เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่มาเลเซีย : ปัญหาและทางออก

รายงานพิเศษ | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่มาเลเซีย

: ปัญหาและทางออก

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ตามที่ได้มีการประกาศให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร ลงนามโดยอุปทูตไทยในมาเลเซีย (นางปิยะพิณ นิยมฤกษ์) ซึ่งได้กำหนดให้จัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในเวลา 09.00 น. ถึง 20.00 น. ของวันที่ 27-28 เมษายน 2566 ตรงกับวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันทำงาน อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องไปลงคะแนนเลือกตั้งที่สถานที่กำหนดไม่กี่แห่งเท่านั้น

ยังผลให้คนไทยนับแสนคนที่อยู่ที่นี่จากหลากหลายแห่งและสถานะส่อเกิดปัญหาอย่างแน่นอนกับการใช้สิทธิเลือกตั้ง

นี่ยังไม่นับรวมบทเรียนการเลือกตั้งปี 2562 อีก

ผู้มาใช้สิทธิในประเทศมาเลเซียปี 2562 ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาไทยในหลายมหาวิทยาลัย เช่น USIM, IIUM, UM, UKM, USM, UUM และอีกหลายสถาบัน รวมทั้งคนที่มาทำงานที่นี่ ทำงานบริษัท ทำงานตามร้านอาหารไทย ร้านนวดไทย ทั้งจากจังหวัดชายแดนภาคใต้และทั่วประเทศ แต่จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ลงทะเบียนมากที่สุด 1,012 คนจากที่ลงทะเบียนทั้งหมด 4,138 คนที่ลงทะเบียนกับสถานทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

น.ส.รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ อาจารย์ประจำสาขาภาษาศาสตร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ชาวไทยที่ทำการสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมลายา ประเทศมาเลเซีย และเป็นผู้มีสิทธิคนหนึ่ง สะท้อนว่า การจัดวันเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้คนไทยในมาเลเซียหลายหมื่นคนจากหลายแสนคน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่รัฐไกลๆ อาจเสียสิทธิเลือกตั้งได้ เพราะไม่สามารถเดินทางมาลงคะแนนตามที่จัดไว้ เช่น คนที่อยู่ทางรัฐซาบาห์ ซาราวัค ยะโฮร์ มะละกา เป็นต้น

ที่เป็นประเด็นปัญหาเพราะ

1. เป็นการลงคะแนนที่คูหาอย่างเดียว ไม่มีการลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์เหมือนในหลายประเทศที่จะมีทั้งมาลงคะแนนที่คูหาและทางไปรษณีย์

2. การออกเสียงลงคะแนนที่จัดไว้ 4 แห่งเท่านั้น คือ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ปีนัง กลันตัน ยะโฮร์ โดยลงคะแนนที่คูหาเลือกตั้ง และที่เมืองยะโฮร์บาฮ์รู โดยใช้หน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ในขณะที่รัฐใกล้เคียง ที่มีจำนวนคนไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากหลายหมื่นคน ไม่มีการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

3. ปัญหาที่เกิดขึ้นมี 2 ด้าน คือ

จัดเลือกตั้งหลังวันฮารีรายาที่จะมีขึ้นประมาณวันที่ 22-23 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญของมุสลิมเป็นอย่างมาก ในช่วงดังกล่าวคนที่อยู่ในมาเลเซียจะเดินทางกลับไปเฉลิมฉลองวันฮารีรายาที่ไทยเป็นเวลา 7-10 วัน ซึ่งเหมือนการหยุดยาวประจำปี เหมือนการหยุดยาวช่วงสงกรานต์

ดังนั้น ช่วงวันดังกล่าวคนจะยังอยู่ไทยไม่ได้เดินทางกลับเข้ามาเลเซีย อาจทำให้เสียสิทธิได้

หรือถ้ากลับเข้ามาเลเซีย และวันที่ 14 พฤษภาคม เป็นวันเลือกตั้งในไทย เป็นไปได้ยากมากที่พวกเขาจะกลับไปอีกครั้ง โดยเฉพาะคนที่ทำงานในภาคบริการ ร้านอาหาร ร้านนวด ต้องกลับไปอีก ส่วนใหญ่แล้วจะลางานได้ยาก และทำให้เสียค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง สร้างความยุ่งยากลำบากกับประชาชนที่อยู่ต่างแดนกลุ่มนี้ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง

