การศึกษา / สำรวจกระแส ‘วุฒิศักดิ์’ รมว.ศธ. ‘หมอธี’ ยังหวังต่ออายุเก้าอี้ ‘เสมา 1’??

การศึกษา

สำรวจกระแส ‘วุฒิศักดิ์’ รมว.ศธ.
‘หมอธี’ ยังหวังต่ออายุเก้าอี้ ‘เสมา 1’??

ช่วงนี้กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี หรือ ครม.บิ๊กตู่ 5 ซึ่งว่ากันว่าอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำรายชื่อ ครม.ชุดใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากถือเป็นการปรับ ครม. ครั้งใหญ่
โดยรายชื่อของ “รัฐมนตรี” ที่ถูก “ปรับออก” ในครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่นั่งเป็นเจ้ากระทรวงสำคัญๆ ทั้งนั้น รวมถึงกระทรวงที่มีหน้าที่ผลิตเยาวชนออกไปเป็นอนาคตของชาติ อย่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
โดยรายชื่อที่มาแรงแซงโค้ง และคาดการณ์กันว่าจะมานั่งกุมบังเหียน ศธ. แทน “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รัฐมนตรีว่าการ ศธ. คนปัจจุบัน คือ “นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่อง
แต่ดูเหมือนคนใกล้ชิดจะยอมรับกลายๆ ว่ามีทีมงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ติดต่อขอประวัตินายวุฒิศักดิ์จริง!!

เวลานี้ยังไม่มีใครรู้สาเหตุที่ นพ.ธีระเกียรติมีรายชื่อถูกปรับออกจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่เพิ่งได้รับการโปรโมตให้เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559
แต่มีการวิเคราะห์กันว่าสาเหตุที่อาจจะทำให้ นพ.ธีระเกียรติหลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะบุคลิกส่วนตัวที่เป็นนักวิชาการที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และไม่รับฟังใคร ซึ่งสร้างความอึดอัดใจในการทำงานให้กับบรรดาข้าราชการอย่างมาก
นอกจากนี้ ในช่วงที่ นพ.ธีระเกียรตินั่งบริหารเป็นเวลาเกือบ 1 ปีเต็ม ไม่สามารถขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลให้เดินหน้าไปได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้ง และสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดในมหาวิทยาลัย แม้จะงัดมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) ในการแก้ไขปัญหา แต่ปัญหายังคงคาราคาซังจนถึงทุกวันนี้ ปมการผลิตครูว่าควรจัดเป็นหลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี เกิดการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน และยังหาข้อยุติไม่ได้ ปัญหาความขัดแย้งทางการบริหารระหว่างภูมิภาคกับจังหวัด รวมถึงไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นภายใน ศธ. เป็นต้น
แต่ดูเหมือน นพ.ธีระเกียรติ ยังไม่ยอมแพ้ และหวังว่าจะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต่อ!!

คราวนี้ลองมาฟังเสียงของนักวิชาการ ว่าเห็นด้วยกับการปรับรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในครั้งนี้หรือไม่ และหากนายวุฒิศักดิ์มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. จริงๆ หรือแม้แต่มีรายชื่ออื่นๆ โผล่ขึ้นมาเป็น “ม้ามืด” ในช่วงโค้งสุดท้าย น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาในเรื่องใดได้บ้าง
เริ่มจาก “นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ถ้านายวุฒิศักดิ์มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. จริง ถือว่าเหมาะสม เพราะอยู่ในแวดวงการศึกษามายาวนาน เข้าใจเรื่องการศึกษาและปัญหาอย่างดี
นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา และการกีฬา สนช. น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะมีข้อมูลว่ามีประเด็นใดที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไข โดยระยะสั้นต้องปฏิรูปเรื่องอะไรบ้าง การพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่หน่วยจัดการจัดการศึกษาในพื้นที่กำลังรอความชัดเจนอยู่ว่าจะต้องทำอย่างไร
ซึ่งที่ผ่านมา กมธ.การศึกษาฯ ได้นำแนวทางที่ต้องดำเนินการ และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งมีกว่า 20 ฉบับ เสนอรัฐบาลเพื่อส่งต่อให้ ศธ. แต่การขยายผลอาจจะยังไม่เกิดขึ้น
ขณะที่ “นายรัฐพงศ์ บุญญานุวัตร” อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลที่จะเฟ้นหาบุคคลที่เข้าใจ เข้าถึง หรือรู้ลึก รู้จริงในแวดวงการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ สามารถก้าวผ่านหลุมดำ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การศึกษาชาติเดินไปข้างหน้าตามที่สังคมคาดหวัง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ต้องกางนโยบายรัฐบาล และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 มาดูว่าจะขับเคลื่อนงานการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร
เพราะวันนี้ปัญหาการศึกษามีมาก หรือถ้านายวุฒิศักดิ์มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. จริง เชื่อว่าปัญหาต่างๆ ในสถาบันอุดมศึกษาจะได้รับการแก้ไข อีกหนึ่งในการบ้านคือการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่ามหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหนกับการสังกัด ศธ. ในปัจจุบัน

