์มาตลอดเท่านั้น
ยังส่งผลให้เกิดการถกเถียงกันขึ้นเป็นครั้งแรกว่า ควรหรือไม่ที่เกาหลีใต้จะเริ่มต้นพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองอีกด้วย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022