ผู้มั่งคั่ง “สารัชถ์ รัตนาวะดี” สะท้อนภาพรวมสังคมไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เรื่องราวเกี่ยวกับผู้มั่งคั่งที่ว่านี้ ย่อมสะท้อนภาพรวมสังคมไทยอย่างมิพักสงสัย

เมื่อไม่กี่วันมานี้ สื่อระดับโลก (www.forbes.com) เปิดโฉมจัดอันดับผู้มั่งคั่งทั่วโลก (อ้างอิงจาก BILLIONAIRES 2023-The Richest in 2023) พิจารณาเฉพาะ 150 อันดับแรก มีคนไทยติดโผถึง 3 คน

อันดับ 1 และ 2 เป็นบุคคลคาดกันอยู่แล้ว และเป็นเช่นนั้นติดต่อกันมาแล้วหลายปี คือ ธนินท์ เจียรวนนท์ (วัย 83 ปี) แห่งซีพี (อันดับที่ 116 ของโลก) และ เจริญ สิริวัฒนภักดี (78) แห่งกลุ่มทีซีพี (อันดับ 118)

ส่วนอันอับที่ 3 ของไทย น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ สารัชถ์ รัตนาวะดี (วัย 57 ปี) ผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจที่เติบโตอย่างน่าทึ่ง อยู่ในอันดับที่ 141 ของโลก

เมื่อพิเคราะห์เจาะจงช่วงวัยแต่ละคน จะให้ภาพความสัมพันธ์ระหว่างบริบท กับช่วงวางรากฐานธุรกิจ

ซีพีตั้งหลักในรุ่นที่สองที่มีธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นผู้นำ ในยุคสงครามเวียดนาม เจริญ สิริวัฒนภักดี อาศัยจังหวะเข้ายึดธุรกิจสัมปทานผูกขาดผลิตสุราขาวทั่วประเทศ สะสมความมั่งคั่งอย่างมั่นคง สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ตั้งแต่ช่วงต้นเศรษฐกิจเฟื่องฟูทศวรรษ 2530

สำหรับช่วงเวลามาถึงของ สารัชถ์ รัตนาวะดี ค่อนข้างมาช้า แต่มีแรงปลาย

 

เขาปรากฏตัวขึ้นราวทศวรรษเดียว จะว่าคือ “คนนอก” อีกคนหนึ่งก็ว่าได้ สามารถแสวงหาโอกาสในจังหวะที่หาไม่ได้ง่ายนัก ด้วยภาพซ้อนโมเดลเดิมสังคมไทย ว่าด้วยสายสัมพันธ์ผู้มีอำนาจ กับบริบทเกี่ยวข้อง มาถึงจังหวะอันเหมาะสม

สารัชถ์ รัตนาวะดี เริ่มต้นคลุกคลีธุรกิจโรงไฟฟ้า ในฐานะมืออาชีพ ในหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมเกี่ยวข้อง เมื่อมีพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 (ขณะนั้น อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี) ไม่เพียงเป็นที่มา และจุดตั้งต้น บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อย่างกลุ่ม ปตท. หากรวมการปฏิรูปกิจการผลิตไฟฟ้าครั้งใหญ่ ในสถานการณ์ซึ่งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสำคัญ–การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่อาจแบกรับภารกิจได้ตามลำพัง

จากนั้นเกือบๆ 2 ทศวรรษ เขาจึงมาก่อตั้งกิจการตนเองอย่างจริงจัง (ราวปี 2550) เป็นช่วงเวลาคลี่คลายผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ตามโมเดลเป็นพันธมิตรเครือข่ายธุรกิจระดับโลก เป็นไปตามจังหวะก้าว จากกิจการร่วมทุนถือหุ้นข้างน้อย สู่กิจการซึ่งถือหุ้นข้างมาก สามารถสร้างรากฐานธุรกิจ

จนมองเห็นโอกาสก้าวสู่เวทีเทียบเคียงกับผู้มีอิทธิพลและผู้มาก่อน

 

จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เกิดขึ้น ในช่วงเวลาสำคัญสังคมไทย ระยะเปลี่ยนผ่านในสถาบันสำคัญ และเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อสารัชถ์ รัตนาวะดี นำ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ปลายปี 2560 สามารถสร้างสถิติใหม่ ด้วยมูลค่าหุ้น IPO (หุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งจำนวนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก) ที่สูงสุดที่สุดในรอบ 11 ปี เกือบ 2.4 หมื่นล้านบาท

ภาพอันโดดเด่นปรากฏขึ้นอย่างเป็นเรื่องราว ในฐานะ GULF “หนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ของไทย” ลงทุนในเครือข่ายธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเย็น

เวลานั้น (2560) มีโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 17 โครงการ มีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนา จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2567 ทั้งหมด 28 โครงการแล้ว

อีกมิติสะท้อนสายสัมพันธ์ทางธุรกิจอันมั่นคง เนื่องด้วยเป็นธุรกิจซึ่งมีความสัมพันธ์กับรัฐ และการเมืองมากเป็นพิเศษ ด้วย GULF มีคู่ค้าสำคัญ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว ในรายงานล่าสุด ( Gulf Energy Development Plc. Q2’22 SET Opportunity Day August 2022) ระบุว่ากระแสเงินสดจากธุรกิจพลังงานมากกว่า 90% มาจาก กฟผ.

