ถ้าพรรคประชาธิปไตยชนะ อะไรจะเกิดขึ้น

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก | วงค์ ตาวัน

 

ถ้าพรรคประชาธิปไตยชนะ อะไรจะเกิดขึ้น

 

หลังจากลงรับสมัคร ส.ส.ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ได้เบอร์แบบเขตและเบอร์ประจำพรรค รวมทั้งเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของทุกๆ พรรคแล้ว ทุกพรรคพากันออกหาเสียงอย่างเต็มตัวแล้ว ยิ่งเห็นภาพเปรียบเทียบ เห็นฟอร์ม เห็นโอกาส ว่าใครจะชนะใครจะแพ้

เห็นแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นว่า ใครจะมีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาล

พูดกันตามตรง พรรคการเมืองเครือข่ายอำนาจเดิม จะเรียกว่าเครือข่ายขุนศึกขุนนาง หรือเครือข่ายคณะ คสช.ก็ได้

ดูแนวโน้มไม่สดใสนัก

นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนมองว่า ย้อนไปดูผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ผ่านมาประมาณ 1 ปีพอดี

การเลือกนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม.ด้วยคะแนนถล่มทลายดังกล่าวนั้น เป็นการแสดงออกของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง

ยิ่งนายชัชชาติ เป็นอดีตรัฐมนตรีสังกัดพรรคเพื่อไทย อยู่ตรงข้ามกับเครือข่ายอำนาจทหาร

ยิ่งตอกย้ำว่า ประชาชนไม่เอาอีกแล้วการเมืองแบบเดิมๆ ผู้ว่าฯ กทม.แบบเดิมๆ

ผ่านไป 1 ปี นับจากการเลือกผู้ว่าฯ กทม. ถือว่าไม่ได้ยาวนานนัก กระแสเช่นนี้ยังไม่ได้เบาบางลงไป สำหรับการเลือกตั้งสนามใหญ่ ส.ส.ทั่วประเทศ ประชาชนคนไทยยังต้องการความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะต้องการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่

ประเภทเลือกลุงตู่เข้ามา เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบมีความมั่นคง ตอนนี้กลายเป็นคำเสียดสีขบขัน

8-9 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองสงบจริงๆ คือธุรกิจการค้าสงบซบเซาไปกันหมด เงินทองรายได้ขาดแคลน หนี้สินพอกพูน

ดังนั้น พรรคที่มีนโยบายด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมและต้องอธิบายให้เห็นว่าทำได้จริง จะเป็นที่ตอบรับจากประชาชนได้มากที่สุด

ปากท้องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจะเป็นเรื่องใหญ่สุดสำหรับการตัดสินใจจะกาบัตรอย่างไร เมื่อเดินเข้าคูหาในวันที่ 14 พฤษภาคม

เช่นนี้แล้ว พรรคการเมืองขั้วตรงข้ามกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นตัวเลือกใหม่ในสายตาประชาชนจำนวนมาก

ยิ่งเป็นพรรคที่มีนโยบายด้านเศรษฐกิจ ชุบชีวิตปากท้องประชาชนได้โดดเด่นเป็นรูปธรรม ยิ่งเข้าตาชาวบ้านมากที่สุด

 

ผลการสำรวจของสำนักโพลต่างๆ ที่นำมาเปิดเผยต่อสังคม เห็นได้ชัดว่า ไม่ว่าจะกี่โพล พรรคเพื่อไทยนำหน้าตลอด ทั้งกรณีแคนดิเดตนายกฯ การเลือกพรรคเลือกปาร์ตี้ลิสต์ โดยพรรคก้าวไกล ขวัญใจคนรุ่นใหม่ ได้รับความนิยมตามมา

นี่เป็น 2 พรรค ขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งเข้ากระแสต้องการความเปลี่ยนแปลง

เพื่อไทยนั้นครองใจชาวบ้านส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในชนบทภาคอีสานและภาคเหนือ รวมๆ แล้วโอกาสจะชนะได้ ส.ส.เขตและ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์รวมแล้ว น่าจะเกิน 200 ขึ้นไป

ขณะที่เพื่อไทยเชื่อว่าน่าจะได้ถึง 250 ส.ส.แล้ว จึงตั้งเป้าหมายใหม่คือ 310

ส่วนก้าวไกล กระแสมาแรงแน่นอน อีกทั้งเสียงจากคนรุ่นใหม่ประมาณ 8-9 ล้านคน ก็ยังมั่นคงกับพรรคนี้อยู่ เพราะต้องการความเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบพลิกโฉม

จนกล่าวกันว่า ถ้าต้องการการเปลี่ยนแปลง โดยได้พรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ประนีประนอมกับเครือข่ายอำนาจนอกระบบได้ และมุ่งแก้ปากท้องเงินทองรายได้ให้กับประชาชน ก็ต้องเลือกเพื่อไทย

แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบเข้มข้นจริงจัง ตรงไปตรงมา ไม่มีคำว่าประนีประนอม ก็ต้องเลือกก้าวไกล

