ชื่อ ‘แม่กลอง-สมุทรสงคราม’ มาจากไหน?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

บุคคลที่ถูกยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นั้น เคยทรงอธิบายถึงความหมายของคำว่า “แม่กลอง” อันเป็นชื่อของแม่น้ำ และชื่อเก่าของเมืองสมุทรสงครามเอาไว้ว่า

“ฉันได้รับคำถามว่า เพราะเหตุใดลำแม่น้ำที่ผ่านสมุทรสงคราม เมืองราชบุรี และเมืองกาญจนบุรี จึงเรียกชื่อว่าแม่น้ำแม่กลอง…เขาบอกว่าแต่เดิมมีกลองขนาดใหญ่โต ผิดกลองสามัญอยู่วัด 1 ในแถวนั้น (ดูเหมือนเขาบอกชื่อวัดให้ด้วย แต่ฉันลืมไปเสียแล้ว) พวกชาวเมืองจึงเอากลองใหญ่นั้นเป็นนิมิตต์มาเรียกลำแม่น้ำนั้นว่า แม่กลอง แล้วเลยเรียกเมืองสมุทรสงครามว่า เมืองแม่กลอง ด้วยนี่เป็นอธิบายอย่าง 1 ซึ่งเคยได้ยินมา” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ คัดจากบทความเรื่อง “ชื่อลำน้ำแม่กลอง วินิจฉัยนาม ในหนังสือ ลุ่มน้ำแม่กลอง ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ “เครือญาติ” มอญ)

อย่างไรก็ตาม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นั้นก็ดูจะทรงไม่แน่ใจกับคำอธิบายที่ท่านเคยได้ยินมานัก จึงได้อธิบายต่อไปด้วยว่า

“อธิบายมีอีกอย่าง 1 ว่า มีเมืองขึ้นของเมืองอุทัยธานี ชื่อว่า เมืองแม่กะลอง ตั้งอยู่ยอดแม่น้ำเมืองสมุทรสงครามอาจจะเอาชื่อเมืองแม่กะลอง อันอยู่ต้นน้ำเรียกลำน้ำลงมาจนปากน้ำ แต่เรียกเพี้ยนไปเป็นแม่กลอง”

แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านก็ยังคงไม่แน่ใจในคำอธิบายดังกล่าวอีกเช่นเคย ดังนั้น จึงได้ทรงเขียนต่อไปด้วยว่า

“ฉันเคยได้ยินอธิบายแต่ 2 อย่างเช่นว่ามา แต่จะรับรองว่าอย่างไหนจะเป็นความจริงนั้นรับไม่ได้ ถ้าจะตอบโดยย่อก็ตอบได้ว่า ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดจึงเรียกลำน้ำนั้นว่าแม่กลอง”

สรุปง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านก็ไม่รู้ว่า ทำไมแม่น้ำดังกล่าวจึงมีชื่อว่า “แม่กลอง” แม้จะเคยมีผู้รู้อธิบายให้ท่านฟังมาแล้วถึง 2 คำอธิบาย แต่ท่านก็ยังไม่เชื่อใจในคำอธิบายที่ว่านั้นนั่นแหละครับ

 

ถึงบุคคลระดับพระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทยจะออกพระองค์ดังเอี๊ยดว่าไม่ทราบ แต่ก็อาจจะสังเกตได้ว่า ชื่อ “แม่กลอง” ประสมขึ้นจากสองคำคือ คำว่า “แม่” และคำว่า “กลอง”

“แม่” เป็นคำศัพท์ร่วมของประชากรหลากหลายเชื้อชาติในอุษาคเนย์ ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ มีใช้หลายเผ่าพันธุ์ แต่ออกเสียงต่างกันในแต่ละสำเนียงของแต่ละพื้นที่วัฒนธรรม เช่น เขมรออกเสียง “เม” เป็นต้น

