แคนดิเดตนายกฯ นอกโผปาร์ตี้ลิสต์ ความเหมือนที่แตกต่างของ ‘2 ขั้ว’ ‘อุ๊งอิ๊ง’ โพลแรงที่ 1 ‘พิธา’ อันดับ 2 ‘ตู่’ เหนือ ‘ป้อม’ ทุก ‘ผลสำรวจ’

บทความในประเทศ

 

แคนดิเดตนายกฯ นอกโผปาร์ตี้ลิสต์

ความเหมือนที่แตกต่างของ ‘2 ขั้ว’

‘อุ๊งอิ๊ง’ โพลแรงที่ 1 ‘พิธา’ อันดับ 2

‘ตู่’ เหนือ ‘ป้อม’ ทุก ‘ผลสำรวจ’

 

วันที่ 4-7 เมษายน พ.ศ.2566 เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และพรรคการเมืองต้อง แจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติจะเสนอสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หรือแคนดิเดตนายกฯ อย่างเป็นทางการ

แต่เอาเข้าจริง หลายพรรคการเมืองได้ประชุมกรรมการบริหารพรรค และเปิดชื่อแคนดิเดตนายกฯ กันเกือบทุกพรรคแล้วในช่วงปลายเดือนมีนาคม ยกเว้นพรรคเพื่อไทยที่ยังเปิดชื่อแคนดิเดตไม่ครบทั้ง 3 คน

พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเดียวที่มีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ มากที่สุด 3 คน คนแรกคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย คนที่สองคือ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แต่ไม่มีรายชื่ออยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ร้อนขึ้นมาว่า แคนดิเดตนายกฯ ควรเป็น ส.ส.หรือไม่ เพื่อยึดโยงกับประชาชน

ทำให้นายเศรษฐาอธิบายผ่านทวิตเตอร์ว่า “หากผมถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งผ่านขั้นตอนการสรรหาจากกรรมการบริหารพรรค นั่นคือสิ่งแสดงว่าผมยึดโยงกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนร่วมกันตัดสินใจว่าหากต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเพื่อไทย จึงต้องเลือก ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย”

“ผมไม่ได้ลอยมาจากไหน และทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดขึ้นครับ”

 

ส่วนแคนดิเดตที่สามของพรรคเพื่อไทย ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นนายชัยเกษม นิติสิริ ประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง

หรือจะเป็น นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ

หรือจะเป็นรายชื่อเซอร์ไพรส์?

กล่าวสำหรับชัยเกษม และ นพ.พรหมินทร์ ทั้งสองต่างเป็นบุคคลที่พรรคเพื่อไทยทาบทามเพื่อเป็นแคนดิเดต นายชัยเกษมเคยดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด หลังจากเกษียณอายุราชการได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 โดยการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 นายชัยเกษมมีชื่อเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยมาแล้ว และชื่อของชัยเกษม เป็น 1 ใน 100 ปาร์ตี้ลิสต์พรรคเพื่อไทย

ขณะที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือหมอมิ้ง ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ อายุ 69 ปี ชื่อของเขาไม่ได้อยู่ในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค

หมอมิ้งเป็นแกนนำสายตรงทั้งบ้านจันทร์ส่องหล้า และสายในใกล้ชิดนายทักษิณ ชินวัตร มากที่สุดตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และเคยเป็นลูกหม้อกลุ่มชินตั้งแต่ขณะที่ทักษิณทำธุรกิจยุคแรก

นายชัยเกษมยอมรับว่า มีการพูดคุยทาบทามกันจริง สำหรับกระแสข่าวแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย นายชัยเกษมกล่าวว่า “ถ้าดู ณ ปัจจุบัน ผมคิดว่าชื่อที่เปิดออกมา ยังไม่มีใครที่คิดว่าประชาชนต่อต้าน หรือว่ากลุ่มใดต่อต้าน ได้สรรหาคิดมาพอสมควรแล้วว่า คนที่มีความรู้ความสามารถโอเค วิสัยทัศน์โอเค ผลงานที่ผ่านมาโอเค ยังไงหาข้อตำหนิไม่ได้ เอานี้ดีกว่า”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ยังมีอีก 2 ชื่อโผล่ออกมาด้วย นั่นคือ นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ซีอีโอ หรือแม่ทัพใหญ่เอไอเอส และ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร แต่ก็จางหายไปในที่สุด

 

ส่วนแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืนยันด้วยตัวเองว่า พรรคก้าวไกลมีตนเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้น

ทางพรรคยังยึดหลักการว่า แคนดิเดตนายกฯ ต้องเป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ อันเป็นไปตามหลักการที่ผ่านการต่อสู้มาตั้งแต่พฤษภาคม 2535 และถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540

ด้านพรรคในปีกอนุรักษนิยม พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคนี้นิยามตัวเองอย่างชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์คือรวมไทยสร้างชาติ รวมไทยสร้างชาติคือ พล.อ.ประยุทธ์ พรรคนี้ กรรมการบริหารพรรครวมไทยสร้างชาติได้ประชุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 มีมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ลำดับที่ 1

