ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
---|---|
เผยแพร่ |
สังคมโดยทั่วไปอาจจะไม่ตระหนักว่า การจัดการอุดมศึกษาของไทยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การอุดมศึกษาของพลเรือน และการอุดมศึกษาของทหาร เพราะโรงเรียนนายร้อยของสามเหล่าทัพอยู่ในระนาบเดียวกับสถาบันอุดมศึกษาของฝ่ายพลเรือน เช่นมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
ในทำนองเดียวกัน เราแทบไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของฝ่ายทหารเท่าใดนัก อาจจะเป็นเพราะการอุดมศึกษาของฝ่ายกองทัพ ถูกมองว่าเป็นเรื่องของทหาร สังคมในบริบทแบบไทยๆ จึงไม่ควรเข้าไปล่วงรู้ หรือตั้งคำถามกับประเด็นนี้
เรารู้แต่เพียงว่า โรงเรียนในระดับนี้ผลิตนายทหารชั้นต้นให้เหล่าทัพต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้รับการประดับยศแล้ว พวกเขายังได้รับวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรีเช่นเดียวกับนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยพลเรือน
แต่สำหรับคนที่สนใจเรื่องของทหารไทยแล้ว มีข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานก็คือ การปฏิรูปการศึกษาของโรงเรียนทหารชั้นต้น แม้ประเด็นนี้จะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาการปฏิรูปกองทัพในยุคปัจจุบันก็ตาม แต่ทุกคนรู้ดีว่ากองทัพไทยมีปัญหาเรื่องนี้ค่อนข้างมาก และต้องการการปฏิรูปใหญ่
ถ้าเข้าไปใกล้ชิดกับคนในกองทัพแล้ว เราอาจจะได้ยินเสียงบ่น โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพบกว่า กองทัพไม่ค่อยสนใจเรื่องของการศึกษาเท่าที่ควร นายทหารที่ถูกส่งมาประจำในหน่วยการศึกษาอย่างโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้านั้น อาจไม่ใช่คนที่จะเป็น “ตัวแบบ” ให้นักเรียนนายร้อยได้เห็น นายทหารหลายคนมาด้วยความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตาที่ไม่ได้ย้ายไปเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยรบ และนอกจากไม่อยากมาแล้ว พวกเขายังมาด้วยการรอเวลาเพื่อย้ายออกจากโรงเรียนกลับไปหน่วยหลักในสายกำลัง ไม่ใช่การอยู่เพื่อทำหน้าที่พัฒนาการศึกษาของทหาร
ไม่แปลกเลย ถ้าโรงเรียนจะถูกเรียกลับหลังในหมู่นายทหารหลายคนว่าเป็น “สุสาน” และที่น่ากลัวมากกว่าความรู้สึกเช่นนี้ก็คือ นายทหารเหล่านี้มีส่วนทำให้โรงเรียนเป็นสุสานในตัวเองจริงๆ เพราะการขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องของการจัดการศึกษา ในอีกด้านนายทหารที่ “ต้องมา” เหล่านี้ ไม่ตระหนักว่าโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร. เป็นสถาบันการศึกษาหลัก แม้จะมีสร้อยเพิ่มว่า “สถาบันการศึกษาของทหาร” ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ไม่ได้แตกต่างจากมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ในการผลิตบุคลากรชั้นต้นให้แก่สังคมพลเรือน โรงเรียนนายร้อยก็มีสถานะเป็นสถาบันทางวิชาการที่สำคัญในการผลิตบุคลากรชั้นต้นสำหรับกองทัพ และการผลิตบุคลากรชั้นต้นใน 2 ส่วนนี้คือ องค์ประกอบที่สำคัญของการสร้างรัฐสมัยใหม่ ที่วางอยู่บนรากฐานของกองทัพสมัยใหม่ และระบบราชการสมัยใหม่
