เมืองอโยธยา สุ่มเสี่ยงสาบสูญ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

เมืองอโยธยา อยู่ทางสถานีรถไฟอยุธยา (จ.พระนครศรีอยุธยา) เข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งอาจถูกทำลายสูญหายหมดเมือง จากโครงการระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งปัจจุบันมีทางรถไฟสมัยแรกในแผ่นดิน ร.5 ตัดผ่านตลอดแนวเหนือ-ใต้ของเมืองอโยธยา และมีสถานีรถไฟอยุธยาตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำป่าสัก

ไม่ได้ต่อต้านระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นความเจริญทางการคมนาคมยุคใหม่ที่ต้องมี ดังที่เคยสนับสนุนระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยชัชชาติ สุทธิพันธุ์ (ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

แต่คัดค้านการก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงผ่าเมืองอโยธยา เพราะจะทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีนับไม่ถ้วนที่มีใต้ดิน และทำลายภูมิทัศน์เมืองเก่าก่อนมีกรุงศรีอยุธยาซึ่งถูกทำลายไปแล้วมากต่อมาก

ที่คัดค้านตอนนี้เพราะได้รับเอกสารประชาสัมพันธ์ของการรถไฟไทยฯ เมื่อไม่นานนี้ จึงเพิ่งรู้ว่าเส้นทางผ่าเมืองอโยธยา (ก่อนหน้านี้มีแต่ข่าว-ไม่มีข้อมูลเส้นทาง) พออ่านจบก็ไปอยุธยา ถ่ายทำคลิปขึ้นยูทูบ แล้วกลับมาเขียนต้นฉบับนี้

ทางรถไฟปัจจุบัน ผ่าเมืองอโยธยา

อโยธยาศรีรามเทพ

เมืองอโยธยา (นามเต็มว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร”) เป็นเมืองใหญ่มีก่อนกรุงศรีอยุธยาหลายร้อยปี ต่อมาเกิดโรคระบาด “กาฬโรค” (ประวัติศาสตร์โลกเรียก Black Death) จึงย้ายศูนย์กลางอำนาจไปทางทิศตะวันตก (บริเวณเกาะเมืองอยุธยาทุกวันนี้) แล้วขนานนามใหม่ว่ากรุงศรีอยุธยา (นามเต็มว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”)

อโยธยาศรีรามเทพมีความสำคัญอย่างยิ่งทางวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีของไทย เพราะเป็นหลักฐานแสดงพัฒนาการตามลำดับเวลากว่าจะเป็นประเทศไทย จากรัฐทวารวดีที่เมืองละโว้ (ลพบุรี) สู่กรุงศรีอยุธยา, กรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์

ร.5 ทรงมีพระราชดำรัสเปิด “โบราณคดีสโมสร” เมื่อ 116 ปีที่แล้ว (2 ธันวาคม 2450) กล่าวถึงอโยธยาว่าเป็นเมืองเก่าของกรุงศรีอยุธยา อยู่ทางตะวันออก (ของกรุงศรีอยุธยา) มีสิ่งก่อสร้างวัดวาอาราม ได้แก่ วัดพนัญเชิง, วัดใหญ่ชัยมงคล, วัดอโยธยา (เดิม), วัดกุฎีดาว, วัดมเหยงคณ์ เป็นต้น

ผังเมืองอโยธยาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำแนวเหนือ-ใต้ ขนานแม่น้ำป่าสัก ขนาดยาวราว 3 กิโลเมตร และกว้างราว 1 กิโลเมตร [จากการสำรวจตรวจสอบของ ศรีศักร วัลลิโภดม ในหนังสือ (1) สร้างบ้านแปงเมือง มติชนพิมพ์ 2560 หน้า 251 และ (2) เมืองโบราณ ฉบับมกราคม-มีนาคม 2560 หน้า 43]

เมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 1600 x 2800 เมตร ปัจจุบันคือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก (นอกเกาะเมืองอยุธยา) บริเวณสถานีรถไฟอยุธยา [ภาพจาก วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2560 รองปกหน้า-หน้า 1]

“อโยธยา”
ตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี

“อโยธยาศรีรามเทพนคร” สืบต่อจากละโว้ (ลพบุรี) มีมาแล้วตั้งแต่หลัง พ.ศ.1600 มีเมืองอโยธยาอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยาปัจจุบัน

