ประชาธิปไตย (ต้อง) กินได้ | คำ ผกา

คำ ผกา

ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าขึ้นหรือถอยหลังลงที่ตอนนี้วิวาทะเกี่ยวกับประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของเราขยับไปจากจุดที่ครั้งหนึ่งชนชั้นกลางที่มีการศึกษาของไทยสนับสนุนการรัฐประหารในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการแสวงหาทางออกทางการเมือง หรือเป็นเครื่องมือในการสร้าง “ความสงบเรียบร้อย” ให้กับประเทศชาติ

อย่างน้อยที่สุดตอนนี้เราค่อนข้างมีความเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐประหารไม่ใช่ทางออก รัฐประหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย รัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ รัฐประหารคืออาชญากรรม

และคำว่ารัฐประหารเป็น “คำหยาบ”

ไม่พึงเอามาพูดพร่ำเพรื่อราวกับเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายเป็นธรรมดาสามัญ และทางออกของประเทศคือการอยู่ในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง

 

เหมือนจะดี แต่ปรากฏว่าเมื่อทุกคนเห็นว่า เออ ต้องประชาธิปไตยสิ ต้องการเลือกตั้งสิ

ปรากฏว่าคนไทยเจ้ากรรมจำนวนหนึ่งเกิดภาวะ freak out หรือประสาทแดกกับการเลือกตั้งในแง่ที่ว่า “ไอ้หยา การเลือกตั้งมันดีก็จริงนะ แต่เราจะต้านทานอำนาจเงินของบรรดานักการเมืองชาติชั่วโกงบ้านโกงเมืองได้ไหม?”

“โอ้มายก็อด การเลือกตั้ง ประชาธิปไตยมันดีจริงๆ นะ แต่การเลือกตั้งแบบไทยๆ ที่พรรคการเมืองนายทุนมันได้เปรียบ พรรคการเมืองบ้านใหญ่มันได้เปรียบ แล้วพรรคการเมืองที่เปี่ยมไปด้วยคนดี คนมีอุดมการณ์ คนที่อยากเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยไฟฝัน อยากเปลี่ยนโครงสร้าง แต่ไม่มีเงิน ไม่มีทุนก็สู้เขาไม่ได้ แล้วแบบนี้เมื่อไหร่ประเทศจะมีความเปลี่ยนแปลง”

และถ้าเราความจำไม่สั้นจนเกินไป วาทกรรมนักการเมืองชั่ว วาทกรรมนักการเมืองดีแต่จนเลยพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง นักการเมืองชั่วแต่มีเงินมาก ใช้เงินลงทุนในการเลือกตั้งจนชนะได้เป็น ส.ส. ได้เป็นรัฐมนตรี จากนั้นก็เข้าไปถอนทุนคืน คอร์รัปชั่น

จากนั้นพวกเราก็จะกลับสู่วังวนเดิมคือเบื่อหน่ายการเมือง เชื่อว่าเลือกตั้งไปก็ไม่มีประโยชน์ เลือกตั้งไปก็ได้นักการเมืองขี้โกงกลับมาทุกที

จบลงตรงที่ท้อแท้และสิ้นหวังกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็วนเข้าสู่ลูปเดิมคือ ถ้าไม่คิดย้ายประเทศก็เฝ้าฝันว่าวันหนึ่งจะมี “นักการเมืองดีมีความสามารถ” เข้ามากอบกู้ชีวิตของคนไทยที่น่าสงสารอย่างเรา

สลับไปกับความท้อแท้ว่า แต่คงเป็นไปไม่ได้เพราะคนดีก็สู้พรรคนายทุนไม่ไหว

 

แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยตระหนักกันเลยก็คือวาทกรรมที่มองว่าการเลือกตั้งเป็นเพียงการต่อสู้ระหว่างนักการเมืองน้ำดีกับนักการเมืองนายทุน เจ้าพ่อบ้านใหญ่ ไร้อุดมการณ์

ทำให้เรามองข้ามวาทกรรม “หลัก” ที่ถูกปลูกฝังไว้ในสังคมไทยมายาวนานของ “ชนชั้นนำไทย” ที่ยืนอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่หมายถึงการเคารพเสียงข้างมากอย่างไม่มีเงื่อนไข และหมายถึงการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของคนจำนวนมากที่สุดของประเทศผ่านการเลือกตั้ง

นั่นคือวาทกรรมว่าด้วย “การเมืองสุจริตและเป็นกลาง”

และวาทกรรมการเมืองและประชาธิปไตยที่ดีต้องสุจริตสุดท้ายกลายเป็นวาทกรรมที่ทำลาย “ประชาธิปไตย” เสียเอง เพราะมันอนุญาตให้กองทัพ ทหาร ชนชั้นนำ ข้าราชการ เข้ามาครอบครองอำนาจทางการเมืองผ่านการ “ปฏิรูป” หรือผ่านการ “รัฐประหาร” ดึงประชาชนออกจากสมการการเมือง

