กำเนิดกายบริหารหน้าเสาธง : กายบริหารสร้างชาติทางวิทยุ (1)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

กำเนิดกายบริหารหน้าเสาธง

: กายบริหารสร้างชาติทางวิทยุ (1)

 

ในช่วงสงครามโลก 2485 รัฐบาลจัดให้มีวิทยุกระจายเสียงฝึกกายบริหารไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

(สุวิมล พลจันทร์, 128)

 

เรือนร่าง คือเป้าหมายของการสร้างชาติ

เมื่อเรือนร่างของมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เรือนร่างจึงเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมโดยรัฐด้วยการทำให้เรือนร่างเป็นไปตามความต้องการทางสังคมและการเมือง

เรือนร่างจึงเป็นพื้นที่แห่งการจำแนก ระหว่างร่างที่สามารถ/ไร้ความสามารถ การสร้างเรือนร่างให้มีคุณค่าจึงเป็นการตัดสินว่า เรือนร่างแบบใดเป็นไปตามความต้องการของสังคม

รัฐบาลจอมพล ป. มีการส่งเสริมให้พลเมืองสร้างเรือนร่างตนเองขึ้นใหม่ที่เพียบพร้อมไปด้วยพลานามัยและอนามัยที่ดี ร่างกายของพลเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่ต้องการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อไปสู่เรือนกายของพลเมืองตามอุดมคติที่รัฐบาลปรารถนา เพื่อแทนที่ร่างกายที่สะโอดสะองอ้อนแอ้นที่ไม่พึงปรารถนาตามแบบเก่า

เรือนร่างที่รัฐบาลประสงค์ขณะนั้น คือเรือนร่างที่กำยำประดุจนักรบในยามศึกและเกษตรกรที่แข็งแรงในการตรากตรำทำงานในยามสงบ เพื่อให้ทุกคนเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพในการร่วมปกป้องและสร้างชาติไปด้วยกัน (สิทธิธรรม โรหิตะสุข, 2557, 101)

นับแต่หลังการปฏิวัติ 2475 ความนิยมในการสร้างเรือนร่างใหม่ ด้วยการเพาะกายแพร่หลายอย่างกว้างขวาง ลงไปถึงชายฉกรรจ์ในระดับกลางและลงไปสู่ระดับล่างลงไปด้วย ดังเช่น ครูทองม้วน คนขับรถของพระยาพหลฯ เพาะกายด้วย

ด.ช.สม อิศรภักดี ในครั้งนั้น เล่าถึงฟิตเนสคนยากแถบสะพานกษัตริย์ศึกที่พบเห็นว่า ฟิตเนสคนยากนั้นเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง วางอุปกรณ์หลายอย่างเต็มลานบ้าน มีผู้คนหลายๆ คนมาเล่นยกลูกตุ้มน้ำหนักที่ทำจากเหล็กบ้าง ปูนซีเมนต์บ้าง มีบาร์เดี่ยว บาร์คู่ เป็นต้น

กิจกรรมออกกายบริหารของนักเรียนที่เสาธงทุกเช้าที่เริ่มสมัยนโยบายสร้างชาติ

ครูทองม้วน เป็นเจ้าของฟิตเนสคนยากแห่งสะพานกษัตริย์ศึก แถมเขายังเป็นครูฝึกให้คนแถวๆ นั้นออกกายบริหารให้ร่างกายเกิดกล้ามเนื้อด้วย สมเล่าว่า ครูทองม้วนสูงราว 160 เซนติเมตร แต่มีกล้ามเป็นมัดๆ กล้ามใหญ่เกินตัวมาก หลังจากครูทองม้วนพ้นเกณฑ์ทหารแล้ว เขาทำงานเป็นคนขับรถให้กับพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี (2476-2481)

เขาบันทึกว่า “สมัยนั้นเข้าใจว่าเป็นสมัยนิยมการเพาะกาย เมื่อออกไปเดินข้างนอกและสวมเสื้อยืด สำหรับคนที่มีกล้ามสวยๆ นั้น ดูเป็นผู้ชายที่เท่มาก” (สม อิศ รภักดี, 2555, 20)

