คำพิพากษาคุก 13 กปปส. ขวางสมัครเลือกตั้งปี ’56 ย้อนไทม์ไลน์ปะทะเดือด อีกชนวนรัฐประหารปี ’57

เป็นคำพิพากษาที่สร้างความสนใจให้กับสังคมอย่างกว้างขวาง สำหรับกรณีที่ศาลอาญามีคำสั่งจำคุก 13 กปปส. ในความผิดร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

ที่มีมูลเหตุจากการยกพวกไปขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ระหว่างวันที่ 23-27 ธันวาคม 2556

ซึ่งถูกบันทึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในเหตุการณ์การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่เกิดขึ้นหลังยุบสภาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

และกลายเป็นการเลือกตั้งที่อัปยศที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อถูกขัดขวางต่อต้านจากกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า กปปส.

พัฒนากลายเป็นการรัฐประหารโดย คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำประเทศมาถึงจุดที่กำลังเป็นอยู่

ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง มีการกำหนดวันเลือกตั้งแล้วในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ทบทวนเรื่องราวในอดีต

ใครทำอะไรไว้อย่างไร และมีผลอย่างไรจนถึงทุกวันนี้

ล้อมสน.ดินแดง

คุก 13 กปปส.ขวางเลือกตั้ง

วันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่ห้องพิจารณา 804 ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีม็อบ กปปส.ขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เมื่อปี 2556 โดยพนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายชานนท์ ขันทอง กับพวกรวม 13 คน ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

โดยคดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 โดยคำฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันมีและใช้อาวุธ โดยข่มขู่ ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ ใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียง ขว้างปา ยิงลูกแก้ว หัวน็อต ไม้หน้าสาม ก้อนซีเมนต์ตัวหนอน เข้าใส่เจ้าพนักงาน

ถอยรถขนขยะ ชนประตูเพื่อเปิดทาง แล้วปิดล้อมประตูทางเข้าที่ 1 และ 2 ของศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ก่อนบุกเข้าไปในภายอาคาร กีฬาเวสน์ 2 ปิดล้อมอาคาร ขัดขวางมิให้เจ้าหน้าที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ รับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อระหว่างวันที่ 23-27 ธันวาคม 2556 เวลา 08.30-16.30 น. อันเป็นการกระทำผิดตามกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวง-เขตดินแดง กทม.

ศาลพิเคราะห์เเล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 13 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง, 216, 365(1) (2) ประกอบมาตรา 362, 364 พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 43 วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

การกระทำของจำเลยทั้ง 13 เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกัน บุกรุกอสังหาริมทรัพย์และเคหสถาน โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลัง ประทุษร้าย โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

ให้จำคุกคนละ 2 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน

จำเลยที่ 1-9 และที่ 11-13 ให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่

จำเลยที่ 10 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม

คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3-9 และที่ 11-13 คนละ 18 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 24 เดือน จำคุกจำเลยที่ 10 มีกำหนด 16 เดือน

พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มก่อเหตุรุนแรงโดยใช้หนังสติ๊กยิงหัวน็อต ลูกแก้ว ลูกเหล็ก และขว้างปาก้อนอิฐ ก้อนซีเมนต์ตัวหนอน ประทัดยักษ์ ระเบิดปิงปอง เป็นต้น ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่รักษาความสงบเรียบร้อยในที่เกิดเหตุ จำเลยทั้ง 13 ก็ควรเลิกชุมนุมตามที่เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งให้เลิก แต่จำเลยทั้ง 13 กลับไม่เลิกชุมนุมแล้วยังบุกรุกเข้ามาในที่เกิดเหตุอีก

พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงที่ไม่สมควรรอการลงโทษ

ต่อมาศาลให้ประกันตัวโดยยื่นหลักทรัพย์คนละ 1 แสนบาท

รอลุ้นต่อในชั้นอุทธรณ์

ปะทะเดือด

ย้อนไทม์ไลน์นาทีม็อบบุก

สําหรับเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นอีก 1 เหตุการณ์ของประวัติศาสตร์การเมือง จากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. หรือที่มีชื่อว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำ โดยมีจุดเริ่มต้นด้วยการคัดค้านการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมสุดซอย

ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ ในขณะนั้น ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 พร้อมประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

โดย กกต.ได้กำหนดให้วันที่ 23-27 ธันวาคม 2556 เป็นวันรับสมัคร

ขณะที่กลุ่ม กปปส.ยังคงปักหลักชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ยกระดับข้อเรียกร้องเป็นการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ประกาศตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เรียกข้าราชการ ผบ.เหล่าทัพ เข้ารายงานตัว พร้อมมีการชุมนุมหลายจุดทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคใต้

ช่วงค่ำวันที่ 22 ธันวาคม 2556 นายสุเทพประกาศบนเวทีปราศรัย ให้ผู้ชุมนุมไปรวมตัวกันที่หน้าสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ถนนมิตรไมตรี ที่เป็นสถานที่รับสมัคร ส.ส.แบบระบบบัญชีรายชื่อ คัดค้านไม่ให้เกิดการรับสมัคร ส.ส.ได้ จนมวลชนเดินทางมาชุมนุมตั้งแต่เวลา 21.00 น.ของวันที่ 22 ธันวาคม 2556

