คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : เมื่อเทพถูกไล่ที่ – กรณีเทพฮินดูในพุทธสถาน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

กรณีเมื่อเดือนกันยายน 2560 เจ้าคณะกรุงเทพฯ และเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ออกหนังสือให้พระสังฆาธิการดูแลความประพฤติของพระภิกษุสามเณรให้เรียบร้อย

ที่สำคัญกำชับให้ดูแลเรื่องการขายวัตถุมงคล การโฆษณาวัตถุมงคลและเทวรูปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณพระอุโบสถ

หลายวัดรีบขานรับ มีทั้งขนย้ายเทวรูปฮินดูต่างๆ ออกไปจากพระอุโบสถ ถึงขั้นทุบทิ้งก็มี

บางวัดก็ได้ย้ายแผงขายพระออกจากพระอุโบสถไปตั้งยังที่อื่น

ถ้าผมจำไม่ผิด อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยกล่าวว่า ที่มั่นสุดท้ายของ “ผี” ก็คือวัดในพุทธศาสนานี่เอง หลังจากพุทธศาสนา (ซึ่งเป็นศาสนาจากอินเดีย) มีบทบาทสำคัญในทางการเมืองการปกครอง จนเบียดขับผีไปอยู่ “ด้านหลัง” แล้ว ศาสนสถานของผีถูกซ้อนทับด้วยพุทธสถาน (ตัวอย่างเช่น สถูปเจดีย์สมัยทวารวดี โปรดอ่านเพิ่มเติมจากอาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ) ผีส่วนหนึ่งจึงย้ายเข้ามาในร่มเงาพุทธศาสนา

แต่การจะย้ายเข้ามาในพื้นที่ของพุทธศาสนาได้ ผีเหล่านี้ต้องสมาทานพุทธศาสนาเสียก่อน คือละเลิกพฤติกรรมดุร้ายน่ากลัว เช่น การเซ่นสังเวยด้วยชีวิตสัตว์ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องอยู่ที่ชายป่าต่อไป (เช่น ผีปู่แสะย่าแสะ) ต้องเคารพพระรัตนตรัยและยังต้องรับหน้าที่ดูแลพุทธศาสนาตลอดจนภิกษุสามเณร เช่น เป็น “เสื้อวัด” (ผีบรรพบุรุษที่ถูกย้ายมาเป็นผีดูแลวัด)

ผี (บางส่วน) จึงอิงแอบแนบพุทธมายาวนานโดยภิกษุสามเณรและชาวบ้านไม่ได้รู้สึกผิดแปลกอะไร

 

ผมขอยืมคำอธิบายของอาจารย์นิธิส่วนหนึ่งว่าที่ผีอยู่ในวัดได้โดยผาสุก เหตุหนึ่งก็เพราะผีรับหน้าที่คนละอย่างกับพุทธ คือผีรับหน้าที่ทาง “โลกิยะ” เช่น ปวดหัวมัวตาผัวหายเมียทิ้ง ล้วนแต่ให้ผีช่วย และให้ฝ่ายพุทธรับหน้าที่ทางโลกุตระไป

แต่ทั้งนี้ แม้ผีบางส่วนจะไปอยู่ภายใต้ร่มเงาของพุทธศาสนา กระนั้นผีก็ยังทรงพลังอำนาจอย่างยิ่ง จนกระทั่งค่อยๆ กลืนทั้งพุทธและพราหมณ์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบความเชื่อผี เพียงแต่มีฉากหน้าเป็นพุทธและพราหมณ์เท่านั้น ดังที่ผมเสนอประเด็นนี้อยู่บ่อยๆ

พระพุทธรูปหลายองค์จึง “เฮี้ยน” คือศักดิ์สิทธิ์ในแบบผีนั่นแหละครับ

ความสัมพันธ์กับผีและพุทธในบ้านเราจึงค่อนข้างแน่นเฟ้น ผิดกับพราหมณ์ ซึ่งมีที่ทางของตัวเอง

 

ตั้งแต่สมัยโบราณ กษัตริย์ตั้งเทวสถานเป็นที่ทางของพราหมณ์โดยเฉพาะไม่ปะปนกับพุทธศาสนา และผมเข้าใจว่าเทวสถานของพราหมณ์มิได้มีไว้สำหรับคนทั่วไปแต่มีไว้สำหรับกษัตริย์เท่านั้น ดังเช่นพระเทวสถานของพระนครฯ ก่อนสมัยรัชกาลที่ 9 ชาวบ้านร้านตลาดคงไม่มีสิทธิ์ทำพิธีกรรมอะไรในเทวสถาน นอกจากรอดูมหรสพต่างๆ เวลาเทวสถานมีงาน (แม้แต่พราหมณ์ก็เพิ่งจะประกอบพิธีในคนทั่วไปได้ในสมัยรัชกาลที่แล้ว)