ในขณะที่วันที่ 27-28 เมษายนเป็นวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ ตรงกับวันทำงาน สำหรับคนที่ทำงานตามบริษัทข้ามชาติ คนในสาย Expats แน่นอนว่าจะสร้างความยุ่งยากเช่นกันในการต้องลางาน ซึ่งถ้าลาไม่ได้ ก็จะเสียสิทธิเลือกตั้งได้ทันที

4. ระบบการลงทะเบียนใช้สิทธิพบปัญหาดังนี้

– ทางออนไลน์ การเข้าเว็บมีความล่าช้ามาก และหลายคนไม่สามารถทำได้ เจอปัญหาไม่พบข้อมูลในรายชื่อผู้มีสิทธิ และต้องใช้เอกสารบัตรประชาชนและพาสปอร์ตที่ยังไม่ขาดอายุเท่านั้น ในกรณีพาสปอร์ตขาดอายุ ต้องไปข้อ 2

– ลงทะเบียนด้วยตนเองที่สถานทูต ข้อนี้คนอยู่ที่อยู่ไกลๆ จะเป็นปัญหาเช่นกัน ควรให้ลงทะเบียนใช้สิทธิทางไปรษณีย์ได้เช่นเดียวกับในหลายประเทศ

– เอกสารที่ใช้ในการลงทะเบียนใช้สิทธิทางออนไลน์ควรใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือพาสปอร์ต ไม่ใช่ระบุเจาะจงว่าต้องมีพาสปอร์ตที่ยังไม่ขาดอายุด้วยเท่านั้นนอกจากบัตรประชาชน

 

ข้อเสนอแนะแนะ

เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างสะดวกและเหมาะสม ดังต่อไปนี้

ข้อที่ 1 ขอเสนอให้เลื่อนวันเวลาเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในมาเลเซียออกไปประมาณ 1 สัปดาห์ เป็นวันที่ 3-4 พฤษภาคม 2566 จะเหมาะสมกว่า และเสนอให้มีการออกเสียงลงคะแนนทางไปรษณีย์และส่งบัตรเลือกตั้งถึงสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ตามที่ทางสถานเอกอัครราชทูตได้กำหนดเวลาไว้ เช่นเดียวกับในประเทศอินโดนีเซียที่มีการเลือกตั้งทั้งที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา และทางไปรษณีย์ให้ส่งบัตรเลือกตั้งถึงสถานเอกอัครราชทูตภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 (อ้างอิงเอกสารประกาศเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา)

ข้อที่ 2 ทบทวนบทเรียนการใช้สิทธิปี 2562

ถ้าจำกันได้ว่า เมื่อ 9 มีนาคม 2562 ภาพข่าวสื่อไทยในโลกโซเซียลต่างรายงานข่าว บรรยากาศการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีประชาชนคนไทยในประเทศมาเลเซียมายืนรอการเลือกตั้งล่วงหน้าที่สถานทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จำนวนกว่า 3,000 คน

ขณะที่เจ้าหน้าที่สถานทูตไทย ได้จัดให้มีช่องทางลงคะแนนในการใช้สิทธิ จำนวน 3 คูหา จึงทำให้ประชาชนคนไทยที่เดินทางมารอใช้สิทธิต่างต้องรอกันเป็นเวลานาน

ขณะที่บางคนที่มารอใช้สิทธินานมากในขณะที่มีอากาศร้อน ทำให้คนที่ล้นอยู่ด้านนอกเป็นลมไปหลายราย

และบางคนได้เดินทางมารอใช้สิทธิกันตั้งแต่เช้ามืดซึ่งตรงนี้ กกต.ควรประกาศขยายเวลาการลงคะแนน ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าจำกันได้สังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ภาพการจัดการเลือกตั้งที่นี่ โดยคูหาหนึ่ง เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาเพิ่มคูหาลงคะแนน โดยใช้กระดาษลังมาทำเป็นคูหา ทำให้ประชาชนมีคำถามมากมายต่อภาพนี้ถึงมาตรฐาน กกต.ประเทศไทยอันส่งผลต่อภาพพจน์ประเทศไทยในเวทีโลก ตรงนี้ก็ต้องเตรียมการไว้ให้ดี

