ล่าแก๊งทุจริตสอบนายสิบ กองปราบลุยจับ ตร. ‘คีย์แมน’ ขยายผลโกงสอบราชการอื่น

ถึงแม้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. แย้มว่า ขบวนการทุจริตสอบเข้าข้าราชการตำรวจชั้นประทวน พ.ศ.2565 (กลุ่มงานอำนวยการและสนับสนุน) 725 อัตรา ที่จัดสอบเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 มีตำรวจเกี่ยวข้องด้วย แต่ยังไม่ระบุว่าสังกัดไหนนั้น

เหตุผลลึกๆ คือทีมงานสอบสวนกองปราบปราม ซึ่งขณะนี้ต้องแบ่งทีมไปทำคดีสารวัตรซัวส่วนหนึ่ง และที่เหลือทำคดีโกงสอบด้วย ไม่ได้เต็มทีม อยู่ระหว่างแกะรอยหลักฐาน ใช้เวลาอีก 15-30 วัน ถึงจะจับกุมผู้มีบทบาทในขบวนการเพิ่มอีก

แน่นอนครั้งนี้ถึงนายตำรวจที่เป็นระดับผู้บังคับบัญชา ที่เป็น “คีย์แมน” แน่

 

จากการเปิดแถลงข่าวกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่มี ผบ.ตร.นำแถลงเมื่อ 29 มีนาคม จับเครือข่ายทุจริตการสอบนายสิบตำรวจทั่วประเทศ ที่ติดตามจับกุม 9 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ศรีสะเกษ, พะเยา, ลำปาง, ประจวบคีรีขันธ์, พัทลุง และนราธิวาส ได้ 17 ราย จาก 18 หมายจับ ในความผิดฐาน “เป็นอั้งยี่ และร่วมกันเอาไปเสีย ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารใดของผู้อื่นในประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”

ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การภาคเสธ แต่ตำรวจพบเส้นทางการจ่ายเงิน ทั้งจ่ายเงินสดและโอนผ่านบัญชี

ฮือฮา 2 หมายจับ คือ นายดาชัย เอกปฐพี อายุ 52 ปี ผู้สมัคร ส.ส.ลำปาง พรรคพลังประชารัฐ เบื้องต้นเจ้าตัวให้การปฏิเสธ ระบุเพียงว่าถูกซัดทอด และนายอดิศักดิ์ สมบัติคำ ต่อมาได้ขอถอนตัวจากผู้สมัคร ส.ส.มหาสารคาม พรรคก้าวไกล

สำหรับนายดาชัย จากการตรวจสอบประวัติ พบเคยถูกตำรวจนครราชสีมาจับดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตสอบนายสิบตำรวจมาแล้ว 1 ครั้งเมื่อปี 2555 ก่อนพ้นโทษออกมาเมื่อปี 2559 กระทั่งมาถูกจับกุมตัวอีกครั้งในคราวนี้

 

ปฐมบทการโกงสอบ เริ่มจากการสอบนายสิบตำรวจ 27 พฤศจิกายน 2565 มีผู้เข้าสอบเป็นแสนคน หลังสอบเสร็จพบข่าวทุจริตมีการเผยแพร่โพยเฉลยคำตอบผ่านทางไลน์และเฟซบุ๊ก

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

พบว่า จำนวนกระดาษคำตอบผู้สอบผ่านข้อเขียน 1,160 คน มีน่าสงสัย 141 คน ไม่มีร่องรอยการขีดเขียน หรือทดเลขในกระดาษปัญหาข้อสอบ แต่มีร่องรอยการฝนกระดาษคำตอบแบบลอกโพย

และจากการตรวจสอบโพยเฉลย ที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ พบว่าเป็นโพยเฉลยของข้อสอบในการสอบแข่งขันครั้งนี้จริง โดยมีโพยเฉลยข้อสอบจำนวน 4 ชุด ตรงกับข้อสอบทั้งหมด

จากการให้ผู้สอบผ่านข้อเขียน ทำแบบทดสอบอีกครั้ง ปรากฏว่ามีผู้ที่สอบผ่านข้อเขียน ทำข้อสอบดังกล่าวไม่ได้ แล้วมีผู้สอบยอมรับว่าได้ทุจริตการสอบจริงและขอสละสิทธิ์จากการเป็นผู้สอบข้อเขียนได้ จำนวน 163 คน

และเมื่อสอบถามผู้สอบที่ทุจริตการสอบ ทำให้ทราบข้อเท็จจริงว่า มีกลุ่มบุคคลติดต่อ เสนอขายโพยเฉลยข้อสอบให้ผู้สอบ ซึ่งมีทั้งโพยเฉลยแบบตัวเลข และโพยเฉลยแบบให้จำข้อความคำตอบสั้นๆ ผู้สอบจึงได้ซื้อโพยเฉลยดังกล่าวก่อนเข้าสอบเเข่งขัน โดยโอนเงินค่าซื้อโพยเฉลยข้อสอบให้ผู้ติดต่อขาย นายหน้าเป็นทอดๆ

จึงนำมาสู่การแจ้งความกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิดดังกล่าว

 