ฉะนั้น ที่มักบอกกันว่า พราหมณ์ปะปนกับพุทธศาสนาในสยามอย่างมากมายมาแต่โบราณ ผมว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะพราหมณ์คงไม่เลือนไปปนกับพุทธได้ง่ายดายนักด้วยข้อจำกัดดังกล่าว

หากถือว่าพุทธศาสนาแบบเถรวาทบ้านเรามีความเป็นพราหมณ์ปะปน ที่จริงคือปะปนกันมาตั้งแต่พุทธศาสนาอยู่ในอินเดียและลังกา (ในแง่การหยิบยืมพิธีกรรม และไม่ได้เป็นพิธีกรรมที่ขัดกับหลักพุทธศาสนา เช่น การบูชาหรือสวดมนต์) ไม่ใช่มาปนกันหนักๆ หลังออกจากอินเดีย

ครั้นเข้ามาในสยาม พุทธศาสนาจึงมาปะปนกับผี (ซึ่งบางครั้งแต่งองค์จนดูคล้ายพราหมณ์) เสียมากกว่า

ฉะนั้น ที่ชอบด่ากันโครมๆ ว่าไสยศาสตร์ (คำนี้ผมใช้ในความหมายทั่วไปมิใช่ไสยในความหมายโบราณที่หมายถึงศาสนาพราหมณ์ ที่มักเข้าใจว่าเป็นของพราหมณ์นั้น) เป็นของพราหมณ์ที่ทำให้พุทธเสื่อม ที่จริงคือความเชื่อผีที่แต่งองค์ทรงเครื่องนั่นแหละครับ ไม่ใช่พราหมณ์

ผมเข้าใจว่าในสมัยอยุธยา พราหมณ์ไปปรากฏในพื้นที่พุทธศาสนาในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เช่น รูปนารายณ์ทรงครุฑไปปรากฏในหน้าบันพระอุโบสถ หรือพวกรูปทวารบาล และคงเกี่ยวข้องกับความเป็นวัดหลวงหรือเกี่ยวกับกษัตริย์ (จึงสามารถใช้สัญลักษณ์บางอย่างแบบเดียวกับราชสำนักใช้) แต่การพระราชพิธีพราหมณ์กับพุทธคงแยกกัน

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีพราหมณ์เพิ่งจะมีพิธีสงฆ์มาเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่พิธีทั้งหลายของพราหมณ์ก็ยังจำกัดอยู่ในราชสำนักอยู่ดี

 

สิ่งที่ผมอยากเสนอคือ เทพฮินดูทั้งหลายเพิ่งจะย้ายนิวาสสถานเข้าไปในวัดวาอารามทางพุทธศาสนาเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยเฉพาะเทพฮินดูที่เพิ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เช่น พระคเณศ พระแม่อุมา โดยมีศาสนสถานเล็กๆ ของตัวในวัด

ต้องบอกก่อนนะครับว่าพุทธศาสนาเถรวาทเกิดก่อนเทพเจ้าเหล่านี้ (หมายถึงเกิดก่อนการที่เทพดั้งเดิมจะพัฒนาเป็นเทพฮินดูสมัยหลัง) เทพเจ้าฮินดูที่ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทมักเป็นเทพในยุคพระเวท เช่น อินทร์ (สักกะ) วรุณ ฯลฯ แต่ไม่ปรากฏเทพดังๆ ที่รู้จักในปัจจุบัน

และแม้เทวดาเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่วัดในชนชั้นที่ไม่ต่างจากผี แต่สิ่งหนึ่งที่ต่างคือ การเข้าไปของเทวดาพราหมณ์ในวัดพุทธสมัยใหม่ไม่ได้ทำให้เทวดาเหล่านั้น “สมาทานพุทธศาสนา” เช่นเดียวกับผีเดิมของเรา

กล่าวคือ ไม่ได้มีหน้าที่อะไรกับวัดวาอารามหรือพุทธศาสนา นอกจากดึงคนจำนวนหนึ่งให้มาเที่ยววัด คือมีหน้าที่ทางการตลาดแค่นั้น

กรณีนี้ เทวดาของพราหมณ์จึงกลายเป็น “สิ่งแปลกปลอมขนานแท้” ในพื้นที่วัดทางพุทธศาสนา คือไม่ได้สมาทานพุทธศาสนา ไม่มีหน้าที่อะไรเกี่ยวกับพุทธศาสนา และไม่มีความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกันแต่โบราณ

