อุษาวิถี (22) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (22)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

เพื่อหลีกหนีจากสภาพความกดดันดังกล่าว มารดาของขงจื่อจึงได้อพยพครอบครัวมาอยู่ที่ชวีฟู่เมืองหลวงของรัฐหลู่ และนำพาครอบครัวมาจนขงจื่อมีอายุได้ 17 ปี มารดาของเขาจึงจากโลกไป

จากสภาพครอบครัวที่ยากจนและแวดล้อมไปด้วยความกดดันเช่นนี้ ชีวิตของขงจื่อตั้งแต่เด็กจนโตจึงไม่ได้สะดวกสบายเยี่ยงเด็กทั้งหลายพึงมีพึงเป็น แต่ก็ด้วยชีวิตเช่นนี้เองที่ต่อมาได้กลายเป็นแรงขับให้ขงจื่อมีบุคลิกภาพที่แปลกกว่าเด็กอื่นในบางประการ

ประการแรก วัยเด็กของขงจื่อไม่มีของเล่น การเล่นของเขาจึงเป็นไปตามอัตภาพด้วยการนำเอาสิ่งที่มีอยู่ในบ้านอยู่แล้วมาเล่น แล้วใช้จินตนาการเอาเอง จินตนาการที่แสดงออกมาจึงกลายเป็นการเล่นที่เกี่ยวกับจารีตพิธีกรรมต่างๆ

อันเป็นต้นเหตุในการทำให้ครอบครัวของเขาถูกตั้งข้อรังเกียจจากเพื่อนบ้าน จากกรณีที่บิดามารดาของเขาไม่ได้แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามจารีตพิธีกรรม

 

ประการต่อมา สภาพแวดล้อมที่กดดันได้ทำให้ขงจื่อกลายเป็นเด็กที่มีความระแวดระวังสูง มีความคิดอ่านที่รอบคอบ และรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น แต่จะด้วยบุคลิกภาพเช่นนี้หรือไม่ก็ตาม ขงจื่อจึงสนใจในการเรียนตั้งแต่ในวัยเด็ก

กล่าวคือ หลังจากที่เจิงจ้ายผู้เป็นแม่ได้ให้ขงจื่อเรียนหนังสือตามอัตภาพแล้ว ขงจื่อได้แสดงออกถึงความปรารถนาในอันที่จะได้เรียนในระดับที่สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ความปรารถนาดังกล่าวเป็นเหตุให้เจิงจ้ายต้องส่งเขาไปทางภาคอีสานของรัฐหลู่เพื่อพบบิดาของเธอหรือตาของขงจื่อ ด้วยหวังจะให้เป็นครูของขงจื่อต่อไป ตาของขงจื่อมีชื่อว่า เอี๋ยนเซียง ใช้ชีวิตอยู่ในรัฐหลู่มาช้านาน ณ วันที่รับหลาน (ขงจื่อ) มาเป็นศิษย์นั้น เขาอยู่ในวัย 60

การศึกษาเล่าเรียนของขงจื่อดำเนินมาจนถึงอายุ 15 ปี เขาก็ได้แสดงให้เห็นถึงปณิธานอันแรงกล้าในอันที่จะแสวงหาความรู้ในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ตราบจนอายุได้ 18 ปี ความรู้ที่ได้จากเอี๋ยนเซียงผู้เป็นตาก็กลายเป็นพื้นฐานที่ดีในการมุ่งสู่ปณิธานนั้น เวลานั้นตรงกับ ก.ค.ศ.533

ความแรงกล้าในปณิธานของขงจื่อนับว่ามีความมั่นคงอย่างมาก

เพราะแม้เขาจะได้แต่งงานเมื่อมีอายุ 19 ปี แต่ชีวิตคู่ก็หาได้มากระทบกับการศึกษาหาความรู้ของเขาไม่ ครั้นในวัย 20 เศษซึ่งขงจื่อได้รับราชการอยู่ระยะหนึ่ง ชีวิตข้าราชการก็หาได้กระทบการศึกษาของเขาไปด้วยไม่เช่นกัน

แม้จะไม่ปรากฏว่าขงจื่อหาความรู้จากผู้ใดหรือสำนักใด แต่นั่นดูเหมือนไม่เป็นปัญหามากนัก เพราะจากต้นวงศ์ที่สังกัดชนชั้นผู้ดีและมีชีวิตอยู่ในรัฐหลู่ของขงจื่อนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นทั้งวงศ์และรัฐที่เป็นแหล่งรวมความรู้ตลอดจนภูมิปัญญาเอาไว้อย่างอุดมสมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้ การสืบทอดทางการศึกษาที่จำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นสูงจึงถูกปฏิบัติมาโดยตลอด และเมื่อประกอบเข้าด้วยปณิธานอันแรงกล้า อีกทั้งสติปัญญาอันเป็นเลิศ เพียงในวัย 30 เศษ ขงจื่อก็กลายเป็นปราชญ์ที่รอบรู้ศิลปวิทยาการต่างๆ ตลอดจนระเบียบแบบแผนของราชสำนักจนเป็นที่ยอมรับกันไปทั่ว