ในเงื่อนไขเช่นนี้ แนวคิดในการจัดการศึกษาและการสร้างองค์กรความรู้ให้แก่นักเรียนทหารที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก และความเปลี่ยนแปลงของวิทยาการทหาร จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าอาจารย์โรงเรียนทหารไม่ตระหนักในเรื่องเช่นนี้แล้ว โรงเรียนนายร้อยจะเป็นเพียง “ห้องเรียนเด็กๆ” ที่เขาชะโงก และไม่ตอบรับกับการผลิตนายทหารชั้นต้นของกองทัพไทยในโลกศตวรรษที่ 21 และยุคสงครามยูเครน
ในอีกมุมหนึ่งของปัญหา นายทหารที่มารับหน้าที่ที่เขาชะโงกอาจจะไม่เข้าใจว่า งานวิชาการที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนานายทหารระดับต้น การจัดงานทางวิชาการต้องไม่ใช่ “งานโชว์” ที่ไม่คำนึงถึงสาระ และไม่ใช่จัดเพื่อเขียนรายงานเสนอผู้ใหญ่ หรือจัดโดยไม่มีความเข้าใจในประเด็นทางวิชาการ และความสำคัญของประเด็นดังกล่าว เพราะงานวิชาการในตัวแบบเช่นนี้คือการทำ “สวนผักชีใหญ่” ที่เขาชะโงกนั่นเอง
ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมผัสกับสภาวะเช่นนี้ เมื่อได้รับเชิญไปพูดเรื่อง “สงครามยูเครน” จึงตอบรับไปบรรยายเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ตัดสินใจไป เพราะไม่เคยสอนที่โรงเรียนนายร้อยมาก่อน เคยแต่สอนในระดับโรงเรียนเสนาธิการและวิทยาลัยการทัพ จึงอยากไปเห็น … การเดินทางไปกลับใช้เวลา 4 ชั่วโมง แต่ผู้เขียนได้รับเวลาจากผู้ดำเนินรายการ 12-13 นาที และหมดเวลา จึงได้ใช้เวลาที่มีอยู่แต่เพียงเท่านั้น
มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ “ระดับพลเอก” ท่านหนึ่งเตือนว่า เขาไม่ได้อยากฟัง แต่เขาแค่อยากได้ชื่ออาจารย์ผู้ใหญ่ของสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปใส่ในคลิปโฆษณา และเขียนรายงานเสมอผู้บังคับบัญชาว่า สามารถเชิญอาจารย์ระดับนี้มาได้ โดยไม่ต้องสนใจสาระและเนื้อหา … มีนายทหารบางคนบอกว่า ผู้จัดแค่อยากได้ชื่อ แต่อาจกลัวว่าจะไปพูดวิจารณ์อะไรที่กระทบกับกองทัพไทย จึงต้องหาวิธีที่จะไม่ให้ผมได้พูดมาก!
ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ถ้างานวิชาการที่เขาชะโงก ไม่ได้มีความประสงค์ในการสร้างและพัฒนาความรู้ให้แก่นักเรียนนายร้อยอย่างที่ควรจะเป็น แต่ถูกจัดเพื่อเป็น “งานโชว์” ผู้บังคับบัญชาแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นการสร้าง “สวนผักชีทางวิชาการ” ที่น่าเสียดายทั้งเวลาและงบประมาณอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าหนึ่งในประเด็นสำคัญของการปฏิรูปกองทัพไทยในอนาคต คือ การปฏิรูปโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร. เพราะถ้าโรงเรียนนายร้อยเป็น “สวนผักชี” ทางวิชาการแล้ว กองทัพนั้นจะสร้างนายทหารชั้นต้นที่มีประสิทธิภาพไม่ได้ … บทเรียนจากสงครามยูเครนชี้ให้เห็นชัดเจนว่า รัฐไม่ได้ต้องการกองทัพที่ใหญ่ แต่ต้องการกองทัพที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิภาพทางทหารจะต้องเริ่มต้นสร้างด้วยรากฐานทางวิชาการที่โรงเรียนนายร้อย ไม่ใช่สร้างด้วยความฝันที่เลื่อนลอย!