รักษา สืบสาน ต่อยอด

ปริญญา ตรีน้อยใส

ผู้ที่ติดตามข่าวพระราชสำนักเป็นประจำ คงจะคุ้นภาพ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกให้ข้าราชการและบุคคลต่างๆ เฝ้าฯ หรือเสด็จออกรับทูตานุทูต ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

อีกทั้งภาพท้องพระโรง พระที่นั่งอัมพรสถาน ที่สวยงาม แม้จะต่างไปจากท้องพระโรงอื่น ในพระบรมมหาราชวัง ทั้งท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ที่แม้จะไม่ใหญ่โต แต่เมื่ออยู่ในอาคารโบราณแบบไทยประเพณี ที่สร้างมาแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงดูขลังและทรงคุณค่า

ในขณะที่ท้องพระโรง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ที่ใหญ่โตหรูหรา ตามสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิคตะวันตก จึงสง่างามสมพระเกียรติ สมศักดิ์ศรีประเทศ

สำหรับ ท้องพระโรง พระที่นั่งอัมพรสถาน นั้น มีภาพลักษณ์ที่แปลกต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนาดและรูปแบบ แต่ก็มีความงดงามยิ่งนัก โดยเฉพาะรายละเอียดการตกแต่ง ทั้งๆ ที่ต่างไปจากรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ขององค์พระที่นั่งอัมพรสถาน

 

ทั้งนี้ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อแรกสร้างนั้น จะเป็นเพียงที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในขณะที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ที่อยู่ทางทิศตะวันออก จะเป็นท้องพระโรงสำหรับออกว่าราชการ

ดังนั้น พื้นที่ส่วนท้องพระโรง พระที่นั่งอัมพรสถาน ในปัจจุบัน จึงเป็นส่วนที่มาต่อเติมขึ้นมาภายหลัง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อใช้เป็นโรงฝึกซ้อมและแสดงละคร

โดยโรงละครจะอยู่ชั้นบนของอาคาร ที่สร้างต่อเนื่องกับองค์พระที่นั่ง ทางฝั่งใต้ มีสภาพเป็นโถงโล่งกว้าง ซึ่งต่างไปจากส่วนอื่น เป็นโครงสร้างเหล็กช่วงกว้าง รับหลังคาโค้ง ส่วนวัสดุมุงเดิมน่าจะเป็นแผ่นโลหะ ที่ต่อมามีการมุงหลังคาใหม่คลุมของเดิม

จิตรกรรมฝาผนังฝีมือเซซาเร เฟโร ในพระที่นั่งอัมพรสถาน

ในยุคสมัยที่ยังไม่มีระบบปรับอากาศ จึงต้องอาศัยการถ่ายเทอากาศตามธรรมชาติ ในขณะที่การแสดงละคร ต้องควบคุมแสง เสียง และการรบกวน สถาปนิกจึงออกแบบให้มีผนังไม้ฉลุขนาดใหญ่ กรุระหว่างช่วงเสาโดยรอบอาคาร ลวดลายที่ใช้ มีรายละเอียดสวยงาม รวมทั้งลายฉลุพระปรมาภิไธย วปร ที่จากพระนามเต็มคือ มหาวชิราวุธ ปรมราชาธิราช

อาคารส่วนนี้ ใช้แสดงละครและซ้อมละครอยู่เสมอ ตลอดรัชกาล ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นโรงภาพยนตร์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการและบุคคลต่างๆ เฝ้าฯ บ้าง ใช้เป็นสนามแบดมินตัน หรือพระราชกรณียกิจอื่นบ้าง

 

หลังจากพระที่นั่งอัมพรสถาน ผ่านการใช้งานมานานกว่าร้อยปี โครงสร้างและวัสดุจึงเสื่อมสภาพ โดยเฉพาะอาคารส่วนนี้ที่เป็นโถงเปิดโล่ง ฝนจึงสาด แดดจึงส่องตลอดเวลา ทำให้มีสภาพทรุดโทรมกว่าส่วนอื่น

ในการอนุรักษ์อาคาร พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร โปรดเกล้าฯ ให้รักษาส่วนที่ยังมีสภาพดี หรือพอปรับปรุงได้ เปลี่ยนการใช้เป็นส่วนประกอบและตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นโครงหลังคาเหล็ก ที่กลายเป็นฝ้าเพดานโค้งที่สวยงาม แผ่นไม้ฉลุ วปร ที่กลายเป็นผนังภายใน ที่งดงามและมีความหมาย

มีการต่อเติมผนังหลังคา ให้มีรูปแบบคล้ายส่วนอื่นของพระที่นั่งฯ โดยครอบคลุมพื้นที่และโครงสร้างเดิม กลายเป็นท้องพระโรงที่งามสง่า เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

คงจะเป็นหนึ่งในประจักษ์พยาน ที่สะท้อนถึงพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการรักษามรดกสถาปัตยกรรมของชาติให้คงอยู่ต่อไป

การสืบสาน อาคารสถานโถงที่ก่อสร้างมาแต่อดีตสมัย และการต่อยอดจากสภาพเดิม เพื่อรองรับพระราชกรณียกิจปัจจุบันสมัยและอนาคตสมัย •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส