รู้จัก ‘รอมฎอน ปันจอร์’ ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 20 ของ ‘ก้าวไกล’

พลันที่พรรคก้าวไกลประกาศรายนามผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้ง 2566 ออกมา หนึ่งในชื่อที่ได้รับความสนใจและเครื่องหมายคำถามไม่น้อย ก็คือ ชื่อของผู้สมัครหน้าใหม่ลำดับที่ 20 “รอมฎอน ปันจอร์”

รอมฎอนเป็นใครมาจากไหน? จึงปรากฏชื่ออยู่ในข่าย “เซฟโซน” ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคก้าวไกล ชนิดที่พุ่งแซงหน้าอดีต ส.ส.สมัยที่แล้ว มาได้หลายต่อหลายคน

คำตอบเบื้องต้นคือ รอมฎอนเคยทำงานเป็นสื่อมวลชน รวมทั้งเป็นเอ็นจีโอ-นักวิจัย ที่ศึกษาเรื่องปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้มาอย่างยาวนาน

เขาเป็นคนท้องถิ่นที่จบการศึกษาชั้นประถมจากสตูล เรียน ม.ต้นที่ยะลา จบ ม.ปลายจากโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แล้วเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ที่คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จากนั้น เขาข้ามมาเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบการศึกษาด้วยวิทยานิพนธ์หัวข้อ “การเมืองของถ้อยคำในชายแดนใต้/ปาตานี : การประกอบสร้าง ‘สันติภาพ’ ในความขัดแย้งชาติพันธุ์การเมือง”

จนถึงปัจจุบันนี้ รอมฎอนก็ยังมีสถานะเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก ที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

 

ที่เว็บไซต์พรรคก้าวไกล ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 20 ของพรรค ได้เขียนความในใจในการทำงานการเมืองของตนเองเอาไว้ว่า

“เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของประเทศนี้ วิกฤตการเมืองไทยที่ผกผันยืดเยื้อกำลังเดินเข้าสู่สองทศวรรษ ซึ่งเป็นห้วงเดียวกันกับ ‘ไฟใต้’ ในดินแดนชายขอบชายแดนใต้สุด

“ความเป็นไปของชายแดนใต้หรือ ‘ปาตานี’ นั้นแยกไม่ออกจากพลวัตของการเมืองไทย ประชาธิปไตยที่ควรตั้งมั่นจึงสัมพันธ์แนบแน่นกับสันติภาพที่ควรยั่งยืน

“โฉมหน้าของรัฐไทยจำต้องได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ก้าวหน้าและเปิดกว้างมากกว่านี้ มาร่วมเดินทางไกลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นเต้นไปกับเราครับ”

ก่อนหน้าจะมีรายชื่ออยู่ในอันดับ “ได้ลุ้น” ของปาร์ตี้ลิสต์ก้าวไกล รอมฎอนเพิ่งมาร่วมสนทนาในประเด็นว่าด้วยปัญหาชายแดนใต้และการเลือกตั้ง 2566 กับทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

และนี่คือคำถามสำคัญสองข้อ ที่เขาให้คำตอบเอาไว้อย่างน่าสนใจ

 

เมื่อถามว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้มีความสำคัญต่อการเลือกตั้งและประเทศไทยโดยรวมอย่างไร? รอมฎอนได้ตอบคำถามผ่านข้อมูลตัวเลขชุดหนึ่งว่า

“เรานั่งกันอยู่ในปีที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 ถ้าเรานับตั้งแต่ปี 2547 (เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ที่นำมาสู่การใช้นโยบายความมั่นคงอย่างเข้มข้นของรัฐไทย และการลุกลามของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ยุคร่วมสมัย)

“ที่น่าสนใจและน่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเลือกตั้งด้วย ก็คือว่า นี่เป็นครั้งแรกนะครับ ที่เด็กที่เกิดในปี 2547 เขาจะมีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะพบว่าความหนาแน่นของ ‘เฟิร์สต์ไทม์ โหวตเตอร์’ (ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุดในประเทศนะครับ ทั้ง 3 จังหวัด อันนี้มีนัยยะสำคัญต่ออนาคต

“20 ปีมานี้ เราผ่านอะไรมาเยอะ ถ้าจะตอบว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้สำคัญอย่างไรต่อประเทศไทย จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านเส้นทางการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เราผ่าน 7 นายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากแทบจะทุกปีก ทุกสี ไม่ว่าจะสีเขียว สีฟ้า หรือว่าสีแดง

“พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นพื้นที่ทดลองนำร่องด้านความมั่นคง ที่อาศัยเหตุผลด้านความมั่นคงยกเว้นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

“เครื่องมือต่างๆ (เช่น พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ถูกนำมาใช้ในระดับประเทศ เพราะฉะนั้น ที่นั่นคืออะไร ที่นั่นคือแหล่งกำเนิด บ่อเกิด การทดลองมาตรการด้านความมั่นคง เราน่าจะถึงเวลาในการที่จะทบทวน

“อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เวลาที่เรานั่งอยู่ เป็นเวลาที่เราใช้งบประมาณของภาครัฐ ที่มาจากภาษีของทุกท่านในเวลานี้ กำลังก้าวเข้าสู่ 5 แสนล้าน (บาท) ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 แสนล้านตลอด 20 ปี เราสูญเสียคน ไม่ว่าจะชาติพันธุ์-ศาสนาใดก็แล้วแต่ ในความขัดแย้ง 7,000 กว่า (ราย) มีผู้บาดเจ็บ 12,000 กว่า (ราย)

“นี่คือจุดที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สำคัญต่อการเมืองไทย ในแง่ว่านี่คือพื้นที่ที่มาตรการด้านความมั่นคง เหตุผลด้านความมั่นคง มาตรการที่ยกเว้นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถูกนำมาใช้ เป็นพื้นที่นำร่องของมาตรการเหล่านั้น