วนไปแบบนี้ไม่มีที่สุด

พอประชาชนถูกดึงออกไปจากสมการทางการเมือง การบริหารประเทศอยู่ในมือของชนชั้นนำ ทหาร ข้าราชการ นายทุนบางกลุ่มที่เอื้อประโยชน์ต่อกันไปมา

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการคอร์รัปชั่นในระบบราชการที่หนักหน่วง ร้ายแรง แตะต้องไม่ได้ คุกคามผลประโยชน์และความเข้มแข็งของประชาชนยิ่งกว่าการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองเสียอีก

ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูเรื่องส่วยตำรวจ บ่อนพนันออนไลน์ ทุนจีนสีเทา ซึ่งเป็นเพียงเรื่องที่ฉาวโฉ่ แต่ใครๆ ก็รู้ว่าการทุจริตเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกหน่วยงานราชการอย่างเข้มข้น

เมื่อมีการทุจริตในระบบราชการ กฎหมาย และความยุติกรรมก็บิดเบี้ยว ระบบเส้นสาย จ่ายใต้โต๊ะก็ตามมา

เมื่อมีระบบเส้นสายจ่ายใต้โต๊ะ นักธุรกิจก็ต้องหันไปพึ่งนักการเมืองที่ “คุย” กับผู้มีอำนาจได้

ข้าราชการก็สัมพันธ์กับนักธุรกิจพ่อค้าทั้งในรูปแบบของการไปขอการอุปถัมภ์ทางการเงิน และในรูปแบบของการข่มขู่รีดไถ เกิดความสัมพันธ์ระบบอุปถัมภ์น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

นั่นคือ ข้าราชการท้องถิ่นอยู่ใต้ใบบุญของนักธุรกิจท้องถิ่น

นักธุรกิจท้องถิ่นไปสัมพันธ์กับนักการเมืองใหญ่ที่ “ต่อสาย” กับผู้มีอำนาจในรัฐบาลที่เข้าสู่อำนาจผ่านการรัฐประหารหรือปฏิรูป

วันใดวันหนึ่ง นักธุรกิจท้องถิ่นกลายเป็นหัวคะแนนหรือพรรคสาขาของนักการเมืองส่วนกลางนั้นๆ

แต่พอมีเรื่องฉาวโฉ่ สกปรก สื่อมวลชน นักวิชาการ ปัญญาชน นักคิด นักต่อสู้ทางการเมืองต่างพอกันชี้นิ้วไปที่ “นักการเมืองเลว” “นักการเมืองบ้านใหญ่ เจ้าพ่อ นักเลง”

แต่ละเลยที่จะพูดถึง ต้นตอของปัญหาทั้งหมดว่าเกิดจากการคอร์รัปชั่นของระบบราชการ การใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม การใช้อำนาจตามอำเภอใจของคณะบุคคลที่ครองอำนาจรัฐโดยไม่ได้มาจาก “การเลือกตั้ง”

สุดท้ายเราก็ลงเอยด้วยการเป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้แต่ตื้นเขินอย่างฉิบหาย เพราะท่องได้แต่ ธนกิจการเมือง พรรคการเมืองของครอบครัวหรือพรรคกงสี กับนักการเมืองใช้กระสุนเพื่อชนะการเลือกตั้งแบบผิวเผินที่สุด

แล้วเราจะออกจากวังวนนี้ได้อย่างไร?

 

สําหรับฉัน ประการแรกเราต้องปลดแอกตัวเองออกจากแนวคิดปฏิรูปการเมืองที่นำโดย ประเวศ วะสี ธีรยุทธ บุญมี อานันท์ ปันยารชุน และทีดีอาร์ไอในทศวรรษที่ 2530s เสียก่อนที่เชื่อว่า การเมืองต้องปลอดผลประโยชน์ พวกพ้อง ต้องตัดวงจรระบบอุปถัมภ์ระหว่างนักการเมืองกับชาวบ้าน การเมืองต้อง “สะอาด” ต้องการการเมือง “สีขาว” ปราศจากการครอบงำจากนายทุนพรรค

นักการเมืองที่ดีต้องไม่มีแค่นักการเมืองที่เป็น ส.ส.เขตที่เก่งเรื่องไปงานศพ ไปงานสวดแต่ไม่มีความรู้ความสามารถ

แต่ต้องมี ส.ส. นักการเมืองที่มีความรู้ ความสามารถ มีการศึกษาดี เป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจ เป็นนักวิชาการ เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นเรื่องนี้

