รบหนักขึ้น-ตึงเครียดมากขึ้น! ความผันผวนจากยูเครน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“พวกเราได้บรรลุฉันทามติทางการเมืองร่วมกันที่จะส่งกระสุนขนาด 155 ม.ม. จำนวน 1 ล้านนัดให้ยูเครน”

Hanno Pevkur, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเอสโตเนีย
20 มีนาคม 2023

 

สงครามยูเครนในช่วงกลางเดือนมีนาคมมีจุดหัวเลี้ยวหัวต่อในหลายเรื่องอย่างน่าสนใจ

และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้น่าจะมีนัยกับสงครามและการเมืองโลก ดังนี้

 

1) รบหนักบัคมุต

ไม่น่าเชื่อเลยว่า พื้นที่การรบจุดสำคัญจะอยู่ที่เมืองบัคมุต จนต้องว่าสนามรบที่จุดนี้เป็นการรบที่ “รุนแรงที่สุดและอันตรายที่สุด”

ตลอด 600 กว่าไมล์ของแนวรบ และเป็นพื้นที่การรบที่คร่าชีวิตของทหารทั้งสองฝ่ายไปเป็นจำนวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่าเมืองนี้ได้กลายเป็น “พื้นที่สังหาร” (killing field) หรือที่ผู้นำกองกำลังทหารรับจ้างของรัสเซียเรียกเมืองนี้ว่าเป็น “เครื่องบดเนื้อ” (meat grinder) ทั้งที่ในทางภูมิศาสตร์นั้น บัคมุตอยู่ในเขตการปกครองของดอนบาส เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยกระจัดกระจาย และอาจจะดูไม่ได้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทหารมากนัก

แต่ “สงครามชิงบัคมุต” กลับไม่มีฝ่ายใดยอมถอย ผู้นำทหารรัสเซียเชื่อว่า ชัยชนะในการยึดบัคมุตจะเป็นจะเป็น “จุดเปลี่ยน” ของสงคราม เพราะบัคมุตเป็นศูนย์รวม (hub) สำหรับกองทัพยูเครนทางด้านดอนบาส

การยึดบัคมุตจะเป็นโอกาสให้รัสเซียเปิดการรุกในฤดูใบไม้ผลิได้อย่างแท้จริง อันอาจส่งผลให้แนวตั้งรับของยูเครนในด้านนี้ต้องพังทลายลง ความสำเร็จของการยึดบัคมุตจะเปิดโอกาสให้รัสเซียสามารถยึดโดเนตสค์ได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น กองทัพรัสเซียพยายามใช้ยุทธวิธีรุกคืบทีละส่วนในการยึดครองพื้นที่

 

แต่กองทัพยูเครนก็ใช้วิธีตั้งรับด้วยสงครามสนามเพลาะ และใช้อำนาจของการเป็นฝ่ายรับในทางทหารเป็นโอกาสในการหยุดยั้งการรุกของทหารรัสเซีย

กองทัพรัสเซียเสียทหารเป็นจำนวนมากในสนามรบนี้ ตัวเลขประมาณการในต้นเดือนมีนาคมระบุว่า รัสเซียสูญเสียทหารมากถึง 30,000 นาย และกองทัพยูเครนมีความสูญเสียหนักเช่นกัน

รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียแถลงว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ยูเครนสูญเสียทหารประมาณ 11,000 นาย (BBC, 7 March 2023) แต่ตัวเลขของกลาโหมรัสเซียน่าจะสูงเกินจริง ทางด้านนาโตประเมินว่ารัสเซียเสียกำลังพลประมาณวันละ 1,500 นาย และสูญเสียส่วนใหญ่ในบัคมุต

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่ากองทัพรัสเซียน่าจะสูญเสียหนักที่บัคมุต และอาจทำให้กองทัพรัสเซียต้องขยายอายุของการเกณฑ์ทหาร จากระหว่าง 18-27 ปีเป็น 21-30 ปี เพื่อที่จะหากำลังพลทดแทนต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่ก็อาจส่งผลให้เกิดแรงต้านในสังคมรัสเซียเพิ่มมากขึ้น