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ลำดับที่ 2

ท่ามกลางคำถามว่าการมีแคนดิเดต 2 คนนี้เป็นแผน 2 ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้ปีครึ่ง จากนั้นอาจให้ เดอะตุ๋ย พีระพันธุ์ เป็นต่อจนครบวาระ ใช่หรือไม่ ขณะเดียวกันมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นช่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ก้าวลงจากการเมือง หากไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ได้

การจัดทำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ไม่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น แกนนำพรรคให้เหตุผลว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานคณะกรรมการกำหนดแผนและยุทธศาสตร์พรรคอยู่แล้ว และเป็นสมาชิกพรรค เป็นผู้นำในการปราศรัยและลงพื้นที่ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์

โดยปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคนี้ ลำดับ 1 เป็นนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค และลำดับ 2 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค

พรรคปีกอนุรักษนิยมอีกพรรคคือ พรรคพลังประชารัฐ ในการประชุมกรรมการบริหารพรรค วันที่ 27 มีนาคม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้เสนอชื่อ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพียงรายชื่อเดียว ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบเป็นเอกฉันท์

 

ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ประกาศบนเวทีปราศรัยหาเสียงอย่างชัดเจนว่า ถ้าเลือกว่าที่ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทยเป็น ส.ส.แล้ว มีคนเดียวเท่านั้นในพรรคภูมิใจไทยที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไม่มีคนอื่น

นายศักดิ์สยามประกาศว่า “ต้องบอกกับพี่น้องให้ชัด เพราะเดี๋ยวจะมีบางคนมาบอกว่าเลือกภูมิใจไทยแล้วไปได้คนอื่นมาเป็นนายกฯ ไม่มีหรอกครับ วันนี้ต้องอนุทิน ชาญวีรกูล คนเดียวเท่านั้น”

สำหรับบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ทั้งสิ้น 100 คน อันดับ 1 เป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค อันดับ 2 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรค

 

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (29 มีนาคม) พิจารณารายชื่อบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งทั้ง 400 เขต และ100 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ ปชป.เพียงรายชื่อเดียว ในการเป็นนายกรัฐมนตรี

เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เลือกนายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งเพียงคนเดียว ส่วนพรรคชาติพัฒนากล้า ยังไม่ฟันธงว่าจะเลือกกรณ์ จาติกวณิช เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว

หรือจะมีชื่อสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า เป็นแคนดิเดตคนที่สอง หรือไม่?

 

จากแคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรคการเมือง ถ้าวัดความนิยมผ่านสำนักโพลที่น่าเชื่อถือ 3 สำนัก จะเห็นเรตติ้งความนิยมที่ค่อนข้างสอดคล้องกันอย่างมาก

โพลแรกคือ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยแพร่ 26 มีนาคม เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คน กทม.เลือกพรรคไหน” พบว่า บุคคลที่คนกรุงเทพฯ สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้มากที่สุดคือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยเฉือนเอาชนะ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ไปไม่ถึง 1%

สำหรับคะแนนนิยมของว่าที่แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคต่างๆ มีคะแนนเรียงลำดับ ดังนี้

อันดับ 1 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล 25.08%

อันดับ 2 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย 24.20%

อันดับ 3 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ 18.24%

อันดับ 4 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยสร้างไทย 5.96%

อันดับ 5 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พรรคเสรีรวมไทย 5.68%

ก่อนหน้านี้ ‘นิด้าโพล’ เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 1” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-8 มีนาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 38.20 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อันดับ 2 ร้อยละ 15.75 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

อันดับ 3 ร้อยละ 15.65 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

สํานักโพลที่สอง คือ โพลไทยรัฐ ที่ทำแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 160,852 ราย ที่สอบถามว่า คุณจะเลือกแคนดิเดตคนใดเป็นนายกรัฐมนตรี

พบว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนไทยรัฐโพลอันดับหนึ่งที่ 24.43%

ตามมาด้วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ได้จำนวน 21.58%

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน 12.8%

ตามมาด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 9.89%

นายเศรษฐา ทวีสิน 9.37%

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคไทยสร้างไทย จำนวน 8.8%

 

สํานักโพลที่สาม คือ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเฉพาะผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ กรณี “คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 10,614 คน (สำรวจทางภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 1-17 มีนาคม 2566 ก่อนที่จะประกาศยุบสภา พบว่า พรรคที่คนไทยนิยมเป็นอันดับ 1 คือ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 46.16

รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ร้อยละ 15.43

พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 11.12

พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 8.73

และพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.71

เมื่อจำแนกตามอายุ พบว่า กลุ่มอายุ 18-30 ปี นิยมพรรคก้าวไกลมากที่สุด ร้อยละ 37.85 ส่วนกลุ่มอายุอื่นๆ นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด

เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด ส่วนภาคใต้นิยมพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด ร้อยละ 24.71 ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 21.72

จากสำนักโพลที่เชื่อถือได้พบว่า แคนดิเดตนายกฯ ที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ คือ อุ๊งอิ๊ง พรรคเพื่อไทย ตามด้วย พิธา พรรคก้าวไกล ถัดจากนั้นคือ พล.อ.ประยุทธ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เรตติ้งดีกว่า พล.อ.ประวิตร พรรคพลังประชารัฐ