“การเลือกตั้งครั้งนี้จึงสำคัญในแง่ว่า ตกลงแล้วเราจะสร้างสันติภาพไปในทิศทางไหน เราต้องการสังคมไทย ประเทศไทย แบบไหน เราต้องการอยู่ร่วมกันแบบไหน ซึ่งถ้าเรานับเรื่องการพูดคุย การเจรจาสันติภาพ ก็นับย้อนหลังได้ 10 ปี เราจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร

“เรามุ่งไปสู่การแสวงหาฉันทามติ ข้อตกลงที่จะอยู่ร่วมกัน ระหว่างฝ่ายด้านหนึ่ง ที่ต้องการพิทักษ์รักษาอำนาจอธิปไตย อีกด้านหนึ่ง ต้องการสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง ต้องการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราช อย่างขบวนการบีอาร์เอ็น

“จะหาจุดที่ลงตัวและประชาชนจากทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างไร การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นจุดชี้วัด ไม่ใช่แค่เป็นการเปลี่ยนรัฐบาล แต่เรากำลังเปลี่ยนวิธีการที่รัฐไทยจะปกครองในดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยครับ”

 

ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา สังคมได้พบเห็นปรากฏการณ์ที่ ส.ส.มุสลิมทั้งหมด ลงมติไม่เห็นด้วยหรืองดออกเสียงกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและสุราก้าวหน้าที่ผลักดันโดยพรรคก้าวไกล ด้วยเหตุผลเรื่องความเชื่อทางศาสนา

เมื่อถามว่าความขัดแย้งทางความคิดดังกล่าว จะทำให้ก้าวไกลหาเสียงได้อย่างยากลำบากในพื้นที่ชายแดนใต้หรือไม่? รอมฎอนยอมรับว่านี่เป็นทั้งเรื่องน่าหนักใจและความท้าทายทางการเมืองไปพร้อมๆ กัน

“ขอบคุณที่ถามคำถามนี้ อันนี้เป็น ‘เพนพอยต์’ (จุดอ่อน) ใช่ครับ สำหรับพื้นที่ที่ประชากรเป็นมุสลิมส่วนใหญ่ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ท้าทายวัดใจ ทำให้คนตัดสินใจที่จะสนับสนุนหรือว่าเห็นต่างต่อนโยบายของพรรคก้าวไกล อันนี้เห็นชัด

“ผมคิดว่าเราเอง คนทำงานของพรรคการเมือง พรรคก้าวไกล ในพื้นที่เอง แล้วก็เพื่อนๆ ของเราในพรรคก้าวไกลก็ตระหนักถึงข้อขัดแย้งตรงนี้

“แต่อย่าลืมนะครับว่า นโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่อ้างอิงอยู่กับคุณค่าหลักเรื่องคนเท่ากันของพรรคก้าวไกล แต่ต้องไม่ลืมด้วยเหมือนกัน อีกด้านหนึ่งคือพรรคก้าวไกลก็เป็นพรรคที่เปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ต่อทรรศนะทางการเมืองที่แตกต่างหลากหลาย

“ผมอยากจะเล่าอย่างนี้ครับ เราแปลคำว่าพรรคก้าวไกลเป็นภาษามลายู ความหมายของมันคือเป็นขบวนการต่อสู้ ความหมายของมันก็คือมันเป็นที่รวมกันของบรรดาขบวนการที่ผลักดันนโยบายสาธารณะที่ก้าวหน้าที่สุดในสังคมไทย

“อาจจะมีเรื่องที่ดิน เรื่องความหลากหลายทางเพศ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องจังหวัดจัดการตนเอง เรารวมอยู่ในพลังและรวมอยู่ในแพลตฟอร์มหรือพื้นที่ที่เราเรียกว่าพรรคการเมือง ที่เรียกว่าก้าวไกล

“เหมือนกันครับ เรา (ผู้สมัคร ส.ส.จากชายแดนใต้) ไปแจมหรือว่าไปมีส่วนร่วมกับการผลักดันเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ในฐานะของคนที่ต้องการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากจุดยืนที่แตกต่างหลากหลาย และผมเชื่อว่าตัวพรรคการเมืองอย่างก้าวไกลก็เปิดกว้างในการที่จะทำให้มีบทสนทนาที่สร้างสรรค์เกี่ยวกับเรื่องนี้

“แน่นอนครับ เรื่องนี้ (สมรสเท่าเทียม-สุราก้าวหน้า) ก็เป็นเรื่องที่เราลำบากใจอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สำหรับโหวตเตอร์ สำหรับผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่ต้องเรียงลำดับความสำคัญ (เป็นอันดับแรก) ก็คือ ข้อเสนอและจุดยืนที่มั่นคงของพรรคการเมืองพรรคนี้ในการมุ่งหวังการเปลี่ยนแปลง

“เพราะเราเห็นได้ชัดว่ากระบวนการสันติภาพจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ถ้ายังไม่มีการปฏิรูปการใช้อำนาจรัฐของไทย การเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจ การลดบทบาทของกองทัพ การลดบทบาทของ กอ.รมน. เป็นการเรียงลำดับความสำคัญอันหนึ่ง

“ซึ่งท้ายสุดแล้ว ต้องมานั่งถ่วงกัน ว่าเราจะมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยอาศัยพรรคการเมืองนี้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงขนาดไหน

“พูดง่ายๆ ก็คือว่า บทสนทนาพวกนี้เป็นบทสนทนาที่แตะเรื่องคุณค่าที่แตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุด ในทางการเมือง คือ ต้องมานั่งถ่วงวัดและก็ประเมินกันว่าเราจะสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนประเทศนี้ขนาดไหนในฐานะมุสลิม”