โดยมีแกนนำที่เดินทางไปร่วมปราศรัย อาทิ นายอิสสระ สมชัย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายชุมพล จุลใส

ต่อมาช่วงเช้าวันที่ 23 ธันวาคม 2556 กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ปักหลักหน้าสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ขัดขวางไม่ให้ตัวแทนพรรคการเมืองเข้าสมัคร แต่ก็ยังมีพรรคการเมืองบางพรรคเล็ดลอดเข้าไปได้ โดย กกต.แนะนำให้บรรดาผู้สมัครที่ไม่สามารถเข้ารายงานตัวได้ก่อนเวลา 08.30 น. ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สน.ดินแดง กองบังคับการกองปราบปราม และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อเป็นหลักฐาน

ด้านมวลชนส่วนหนึ่งก็เคลื่อนไปปิดล้อมที่ สน.ดินแดงด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 กลุ่ม กปปส.ประกาศยุติการชุมนุม และเดินทางกลับที่ตั้ง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ในขณะนั้น เผยว่าได้นัด 34 พรรคที่มีความประสงค์จะลงรับเลือกตั้ง จับหมายเลขผู้สมัครในวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ในเวลา 09.00 น. โดยไม่ได้เปลี่ยนสถานที่

แต่แล้วในช่วงเช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2556 กลุ่ม กปปส.ก็ย้อนกลับมาชุมนุม และพยายามบุกเข้าไปในอาคารกีฬาเวสน์ เพื่อขัดขวางการจับหมายเลข

กลายเป็นการปะทะเดือดที่มีความรุนแรงขึ้น!!!

คสช.รัฐประหาร

สรุปเหตุสลดตาย 2-เจ็บ 153

เหตุการณ์วันที่ 26 ธันวาคม 2556 จบลงด้วยความสูญเสีย มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 2 ราย บาดเจ็บ 153 คน โดยผู้เสียชีวิตได้แก่ ด.ต.ณรงค์ ปิติสิทธิ์ ผบ.หมู่งานจราจร สน.ตลาดพลู ถูกกระสุนปืนยิงเข้าบริเวณหน้าอกด้านขวา 1 นัด กระสุนทะลุตัดเข้าเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดง ภายในช่องอกจนเสียชีวิต

ลักษณะกระสุนนั้น ถูกยิงจากบนลงล่าง ซ้ายไปขวาและหน้าไปหลัง

ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนายเอกชัย พลภักดี ชาว จ.เชียงราย ผู้ต้องหาตามหมายจับ ในคดีใช้อาวุธปืนยิง ด.ต.ณรงค์ ขณะปฏิบัติหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชน ในความผิดข้อหาฆ่า และพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่, มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนใว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว

ทั้งนี้ สามารถจับกุมดำเนินคดีได้เนื่องจากนายเอกชัยถูกตำรวจ สน.มักกะสัน จับกุมในคดีครอบครองอาวุธปืน และเมื่อส่งอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวให้กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ตรวจสอบพบว่าตรงกับอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุยิง ด.ต.ณรงค์ ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายเอกชัยให้การว่าช่วงเวลาดังกล่าวได้ร่วมชุมนุมกับ กปปส. โดยทำหน้าที่เป็นการ์ดให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม

ขณะที่ผู้เสียชีวิตอีกราย คือ นายวสุ สุฉันทบุตร ผู้ชุมนุมกลุ่ม คปท. ถูกยิงขณะเดินเท้าไปยังตึกกระทรวงแรงงาน หน้าทางเดินสำนักงานประกันสังคม

โดยแพทย์ชันสูตรระบุว่า นายวสุมีบาดแผลถูกยิงด้วยกระสุนปืน ลักษณะฉีกขาดขนาด 1 ซ.ม. ขอบไม่เรียบ เข้าได้กับหัวกระสุนปืนที่เป็นทางเข้า และมีบาดแผลลักษณะฉีกขาดที่กระสุนออกอีก 1 รู ซึ่งกระสุนทะลุบริเวณใต้ท้องชายโครงด้านหน้าฝั่งซ้ายทะลุออกหลังฝั่งขวา แต่ไม่พบเขม่าดินปืน ผลของกระสุนทำลายช่วงบริเวณช่องท้องอันเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต

ทั้งนี้ ศาลอาญามีคำสั่งในการไต่สวนการตายว่าถูกกระสุนปืนจากคนร้าย โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ

เป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้น

ต่อมาการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้จัดการเลือกตั้งพร้อมกันในวันเดียว จากการขัดขวางการเลือกตั้งในบางพื้นที่

นำมาซึ่งความโกลาหลทางการเมือง และการรัฐประหารยึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์

เป็นที่มาซึ่งมีผลถึงปัจจุบัน!!!