นักการเมืองกับอุดมการณ์ | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

“พรรคนี้ไปซื้อบ้านใหญ่ ตระกูลบ้านใหญ่นี้จังหวัดนี้ จะไปอยู่พรรคไหน กระโดดกันไปมา ดูถูกประชาชนมาก เหมือนไม่มีอุดมการ(ณ์)อะไรเลย เหลือเชื่อมากๆ นี่มันเป็นความล้มเหลวทางสามัญสำนึกเลย คุณจะไม่เห็นพรรคก้าวไกลไปอยู่ในสนามแบบนั้น”

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า
(อ้างจากโพสต์ twitter ของคุณ Noppakow kongsuwan, 31 March 2023)

 

“นักการเมืองย้ายพรรคแบบไม่มีอุดมการณ์และอ้างเรื่องดินฟ้าอากาศ”
ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล
(Matichon TV, Youtube, 17 March 2023)

 

ข้อสังเกตว่าการเมืองไทย “ไม่มีอุดมการณ์” ในทำนองเดียวกับคำวิจารณ์ของธนาธร-ปิยบุตรข้างต้นมีมานานแล้ว และไม่จำกัดเฉพาะการเลือกตั้งรอบนี้ หากครอบคลุมการเมืองไทยทั้งประเทศโดยรวมในช่วงยาว ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ดังที่ Benjamin Zawacki นักวิจัยชาวอเมริกันผู้ค้นคว้าศึกษา นโยบายต่างประเทศไทยและเอเชียอาคเนย์ชี้ไว้ในงาน Thailand : Shifting Ground between the US and a Rising China (2017) ว่า :

“ร้อยปีก่อน ‘สยาม’ หลีกพ้นการตกเป็นอาณานิคมเต็มตัวมาได้ก็แต่โดยการชิงตัดหน้ายอมสละสิทธิและดินแดนให้แก่บรรดามหาอำนาจตะวันตกเสียก่อน ขณะที่ธำรงท่าทีกึ่งเรียกร้องดินแดนกับผู้คนของไทยคืนต่อส่วนที่ไม่อยู่ในการควบคุมของทางการกรุงเทพฯ อย่างมั่นคง การยอมอ่อนข้อให้ภายนอกพร้อมทั้งเสริมสร้างอำนาจภายในให้มั่นคงนี้เป็นบุคลิกลักษณะของบรรดาผู้นำและประชาชนไทยนับแต่นั้นมา อันยังผลให้กลายเป็นชาติที่ปลอดอุดมการณ์” (a nation devoid of ideology, p. 5 เน้นโดยผู้เขียน)

ซาวัคคีตั้งข้อสังเกตสืบต่อว่าแวดวงการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองไปจนถึงการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 มากไปด้วยนักฉวยโอกาส (Thailand’s opportunists) ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร (pp. 27-31, 46)

ทว่า องค์ประกอบสำคัญในการเมืองไทยที่เป็นกรณียกเว้น กล่าวคือ ซาวัคคีประเมินว่ามีอุดมการณ์แรงกล้า ได้แก่ สถาบันกษัตริย์ (คัดค้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ สนับสนุนฝ่ายโลกเสรีอเมริกัน และสากลนิยม, p. 49, 58, 78) และขบวนการนักศึกษาเดือนตุลาฯ (ชาตินิยม-ประชานิยมเอียงซ้าย นิยมจีนแดงกว่าอเมริกัน, pp. 46-47)

ภาพจาก https://www.tiktok.com/@spacebarmediath/video/7211847763204640001 & https://www.youtube.com/watch?v=LVJG6j8vDl0

อย่างไรก็ตาม การประเมินว่าสังคมการเมืองและวัฒนธรรมไทยตลอดช่วงยาวหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา “ปลอดอุดมการณ์” ก็อาจไม่ถูกต้องเสียทีเดียวนัก อาจแม่นยำกว่าที่จะบอกว่า…

กลุ่มพลังต่างๆ ส่วนใหญ่ในสังคมไทย (นอกจากที่กล่าวแล้วข้างต้น และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) อาจไม่ได้มีโอกาสช่องทางเข้าถึงเรียนรู้ ผลิตและเผยแพร่อุดมการณ์ทางเลือกต่างหากจากอุดมการณ์หลักของรัฐและชนชั้นนำอย่างเป็นระบบ (เพราะติดคุกหรือลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศหลังรัฐประหาร 2501 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)

และฉะนั้น จึงไม่ได้เข้าร่วมการปะทะขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างแข็งขันกระตือรือร้น (ไม่ใช่ active participants ยกเว้นโดยผ่านสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ของ พคท. ดูหนังสือ ที่นี่…สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย, 2565)

หากตกอยู่ในสภาพจำยอมรับเชื่ออุดมการณ์หลักดังกล่าวอย่างเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยดุษณี (passive conformists)

อุดมการณ์หลักของรัฐและชนชั้นนำไทยที่ว่าอาจเรียกตามอย่างธงชัย วินิจจะกูล ได้ว่าวาทกรรมตัวเราของเรา/คนในว่าด้วย “ความเป็นไทย” (ดู กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ, 2556, บทนำ การดำรงอยู่ของความเป็นชาติ) หรืออย่างที่ผมเองเรียกว่าอุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทย (the ethno-ideology of Thainess, Kasian Tejapira, Commodifying Marxism : The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958, 2001, pp. 189-191)

ซึ่งแผ่ซ่านซึมซาบเข้าครอบกุมทางวัฒนธรรมอย่างแนบเนื้อผ่านกลไกรัฐและกระบวนการขัดเกลาทางสังคมภายใต้เผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ของสฤษดิ์กับคณาธิปไตยสามทรราช

 

จนกล่าวได้ว่า “ความเป็นไทย” เหมือนหนึ่ง :

“ธรรมชาติที่สอง” (second nature) บุคลิกลักษณะหรืออุปนิสัยที่ดูประหนึ่งสัญชาตญาณเนื่องจากบุคคลประพฤติปฏิบัติตนเยี่ยงนั้นบ่อยยิ่ง หรือ

“มโน” (doxa) สมมุติสัจจะที่สังคมรับเชื่อโดยมิพักซักถาม ตามนัยของ Pierre Bourdieu (นักสังคมวิทยาและปัญญาชนสาธารณะชาวฝรั่งเศส, 1930-2002) ซึ่งถูกใช้เป็น…

“ตำนานฐานราก” (foundational myth/fiction) ของระเบียบการเมืองที่ห้ามท้าห้ามถามและจะจริงหรือไม่-ไม่สำคัญ แต่เชื่อไว้ก็แล้วกัน และกลายเป็น

“อำนาจนำ” (hegemony) ของสังคม ในความหมายหยั่งเหยียดลุ่มลึกที่ Raymond Williams นักวัฒนธรรมศึกษาแนวมาร์กซิสต์ชาวอังกฤษเชื้อสายเวลส์ (1921-1988) บรรยายว่า :

“…(อำนาจนำ) ซึมซาบท่วมท้นกระบวนการดำรงชีวิตทั้งกระบวน… มันเป็นองค์รวมแห่งการปฏิบัติและความคาดหวังซึ่งครอบคลุมการดำรงชีวิตทั้งหมด ไม่ว่าความรู้สึกสำนึกและการจัดสรรพลังงานของเรา การกำหนดการมองตัวเราเองและมองโลกของเรา มันเป็นระบบแห่งความหมายและคุณค่าที่เราดำรงชีวิตอยู่ ทั้งเป็นองค์ประกอบและประกอบสร้างชีวิตเราขึ้น ซึ่งโดยที่มันถูกเราประสบพบผ่านด้วยการปฏิบัติจึงดูเหมือนตอกย้ำยืนยันซึ่งกันและกัน

ฉะนั้น มันจึงประกอบสร้างเป็นสำนึกเกี่ยวกับความเป็นจริงของคนส่วนใหญ่ในสังคม เป็นสำนึกเกี่ยวกับความเป็นจริงที่สัมบูรณ์เพราะได้ประสบพบผ่านมันมา ซึ่งยากยิ่งที่สมาชิกส่วนใหญ่ของสังคมจะเคลื่อนพ้นมันไปได้ในปริมณฑลส่วนใหญ่ของชีวิตพวกเขา กล่าวคือ มันเป็น ‘วัฒนธรรม’ ในความหมายแรงกล้าที่สุดของมัน ทว่า เป็นวัฒนธรรมที่พึงต้องมองด้วยว่าเป็นการครอบงำและกดทับชนชั้นเฉพาะบางชนชั้นโดยพวกเขาต้องดำรงชีวิตอยู่ในการครอบงำและกดทับนั้น” (Marxism and Literature, 1977)