เป็น 2 แนวทาง สำหรับคนเลือกตั้งฝ่ายประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม สำหรับก้าวไกลแล้ว โอกาสที่จะชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ได้ ส.ส.หลักร้อยนั้น ยังไม่น่าจะเป็นไปได้ พูดง่ายๆ ว่า ก้าวไกล ยังไม่สามารถเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้ สำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 นี้

โอกาสของเพื่อไทยในการเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล มีสูงมากๆ ยิ่งถ้าทะลุเกิน 250 เสียงขึ้นไป ยิ่งสดใส

รวมทั้งถ้าเกิน 250 จะทำให้เงื่อนไขในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลยิ่งง่ายดาย การเจรจากับพรรคที่น่าจะได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 2 อันดับ 3 ยิ่งไม่ต้องฟังข้อต่อรองอะไรมาก

ถึงวันนี้ วงการการเมืองมองกันว่า เพื่อไทยชนะเป็นอันดับ 1 แน่นอน เพียงแต่ถ้าไม่ถึง 200 ที่นั่ง หรือเกิน 200 ไม่มาก คงไม่มีทางเลือกต้องจับมือกับพลังประชารัฐ ยุคบิ๊กป้อม ไม่มีบิ๊กตู่ เพื่ออาศัยเสียง ส.ว.จำนวนครึ่งสภา และอาศัยความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเครือข่ายขุนศึกขุนนาง

แต่ถ้าชนะเกิน 250 ขึ้นไป พรรคบิ๊กป้อมอาจไม่ใช่ตัวเลือกในการเจรจาตั้งรัฐบาล หรือถ้าใช่ก็ไม่สามารถต่อรองอะไรได้มาก

 

แนวโน้มที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคขั้วตรงข้ามเครือข่ายทหาร จะชนะเลือกตั้งเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล เชื่อว่ามีอยู่สูงมาก แต่ก็เกิดคำถามตามมาอีกว่า ถ้าเพื่อไทยชนะจริง แล้วจะตั้งรัฐบาลได้จริงหรือ จะเกิดอะไรตามมาจนทำให้การเมืองเดินต่อไปไม่ได้หรือไม่

เอาเข้าจริงๆ แล้ว กระแสต่อต้านขัดขวางพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง 2566 นี้ จากฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมือง ดูจะเบาบางลงไปมาก

ส่วนหนึ่งเพราะตัวแทนของฝ่ายอนุรักษนิยม ที่เข้ามาบริหารรัฐบาล นำโดย พล.อ.ประยุทธ์นั้น ไม่มีผลงานครองใจประชาชน ไม่อาจปลุกกระแสขุนศึกขุนนางให้คนในสังคมเชื่อมั่นได้ มีแต่จะทำให้พลังฝ่ายอนุรักษนิยมอ่อนล้าลงไป

ประกอบกับฝ่ายพรรคเพื่อไทยเอง ได้พยายามประสานและสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่ายอนุรักษนิยมมาโดยตลอด

เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะไม่มีการแตะต้องอำนาจเดิมให้กระทบกระเทือน

ว่ากันว่า แม้แต่การเลือก 3 แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย คือ เศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจ ที่มีแนวคิดประชาธิปไตย เข้าใจปัญหาสังคม แต่มีความเข้าใจในความละเอียดอ่อนของโครงสร้างประเทศ ไม่หักหาญรุนแรง ตามด้วย อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวทักษิณ ก็มาในแนวคนรุ่นใหม่ แต่ไม่แนวขุดรากถอนโคน รวมทั้ง นายชัยเกษม นิติสิริ ก็เป็นนักกฎหมาย อดีตอัยการสูงสุด ยึดตามกระบวนการเป็นหลัก

เป็น 3 แคนดิเดตที่กลั่นกรองแล้วว่า ไม่ใช่ประเภทสายล่อฟ้า!!

ข้อสำคัญสุด มีการแสดงท่าทีจากแกนนำเพื่อไทยมาตลอด ว่าไม่ได้มีสายสัมพันธ์อันราบรื่นกับพรรคก้าวไกล จนเชื่อกันว่าถ้าเพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาลจริงๆ คงไม่เลือกก้าวไกลเข้าร่วมอย่างแน่นอน เพื่อตัดปัญหาความหวาดระแวงจากเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมือง

กล่าวได้ว่า เพื่อไทยคงไม่เอาก้าวไกลเข้าร่วม แต่มีโอกาสจะเลือกพลังประชารัฐมากกว่า เพื่อเป็นสะพานเชื่อมกับเครือข่ายขุนศึกขุนนางและเสียง ส.ว.

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เพื่อไทยได้เดินเกมเชื่อมประสานภายในกับฝ่ายต่างๆ มาตลอด

เน้นการสร้างความไว้วางใจ

ทำให้มั่นใจว่าจะเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้พลิกฟื้นได้รวดเร็วจริง อันจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย จะไม่เน้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองมากมายนัก

เพื่อเป็นหลักประกันว่า ถ้าชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์จริงๆ จะไม่มีข้อสงสัยว่า เพื่อไทยชนะแล้วจะเป็นรัฐบาลได้หรือ!!