แต่ไม่ว่าจะออกเสียงแตกต่างกันไปเช่นไรก็ตาม คำว่า “แม่” ในความหมายแต่ดั้งเดิมนั้น นอกจากที่จะหมายถึง เพศหญิง แล้ว ก็ยังมีความหมายอย่างอื่นที่เหมือนกันไปหมดในทุกวัฒนธรรม คือ ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า, ประธาน หรือคำอื่นๆ ที่มีความหมายทำนองเดียวกันนี้

กลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลไทย-ลาว จึงยกย่องลำน้ำใหญ่เป็น “แม่” เช่น ภาคกลางและภาคใต้ของไทยเรียก “แม่น้ำ” เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนภาคเหนือ กับภาคอีสานเรียก “น้ำแม่” เช่น น้ำแม่ปิง, น้ำแม่อิง, น้ำแม่โขง เป็นต้น

จึงน่าสงสัยมากทีเดียวนะครับว่า ชื่อแม่น้ำ “แม่กลอง” อย่างที่เรียกกันในปัจจุบันนี้ จะเรียกตามประเพณีลาว โดยเรียกว่า “น้ำแม่กลอง” มาก่อน แล้วค่อยปรับมาเรียก “แม่น้ำแม่กลอง” ตามประเพณีนิยมอย่างกรุงเทพฯ ในภายหลัง

แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม (ซ้าย) แม่น้ำแม่กลอง ไหลลงมาจากแควใหญ่ แควน้อย จ.กาญจนบุรี, จ.ราชบุรี (ขวา) คลองแม่กลอง ไหลมาจากแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร บริเวณหัวมุมเป็นที่ตั้งวัดใหญ่น่าจะเป็นชุมชนเริ่มแรกที่เติบโตเป็นจังหวัดสมุทรสงคราม (ภาพมุมสูงจากโดรนมติชน)

ส่วนคำว่า “กลอง” เพี้ยนมาจากคำว่า “คลอง” ที่มีรากอยู่ในภาษามอญว่า “โคฺลง” หรือ “คฺลง” ซึ่งในพจนานุกรมมอญ-ไทย ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2513 บอกว่าอ่านว่า “โคล้ง” เหมือนกันทั้ง 2 คำ และให้ความหมายว่า “ทาง”

คำมอญว่า “โคฺลง” กับ “คฺลง” แผลงมาเป็นคำไทยว่า “คลอง” บางที่ก็แปลงเป็นคำว่า “โขง”, “ของ” หรือ “คง” ตามแต่ถนัดลิ้นในแต่ละท้องถิ่น นานเข้าก็กลายเป็นชื่อเฉพาะของแม่น้ำสายนั้น อย่างที่ไทยเรียก แม่น้ำโขง ส่วนลาวเรียก น้ำของ หรือแม่น้ำคง (คือ แม่น้ำสาละวิน) ในประเทศเมียนมา

ชื่อของแม่น้ำ “แม่กลอง” จึงควรจะแผลงมาจากคำมอญว่า “โคฺลง” หรือ “คฺลง” คือ “คลอง” หมายถึง เส้นทางคมนาคมทางน้ำ เช่นเดียวกัน

ดังนั้น คำว่า “แม่กลอง” จึงเป็นชื่อของแม่น้ำมาก่อน แต่ต่อมาได้กำเนิด “เมืองแม่กลอง” ขึ้น ดังปรากฏหลักฐานในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1991-2031) ทรงตราขึ้นไว้เมื่อ พ.ศ.1998 ในพระอัยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง ได้กำหนดไว้ว่า

“พระสมุทรสาคร เมืองท่าจีน

พระสมุทรสงคราม เมืองแม่กลอง

พระสมุทรปราการ เมืองปากน้ำ

พระชนบุรีย์ เมืองชน

ขึ้นพระประแดงอินปัญญาซ้าย”

พอจะเห็นภาพลางๆ แล้วใช่ไหมครับว่า ทำไมปัจจุบันนี้เมืองแม่กลอง จึงได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อว่า เมืองสมุทรสงคราม?