แต่คนเหล่านี้ไม่ใช่คนประเภทจะขยันไปงานศพ ลงพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และในรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นไปไกลถึงขั้นที่ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งก็จริงแต่ต้อง “เป็นกลาง” ห้ามสังกัดพรรคการเมือง (โดยจินตนาการว่านี่คือการปลอดจากอิทธิพลครอบงำจากพรรคการเมืองขั้นสูงสุด)

ปลดแอกตัวเองออกจากวาทกรรมประชาธิปไตยเทคโนแครต + คนดีที่ “ปลอด” การเมือง

แล้วคนไทยควรทำความเข้าใจเรื่อง “ประชาธิปไตยกินได้” ใหม่

 

ทุกวันนี้พอพูดว่า “ประชาธิปไตยกินได้ ทุกคนก็เบ้ปาก หาว่าเป็นการเมืองแบบไร้อุดมการณ์ คิดแต่เรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง ฉกฉวย “คะแนนเสียง” จากคนจน เอานโยบายเศรษฐกิจมาล่อ คนเขาจน เขาก็เลยเลือก

และทำให้พรรคการเมืองที่เสนอเรื่องใหญ่ อย่างเรื่องการปฏิรูปนู่น ทะลุนี่ จะไม่มีคนเลือก หรือเลือกน้อย

สุดท้ายประเทศชาติก็ไม่ไปไหนเพราะโหวตเตอร์หรือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งบ้านเรามันจน มันก็โง่ มันก็เลยเลือกเอาแค่ประชาธิปไตยที่กินได้

สุดท้ายปัญหาเชิงโครงสร้างก็อยู่เหมือนเดิม นักการเมืองชั่วครองชาติเหมือนเดิม จบที่ทักษิณมันเลวจริงๆ

แต่คำว่าประชาธิปไตยกินได้หมายถึงประชาธิปไตยที่ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากการเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ คุณภาพชีวิตดีขึ้น ยืนอยู่บนขาของตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของข้าราชการ มีเงินส่งลูกเรียนหนังสือ มีเงินซ่อมบ้าน ขายผลผลิตทางการเกษตรได้ราคา ไม่ถูกรีดไถ เก็บส่วยจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ถูกกระทำโดยกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว

คำว่า “กินได้” ในที่นี้คือ ผลประโยชน์ที่จับต้องได้เลย มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ใช่ความเพ้อฝันลมๆ แล้งๆ เป็นอุดมคติอยู่บนยอดหอคอยงาช้างที่เกินเอื้อม

นี่คือความหมายของคำว่าประชาธิปไตยกินได้อันกินอาณาบริเวณของทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราไม่ผลีผลามดูถูกเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่เลือกปากท้องมาก่อน “โครงสร้าง” หรือเลือกนักการเมือง “บ้านใหญ่” แทนที่จะเลือกนักการเมือง “น้ำดี”

เพราะหลักฐานจากประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของไทยพบว่าพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิด “ประชาธิปไตยกินได้” คือ พรรคไทยรักไทย อันมีองค์ประกอบครบถ้วนตามลักษณะของพรรคการเมืองที่ “ปัญญาชนคนดีมีอุดมการณ์” รังเกียจ

ไม่ว่าจะเป็นภาพของพรรคนายทุนมีมหาเศรษฐีเป็นหัวหน้าพรรค ห่างไกลจากความสมถะ พอเพียงอันเป็นคุณลักษณะที่พึงปรารถนาของนักการเมืองในอุดมคติที่น่าจะต้องติดดิน อาบน้ำห้าขัน หรืออย่างน้อยเคยกินนอนในม็อบปากมูล หรือสมัชชาคนจนบ้างก็ยังดี

ไม่มีความเป็นไพร่หมื่นล้านใดๆ มาพร้อมกับพรรคที่เต็มไปด้วยอดีตฝ่ายขวาที่เคยรบกับนักศึกษา ขณะเดียวกันก็มีอดีตฝ่ายซ้ายสหายเข้าป่าอยู่ในระดับนำของพรรค

เป็นพรรคอนุรักษนิยม ชาตินิยม เป็นพรรคที่เต็มไปด้วยนายทุน ขุนศึก บ้านใหญ่ แบบโคตรจะแกงโฮะ

ทักษิณเองก็เป็นบุคคลที่ฝ่ายหัวก้าวหน้าแอ็กติวิสต์มองว่าเป็นฝ่ายขวาบ้าง บ้างก็มองเป็นพวกสนับสนุนทุนเสรีนิยมใหม่บ้าง

บ้างก็ว่านี่เป็น Crony Capitalism

บ้างก็ว่านี่เป็น Commercialization of politics หรือการทำการเมืองให้เป็นการค้าการขาย การพาณิชย์