ผู้อ่านคงเดาได้ว่าผมไม่มีปัญหาหากจะอยู่กันแบบผีพราหมณ์พุทธมั่วๆ นัวๆ กันไป แต่หากมีชาวพุทธผู้มีความวิตกกังวลว่า จะทิ้งเทวดาพราหมณ์ไปก็ลำบากใจเพราะรักกันมานาน แต่ก็กลัวจะไม่ได้ชื่อว่าชาวพุทธแท้จะทำอย่างไรดี

คล้ายๆ คำถามว่า เป็นชาวพุทธแล้วจะนับถือเทวดาพราหมณ์ยังไง

 

ที่จริงพุทธศาสนานิกายอื่นๆ มีวิธีในการจัดการปัญหานี้มาโดยตลอด คือยอมรับเอาเทพเจ้าหรือผีไม่ว่าจะศาสนาไหน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา หรือสมาทานพุทธมากน้อยต่างกันไปเป็นเรื่องปกติ

เช่น ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในจีน เอากวนอู ซึ่งเป็น “ผี” หรือเทพของหยู (เป็นบรรพชนอันมีคุณธรรมควรยกย่อง) และของเต๋า (เทพในสวรรค์เต๋า มีตำแหน่ง เฮียบเทียนไต่เต่) มาเป็น “พระโพธิสัตว์อารามปาล” (แคนั้มผ่อสัก) ปกป้องดูแลวัดเสีย

หรือการที่ศาสนาของชาวจีนกราบไหว้พระจันทร์ พระภิกษุก็ไม่ขัดกับชาวบ้าน ปรากฏว่าวัดในฝ่ายมหายานก็ไหว้พระจันทร์ด้วย แต่เปลี่ยนพระจันทรเทพของชาวบ้านให้เป็น “จันทรประภาโพธิสัตว์” บริวารแห่งพระไภสัชยคุรุ

ภิกษุก็ทำพิธีไหว้พระจันทร์กับชาวบ้านได้ไม่ขัดกัน

 

ในฝ่ายวัชรยาน ซึ่งดูเหมือนจะถนัดเรื่องนี้ที่สุด ตั้งแต่ยังอยู่ในอินเดียได้นำเอาเทพของฮินดูมาเป็น “พระธรรมบาล” ปกปักพุทธศาสนา เว้นแต่เทพที่ไม่ยอมเชื่อฟังจะถูกปราบปรามลงจนสิ้น และเมื่อไปอยู่ทิเบตก็ได้ทำให้ผีของศาสนาพื้นเมืองคือ เพิน (Bon) มาสมาทานพุทธศาสนา

องค์ทะไลลามะ จึงทรงมีเนจุงเทวบดี ซึ่งเป็นเทพพื้นเมืองคอยถวายคำปรึกษาต่างๆ ผ่านคนทรง (ซึ่งเป็นพระภิกษุ) เทพเหล่านี้ปฏิญานจะรับใช้พุทธศาสนา โดยความยำเกรงต่อคุรุปัทมสมภพผู้นำความรุ่งเรืองของพุทธศาสนามาสู่ทิเบต

พุทธศาสนาแบบทิเบต จึงรับเอาความเชื่อของชาวบ้าน โดยไม่ “เสียท่าที” แบบพุทธศาสนา อันหมายถึง ไม่ได้ละเมิดต่อพระรัตนตรัย (ซึ่งฝ่ายมหายานถือเป็นครุกาบัติ) แต่ให้ทวยเทพเหล่านี้ เป็นดุจเพื่อนและผู้สนับสนุนของผู้ปฏิบัติธรรม

แต่การทำเช่นนี้ได้ ต้องยอมรับความเหนือกว่าของพุทธศาสนาต่อศาสนาอื่น พูดสำนวนแบบนักวิชาการคือ ต้องไปจัดระบบจักรวาลวิทยาเสียใหม่ ให้มีลำดับศักดิ์ที่ต่างกันถึงจะอยู่ร่วมกันได้แบบเนียนๆ

การทำแบบนี้ในสมัยโบราณ โดยเฉพาะในดินแดนที่พุทธศาสนาเป็นใหญ่ คงไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่ในโลกสมัยใหม่ที่ศาสนาต่างๆ เรียกร้องความเท่าเทียมกัน คงต้องคิดหนักและคงเป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะศาสนิกอื่นเขาคงไม่ยอม (เขาเงียบเพราะเสียงเขาอาจไม่ดังเนื่องจากเป็นคนส่วนน้อย แต่ไม่ได้แปลว่าเขายอม)

จะแต่งตำนานใหม่เพื่อเซ็ตติ้งจักรวาลวิทยาขึ้นมารองรับก็ยากอีก

หรือต่างคนต่างอยู่ก็ดีเหมือนกัน?