วิรัตน์ แสงทองคำ : “จีน” กับสังคมธุรกิจไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

(1) ธุรกิจใหญ่

ปรากฏการณ์ว่าด้วยความเคลื่อนไหวอันคึกคักของกลุ่มธุรกิจจีนในประเทศไทย ให้ภาพเชิงแนวความคิดสัมพันธ์กับโครงสร้างธุรกิจไทย

ผมเคยนำเสนอเรื่องจีนมาบ้าง นานพอสมควร (China Connection มติชนสุดสัปดาห์ มกราคม 2554) “ความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่ของสังคมธุรกิจไทยอย่างเต็มรูปแบบ อย่างมียุทธศาสตร์ เพิ่งจะเริ่มต้นอย่างจริงจัง”

นั่นคือบทสรุปในตอนนั้นเมื่อเกือบๆ 7 ปีที่แล้ว

 

ธนาคาร

ความเคลื่อนไหวอย่างสำคัญธุรกิจจีนแผ่นดินใหญ่ในประเทศไทย เป็นภาพยุทธศาสตร์ นั่นคือภาพความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ในการเข้าสู่ธุรกิจที่มีความสำคัญของสังคมธุรกิจไทย

ในข้อเขียนครั้งนั้นได้นำเสนอจุดเริ่มต้นการก่อตั้งธนาคารพาณิชย์จีนในประเทศไทย ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาระบบธนาคารไทยปรับตัวครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากวิกฤตการาณ์ทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นก่อนหน้า เป็นปรากฏการณ์สำคัญอีกช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสังคมธุรกิจไทย ปรากฏการณ์ขบวนธนาคารต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลอีกครั้ง หลังจากผ่านยุคอาณานิคมไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ

“เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2553 ธนาคารไอซีบีซี ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธนาคารสินเอเชีย และได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจากธนาคารสินเอเชีย เป็นธนาคาร ไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “Industrial and Commercial Bank of China (Thai) Public Company Limited” ในภาษาอังกฤษ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 ซึ่งชื่อใหม่ของธนาคาร นับเป็นการสะท้อนถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มไอซีบีซีอย่างเป็นทางการ” (อ้างจาก www.icbcthai.com)

เรื่องราวข้างต้นเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับความพยายามของธนาคารกรุงเทพ ในการเป็นธนาคารแห่งแรกของไทยเข้าไปดำเนินกิจการธนาคารเต็มรูปแบบในจีนแผ่นดินใหญ่

เป็นช่วงเวลาเดียวกับ ICBC เข้ามาถือหุ้นใหญ่ธนาคารสินเอเชีย (ธนาคารพาณิชย์ใหม่ซึ่งได้เปิดให้มีขึ้นในปี 2547) ซึ่งแต่เดิมธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

Industrial and Commercial Bank of China Ltd (ICBC) คือกิจการธนาคารขนาดใหญ่ในจีน พัฒนาการคล้ายๆ กับวิสาหกิจอื่นๆ ในประเทศนั้น เมื่อปรับโครงสร้างเป็นธุรกิจอย่างเต็มตัว ได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว

ICBC ก่อตั้งขึ้นในปี 2527 ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเมื่อตุลาคม 2548 และในทันทีได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกงพร้อมกัน ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นการเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อประชาชนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก ICBC ถือเป็นธนาคารที่ใหญที่สุดในโลก ปัจจุบันรัฐบาลจีนยังถือหุ้นกว่า 70% โดยมี Temasek Holding แห่งสิงคโปร์ถือหุ้นด้วยประมาณ 2%

“จุดแข็งของ ICBC คือการมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง มีโครงสร้างทางธุรกิจที่หลากหลาย โดยเฉพาะการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจแบบข้ามชาติ และเน้นธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยยังคงรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในสาธารณรัฐประชาชนจีนไว้ได้จนถึงทุกวันนี้” – ข้อมูลจากธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ระบุไว้อีกตอนหนึ่ง

พัฒนาการธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ดำเนินไปอย่างคึกคักและก้าวกระโดดในช่วงแรกๆ แต่ในระยะ 2-3 ปีมานี้ ยังคงระดับไว้ (โปรดพิจารณาข้อมูลจำเพาะ)

 

สื่อสาร

เมื่อพิจารณาการเข้ามาของกลุ่มธุรกิจจีนขนาดใหญ่หลังจากกรณี ICBC ซึ่งเชื่อว่าให้ภาพสะท้อนสำคัญต่อสังคมธุรกิจไทยนั้น ยังมีดีลสำคัญๆ อีกบางกรณีควรกล่าวถึง ในฐานะให้ภาพดังกล่าวเป็นการเพิ่มเติมอย่างสอดคล้องกัน โดยเฉพาะการเข้ามาสู่ธุรกิจใหญ่ซึ่งมีอิทธิพลในสังคมไทย

ที่น่าสังเกตหลายกรณี ผ่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นเครือข่ายธุรกิจซึ่งมีความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ ในฐานะมีเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญที่นั่น

“กลุ่มทรูได้รับการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจด้านการเกษตรครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียซึ่งถือหุ้นทรูในสัดส่วนร้อยละ 56 และ China Mobile ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งถือหุ้นทรูในสัดส่วนร้อยละ 18 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 กลุ่มทรูมีทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วทั้งสิ้น 133,473 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทมิได้มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจอื่นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างมีนัยยะสำคัญ มีเพียงความสัมพันธ์กันแต่เพียงครั้งคราวเฉพาะบางธุรกรรมเท่านั้น” ข้อความสำคัญตอนหนึ่งในรายงานประจำปี 2559 บริษัททรูคอร์ปอเรชั่น กล่าวไว้ มีนัยยะสำคัญ

หนึ่ง-ทรู กิจการในเครือข่าย และได้รับการสนับสนุนจากซีพีอย่างเต็มกำลัง

สอง-สามารถเพิ่มทุนจดทะเบียนอย่างมีความสำคัญ

สาม-กล่าวถึงผู้ถือหุ้นหรือพันธมิตรใหม่ China Mobile เป็นดีลที่เกิดขึ้นในปี 2557 สั่นสะเทือนธุรกิจสื่อสารสังคมธุรกิจไทยพอสมควร แม้ดูเหมือนว่าครึกโครมน้อยกว่ากรณี Temasek สิงคโปร์ กับชินคอร์ป

China Mobile Limited ก่อตั้งขึ้นที่ฮ่องกง เมื่อเดือนกันยายน 2540 ในปีเดียวกันนั้น (ตุลาคม) ได้เข้าจดทะเบียนทั้งในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) และฮ่องกง (HKEX) เป็นแผนการในโมเดลคล้ายๆ กับ ICBC ซึ่งแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่เกิดขึ้นก่อนเกือบทศวรรษ

ที่แตกต่างคือ China Mobile มาปักหลักปักฐานที่ฮ่องกงเพื่อความคล่องตัว แล้วจึงก้าวเข้าไปในฐานะผู้นำให้บริการด้านสื่อสารในจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้ง 31 มณฑล

ทำให้เป็นกิจการซึ่งมีเครือข่ายระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีสมาชิกผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก

“ณ สิ้นปี 2559 China Mobile มีพนักงานทั้งสิ้น 460,647 คน มีลูกค้าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 849 ล้านราย และลูกค้าใช้บริการ broadband อีก 77.62 ล้านราย ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยมีรัฐบาลจีน (ผ่าน CMCC) ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ในสัดส่วน 72.72% ที่เหลืออีก 27.28% เป็นนักลงทุนทั่วไป” ข้อมูลพื้นฐานที่ควรรู้ (เรียบเรียงจาก http://www.chinamobileltd.com)

ในมิติเกี่ยวกับซีพีและทรู เป็นแผนการปรับโครงสร้างการเงินของทรูให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อสู่ช่วงใหม่ของธุรกิจโมบายในประเทศไทย ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

