บทบาทของการเลือกตั้ง ในระบอบอำนาจนิยม | อุเชนทร์ เชียงเสน

(Photo by LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP)

อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การเลือกตั้งสามารถเป็นได้ทั้งเครื่องมือหรือวิธีการของระบอบประชาธิปไตยพอๆ กับระบอบอำนาจนิยมหรือเผด็จการ

แต่บทบาทใน 2 ระบอบนี้ก็ใช่ว่าจะตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

มีทั้งที่ทับซ้อนและแตกต่างกัน

การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

 

ใน Encyclopedia Britannica (2021) ได้อธิบายว่า “การเลือกตั้งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” และได้สรุปบทบาทของการเลือกตั้งไว้อย่างครอบคลุม โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มเหตุผล คือ

1. ประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนตัดสินใจโดยตรงด้วยตนเองนั้นเป็นไปไม่ได้ในสังคมสมัยใหม่ (ที่มีความสลับซับซ้อนและมีสมาชิกจำนวนมาก-ผู้เขียน) จำเป็นต้องกระทำผ่านตัวแทน

2. ทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงสามารถเลือกผู้นำ (และผู้นำต้องรับผิดต่อผู้ลงคะแนนไปพร้อมกันด้วย) และควบคุมผู้นำได้ด้วยการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอตามเวลาที่แน่นอน เพื่อแก้ปัญหาการสืบทอดอำนาจและสนับสนุนความต่อเนื่องของประชาธิปไตย

3. เป็นเวทีสำหรับการอภิปรายประเด็นสาธารณะ เอื้ออำนวยให้กับการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ให้การศึกษาทางการเมืองแก่พลเมือง รวมทั้งรับรองความเป็นตัวแทนเจตจำนงประชาชนของรัฐบาล และให้ความชอบธรรมกับการกระทำของผู้มีอำนาจ

4. เสริมสร้างความมั่นคงมีสเถียรภาพและความชอบธรรมของชุมชนการเมือง เพราะการเลือกตั้งเชื่อมโยงพลเมืองเข้าด้วยกัน จึงทำให้เกิดการบูรณาการทางสังคม

5. ทำให้เป้าหมายของมนุษย์เองเป็นจริง (a self-actualizing purpose) โดยการยืนยันคุณค่าและศักดิ์ศรีของพลเมืองในฐานะมนุษย์ เพราะการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งจะช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจและเคารพในตนเอง เปิดโอกาสให้ผู้คนได้พูดและตอบสนองความต้องการของตนเอง

มีงานอีกจำนวนหนึ่งอธิบายการเลือกตั้งในฐานะตัวสะท้อนปรัชญาและหลักการประชาธิปไตย คือ

1. หลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ประชาชนจึงมีสิทธิในการกำหนดหรือเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและถอดถอนออกจากตำแหน่งได้

2. หลักการการมีส่วนร่วมและการแข่งขันทางการเมือง เปิดให้มีการแข่งขันกันอย่างเปิดเผยและเสรีในการเข้าสู่อำนาจรัฐ

3. หลักการความเสมอภาคทางการเมือง ผ่านหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียง การเลือกตั้งให้โอกาส ให้พื้นที่และอำนาจประชาชนอย่างเท่าเทียมกันในกระบวนการเลือกตั้ง แม้จะมีมิติอื่นที่ไม่เท่าเทียมก็ตาม

นอกจากนั้น ยังมีการมองการเลือกตั้งในฐานะเครื่องมือในการเลือกหรือกำหนดทิศทางของประเทศผ่านนโยบายสาธารณะ

 

การเลือกตั้งในระบอบอำนาจนิยม

กลับมาที่ระบอบอำนาจนิยม/เผด็จการ แม้มีการเลือกตั้งอยู่ แต่ไม่ได้ถูกใช้ในฐานะของวิถีหรือการทำให้เป็นประชาธิปไตย ตรงกันข้ามกลับเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงหรือสืบทอดอำนาจของผู้ปกครอง