กษัตริย์กรุงอโยธยา สืบวงศ์จากกษัตริย์รัฐละโว้ จนถึงกษัตริย์ที่ทรงพระนาม “รามาธิบดี” จึงย้ายศูนย์กลางจากด้านตะวันออกไปสร้างแห่งใหม่ในเกาะเมืองอยุธยาปัจจุบัน แล้วขนานนามพระนครใหม่ พ.ศ.1893 ว่า กรุงศรีอยุธยา จนเสียกรุงแก่พม่าเมื่อ พ.ศ.2310

ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้บุกเบิกการศึกษาค้นคว้าเรื่องเมืองอโยธยาไว้เมื่อ 57 ปีที่แล้วในบทความทางวิชาการชื่อ กรุงอโยธยาในประวัติศาสตร์ไทย (พิมพ์ครั้งแรกในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับพิเศษ (3) ว่าด้วยประวัติศาสตร์ไทย เมื่อ พ.ศ.2509)

เมืองอโยธยาตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยาปัจจุบัน มีแม่น้ำป่าสักซึ่งไหลมาแต่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไหลผ่านอ้อมวกไปสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แม่น้ำป่าสักตอนที่ไหลผ่านเมืองอโยธยามีชื่อเรียกต่างออกไปว่าคลองบ้านม้าบ้าง คลองหันตราบ้าง และตอนที่บรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาเรียกว่าปากน้ำแม่เบี้ย

ทางด้านเหนือมีแม่น้ำลพบุรีไหลวกไปทางตะวันตกสมทบกับลำน้ำเจ้าพระยา กลายเป็นลำน้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ สมทบกับแม่น้ำป่าสักที่ปากน้ำแม่เบี้ย แล้วไหลลงใต้ไปออกอ่าวไทย

แต่เดิมตัวเกาะเมืองอยุธยาเป็นแผ่นดินเดียวกับบริเวณเมืองอโยธยา ครั้นสมเด็จพระรามาธิบดีทรงสร้างพระนครศรีอยุธยา ได้ขุดคูเมืองทางด้านตะวันออก เลยทำให้กรุงศรีอยุธยาแยกจากบริเวณเมืองอโยธยา แล้วกลายเป็นเกาะไป

ชื่อเมืองอโยธยาหายไปก่อนพระนครศรีอยุธยาก็จริง แต่ตัวเมืองอโยธยาไม่ได้หายไปด้วย เพราะเป็นเพียงย้ายที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน และสถานที่สำคัญของรัฐบาลไปเท่านั้น บริเวณเมืองอโยธยายังคงมีประชาชนอาศัยอยู่เรื่อยมา จึงมีซากวัดวาอาราม บริเวณที่อยู่อาศัย และลำคลองที่ขุดขึ้นเพื่อการคมนาคมซับซ้อนมากมายทั้งเก่าและใหม่จนยากที่จะกำหนดบริเวณที่สำคัญต่างๆ ของเมืองเดิมได้

โบราณสถานที่มีหลักฐานว่าเป็นของที่สร้างก่อนสมัยการสร้างพระนครศรีอยุธยาก็คือ วัดพนัญเชิง ในพระราชพงศาวตารฉบับหลวงประเสริฐระบุว่าพระเจ้าพแนงเชิงซึ่งเป็นพระพุทธรูปประธานของวัดนี้สร้างในปี พ.ศ.1867 ซึ่งก่อนการสร้างอยุธยาถึง 26 ปี

บริเวณวัดใหญ่ๆ ของเมืองอโยธยา มีซากฐานพระเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่กว่าสมัยอยุธยา เช่น วัดสมณโกษ วัดกุฎีดาว และวัดอโยธยา (หรือวัดเดิม)

ในเกาะเมืองอยุธยาก็มีวัดที่มีมาก่อนการสร้างอยุธยา คือ วัดสบสวรรค์ และวัดธรรมิกราช โดยเฉพาะวัดธรรมิกราชพบเศียรพระพุทธรูปสำริดแบบอู่ทองขนาดใหญ่เศียรหนึ่ง (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา)

กลางทุ่งทางตะวันตกของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยามีวัดร้างขนาดใหญ่วัดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่าวัดวรเชษฐ์ มีพระปรางค์ใหญ่ ลักษณะของพระปรางค์และวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง เช่น อิฐ และสอดิน เป็นของที่แปลกไปจากของที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาและมีมาก่อนด้วย

ดังนั้น หลักฐานทางโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับเมืองอโยธยาเท่าที่อ้างมาก็นับว่าเพียงพอแก่การยืนยันว่า เมืองอโยธยามีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยาจริง •