ชำแหละนโยบายพรรคการเมือง มุ่งประชานิยมถลุงงบแตะ 3 ล้านล้าน วัดฝีมือ รบ.ใหม่แก้โจทย์ ‘วัวพันหลัก’

บทความเศรษฐกิจ

 

ชำแหละนโยบายพรรคการเมือง

มุ่งประชานิยมถลุงงบแตะ 3 ล้านล้าน

วัดฝีมือ รบ.ใหม่แก้โจทย์ ‘วัวพันหลัก’

 

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการจูงใจประชาชนให้ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองสักพรรคหนึ่ง คงหนีไม่พ้น ‘นโยบาย’ ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ ก็ยังคงคอนเซ็ปต์ความหวือหวา กับนโยบายเชิงประชานิยม ในการลดแลกแจกแถม เงินและสวัสดิการที่อัดฉีดจำนวนมาก

ไม่ว่าจะสวัสดิการดูแลคนที่รายได้น้อย เบี้ยคนชรา เบี้ยคนพิการ มาตรการดูแลหญิงตั้งครรภ์และเด็ก มาตรการด้านหนี้สิน ทั้งตัดต้นลดหนี้ แก้ข้อมูลเครดิต มาตรการกองทุนหมู่บ้าน

รวมถึงมาตรการลดภาษีต่างๆ ที่ล้วนแต่ใช้งบประมาณจำนวนมากทั้งสิ้น!

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวในงานเสวนาวิชาการวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ปี 2566 หัวข้อ “อ่านเกมเลือกตั้ง ’66 นโยบายใครปัง ใครพัง” ว่า สถานการณ์การเลือกตั้งในช่วงนี้ ถูกวิจารณ์ว่าแข่งขันกันนำเสนอแต่ ‘นโยบายประชานิยม’ ถึงแม้ว่าการแข่งขันทางนโยบายจะเป็นเรื่องปกติและดีต่อประชาชน แต่นโยบายที่มุ่งหวังผลการหาเสียงที่มากเกินไป จะสร้างปัญหาใหญ่หลวงตามมา โดยมีการประเมินว่าหากนำนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงไว้ขณะนี้มาปฏิบัติจริง จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเท่าตัวจากงบประมาณประเทศที่ใช้อยู่

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่แต่ละพรรคการเมืองต้องชี้แจงว่าจะนำเงินจากไหนมาดำเนินนโยบาย ซึ่งแน่นอนว่าในทางหนึ่งคือการจัดเก็บภาษีเพิ่ม แต่หากไม่เก็บเพิ่ม รัฐบาลจะต้องทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่า 10% ของจีดีพีขึ้นไป ซึ่งตัวเลขนี้เป็นไปไม่ได้

ดังนั้น จึงหนีไม่พ้นที่ประเทศจะต้องกู้เงินเพิ่ม และอาจจะส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงเกินเพดานปัจจุบันที่ 70% โดยตัวเลขนี้ก็ถูกขยายเพิ่มมาแล้วจาก 60% ในช่วงโควิด ซึ่งหากหนี้สาธารณะของประเทศไทยสูงเกินกว่านี้ ย่อมสูญเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและกระทบกับเศรษฐกิจ

“จากฐานะทางการเงินการคลังของไทยในปัจจุบัน ขอฟันธงว่าไทยไม่สามารถแบกรับนโยบายประชานิยมแบบแจกเงิน และการก่อหนี้ที่ไม่คุ้มค่าอีกต่อไป ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่ได้ส่งผลภายใน 1-2 ปี แต่จะเป็นปัญหาในอนาคตที่รัฐบาลและคนรุ่นหลังต้องแบกรับภาระหนัก” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

 

ด้านนายกิรติพงศ์ แนวมาลี หัวหน้าทีมการปฏิรูปกฎหมาย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในภาพรวมนโยบายพรรคการเมืองปี 2566 ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สุขภาพ อย่างไรก็ตาม หลายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็น ‘นโยบายระยะยาว’ กลับไม่ค่อยเห็นภาพความชัดเจนของงบประมาณเท่าใด โดยพบอีกว่าหากพรรคการเมืองมีการทำตามทุกนโยบายที่หาเสียงจริงจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ที่สุดแล้วรัฐบาลเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม

“ผลกระทบที่ตามมาจากการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มคือ ประเทศไทยจะมีงบลงทุนน้อยลง เพราะต้องเอาเงินไปใช้หนี้ สุดท้ายก็จะกระทบต่อการพัฒนาขีดความสามารถในระยะยาว และอาจทำให้รัฐต้องหันไปใช้เงินนอกงบประมาณผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งเงินเหล่านี้จะไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา และอาจเกิดเป็นคำถามถึงความโปร่งใส”

นายกิรติพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

 

ดังนั้น หากวิเคราะห์ถึงงบจำนวนมหาศาลที่รัฐบาลใหม่ต้องใช้ กับการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่า ในปี 2564 รัฐบาลมีรายได้รวม 2.8 ล้านล้านบาท โดยรายได้จากภาษีคิดเป็นสัดส่วนถึง 88.5% ของรายได้รัฐทั้งหมด ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 3 ล้านล้านบาท ในปี 2566 เป็น 6.5 ล้านล้านบาท ในปี 2585

และหากดูที่มาของรายได้รัฐบาล ส่วนใหญ่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กว่า 4.5 แสนล้านบาท รองลงมาคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1.8 แสนล้านบาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล 1.7 แสนล้านบาท ภาษีธุรกิจเฉพาะ 2.8 หมื่นล้านบาท และอากรแสตมป์ 8.58 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนที่รัฐบาลได้ปฏิรูปภาษีไปแล้ว เช่น การประกาศเก็บภาษีมรดกตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งรายได้เพียงหลักร้อยล้านบาทต่อปี ภาษีอีเซอร์วิส รายได้ปีงบฯ 2565 อยู่ที่ราว 7 พันล้านบาท เป็นต้น

ในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาทิ ภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ภาษีพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ แต่ก็ยังไม่มีนัยสำคัญต่อการเพิ่มรายได้ให้รัฐบาล

ขณะที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ปรับอัตราใหม่แล้วก็จริง แต่สำหรับปี 2566 ยังมีมาตรการลดให้อีก 15%

ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ยังคงไว้ที่ 7% ของมูลค่าอย่างต่อเนื่อง แม้กฎหมายจะให้เพดานไว้ที่ 10% แล้วก็ตาม โดยภาษีที่กล่าวมาจะทำให้มีรายได้เพิ่มประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท แต่คงไม่มีพรรคไหนแกร่งกล้าพอจะประกาศเพิ่มแวตได้

เช่นเดียวกับภาษีขายหุ้น คาดว่ารายได้ปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท แต่กลับถูกตีกลับก่อนจะได้ออกประกาศราชกิจจานุเบกษา และคงต้องรอรัฐบาลใหม่ว่าจะผลักดันหรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลไม่ว่าจะชุดไหน พรรคไหน จะเพิ่มภาษีตัวใหม่ๆ เพราะแน่นนอนประชาชนต้องไม่พอใจกับการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ด้านประชาชนคนไทยเองก็ยังมีแนวคิดเรื่องกลัวการเสียภาษี ตั้งคำถามกับการนำภาษีที่เสียไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และโปร่งใส คุ้มค่าหรือไม่

ในส่วนภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ก็ยังปรับลด 5 บาทต่อลิตร อย่างต่อเนื่องถึงเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่ออุดหนุนในช่วงราคาน้ำมันแพง ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไปเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ถึงปัจจุบัน มีการเห็นชอบใช้มาตรการลดภาษีดีเซลไปแล้ว 7 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 1.58 แสนล้านบาท

และในอนาคต หากมีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หรือเทคโนโลยีใหม่มาแทนที่ ภาษีน้ำมันก็น่าจะจัดเก็บได้น้อยลงเรื่อยๆ ส่วนภาษีคาร์บอน สิ่งแวดล้อมก็ยังอยู่ระหว่างการศึกษา

 

ดังนั้น คำตอบของรัฐบาลที่จะมาใหม่คงหนีไม่พ้น “กู้เงินเพิ่มเติม” ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยยังไม่เกินเพดาน อยู่ที่ราว 61% จาก 70% ต่อจีดีพี คาดว่าคงกู้ได้ราว 1 ล้านล้านบาท แต่ก็ยังไม่พอรองรับนโยบายประชาชนิยมทั้งหมดที่เกิดขึ้น

ยิ่งรัฐบาลผสมหลายพรรคก็ต้องเกลี่ยงบฯ กันให้ลงตัวทุกกลุ่ม ก็ยิ่งยากที่จะเพียงพอ ไม่เช่นนั้น เลือกทำเพียงนโยบายที่ทำได้จริงเท่านั้น ก็กลายเป็นคำสัญญาที่ได้ประกาศไว้กับประชาชน

รัฐบาลโฉมใหม่ จะหน้าเดิมหรือใหม่ซิง หลังการเลือกตั้ง ประชาชนเฝ้ารอดูผลงาน พาไทยหลุดพ้นกับดักการคลัง หรือจะเป็น “วัวพันหลัก” ต้องวกกลับมาแก้เรื่องหนี้สาธารณะ คงต้องพิสูจน์กัน