จะว่าข้อมูลข้างต้นเป็นความมั่นคงทางธุรกิจในปัจจุบัน ขณะอาจมองเป็นความเสี่ยงในอนาคตก็ได้ ท่ามกลางแผนการใหม่ๆ ในฐานะกิจการกำลังเติบโตขึ้น

 

ช่วงปี 2564 (เมษายน-สิงหาคม) GULF กับกระบวนการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (tender offer) บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ซึ่งมีผลกระทบถึง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC บรรลุเป้าหมายสำคัญ ด้วย GULF สามารถซื้อหุ้นจนกลายเป็นถือหุ้นใหญ่ INTUCH (ในสัดส่วนราว 46%) ซึ่งมีผลเชื่อมโยงไปถึง ADVANC ในฐานะ INTUCH ถือหุ้นใหญ่ที่สุด (ราว 40%) ใน ADVANC

อันที่จริงเป็นโมเดลร่วมทุนกับเครือธุรกิจระดับโลก อย่างที่เคยทำในธุรกิจพลังงาน แต่คราวนี้มายังธุรกิจสื่อสาร กับ SingTel แห่งสิงคโปร์

ปัจจุบัน ตัวแทน GULF หลายคนเข้าเป็นกรรมการ ทั้งใน INTUCH และ ADVANC โดยสารัชถ์ รัตนาวะดี ตั้งใจเข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ADVANCE ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจสื่อสารไร้สายในประเทศไทย

ขณะภาพใหญ่ ธุรกิจ GULF มีการเปลี่ยนแปลง ปรากฏในข้อมูลนำเสนอล่าสุด (อ้างแล้วข้างต้น) ว่าเป็น Digital business : ซึ่งถือส่วนสำคัญของธุรกิจเติบโตใหม่ นอกเหนือจากโรงงานผลิตไฟฟ้า (New S-Curve – Beyond Power Generation)

 

หากย้อนไปพิจารณาข้อมูลของ BILLIONAIRES 2023 อีกครั้งจะพบว่า สารัชถ์ รัตนาวะดี กับความมั่งคั่ง มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีมานี้ เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเดียวกัน ทั้งธนินท์ เจียรวนนท์ กับเจริญ สิริวัฒนภักดี ต้องเผชิญความผันผวนทางเศรษฐกิจโดยรวม เฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 มีบางปีที่ผ่านมา ความมั่งคั่งลดลงไปบ้าง

ว่าไปแล้ว ภาพใหญ่กว่านั้น ในระดับโลก รายงานของ BILLIONAIRES 2023 สรุปว่าประมาณครึ่งหนึ่งของทำเนียบ แม้มีความมั่งคั่งลดลงเมื่อเทียบปีก่อนหน้า (2022)

อย่างไรก็ตาม ทั้งธนินท์ เจียรวนนท์ เจริญ สิริวัฒนภักดี และสารัชถ์ รัตนาวะดี ก็คือผู้ร่ำรวยที่สุดในสังคมไทย ที่ว่ากันว่า เมื่อพิจารณาภาพต่อเนื่อง ถือว่าราวทศวรรษที่ผ่านมา อัตราความมั่งคั่งมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเพิ่มช่องว่างมากขึ้นด้วยก็เป็นได้ ทั้งนี้ โมเดลความมั่งคั่งทั้งสาม มีปัจจัยสำคัญๆ คล้ายๆ กันอยู่บ้าง

กลุ่มทีซีซีโดยเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้มีประสบการณ์ธุรกิจมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม กว่าจะก่อตั้งกลุ่มทีซีซีอย่างจริงจัง อย่างเป็นรูปเป็นร่าง ก็หลังสงครามเวียดนามแล้ว เรื่องราวของเขาน่าสนใจเป็นพิเศษ ในฐานะผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจ จากระบบสัมปทานแบบเก่าที่หลงเหลืออยู่มาหลายทศวรรษ

ส่วนซีพียุคธนินท์ เจียรวนนท์ จากโมเดลธุรกิจครบวงจร เข้าสู่ระบบสัมปทานในอีกยุค เมื่อ 3 ทศษวรรษที่แล้ว เกี่ยวกับธุรกิจสื่อสาร เป็นไปตามกระแสผู้มาใหม่มาแรง อย่างน่าเกรงขามในเวลานั้น จากนั้นสายสัมพันธ์กับรัฐ ได้แนบแน่นมากขึ้นๆ จนถึงทุกวันนี้ รวมทั้งฝ่าด่านกฎ กติกาต่างๆ ที่มีมุมมองต่างมุม

ส่วน สารัชถ์ รัตนาวะดี จากสายสัมพันธ์กับหน่วยงานพลังงานรัฐ ผ่านกระบวนการเกิดโรงไฟฟ้านอกรูปแบบ ทั้ง Independent Power Producer (IPP) และ Small Power Producer (SPP) ครั้นเมื่อก้าวสู่ธุรกิจใหม่ ไม่ว่าทั้งกรณี INTUCH และ ADVANC คงมีโมเดลคล้ายๆ กัน ในความสัมพันธ์กับรัฐอีกแบบหนึ่ง INTUCH กับระบบสัมปทานดาวเทียม (GULF เพิ่งเข้าถือหุ้นใหญ่บริษัทไทยคมด้วย) และ ADVANCE กับใบอนุญาตให้บริการคลื่นความถี่ระบบสื่อสารไร้สาย

เชื่อกันว่า การเฝ้ามองยังมีต่อไปอีกอย่างตื่นเต้น เมื่อทั้ง GULF และซีพี มีเป้าหมายมาบรรจบกัน เพื่อบรรลุแผนการได้มาซึ่งใบอนุญาตก่อตั้งธนาคารไร้สาขา •

 

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com