ด.ช.สมเล่าเสริมอีกว่า “ตอนนั้นผมอายุ 13 ปี (2479) ผมไปยืนดูเขาเล่นกล้ามอยู่หลายครั้ง สุดท้าย ผมก็อยากมีกล้ามสวยๆ เหมือนเขาบ้าง ผมจึงไปสมัครเป็นลูกศิษย์ ครูทองม้วนแนะนำให้ผมยกนั่นยกนี่กับเล่นบาร์เดี่ยวบาร์คู่…ผมเล่นกล้ามอยู่ 3 เดือน มีอยู่วันหนึ่ง นักเล่นกล้ามทั้งหลายเขาจะถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก เขาสวมกางเกงตัวเล็กนิดเดียว ใช้น้ำมันมะกอกมาชโลมตัวให้มันเยิ้มและไปออกกำลังกายอีกพักใหญ่เพื่อให้กล้ามเนื้อดูดีขึ้น หลังจากนั้นมีการถ่ายรูปกันในท่าต่างๆ ขณะเบ่งกล้ามกันคนละหลายๆ รูป” (สม, 21-22)

จากความทรงจำของ ด.ช.สม สะท้อนให้เห็นว่า ความนิยมในการเพาะกายแพร่หลายออกไปในกลุ่มชายฉกรรจ์หลากหลายระดับมากยิ่งขึ้น จากคนชั้นกลางลงไปสู่คนระดับล่างและเด็กหนุ่มวัยรุ่นมากขึ้น

จอมพล ป. ผู้นำชาตินิยม

กายบริหารในสังคมไทย

ด้วยหลวงวิจิตรฯ นำเสนอแนวคิดการเปลี่ยนแปลงมนุษย์ให้สอดคล้องกับสมัยปฏิวัติไว้ในหนังสือ มนุสสปฏิวัติ (2482) ว่า “…งานปฏิวัติเป็นงานที่ดี เป็นงานกุศลกรรม แต่เป็นงานที่ลำบาก เป็นงานที่ทำยาก เป็นงานต้องใช้เวลานาน…” (หลวงวิจิตรฯ, 2482, 4)

อีกทั้ง จอมพล ป.ต้องการปลี่ยนแปลงสังคมใหม่ให้ถึงแก่น ดังที่เขาประกาศ “สร้างชาติ” ไว้ว่า “การสร้างชาติมีความหมายกว้างใหญ่ไพศาล เริ่มแต่ประชากรของชาติจะต้องสร้างตัวของท่านเองให้เป็นพลเมืองดีขึ้นมาก่อน กล่าวคือ มีวัฒนธรรมดี มีศีลธรรมดี มีอนามัยดี มีการแต่งกายอันเรียบร้อยเป็นระเบียบดี มีที่พักอาศัยดี และมีที่ทำมาหากินดี เหล่านั้นเป็นต้น เมื่อพลเมืองทุกคนมีสภาพดังกล่าวนี้แล้ว ชาติก็จะเป็นหน่วยรวมที่มั่งคั่งสมบูรณ์ ประชาชนก็สามารถช่วยกันประกอบงานส่วนกลางของชาติให้วัฒนารุ่งเรืองขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย” (ประมวลคำปราศรัยฯ, 2485, 38)

ในช่วงต้นทศวรรษ 2480 ไม่แต่เพียงรัฐบาลเรียกร้องให้คนไทยยึดแนวทางการส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าด้วยการบริโภคถั่วเหลืองตามแบบญี่ปุ่นเท่านั้น

แต่กรมโฆษณาการและกรมพลศึกษายังดำเนินแนวทางการส่งเสริมสุขภาพพลานามัยด้วยการออกกายบริหารตอนเช้าตามแบบญี่ปุ่น ด้วยการจัดโครงการออกกายบริหารพร้อมกันผ่านวิทยุกระจายเสียงเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงตามนโยบายสร้างชาติ

การออกกำลังกายในยามเช้าของโรงเรียนประถมสมัยเมจิ ช่วงทศวรรษ 2440 เครดิตภาพ oldphotosjapan.com