อย่าง Lee Morgenbesser จาก Griffith University (2014) อธิบายว่าการเลือกตั้งที่เป็น “วิธีการคัดเลือกและสร้างอำนาจให้กับตัวแทนทางการเมืองผ่านการแข่งขันกันให้ได้คะแนนเสียงของประชาชน” ในระบอบประชาธิปไตยนั้น มีความหมายทางเลือกอีกแบบหนึ่งในระบอบผสม คือ

1. “ประดิษฐ์” ความชอบธรรม (legitimation)

แม้ผู้ครองอำนาจมีหลากหลายวิธีในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงหรือการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม การเชื่อมโยงตัวเองเป้าหมายแบบชาตินิยมหรือปัญหาความแตกแยก หรืออำนาจแบบผู้มีบารมี

แต่ “ความเต็มใจที่จะจัดการเลือกตั้ง” เป็นตัวแบบในอุดมคติเพราะใช้อ้างเป็นหลักฐานว่าได้รับอำนาจจากความยินยอมของประชาชน แม้การเลือกตั้งจะไม่อิสระหรือเสรี แต่ถือได้ว่าความยินยอม “ถูกประดิษฐ์” ขึ้นแล้ว

มากไปกว่านั้น การเลือกตั้งยังถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์เพื่อระดมกำลังทางการเมือง เพราะความชอบธรรมขึ้นอยู่กับความสามารถของระบอบในการสร้างการมีส่วนร่วมของมวลชน

2. เสริมความแข็งแกร่งของระบบอุปถัมภ์ (patronage)

การเลือกตั้งยังถูกใช้เพื่อกระชับความแข็งแกร่งของเครือข่ายอุปถัมภ์ที่มีอยู่และรักษาอำนาจของผู้ปกครอง

เหตุผลแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อระบอบให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้สินค้าและบริการ เช่น โครงการก่อสร้างหรือบริการด้านสุขภาพ แก่ประชาชนเพื่อแลกกับการลงคะแนนเสียง เพราะในระบอบนี้ รัฐมักมีข้อจำกัดและความสามารถในการกระจายทรัพยากรต่ำ และปัญหาต่างๆ มักถูกทำให้เป็นการเมืองมากขึ้น

ดังนั้น สิทธิอำนาจของผู้ปกครองจึงเชื่อมโยงกับความสามารถในการกระจายสิ่งจูงใจและรางวัลทางวัตถุได้อย่างต่อเนื่อง ระบบอุปถัมภ์จึงกลายเป็นรูปแบบพื้นฐานของการกระจายทรัพยากร

3. การจัดการบริหารในหมู่ชนชั้นนำ (elite management)

การเลือกตั้งถูกใช้เป็นโอกาสในการจัดการความสัมพันธ์ในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเองและทำให้ระบอบอำนาจนิยมโดยรวมมีความเข้มแข็ง โดยเพิ่มการสนับสนุนจากภายในและลดความไม่พอใจจากภายนอก

กล่าวคือ ภายใน การเลือกตั้ง (และผลที่เกิดขึ้น) สามารถใช้โดยผู้ปกครองเพื่อแสดงความแข็งแกร่ง ระงับจัดการข้อพิพาท ลดคู่แข่งที่มีศักยภาพและส่งเสริมผู้ภักดี

ขณะที่ภายนอก การเลือกตั้งสามารถถูกใช้เพื่อผนวก (co-opt) ฝ่ายค้านที่มีอยู่ ด้วยการสนับสนุนให้ฝ่ายค้านเข้าร่วมกับระบอบ

 

ขณะที่ Jennifer Gandhi และ Ellen Lust-Okar (2009) สรุปคำอธิบายของนักวิชาการว่าด้วยบทบาทการเลือกตั้งออกเป็น 5 ประการ คือ

1. การผนวกหรือเอาฝ่ายต่างๆ มาเป็นพวก (co-opt)

การเลือกตั้งมีฐานะเป็นเครื่องมือเชิงสถาบันที่อำนาจนิยมใช้ผนวกหรือดึงกลุ่มต่างๆ ในสังคมมาเป็นพวกทั้งในหมู่ชนชั้นนำ สมาชิกพรรคการเมือง หรือกลุ่มมวลชนต่างๆ