ความได้เปรียบของยูเครนในสนามรบด้านนี้คือ การที่กองทัพยูเครนได้รับความสนับสนุนด้านอาวุธใหม่ พร้อมกระสุนจากยุโรป ซึ่งส่งผลให้กองทัพยูเครนมีประสิทธิภาพในการ “ยัน” การรุกของทหารรัสเซียได้อย่างมาก

ในช่วงจากนี้จึงมีความหวังอย่างมากกับการมาของรถถังหลัก (MBT) และรถรบทหารราบ (IVF) ที่ตะวันตกได้จัดส่งให้ อันจะเป็นโอกาสของการรุกกลับของกองทัพยูเครนในฤดูใบไม้ผลิเช่นกัน

และบัคมุตอาจจะเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำหน้าที่เป็น “จุดเปลี่ยน” ของสงครามในอนาคต จนถึงขนาดประธานาธิบดีซีเลนสกี้ตัดสินใจเดินทางให้กำลังใจแก่ทหารยูเครนในแนวหน้าที่บัคมุต (22 มีนาคม)

 

2) สงครามปืนใหญ่ที่ยูเครน

การรบอย่างรุนแรงและต่อเนื่องในยูเครน สะท้อนถึงการเป็น “สงครามปืนใหญ่” อย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่า ยูเครนต้องการกระสุนปืนใหญ่เดือนละ 3 แสน 5 หมื่นนัด ดังที่ประมาณการในอีกแบบหนึ่งว่า กองทัพยูเครนใช้กระสุนปืนใหญ่ประมาณวันละ 6,000-7,000 นัด

ในขณะที่กองทัพรัสเซียใช้วันละ 50,000 นัด ซึ่งต้องถือว่าเป็นการรบที่มีการใช้กระสุนปืนใหญ่เป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

การใช้กระสุนปืนใหญ่ในอัตราขนาดนี้ส่งผลกระทบอย่างมากกับภาคอุตสาหกรรมอาวุธและเครื่องกระสุนทั้งของสหรัฐ และประเทศตะวันตก

จำนวนการใช้กระสุนในแต่ละวันสูงกว่าขีดความสามารถในการผลิตของประเทศตะวันตกอย่างมาก และกลายเป็นโจทย์ทางยุทธศาสตร์ในตัวเอง เนื่องจากในยุคหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นแล้ว ไม่มีประเทศใดในเวทีโลกที่มีการสำรองกระสุนปืนใหญ่เป็นจำนวนมากที่จะสามารถรองรับความต้องการในสงครามยูเครนได้

ดังจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่เริ่มต้นสงคราม สหรัฐได้ส่งกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 ม.ม. เป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านนัดให้แก่ยูเครน จนทำให้ผู้นำสหรัฐต้องประกาศยกระดับการผลิตกระสุนให้ได้เดือนละ 20,000 นัดในฤดูใบไม้ผลินี้ และจะยกระดับเป็นเดือนละ 90,000 นัดในปี 2005

ในขณะเดียวกันสหภาพยุโรปได้ส่งกระสุนให้ยูเครนแล้ว 3 แสน 5 หมื่นนัดตามความต้องการของยูเครน และผู้นำเอสโตเนียพยายามผลักดันให้สหภาพยุโรปขยายจำนวนเป็น 1 ล้านนัด ผลเช่นนี้ทำให้สหภาพยุโรปต้องเร่งการฟื้นความขาดแคลนในคลังสรรพาวุธที่เกิดจากการส่งกระสุนจำนวนมากให้ยูเครน เอสโตเนียต้องการให้ประเทศในสหภาพยุโรปขยายการผลิตกระสุนจากปีละ 240,000-300,000 นัดเป็นปีละ 2 ล้าน 1 แสนนัด แต่การยกระดับกำลังการผลิตต้องการทั้งงบประมาณและเวลาในการปรับระบบการผลิต