 

ชื่อเสียงของขงจื่อก็ขจรขจายไปไกลในฐานะผู้ปราดเปรื่องด้านอักษรศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ คีตศาสตร์ และวัฒนธรรม

ที่สำคัญ ขงจื่อหาได้กักเก็บความรู้เอาไว้ใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวไม่ หากแต่ยังได้ปฏิบัติตนเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้นั้นแก่ผู้ที่ปวารณาตนเป็นศิษย์ของเขาอีกด้วย

การใช้ความเป็นปราชญ์ของตนมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ของขงจื่อนั้น นับเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ทรงความหมายอย่างยิ่ง

เพราะการกระทำดังกล่าวได้เท่ากับเป็นการปลดปล่อยให้ภูมิปัญญาความรู้ต่างๆ ที่เคยสงวนเอาไว้เฉพาะชนชั้นกษัตริย์และผู้ดีได้กระจายสู่คนชั้นล่างอย่างอิสระและกว้างขวาง

คำกล่าวของขงจื่อที่ว่า “เพียงมีเนื้อแห้งสิบชิ้นมาเสียเป็นค่าเล่าเรียนพอเป็นธรรมเนียมเท่านั้น ก็ไม่มีผู้ใดที่ข้าพเจ้าจะไม่สอนเขา” นั้น ได้เป็นที่วิเคราะห์กันมาตราบจนทุกวันนี้ว่า ขงจื่อไม่ได้เก็บค่าเล่าเรียนที่แพงจนปิดโอกาสทางการศึกษาของชนชั้นล่าง

ฉะนั้น ผู้ที่มาศึกษาเล่าเรียนกับขงจื่อจึงย่อมมีที่มาจากหลายชนชั้นและเป็นไปอย่างเสมอภาค

 

กล่าวสำหรับหลักคำสอนของขงจื่อแล้วก็ไม่แตกต่างไปจากหลักคำสอนของนักปราชญ์คนอื่นๆ ของโลกที่มักมีรายละเอียดเฉพาะตนอยู่

และพอเวลาผ่านไปก็จะมีผู้แบ่งเป็นหมวดหมู่ทางความคิดออกเป็นชุดๆ พร้อมกับตีความความสำคัญหรือสาระหลักที่อาจจะเหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง ตามแต่ความคิดของปราชญ์ในชั้นหลังในแต่ละยุคสมัย

แต่ภาพรวมที่จะกล่าวถึงในที่นี้จะแบ่งเป็น 2 แนวคิดหลัก ดังนี้

แนวคิดแรก เป็นแนวคิดที่สัมพันธ์กับหลักจริยธรรมโดยตรง ที่ไม่ต่างกับหลักศาสนาทั่วไปมากนัก เพียงแต่มีมุมมองที่ต่างกันไป แต่กระนั้นปัญญาชนหรือนักปราชญ์ลัทธิขงจื่อในชั้นหลังได้ประมวลเอาสารัตถะทางด้านนี้ออกเป็นคำจีน 4 คำ

คือคำว่า  เหญิน (仁) อี้ (义) หลี่ (礼) จื้อ (智)

ทั้งสี่คำจะมีความหมายโดยตัวของมันเอง แต่ในที่นี้จะอธิบายขยายความผ่านแต่ละคำในแง่ของอักษรภาพ ดังนี้

เหญิน หมายถึง ความเมตตากรุณา (benevolence) โดยรูปของตัวอักษรอาจแยกได้เป็น 2 คำ คำหนึ่ง (ซ้าย) คือ เหญิน ที่หมายถึง มนุษย์หรือคน อีกคำหนึ่ง (ขวา) คือ เอ้อ ที่หมายถึง สอง

จากรูปตัวอักษรนี้เมื่อรวมกันเป็นคำว่า เหญิน ก็จะมีความหมายที่สื่อได้ว่า มนุษย์ไม่ได้อยู่โดยตัวคนเดียวเดี่ยวโดดในสังคม หากมีคนอื่นที่แวดล้อมตนอยู่ด้วย อีกนัยหนึ่งคือ มนุษย์อยู่ด้วยกันมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป

ฉะนั้น มนุษย์จึงพึงมีความเข้าใจในกันและกัน สิ่งใดที่ตัวเองไม่ต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตน สิ่งนั้นก็ไม่พึงปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ความเมตตากรุณาต่อกันก็จะเกิดขึ้น

หลักคิดนี้จึงคล้ายๆ กับหลักคิดของศาสนาพุทธ