สำหรับชนชั้นนำ การเลือกตั้งอาจเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการกระจายตำแหน่งเพื่อเอาอกเอาใจสมาชิกได้อย่างกว้างขวาง เพราะเป็นวิธีที่ “ยุติธรรม” หรือ “มีประสิทธิภาพ” (ต่างกับการแต่งตั้ง) โดยทำให้ชนชั้นนำส่วนใหญ่ที่เป็นที่นิยมของประชาชนผูกตัวเองไว้กับระบอบ และยับยั้งการแปรพักตร์ของแนวร่วม

นอกจากนั้น การได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นจากการควบคุมบงการการเลือกตั้ง จะส่งสัญญาณถึงสมาชิกของชนชั้นนำด้วยกันว่าเป็นฝ่ายค้านนั้นไม่มีประโยชน์

สำหรับฝ่ายตรงกันข้าม/ฝ่ายค้าน การเลือกตั้งทำหน้าที่ผนวกฝ่ายตรงข้ามมาเป็นพวกได้ด้วย โดยยอมให้ผู้สมัครและพรรคที่ไม่สนับสนุนระบอบลงแข่งเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและฝ่ายนิติบัญญัติ การให้ประโยชน์ในการเข้าสู่ตำแหน่งนี้ เป็นทั้งการเอาใจและจำกัดความสามารถในการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม

นอกจากนั้น การเลือกตั้งยังถูกใช้เพื่อแบ่งแยก ทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ฝ่ายค้านด้วยกันเอง เพราะเป็นการผสมกันระหว่างความต้องการต่อสู้กับระบอบกับใช้ประโยชน์จากระบอบ (ลงเลือกตั้ง) “โครงสร้างการแข่งขันที่ถูกแบ่งแยก” ผ่านการกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติที่ทำให้เกิด “คนนอก” ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้แข่งขัน และ “คนใน” ที่สามารถเข้าร่วมได้ รวมทั้งการโต้แย้งว่าควรจะเข้าร่วมการแข่งขัน การจัดตั้งแนวร่วม หรือยอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่

2. การให้ข้อมูลแก่ผู้ครองอำนาจ

การเลือกตั้งยังทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับผู้ครองอำนาจได้เช่นกัน กล่าวคือ ผลการเลือกตั้งแบบหลายพรรคช่วยให้สามารถระบุฐานการสนับสนุนของตนเองและความเข้มแข็งของฝ่ายตรงกันข้าม ด้วยฐานข้อมูลนี้ พวกเขาจะลงโทษด้วยการจัดสรรสิ่งต่างๆ ของรัฐบาลให้ฝ่ายค้านน้อยลงหลังการเลือกตั้ง ซื้อการสนับสนุน ข่มขู่ให้เปลี่ยนความจงรักภักดีก่อนเลือกตั้งครั้งหน้าหรือทำให้นอนหลับทับสิทธิ

นอกจากนี้ การเลือกตั้งยังให้ข้อมูลเรื่องความภักดีและความสามารถของผู้ปฏิบัติงานแก่ผู้ครองอำนาจในระดับชาติ

3. การจัดการบริหารชนชั้นนำและฝ่ายค้าน

การเลือกตั้งยังถูกใช้ในการจัดการบริหารชนชั้นนำและฝ่ายค้าน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกโค่นล้มด้วยความรุนแรง อย่างที่มีการอธิบายว่าชนชั้นนำอนุญาตให้มีการเลือกตั้ง ให้คนจนเข้าสู่อำนาจเพื่อป้องกันการคุกคามจากการปฏิวัติ ลดความไม่สมมาตรของข้อมูลที่จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง หรือเป็นการเสนอทางเลือกอื่นให้กับผู้ที่ต้องการทำรัฐประหาร

4. การสร้างนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

แม้การเลือกตั้งจะมีส่วนสนับสนุนผู้ครองอำนาจให้อยู่รอด แต่ไม่จำเป็นต้องเลวร้ายสำหรับประชาชนเสมอไป เพราะในบางบริบท การเลือกตั้งจะส่งเสริมคุณธรรมบางประการคล้ายกับระบอบประชาธิปไตย คือ การสร้างความสอดคล้องด้านนโยบายระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น อาจนำไปสู่สวัสดิการของประชาชนได้เช่นกัน

