นโยบาย Universal Basic Income ของพรรคเพื่อไทย

เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2566 พรรคเพื่อไทยได้เปิดตัว 8 นโยบายเศรษฐกิจชุดใหม่ พร้อมจัดปราศรัยใหญ่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ประกาศ 11 นโยบาย ลดภาระค่าครองชีพ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิต เดินหน้าแลนด์สไลด์

ครั้งนี้เรียกได้ว่า พรรคเพื่อไทยจัดเต็มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ไฟกะพริบจริงๆ ทำการบ้านมาอย่างดีเยี่ยม

พร้อมเปิดตัว 3 แคนดิเดตว่าที่นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร-เศรษฐา ทวีสิน-ชัยเกษม นิติศิริ”

ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน

หากนึกถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ทุกท่านประสบในปัจจุบัน คงหนีไม่พ้น ปัญหาค่าครองชีพสูง กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

หากพินิจพิเคราะห์จะพบว่า ทั้งปัญหาค่าครองชีพสูงและปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มีจุดร่วมกันอยู่หลายประการ เวลาประสบปัญหาหนึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะไม่กล่าวถึงอีกปัญหาหนึ่งได้ ราวกับเป็นคู่แฝดกัน

สาเหตุค่าครองชีพสูงในปัจจุบัน เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.เศรษฐกิจชะลอตัว 2.ราคาพลังงานปรับสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อแบบราคาดัน (Cost-push Inflation) และ 3.ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจชะลอตัว

ทั้ง 3 ปัจจัยส่งผลให้ชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง ทั้งในเมืองและนอกเขตเมือง ทุกกลุ่มอาชีพ ประสบปัญหาเดียวกัน คือ ข้าวของราคาแพงจากราคาพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิตและการขนส่ง ซ้ำร้ายต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

โดน 2 เด้งยังไม่พอ ยังโดนเด้งที่ 3 คือ เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงอย่างหนัก ขายของได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน รายจ่ายถูกค่าพลังงานกลืนกินไปซึ่งแฝงตัวอยู่ในทุกสินค้าที่จับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ซึ่งทั้งหมดนี้คือฟากรายจ่ายที่ปรับเพิ่มขึ้น

ฟากรายได้หรือรายรับ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว การปรับขึ้นค่าจ้างหรือค่าแรง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย

ราคาสินค้าและบริการเมื่อราคาพลังงานปรับขึ้นส่งผลให้ต้องปรับราคาสินค้าและบริการขึ้น จากเดิมที่ค้าขายยากเย็นแสนเข็ญอยู่แล้ว ก็ยิ่งลำบากขึ้นอีก ราคาปรับขึ้นแต่กำไรลดลงหรือเท่าเดิม ไม่เพิ่มขึ้นเพราะเอาไปจ่ายให้พลังงานที่เพิ่มขึ้นหมด

เมื่อนานวันเข้าก็จะมีเสียงเรียกร้องให้ปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ เนื่องจากแรงงานไม่สามารถดำรงชีพในภาวะค่าครองชีพแพงได้

แนวทางแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูงนี้จะไปฝืนกลไกตลาดพลังงานคงไม่ได้ ถึงทำได้ก็ทำได้ไม่นาน ต้องยอมจำนนยอมปรับฐานเศรษฐกิจใหม่ให้เข้ากับราคาพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

“จึงไม่ใช่เรื่องง่าย” และ “ต้องใช้เวลา”

 

การเปลี่ยนผ่านนี้เอง จึงต้องอาศัยนโยบายภาครัฐช่วยให้สามารถเปลี่ยนผ่านจากฐานเศรษฐกิจเดิม สู่ฐานเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ ทุกครัวเรือนมีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือนของพรรคเพื่อไทย ตอบโจทย์ข้อนี้ได้อย่าง “ถูกที่” และ “ถูกเวลา”

นโยบายทุกครัวเรือนมีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐสวัสดิการที่หลายๆ ประเทศได้ดำเนินนโยบายนี้แล้ว

ซึ่งชื่อเรียกจริงๆ คือ “นโยบายสวัสดิการรายได้พื้นฐาน” หรือ “Universal Basic Income (UBI)”

หลักการพื้นฐานของนโยบายสวัสดิการรายได้พื้นฐาน มาจากหลักการรัฐสวัสดิการ

กล่าวคือ รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การช่วยเหลือผู้อ่อนแอในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ให้สามารถดำรงชีพ สามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนประการหนึ่ง

ประการที่สอง แนวคิดการบริหารรัฐสมัยใหม่เชื่อว่าประชาชนแต่ละคนมีสิทธิและเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกใช้จ่ายเงินสวัสดิการที่ได้รับจากโครงการของรัฐ ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีพของตนเอง

และประชาชนเหล่านี้รู้ใจตนเองดีกว่ารัฐ สามารถตัดสินใจได้ดีกว่ารัฐ รัฐจึงไม่ควรคิดแทนประชาชนแต่ละคนว่าต้องการสวัสดิการอะไร แต่ควรให้ประชาชนเลือกสวัสดิการที่เหมาะสมกับตนเอง

จากหลักการทั้งสองประการ จะเห็นว่านโยบายนี้ใช้ระยะเวลาสั้น ช่วยเติมเต็มช่วงเปลี่ยนผ่านจากฐานเศรษฐกิจเดิมสู่ฐานเศรษฐกิจใหม่ โดยไม่ต้องบิดเบือนราคาพลังงานและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

และที่สำคัญช่วยผลักดันให้อัตราค่าแรงขึ้นต่ำปรับสูงขึ้นอีกประการหนึ่ง เป็นการช่วยเหลือประชาชนโดยตรงในช่วงเปลี่ยนผ่าน

นโยบายนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อพรรคอื่นๆ ในช่วงเลือกตั้งไม่น้อย

 

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องชมเชยพรรคเพื่อไทยว่าทำการบ้านมาอย่างดีเยี่ยม และต้องคอยติดตามรับชมกันต่อว่าคู่แข่งทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยจะแก้เกมการเมืองด้วยนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร

ส่วนเรื่องที่คู่แข่งทางการเมืองจะนำมาโจมตีนโยบายสวัสดิการรายได้พื้นฐาน ผมขอเขียนดักคอไว้ก่อน เพราะนโยบายนี้มีโอกาสถูกโจมตีจากคู่แข่งทางการเมืองเหมือนโครงการกองทุนหมู่บ้านในสมัยไทยรักไทยอย่างแน่นอน

1. โครงการนี้แจกเงินให้คนจนนำไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายนำไปซื้อเหล้าซื้อบุหรี่ – ประเด็นนี้โครงการกองทุนหมู่บ้านถูกโจมตี ซึ่งภายหลังมีงานวิจัยหลายงานชี้ชัดว่าประชาชนส่วนใหญ่นำเงินที่ได้รับจากโครงการกองทุนหมู่บ้านไปลงทุนมากที่สุด มีการนำเงินไปซื้อสินค้าอบายมุขไม่ถึง 2% ของทั้งหมด เรื่องนี้จึงต้องขอดักคอไว้ก่อนเป็นเรื่องแรก

2. โครงการนี้จะส่งเสริมให้คนขี้เกียจ หวังพึ่งแต่สวัสดิการจากรัฐ จากคนทำงานก็จะไม่ทำงานเพื่อขอสวัสดิการรัฐ

ประเด็นนี้อาจเป็นจริงในโครงการบัตรคนจนของรัฐบาลในปัจจุบัน สังเกตได้จากตัวเลขสถิติคนได้รับบัตรคนจนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่โครงการนโยบายสวัสดิการรายได้พื้นฐานได้รับการพิสูจน์แล้วในต่างประเทศว่าคนที่สามารถทำงานได้จะทำงานเพื่อให้มีรายได้สูงกว่ารายได้สวัสดิการขั้นพื้นฐาน

คนที่ได้รับสวัสดิการไม่ว่าจะมีโครงการนี้หรือไม่ ยังคงเป็นผู้อ่อนแอในระบบเศรษฐกิจขาดความสามารถในการหารายได้ให้เกินกว่ารายได้สวัสดิการขั้นพื้นฐาน ซึ่งรัฐสามารถกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอรับสวัสดิการได้

การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนี้เองที่ทำให้โครงการสวัสดิการรายได้ขั้นพื้นฐานมีประสิทธิภาพกว่าโครงการบัตรคนจน และโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และไม่ใช่โครงการแจกเงินแบบสักแต่ว่าอยากแจกเงิน

โครงการบัตรคนจนใช้งบประมาณปีละ 65,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ทั้งสองโครงการใช้เงินรวมกันประมาณปีละ 100,000 ล้านบาท

หากปรับเปลี่ยนมาเป็นโครงการสวัสดิการรายได้ขั้นพื้นฐาน คงหมดคำถามว่ารัฐบาลจะหาเงินจากไหนมาดำเนินโครงการกันนะครับ

เรื่องที่ต้องกังวลสำหรับโครงการนี้ คงมีเรื่องเดียว คือการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับสวัสดิการอย่างไรไม่ให้ใช้งบประมาณสูงกว่าความเป็นจริงไม่ให้เกินเพดานงบประมาณ

และไม่เป็นเจ้าบุญทุ่มเหมือนโครงการในอดีต