ส่วนพันธมิตร China Mobile มีความหมายในการก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจที่กว้างขึ้น ในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น หลังจากเข้าซื้อกิจการบริการสื่อสารโมบายในประเทศปากีสถานเมื่อปี 2550

โดยการซื้อกิจการ Paktel ของเป็นเครือข่ายของ Cable and Wireless แห่งอังกฤษ

 

รถยนต์

เป็นดีลสำคัญเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ เกี่ยวกับซีพี อีกกรณีหนึ่ง เชื่อมโยงกับธุรกิจหนึ่งของซีพีในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งดำเนินมา 4 ทศวรรษแล้ว

จากเรื่องเล่า “บันทึกความทรงจำ” (Nikkei My Personal History โดย ธนินท์ เจียรวนนท์) บทที่ 19 เรื่อง ธุรกิจมอเตอร์ไซค์ ความสำเร็จครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นจาก “การคิดต่าง” ได้กล่าวถึงธุรกิจหนึ่งไว้อย่างตั้งใจ

เริ่มต้นด้วยการก่อตั้งบริษัท Shanghai Ek-Chor Motorcycle Corp ช่วงต้นทศวรรษ 2520 โดยร่วมทุนฝ่ายละครึ่งหนึ่งกับ Shanghai Automotive Industry Corp (SAIC) ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่ธุรกิจที่แตกแขนง แตกต่างจากเดิมอย่างมากๆ

ต่อมาได้มีความสัมพันธ์กับยักษ์ใหญ่ธุรกิจรถยนต์ญี่ปุ่นด้วย โดยได้สิทธิ์ผลิตมอเตอร์ไซค์แบรนด์ Honda (2528) ธุรกิจดำเนินไปอย่างดีมีโอกาสเพิ่ม (ปี 2533) ร่วมทุนกับหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลเหอหนาน (Henan) ผลิตรถมอเตอร์ไซค์

เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซีพีตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท Shanghai Ek-Chor Motorcycle Corp ออกไป

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์นั้นยังคงแนบแน่น และดำเนินไป ก่อให้ดีลใหญ่ที่น่าสนใจในประเทศไทยในปี 2557 นั่นคือ ซีพีร่วมมือกับ SAIC ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ MG ในประเทศไทย

Shanghai Automotive Industry Corp (SAIC) เกิดขึ้นในปี 2538 ต่อเนื่องจากตำนานอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง SAIC เป็นยักษ์ใหญ่ธุรกิจรถยนต์ในประเทศจีน ผลิตรถยนต์หลายแบรนด์ในประเทศจีน รวมทั้งร่วมทุนกับ Volkswagen แห่งเยอรมนี และ GM แห่งสหรัฐ ต่อมาปี 2555 ได้เปลี่ยนชื่อ SAIC Motor Corporation Limited

ธุรกิจรถยนต์ในประเทศไทยเป็นธุรกิจสำคัญมากๆ เป็นฐานการผลิตของเครือข่ายกิจการรถยนต์ระดับโลก ไม่ว่าญี่ปุ่น สหรัฐ หรือยุโรป และจากนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รถยนต์จีนได้เข้าสู่ตลาดอันคึกคักนี้ด้วย

รถยนต์แบรนด์ MG มีประวัติศาสตร์และรากเหง้ามาจากสหราชอาณาจักร ก่อตั้งเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว น้อยคนที่จะทราบว่าเมื่อปี 2550 กิจการและแบรนด์ MG ได้กลายเป็นของจีนไปแล้ว โดย Nanjing Automobile Group (ต่อมาในปี 2551 มีการปรับโครงสร้างและได้ควบรวมเข้ามาอยู่ใน SAIC)

ว่ากันว่า ธุรกิจรถยนต์จีนแบรนด์ MG เครือข่ายธุรกิจรถยนต์ล่าสุดในประเทศไทย เดินหน้าไปอย่างดีพอสมควร