5. การสร้างความชอบธรรมภายในหรือต่างประเทศ

แม้การเลือกตั้งในระบอบนี้ถูกควบคุมบงการและจำกัดขอบเขตการส่งผลกระทบทางการเมือง แต่ยังสามารถส่งสัญญาณไปยังผู้รับสารภายในและระหว่างต่างประเทศว่าระบอบนี้ยังอยู่บนฐานเจตจำนงของประชาชน หรือกำลังอยู่ในกระบวนการนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้เตือนว่าไม่ควรถือคำอธิบายที่มาจากกรณีย่อยอันจำกัดว่ามีลักษณะเป็นสากล อธิบายครอบคลุมได้ทั้งหมด เพราะจะทำให้ละเลยแหล่งที่มาของความแตกต่างหลากหลายภายในระบอบ เช่น ประเภทของการเลือกตั้ง กติกาควบคุมการเลือกตั้ง และเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมที่แวดล้อม รวมทั้งช่วงเวลาที่จัดให้มีการเลือกตั้ง พร้อมกับเสนอชุดคำถามในการศึกษาที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1) ความแตกต่างในระดับและโครงสร้างของการเลือกตั้งส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้เข้าร่วม ทั้งฝ่ายค้าน ผู้ครองอำนาจ ผู้ลงคะแนนเสียงอย่างไร

2) ผลกระทบของการเลือกตั้งต่อผลลัพธ์เชิงนโยบายในระบอบที่ไม่ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยนี้เป็นอย่างไร

3) ผลกระทบของการเลือกตั้งต่อสิ่งแวดล้อมทางสังคม รวมทั้งความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำและกลุ่มพลังต่างๆ อย่างไรบ้าง

 

สรุป

จากงานศึกษา พอสรุปได้ว่า การเลือกตั้งในระบอบอำนาจนิยมมีบทบาทบางอย่างที่คล้ายหรือเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการจัดทำนโยบายหรือการกระจายทรัพยากร การสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบ รวมถึงการสะท้อนข้อมูลไปยังผู้ครองอำนาจ

ขณะที่ลักษณะโดดเด่นและอาจเป็นลักษณะเฉพาะของการเลือกตั้งในระบอบนี้ คือ การสร้างและรักษาเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ เป็นการจัดการบริหารความขัดแย้งและจัดการความสัมพันธ์ของผู้ครองอำนาจกับชนชั้นนำและฝ่ายตรงกันข้าม ป้องกันการแปรพักตร์และการถูกโค่นล้มด้วยวิธีการที่รุนแรง

แต่ทั้งสองอย่างนี้ อยู่บนพื้นฐานและหลักการที่แตกต่างกัน

ขณะที่ในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งมุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจและสะท้อนหลักการประชาธิปไตย

ในระบอบอำนาจนิยม ตรงกันข้าม ประดิษฐ์ความชอบธรรมให้กับระบอบ และรักษาอำนาจของผู้ปกครองต่อไป

ดังนั้น เราควรละทิ้งแนวคิดการทำให้เป็นประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง (democratization by election) ที่เชื่อว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เกิดประชาธิปไตยอย่างอัตโนมัติ และค่อนขอดอย่างมักง่ายว่าผู้วิจารณ์การเลือกตั้งปฏิเสธประชาธิปไตย

เพราะสองอย่างนี้ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าการเลือกตั้งนั้นอยู่บนฐานอะไร มีลักษณะอย่างไร เพราะการเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของประชาธิปไตยก็จริง

แต่ไม่ใช่การเลือกตั้งทุกแบบที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตย

อ้างอิง

Encyclopaedia Britannica. 2021. “Functions of elections” (https://www.britannica.com/topic/election-political-science/Functions-of-elections)

Jennifer Gandhi, Ellen Lust-Okar. 2009. “Elections Under Authoritarianism.” Annual Review of Political Science. Vol.12 : 403-422

Lee Morgenbesser. 2014. “Elections in Hybrid Regimes : Conceptual Stretching Revived.” Political Studies, Vol. 62(1) : 21-36.