กรองกระแส / สถานะ คสช. สถานการณ์เลือกตั้ง ตำบลกระสุนตก

กรองกระแส

สถานะ คสช.
สถานการณ์เลือกตั้ง
ตำบลกระสุนตก

ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อรัฐบาลและต่อ คสช. กำลังได้รับการจับตา ไม่ว่าจะมาจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ไม่ว่าจะมาจาก นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค
บางฝ่ายสรุปว่าชักคล้ายกับท่าทีของพรรคเพื่อไทย
เส้นแบ่งแยกสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์สัมผัสได้ 1 จากการเสนอ 6 คำถามจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ 1 จากสภาพที่เกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้กำลังประสบจากวิกฤตราคายางพารา
หากประเมินผ่านจาก 6 คำถามอันมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่าว่าแต่พรรคประชาธิปัตย์เลยที่หงุดหงิดไม่พอใจ
แม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทยก็เก็บอาการไม่อยู่
ขณะเดียวกัน ต่อประเด็นอันเกี่ยวกับวิกฤตราคายางพาราอาจมีความละเอียดอ่อนต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นพิเศษ แต่ที่สร้างความหงุดหงิดให้กับพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างมากคือกระบวนการบริหารจัดการกับปัญหาของ คสช. และของรัฐบาล
เพราะในที่สุดแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ก็ถูกเรียกเข้าค่าย “ปรับทัศนคติ” เหมือนกับหลายคนประสบหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
เพียงแต่เมื่อก่อนเกิดขึ้นที่อื่นไม่ใช่ภาคใต้เท่านั้น

ปฏิกิริยา ผลสะเทือน
จาก 6 คำถามเฉียบ

ความจริง ภายใน 6 คำถามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอขึ้นมามีความแจ่มชัดอยู่ในตัวเองแล้วว่าต้องการอะไร แต่เมื่อโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ช่วยขยายก็ยิ่งทำให้มองแจ้ง แทงตลอด
นั่นก็คือ คสช. โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการอยู่ต่อไปอีก
ขณะเดียวกัน การอยู่ต่อไปของ คสช. ก็มิได้แต่เพียงที่ปรากฏผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เท่านั้น หากแต่พร้อมจะอาศัยทุกกลไกเพื่อบรรลุเป้าหมาย
นั่นก็เห็นได้จากการ “ยื้อ” ต่างๆ
แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองประกาศและบังคับใช้แล้วก็ไม่ยอมยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินการ อันเท่ากับไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองได้ปฏิบัติตามกฎหมาย
ความหมายก็คือ คสช. ไม่ยอมให้พรรคการเมืองได้ขยับขับเคลื่อนแม้จะวางโรดแม็ปว่าจะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 คืออีก 1 ปีก็ตาม
ความหมายจึงหมายความว่ายังมีความไม่แน่นอนในเรื่อง “การเลือกตั้ง”

ท่าทีพรรคการเมือง
กับการรัฐประหาร

แม้จะยังไม่มีความแน่นอนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในทางเป็นจริงเมื่อใด แต่ท่าทีของ คสช. มีความเด่นชัดว่าต้องการสืบทอดอำนาจ ทั้งยังเป็นการสืบทอดอำนาจบนพื้นฐานที่ต่อต้านพรรคการเมืองเก่าทุกพรรค
ตรงนี้เองที่พรรคภูมิใจไทยก็หมดความอดทน
ตรงนี้เองที่พรรคประชาธิปัตย์อ่านอย่างทะลุปรุโปร่ง ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์จึงเหมือนกับไปยืนอยู่ในแถวเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย
นั่นก็คือ จำเป็นต้องถอยห่างออกจาก คสช.
ระยะนับแต่ปลายปี 2560 กระทั่งตลอดปี 2561 ความเข้มข้นจากพรรคการเมืองต่อ คสช. จะยิ่งเพิ่มทวีมากขึ้น
สภาพการณ์จะไม่เหมือนกับที่ปรากฏในห้วง 3 ปีหลังรัฐประหาร
เหตุปัจจัยสำคัญก็คือ หากไม่แยกตัวออกต่างหากจาก คสช. พรรคการเมืองนั้นๆ ก็จะถูกกวาดไปรวมอยู่และกลายเป็นเครือข่ายของ คสช. อาจต้องล้มเหลวในสนามของการเลือกตั้งอย่างมีลักษณะทั่วไป
บทเรียนนี้มีมาตั้งแต่ยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520 หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

คสช. ในการเลือกตั้ง
คือตำบลกระสุนตก

มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ หากประเมินจาก 6 คำถามประสานเข้ากับความเป็นจริงในห้วงแห่งการปรับ ครม. สถานะทางการเมืองอยู่ในจุดอันแน่นอน
ทำไมกระสุนจึงพุ่งไปยัง “ทหาร” ทำไมกระแสจึงพุ่งไปยังกระทรวง “เศรษฐกิจ”
มิได้เป็นกระแสอันเกิดขึ้นโดยการปั่นของนักการเมืองหรือพรรคการเมือง หากแต่มาจากความเป็นจริงที่ปรากฏผ่านการสำรวจความเห็นประชาชน เน้นย้ำให้เห็นถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาในทาง “เศรษฐกิจ”
เมื่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ดีขึ้น พลันที่เข้าสู่กระบวนการของการเลือกตั้ง ใครก็ตามที่ดำรงอยู่ในฐานะของรัฐบาลก็จะกลายเป็นเป้านิ่ง ถูกโจมตีอย่างรอบด้าน ความล้มเหลวจากวิธีการรัฐประหารจะได้รับการขยาย การถอยห่างออกจาก คสช. และรัฐบาล คสช. มีความจำเป็น
เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ก็มีแต่ต้องแพ้การเลือกตั้งสถานเดียว