“เราจึงอาจกล่าวได้ว่าแก่นสารแห่งการครอบงำของชนชั้นเฉพาะหนึ่งๆ ในสังคมนั้นธำรงรักษาไว้ได้ไม่เพียงแต่ด้วยอำนาจ-ซึ่งถ้าจำเป็นก็ใช้ และไม่เพียงแต่ด้วยทรัพย์สิน-ซึ่งต้องมีอยู่เสมอเท่านั้น หากมันยังถูกธำรง รักษาไว้อย่างไม่มีทางเลี่ยงด้วยวัฒนธรรมที่ผู้คนดำรงชีวิตอยู่ด้วย อันหมายถึงอุปนิสัย ประสบการณ์ ทีทรรศน์ ที่ซึมซาบท่วมท้นนับแต่วัยเยาว์ยิ่ง และถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง ณ ขั้นตอนมากหลายของชีวิต ภายใต้แรงกดดันที่แน่นอนและภายในกรอบจำกัดที่แน่ชัด เพื่อที่ว่าอะไรก็ตามแต่ที่ผู้คนมาได้คิดและรู้สึกนั้นกลายเป็นการผลิตซ้ำระเบียบสังคมที่หยั่งฐานลึกเสียมาก อันเป็นระเบียบสังคมซึ่งพวกเขากระทั่งบางทียังคิดไปว่าตนเองคัดค้านและเอาเข้าจริงก็คัดค้านมันจริงๆ ในบางแง่ด้วยซ้ำไป…

“ผมพูดอย่างนี้ได้ไหมครับว่าผมเรียนรู้ประสบการณ์ของการถูกครอบกลืน ผมเรียนรู้ความเป็นจริงของอำนาจนำ ผมเรียนรู้อำนาจอันซึมซาบท่วมท้นของโครงสร้างความรู้สึกทั้งหลายของสังคมหนึ่งๆ จากความคิด จิตใจของตัวผมและประสบการณ์ของตัวผมเองพอๆ กับที่เรียนรู้จากการสังเกตชีวิตของคนอื่นๆ

“ตลอดชั่วชีวิตของเรานั้น หากเราเพียรพยายามดู เราจะค้นพบช่วงชั้นทั้งหลายของรูปการณ์แปลกต่างประเภทที่ว่านี้ในตัวเราเอง ในลักษณะที่มันอยู่ลุ่มลึกข้างในตัวเราเอง

ดังนั้นแล้วการตระหนักรู้เท่าทันมันจึงเป็นการตระหนักรู้เท่าทันเชื้อมูลอันใหญ่โตในประสบการณ์ของเราเองซึ่งจำเป็นที่เราต้องเอาชนะมัน ทว่า การเอาชนะอะไรบางอย่างทำนองนั้นในตัวคุณเอง ในครอบครัวของคุณ ในหมู่เพื่อนบ้านของคุณ ในเพื่อนฝูงของคุณ สำหรับผมแล้วการเอาชนะมันดังว่าดูเหมือนจะเกี่ยวพันกับสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างยิ่งจากยุทธศาสตร์ การเมืองตามธรรมเนียมเดิมส่วนใหญ่”

(“You’re a Marxist, Aren’t You?”, 1975)

 

การเมืองเชิงอุดมการณ์ (ideopolitics) ที่แท้จริงในความหมายท้าทายและรื้อสร้าง “อำนาจนำ” จึงขุดรากถอนโคน ไปไกลและกินเวลายาวนานข้างในความคิดจิตใจเราเองกว่าลำพังการย้ายพรรค การเลือกตั้ง และฟอร์มรัฐบาลบริหารบ้านเมืองอักโข

แต่การรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่และต้องทำอะไรบ้าง ก็มีส่วนช่วยให้ปักธงถูกที่และเริ่มเดินก้าวแรกได้ถูกทิศทาง