 

คําว่า “สมุทรสงคราม” นั้น ผูกขึ้นจากคำสองคำคือ คำว่า “สมุทร” และคำว่า “สงคราม” โดยคำว่า “สมุทร” นั้นมาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “ทะเล” (ตรงกับคำบาลีว่า “สมุทฺท”) ดังนั้น ชื่อตำแหน่งนี้จึงมีความหมายเกี่ยวข้องกับ การสงครามทางทะเล ซึ่งควรจะหมายถึงการเป็นผู้ปกป้องเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา

มีหลักฐานว่า ในช่วงปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2199-2231) นั้น เมืองแม่กลองมีป้อมปราการตั้งอยู่ในเมือง ดังปรากฏในบันทึกของมงซิเออร์ เซเบเรต์ ซึ่งอยู่ในคณะทูตที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ส่งมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา โดยมีมงซิเออร์ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ เป็นหัวหน้าคณะ เมื่อระหว่าง พ.ศ.2230-2231

มงซิเออร์ เซเบเรต์ นั้นได้แยกตัวกลับก่อนคณะทูตทั้งหมด โดยได้เดินทางไปลงเรือกำปั่นฝรั่งเศส ที่เมืองตะนาวศรี ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองค้าขายทางทะเลที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา ระหว่างทางเซเบเรต์ได้ผ่าน เมืองแม่กลอง และได้บรรยายลักษณะของเมืองลงในบันทึกของท่านว่า

“ณ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2230 ข้าพเจ้าได้ออกจาก (เมือง) ท่าจีน เพื่อไป (เมือง) แม่กลอง ตามทางระหว่างท่าจีนกับแม่กลองนี้ มีบางแห่งน้ำตื้น ต้องใช้กระบือลากเรือเหมือนวันก่อน แต่ตอนที่ตื้นวันนี้ยาวกว่าวานนี้และลำบากกว่าวานนี้มาก

เวลาเย็นข้าพเจ้าได้ไปถึงเมืองแม่กลอง ซึ่งไกลจาก (เมือง) ท่าจีน ระยะทางประมาณ 10 ไมล์ครึ่ง

เมืองแม่กลองนี้เป็นเมืองที่ใหญ่กว่าเมืองท่าจีนและตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งเรียกกันว่าแม่น้ำแม่กลอง และอยู่ห่างทะเลประมาณ 1 ไมล์ น้ำรับประทานในเมืองนี้เป็นน้ำที่ดี

เมืองแม่กลองนี้หามีกำแพงเมืองไม่ แต่มีป้อมเล็กๆ สี่เหลี่ยมอยู่ 1 ป้อม มุมป้อมนั้นมีหอรบอยู่ 4 แห่ง แต่เป็นหอรบเล็กมาก ก่อด้วยอิฐ คูก็หามีไม่ แต่น้ำท่วมอยู่รอบป้อม กำแพง หรือรั้วใน ระหว่างหอรบนั้นทำด้วยเสาใหญ่ๆ ปักลงในดิน และมีเคร่าขวางถึงกันเป็นระยะๆ”

ในขณะที่ปรากฏชื่อ “เมืองแม่กลอง” ตั้งอยู่ที่ตอนปลายของแม่น้ำ คือทางลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง ในเอกสารสมัยอยุธยาก็ปรากฏชื่อเมืองต่างๆ อยู่ทางลุ่มน้ำแม่กลองตอนบน อย่างน้อยอีก 3 เมือง ได้แก่ เมืองกาญจนบุรี, เมืองไทรโยค และเมืองศรีสวัสดิ์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำแม่กลองตลอดทั้งสาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านการสงคราม หรือการคมนาคมค้าขายต่างๆ

เฉพาะในส่วนของเมืองแม่กลองนั้น ได้ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุจากการขยายตัวเรื่องการค้านานาชาติของกรุงศรีอยุธยา จึงมีการขุดคลองลัดหลายแห่งเพื่อให้การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น เช่น ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2245-2251) สืบเนื่องทุกรัชกาลจนถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2275-2301) เมืองแม่กลองก็เปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองสมุทรสงคราม” ตามชื่อตำแหน่งเจ้าเมือง แล้วใช้เรียกสืบเนื่องต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