“นายอดิศร เนาวนนท์” คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตทางการศึกษาของประเทศอยู่ที่การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่
สิ่งที่อยากจะฝากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ คือให้ทำงานตามนโยบายเดิมให้ดีก่อน หรือลดบางนโยบายลง อย่าสร้างนโยบายรายวันเพิ่ม
โจทย์ของ ศธ. ที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนคือระดับอุดมศึกษา ต้องชัดเจนเรื่อง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐาน อยากให้ทบทวนคำสั่งที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค เพราะนอกจากจะสร้างปัญหาในปัจจุบันแล้ว ยังจะเป็นระเบิดเวลาต่อไปในอนาคตอีก
ที่อยากฝากมากที่สุดคือ การผลักดันเรื่องโรงเรียนเป็นนิติบุคคลให้เกิดขึ้นให้ได้จริง
ส่วน “นายรัฐกรณ์ คิดการ” ประธานที่ปรึกษาประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ระบุว่า 3 ปีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ศธ. ใช้รัฐมนตรีไปแล้ว 4 คน แม้นายวุฒิศักดิ์จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. จริง ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงต่อการปฏิรูปการศึกษา
เพราะการปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ รัฐมนตรีต้องมีความรู้ความเข้าใจในการศึกษาทั้ง 3 ระดับ และต้องปฏิรูปไปพร้อมๆ กันทั้งระบบ
ซึ่งที่ผ่านยังไม่เคยมีรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติดังกล่าว นอกจากนี้ สิ่งที่พบเจอมาตลอดคือการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีครั้งใด นโยบายต้องเปลี่ยน สุดท้ายก็ไม่สามารถประเมินได้ว่านโยบายรัฐมนตรีคนไหนดี หรือไม่ดีอย่างไร
แต่ที่แน่ๆ การศึกษาไทยไม่ได้ก้าวไปไหน

ปิดท้ายที่ “นายสมพงษ์ จิตระดับ” อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ปกติไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี ศธ. เพราะทำให้ขาดความต่อเนื่อง แต่การตัดสินใจเปลี่ยนรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเหมาะสม จะได้ทำให้การปฏิรูปการศึกษาที่ตอนนี้มีปมขัดแย้งเกิดขึ้นใหม่ๆ เดินหน้าไปได้
สาเหตุเพราะการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นความคาดหวังของประชาชนอย่างมาก ไม่ก้าวหน้า ทั้งยังสร้างปมปัญหาทางการศึกษาใหม่ๆ เกิดขึ้น แม้ นพ.ธีระเกียรติเป็นคนที่มุ่งมั่นตั้งใจ แต่วุฒิภาวะในการบริหารอ่อนด้อย มองปฏิรูปการศึกษาที่ตัวเองเป็นใหญ่ การมีส่วนร่วมจากสังคมภายนอกแทบไม่มีเลย
ส่วนนายวุฒิศักดิ์นั้น จุดเด่นคือเป็นนักรัฐศาสตร์ นักบริหารจัดการ และนักบูรณาการ คาดว่าการเชื่อมโยงกับเรื่องอุดมศึกษาจะดีขึ้นจากเดิมที่ถูกทิ้งมานาน
แต่ระดับอื่นๆ คงต้องหาทีมงานมาช่วย แต่จุดอ่อนคือสังคมคาดหวังกับรัฐมนตรีว่าการ ศธ. คนใหม่มาก เพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ขณะที่กรอบการทำงานเหลืออยู่แค่ปีเดียว
ฉะนั้น สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ. คนใหม่ควรทำ คือในการปฏิรูปการศึกษาควรจัดลำดับความสำคัญ โดยเร่งออกกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา โดยใช้ความเป็นสมาชิก สนช. เป็นจุดแข็งในการเชื่อมประสาน และผลักดันกฎหมายออกมาได้ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคสังคม ซึ่งถูก ศธ. ละเลยมาตลอด
ต้องติดตามว่าการปรับ ครม. ในรัฐบาล “บิ๊กตู่ 5” ครั้งนี้ จะทำให้เห็นทิศทาง และอนาคตประเทศชัดเจนขึ้นหรือไม่…
ที่สำคัญ จะให้ “ความหวัง” หรือสร้าง “ความผิดหวัง” ให้กับ “การปฏิรูปการศึกษา” ของประเทศ!!

ภาพ ‘นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์-วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์’