อาจารย์รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ ยังสะท้อนว่า

“อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ล่าช้าคือ คูหาปี 2562 แค่สามคูหา กับจำนวนคนสี่พันกว่าคน ถึงแม้สถานทูตทำงานหนักแก้ปัญหาได้ แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่าคนลงทะเบียนจำนวนมาก ดังนั้น ต้องเตรียมให้ดี (เขาเตรียมการมาไม่ค่อยดีมากๆๆ) ทำไม แต่หลายประเทศก็จัดการได้ดี เช่น ที่ออสเตรเลียคงได้งบฯ เยอะ จัดเลือกตั้งที่โรงแรม”

“สิ่งที่อยากเสนอแนะคือ การเตรียมการวางแผนรองรับ ในเมื่อรู้จำนวนผู้ที่ลงทะเบียนแล้วต้องวางแผนได้ว่าจะต้องมีกี่คูหา เจ้าหน้าที่กี่คน และระยะเวลาที่ให้ลงด้วยค่ะ ลองมาดูงานการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของประเทศอินโดนีเซียดูว่าเขาจัดการอย่างไรกับคนอินโดนีเซียที่ลงคะแนนเสียงกว่าแสนคน”

ข้อ 3 คนไทยที่ไปอยู่ในมาเลเซียประมาณ 1 แสนคนซึ่งส่วนใหญ่ในปี 2562 จะยอมกลับมาลงคะแนนในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ซึ่งด่านต่างๆ ที่ชายแดนใต้ ไม่ว่าด่านนอก, ปาดังเบซาร์ ประกอบ นาทวีของจังหวัดสงขลา ด่านต่างๆ ที่สตูล ยะลา และนราธิวาสต้องเตรียมความพร้อมให้ดี

“สาเหตุที่ทำให้ช้าเพราะการเลือกตั้งแบบใหม่ ต่างเขตก็ต่างเบอร์แม้จะเป็นพรรคเดียวกัน บัตรต้องแยกเป็นเขตๆ เขาต้องหาให้เจอเราอยู่เขตไหน ทีนี้พอคนเยอะๆ คิวยาว ทำไม่ทัน แต่สำหรับบัตรเลือกตั้งไม่มีปัญหา จะได้บัตรกันหมดทุกคน ได้ลงทุกคน”

ข้อ 4 การจับตาการเลือกตั้งต่างประเทศ

สิ่งที่นักวิชาการและนักสังเกตการณ์การเลือกตั้งในพื้นที่สนใจคือ การจับตาการเลือกตั้งต่างประเทศของไทย เมื่อปี 2562 ที่มีข่าวหนาหูว่าอาจมีช่องว่างสามารถโกงการเลือกตั้งด้วยวิธีต่างๆ ได้

เช่น มีข่าวร้องเรียนแล้วที่ประเทศสหรัฐเกี่ยวกับใส่ข้อมูลคลุมเครือ ชื่อพรรคไม่ถูกต้อง อาจจงใจให้ผู้ลงคะแนนสับสน

ที่สำคัญในหลายประเทศมุสลิมที่มีนักศึกษาไทยเรียนจำนวนมาก เช่น อินโดนีเซีย ปากีสถาน อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ ซูดาน จะปฏิบัติอย่างไร รวมถึงนักศึกษาไทยที่ไม่ใช่มุสลิม ไม่ว่าที่อเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ประเทศเหล่านี้จะรับมืออย่างไร สันติบาลไทยน่าจะประเมินออกว่าผลการลงคะเเนนล่วงหน้าต่างประเทศจะเทไปพรรคไหน? เป็นผลดีต่อบางพรรคที่ต้องการสืบทอดอำนาจต่อหรือไม่

ไม่นับบทเรียนการใช้สิทธิเลือกตั้งที่นิวซีแลนด์ซึ่งทางการไทยใช้เวลากว่า 3 ปีจึงสามารถชี้มูลความผิดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกรณีส่งมอบซองใส่บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกราชอาณาจักรจากนิวซีแลนด์ล่าช้าจนทำให้มีผลต่อบัตรเลือกตั้งของคนไทย 1,542 รายกลายเป็นบัตรเสียเมื่อ 4 ปีก่อน

ดังนั้น ภาคประชาชนควรร่วมมือกันตั้งองค์กรจับตาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการถอดบทเรียนเรื่องนี้ ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น