หลายฝ่ายกังวลว่าความขาดแคลนกระสุนจะกลายเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ในสนามรบ แต่หลักการสำคัญในการรบคือ กองทัพจะต้องไม่ขาดแคลนกระสุน แต่ถ้ากองทัพมีกระสุนน้อย ทหารก็จะต้องใช้กระสุนให้ได้อย่างคุ้มค่า ด้วยการเลือกยิงเป้าที่มีค่าสูงในการทำลาย

ปัญหาความขาดแคลนเช่นนี้อาจทำให้กองทัพยูเครนต้องปรับยุทธวิธีในอนาคต

 

3) โดรนในทะเลดำ (14 มีนาคม 2023)

เหตุอีกประการที่เกิดอย่างไม่คาดคิดคือ เครื่องบินขับไล่แบบซู-27 (Su-27) 2 ลำดำเนินการจนโดรนแบบเอ็มคิว-9 (MQ-9) ซึ่งปฏิบัติการลาดตระเวนในน่านฟ้าสากลเหนือทะเลดำ ประสบความเสียหาย และต้องนำลงในทะเลดำ

เหตุการณ์เช่นนี้สร้างความกังวลอย่างมากว่า อาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับรัสเซียได้ไม่ยาก สหรัฐมองว่าการกระทำของรัสเซียครั้งนี้เป็นการ “ยกระดับอย่างไม่ตั้งใจ” (unintended escalation) และเป็นดังการยั่วยุ

ปัญหาเช่นนี้ถูกเปรียบเทียบเพื่อเตือนใจถึงปัญหาวิกฤตการณ์จรวดที่คิวบาในปี 1962 ที่รัฐมหาอำนาจใหญ่ทั้งสองสามารถที่จะประนีประนอมในการแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น และพาโลกพ้นจากหายนะนิวเคลียร์ได้ด้วย

แต่หลายฝ่ายในปัจจุบันกังวลอย่างมากว่า การประนีประนอมเพื่อแก้วิกฤตนั้น ดูจะมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะความสัมพันธ์ของทั้งฝ่ายอยู่ในสภาวะที่ตึงเครียดมากขึ้น

 

4) หมายจับที่กรุงเฮก (17 มีนาคม 2023)

หนึ่งในพัฒนาการที่สำคัญของสถานการณ์สงครามยูเครนคือ การออกหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในปัญหาการลักพาเด็กชาวยูเครนไปรัสเซีย ด้วยข้อหา “เนรเทศเด็กออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย” (unlawful deportation)

ซึ่งหมายจับนี้ถือเป็นกรณีแรกจากปัญหาสงครามยูเครน อันมีนัยว่าประธานาธิบดีปูตินกลายเป็น “บุคคลผิดกฎหมาย” ที่ไม่สามารถเดินทางไปยังประเทศที่เป็นภาคีในสัญญาศาลนี้ 123 ประเทศ แต่ผู้นำรัสเซียไม่กังวล เพราะไม่ได้เป็นภาคีความตกลงนี้

แม้ว่าตัวเลขจำนวนเด็กชาวยูเครนที่ถูกลักพาออกไปรัสเซียในปี 2022 จะมีจำนวนไม่ชัดเจน แต่หน่วยวิจัยของมหาวิทยาลัยเยล (The Yale Humanitarian Research Lab) ประมาณว่า มีจำนวนอย่างน้อย 6,000 คน และเด็กเหล่านี้จะถูกส่งไปเป็นบุตรบุญธรรมให้แก่ครอบครัวชาวรัสเซีย ทั้งยังได้เปลี่ยนสัญชาติให้เด็กเหล่านี้เป็นรัสเซีย เพื่อง่ายต่อการรับไปอุปการะ

แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องฝ่ายรัสเซียกลับประกาศว่า นี่เป็นการแสดงความรับผิดชอบของรัสเซีย ที่จะไม่ปล่อยให้เด็กเหล่านี้อยู่ในพื้นที่การสงคราม (คำกล่าวของ Maria Alekseyevna Lvova-Belova ผู้จัดการในเรื่องนี้ และถูกหมายจับด้วย)