วิทยุกายบริหารในญี่ปุ่น

สําหรับเรื่องวิทยุกายบริหาร หรือ “ราจิโอไทโซ” (Rajio Taiso) เป็นรายการวิทยุกายบริหารประกอบดนตรีที่เชิญชวนคนทุกเพศทุกวัยในประเทศญี่ปุ่นมาออกกำลังกายตอนเช้าด้วยกายบริหารง่ายๆ

เริ่มกระจายเสียงช่วงเช้าตั้งแต่สมัยโชวะ (2471) เพื่อส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นออกกำลังในยามเช้าในโตเกียวก่อน ต่อมาเป็นที่นิยมทั่วประเทศทั้งในโรงเรียน โรงงานและชุมชนต่างๆ เพื่อพัฒนาสุขภาพของชาวญี่ปุ่น (oldphotosjapan.com)

แม้นการออกกายบริหารและยิมนาสติกจะเข้าสู่ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นมาแต่สมัยเมจิแล้วก็ตาม แต่ความนิยมกายบริหารทั่วสังคมเกิดขึ้นจากวิทยุกายบริหารในยามเช้าในสมัยโชวะช่วง 2470 และในปี 2481 มีชาวญี่ปุ่นกว่า 157 ล้านคนออกกำลังกายพร้อมกัน

นักเรียนประถมศึกษาออกกายบริหารเมื่อ 2429 ในสมัยเมจิ เครดิตภาพ oldphotosjapan.com

นับตั้งแต่จอมพล ป.ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล (2481) เขามีนโยบายสร้างชาติ ให้ประชาชนไทยมีความขยันขันแข็ง ปลูกผักสวนครัว ปลูกผักไว้กินเอง เป็นการเตรียมสะสมอาหารยามใกล้สงคราม พร้อมยกระดับสุขภาพอนามัยของประชาชนด้วย

นับแต่ปี 2483 รัฐบาลยังส่งเสริมให้ประชาชนเพิ่มการบริโภคโปรตีนให้มากขึ้นด้วยการบริโภคโปรตีนจากถั่วเหลืองตามลัทธิโปรตีนนิสต์ (Proteinism) เพื่อการให้สร้างชาติให้สมบูณ์ด้วย (ก้องสกล กวินรวีกุล, 2545, 89-93)

ด้วยสังคมไทยภายหลังการปฏิวัติ 2475 กำลังเปลี่ยนแปลงค่านิยมใหม่ให้ขันแข็ง ออกกำลังทำการงานให้เป็นประโยชน์ ในขณะที่ “…(สังคมไทยที่ผ่านมา) กลับสรรเสริญคนนอนสบายไม่ทำอะไร ว่าเป็นผู้มีบุญที่ได้ก่อสร้างมาแต่ปางก่อน และประณามผู้ทำงานเหนื่อยยากว่าเป็นผู้มีกรรมทำความชั่วร้ายมาแต่ชาติโน้น เนื่องจากที่สอนกันมาว่า คนนอนสบายเป็นผู้มีบุญ และคนทำงานเป็นผู้มีกรรมเช่นนี้ จึงเกิดมีคติอันน่าชังอีกอย่างหนึ่งว่า

คนนอนสบายเป็นคนชั้นสูง คนทำงานลำบากตรากตรำเป็นคนชั้นต่ำ ทำให้เกิดการดูหมิ่นงานอาชีพว่าเป็นของต่ำของเลว และถือว่า การมีกินโดยไม่ต้องทำอะไรนั้นเป็นการประเสริฐสุด” (หลวงวิจิตรฯ, 2482, 17)

ดังนั้น ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. (2481-2487) เห็นว่าร่างกายของพลเมืองคือเป้าหมายสำคัญของการสร้างชาติ ในด้านการจำนวนประชากร การสร้างสุขภาพอนามัยของร่างกาย การกิน การบริหาร การออกกำลังกายและเดินทางไกล การสร้างวินัย อบรม เลี้ยงดู และการแต่งกาย ความมีมารยาทเพื่อก้าวสู่ชาติที่มีอารยะทัดเทียมสากล (ก้องสกล, 2545)

คู่มือกายบริหาร (2479) และประชาชาติ, 26 กรกฎาคม 2479