ต่อมาชุดสืบสวนสอบสวน บก.ป. พบว่า การทุจริตการสอบดังกล่าวมีนายหน้าติดต่อไปยังผู้เข้าสอบ อ้างว่าสามารถจัดหาโพยเฉลยข้อสอบได้ โดยเรียกค่าดำเนินการรายละ 200,000-600,000 บาท ซึ่งจะมีรูปแบบโพยเฉลยข้อสอบ 2 แบบ คือ

1. โพยชุดตัวเลข ซึ่งมี 4 ชุด โดยโพยแต่ละชุด จะมีข้อสอบข้อที่ 20 เป็นข้อกำกับว่าเป็นชุดปัญหาข้อสอบใด ให้ใช้กับชุดเฉลยคำตอบใด ซึ่งผู้เข้าสอบจะซุกซ่อนนำโพยเฉลยข้อสอบติดตัวเข้าไปในห้องสอบ

2. โพยที่แสดงคำสำคัญของคำตอบซึ่งจะเลือกใช้คำที่ง่ายต่อการจดจำให้ผู้เข้าสอบจำคำตอบไปใช้ในการทำข้อสอบ

นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบว่า กลุ่มขบวนการทุจริตเสนอขายโพยข้อสอบ มีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจะมีกลุ่มนายหน้า ทำหน้าที่ติดต่อขายโพยข้อสอบให้กับผู้เข้าสอบ, กลุ่มผู้เฉลยข้อสอบ ทำหน้าที่เฉลยข้อสอบ, กลุ่มที่นำข้อสอบไปมอบให้ทีมเฉลย เป็นตัวกลางในการนำข้อสอบไปส่งมอบ และกลุ่มเจ้าหน้าที่เก็บรักษาข้อสอบหรือพนักงานโรงพิมพ์ข้อสอบทำหน้าที่เอาข้อสอบออกไปเผยแพร่เพื่อทำโพยเฉลย

ทั้งนี้ ผู้ซื้อโพยเฉลย ได้ยืนยันว่าเริ่มได้รับโพยเฉลยข้อสอบ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 เวลาประมาณ 12.00 น. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวข้อสอบได้ถูกจัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์เสร็จเรียบร้อยรอส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์สอบมารับเอาไปเพื่อนำไปใช้ในการสอบในวันรุ่งขึ้น

มีรายงานว่าจากปฏิบัติการตรวจค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ตำรวจพบเส้นทางการเงิน มีทั้งเงินสด โอนผ่านบัญชี และการแชตไลน์ รวมถึงการโทรศัพท์ระหว่างผู้ต้องหารายสำคัญซึ่งเป็นตัวการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยนัดเจอผู้เสียหายจำนวน 12 คนที่บ้านพักของผู้ต้องหา ในจังหวัดขอนแก่น และเสียค่าใช้จ่ายคนละ 5 แสนบาท

จากการสอบสวนผู้ต้องสงสัยทุจริตการสอบ 193 คนพบว่า มีผู้โทรศัพท์ไปชักชวนเสนอขายโพยเฉลยข้อสอบ ซึ่งมีทั้งโพยเฉลยแบบตัวเลข ซุกซ่อนนำเข้าห้องสอบได้ และแบบให้จำข้อความสั้นๆ เป็นคีย์เวิร์ดโดยโอนเงินให้ผู้ติดต่อ 2 แสนบาท แต่บางคนถูกนายหน้าชักชวนอีกทอดจึงจ่ายแพงขึ้นไปถึง 6 แสนบาท เพราะถูกหักค่านายหน้า

โดยผู้ซื้อโพยเฉลยยืนยันว่า เริ่มได้รับโพยเฉลยตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2565

 

ขณะนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับการประกันตัวเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง ผบ.ตร.ระบุว่า เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะยื่นขอประกันตัวตามขั้นตอน และการจับกุมช่วงนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง เพียงแต่ใช้เวลาในการทำคดีนานเพราะพยานหลักฐานถูกทำลาย

ส่วนผู้ต้องหาอีก 1 คนที่ยังหลบหนีอยู่คือ อดีต ด.ต.วชิรานุสรณ์ พงษ์พันธ์ อายุ 57 ปี ผบ.หมู่ สภ.เมืองศรีสะเกษ ประวัติเคยถูกจับกุมเรื่องทุจริตการสอบแข่งขันบุคคลภายนอกเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นราชการตำรวจชั้นประทวน ยศสิบตำรวจตรี ประจำปี 2555 ที่สนามสอบ จ.นครสวรรค์ หลังพ้นโทษแล้วยังมาร่วมก่อเหตุซ้ำอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม บช.ภ.9 โอนคดีทุจริตสอบเข้าตำรวจ เมื่อมีนาคม 2565 มาให้กองปราบปรามทำด้วย เพราะคาดว่าน่าจะเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้ครั้งนี้

นอกจากนี้ ในเชิงการสอบสวนเชื่อว่า กลุ่มผู้ต้องหายังเกี่ยวข้องกับทุจริตการสอบเข้ารับราชการหน่วยอื่นด้วย อย่าง ข้าราชการท้องถิ่น, ข้าราชการ ก.พ. ที่กลุ่มขบวนการนี้เข้าถึงได้