ดังนั้น หมายจับของ ICC จึงไม่เพียงเป็นชัยชนะในทางการเมืองของฝ่ายยูเครนเท่านั้น หากยังส่งผลต่อตัวประธานาธิบดีปูตินเอง ดังที่ Reed Brody ผู้พิพากษาในคดีอาชญากรสงครามกล่าวว่า หมายจับนี้ “ทำให้โลกของปูตินเล็กลง” แต่รัสเซียมองว่าหมายจับนี้คือ ความพยายามในการเปลี่ยนระบอบการเมืองรัสเซีย

 

5) ซัมมิตที่มอสโก (20-22 มีนาคม 2023)

ในขณะที่สถานการณ์การรบในยูเครนรุนแรงอย่างต่อเนื่องนั้น จีนพยายามทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ด้วยการเสนอแผนสันติภาพยูเครน ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในการประชุมความมั่นคงที่มิวนิกในช่วงที่ผ่านมาแล้ว หรือที่เรียกว่า “ข้อเสนอสันติภาพ 12 ประการของจีน”

ในที่สุดประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางเยือนมอสโก การเยือนครั้งนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศที่มีจุดยืนร่วมกันในการต่อต้านตะวันตก และต้องถือว่าจีนและรัสเซียถือเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ที่สำคัญในเวทีการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ และการพบกันอย่างชื่นมื่นเช่นนี้ คือ “การหว่านเสน่ห์ทางการทูต” ของรัสเซียกับจีน

ในภาวะเช่นนี้ รัสเซียต้องพึ่งพาจีน มากกว่าจีนจะพึ่งรัสเซีย จนมีข้อสังเกตว่า การเยือนรอบนี้แสดงว่า “สีเป็นฝ่ายนำ” มากกว่าปูติน

ประธานาธิบดีปูตินยกย่องให้ผู้นำจีนเป็น “เพื่อนเก่าคนสนิท” (good old friend) อีกทั้งผู้นำรัสเซียแถลงถึงความเชื่อมั่นว่า จีนจะมี “บทบาทอย่างสร้างสรรค์” ในการแก้ปัญหาวิกฤตสงครามยูเครน และรัสเซียมีความหวังอย่างมากกับบทบาทของจีนในอนาคต

ทัศนะเช่นนี้ประธานาธิบดีปูตินได้นำเสนอผ่านบทความที่เขาเขียนให้กับหนังสือพิมพ์จีน (ตีพิมพ์ในจีนในวันที่ 19 มีนาคม 2022)

 

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เองได้เขียนบทความตีพิมพ์ในสื่อรัสเซียเช่นกัน เขาเสนอมุมมองว่าการเดินทางเยือนรัสเซียครั้งนี้คือ การแสดงออกถึงมิตรภาพของประเทศทั้งสอง และเป็น “ปฏิสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์” ของสองประเทศในสถานการณ์โลกปัจจุบัน

ทั้งยังเสนอให้ใช้ “ลัทธิปฏิบัตินิยม” (pragmatism) ในการแก้ปัญหายูเครนด้วย (บทความตีพิมพ์ใน Rossiiskaya Gazeta)

การแสดงออกเช่นนี้ย่อมถูกตีความว่า จีนสนับสนุนรัสเซีย และรัสเซียซึ่งแม้จะถูกโดดเดี่ยวในเวทีโลก แต่ก็มีจีนเป็นพันธมิตรสำคัญ และชัดเจนว่าจีนจะไม่กดดันให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครน แต่จะอธิบายว่าปัญหาเกิดจากการคุกคามของฝ่ายตะวันตก

จากสิ่งที่เกิดขึ้นในข้างต้นเห็นชัดว่า สงครามยูเครนฉีกความสัมพันธ์ของสหรัฐกับรัสเซียจนยากที่จะประสาน และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียอย่างมากด้วย!