โอ้ ช่างต่ำทราม สกปรก

 

แต่เราทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคการเมืองที่ไม่เข้ากรอบ “คนดี” คนมีอุดมการณ์นี่แหละ ที่มีทั้งนโยบายปฏิรูประบบราชการให้เทอะทะน้อยลง บริหารประชาชนมากขึ้น ตัดเขี้ยวเล็บข้าราชการให้ไม่สามารถรีดไถประชาชนได้

ขยายโอกาสการเดินทางของคนไทยทลายทุนผูกขาดธุรกิจการบินด้วยเปิดให้มีโลว์คอสต์แอร์ไลน์

มีนโยบายพักชำระหนี้ 3 ปีสำหรับชาวนา สามสิบบาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน 60,000 แห่ง ทั่วประเทศ

นโยบายซอฟต์เพาเวอร์ผ่านการผลักดันครีเอทีฟอีโคโนมีอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกผ่านการมี TCDC TKPark ผ่านโอท็อป ผ่านเรื่องรัฐวิสาหกิจชุมชน การสนับสนุนสุราพื้นบ้าน

ไม่นับการกระจายอำนาจ ซึ่งสมัยนั้นก็เป็นที่ดูถูกว่าเป็นแต่พวกมาเฟียท้องถิ่นเข้ามาเป็นหัวคะแนนและเข้ามาโกง

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราเห็นแล้วว่า ท้องถิ่นส่วนใหญ่ทำงานได้ดีและตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นได้ดีกว่า

จนทุกวันนี้มานั่ง “คุยคาย” เรื่องกระจายอำนาจราวกับมันไม่เคยได้เริ่มต้นมาแล้วในรัฐบาลของพรรคการเมืองที่ตนเองดูถูกว่าเป็นแค่ “กลุ่มตระกูลการเมืองผูกขาด”

ฉันขอถามว่า นี่คือประชาธิปไตยกินได้ และเป็นประชาธิปไตยกินได้ที่สะเทือนถึงโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองใช่หรือไม่?

โดยไม่ต้องพูดว่า ฉันจะทะลุอะไร หรือต้องกล้าหาญกว่าใครเขาเพื่อน

 

ฉันไม่ได้บอกว่าพรรคไทยรักไทยในอดีตนั้นไร้ที่ติ

แต่สิ่งที่เราต้องทบทวนเพื่อจะไม่วนไปเป็นเหยื่อของวาทกรรม “คนดีคนมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากกว่าใคร” นั่งก่นด่าธนกิจการเมือง การซื้อเสียง นักการเมืองบ้านใหญ่ไปแบบไร้ความเชื่อมโยงกับ “ความเป็นการเมือง” ที่เราจำต้องยอมรับว่าสายสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับโหวตเตอร์ของเขาคือหัวใจของประชาธิปไตย เพราะมันหมายถึงการมี “ส่วนร่วมทางการเมือง” ที่แท้จริง

เพียงแต่ประชาธิปไตยจะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้นหากสายสัมพันธ์นั้นเปลี่ยนจากระบบอุปถัมภ์ด้วยวัตถุ สิ่งของ เงินทอง ไปเป็นนโยบายที่ “กินได้”

และในวันหนึ่งกระบวนการนี้จะก่อให้เกิดการเมือง พรรคการเมือง และประชาชนที่แข่งกันด้วยนโยบายและความสามารถในการบริหารประเทศตามนโยบายที่เสนอกับประชาชน

และเมื่อเป็นดังนั้น เรื่องการทุจริต ซื้อเสียง การมีบ้านใหญ่ มันจะเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยที่เปลี่ยนแปลงไปตามความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์และระบบอุปถัมภ์ที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับสำนึกและผลประโยชน์ทางการเมืองของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจจริงๆ

และประชาธิปไตยเช่นนี้แม้จะไม่ดีงามสมบูรณ์แบบ แต่จะยั่งยืนตกผลึกเป็นวัฒนธรรมทางประชาธิปไตยมากกว่าการบีบคอคนด้วยให้กลายเป็นคนดี คนมีอุดมการณ์ คนไม่เห็นแก่ปากท้องต้องเลือกเปลี่ยนโครงสร้างก่อน เป็นต้น

 

เบื้องต้นเราพึงเชื่อในตัวเราในฐานะประชาชน

อย่าเที่ยวไปเชื่อว่าถ้ามีพรรคการเมืองเปี่ยมอุดมการณ์ พรรคไร้นายทุน พรรคคนชายขอบ พรรคที่มีตัวแทนแรงงาน โอว พรรคนี้แหละคือความหวังสุดท้ายของคนรุ่นเรา เพราะนั่นเท่ากับว่าเรากำลังกำหนดให้การเมือง การเลือกตั้