เลือกตั้งเพื่อปากท้องและอุดมการณ์ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ข่าวเพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐและคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ คือหนึ่งในข่าวเลือกตั้ง 2566 ซึ่งน่าเบื่อที่สุดในช่วงที่ผ่านมา

เพราะไม่เพียงคำถามจะซ้ำซาก คำตอบที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตอบก็ซ้ำซากด้วย

นั่นก็คือเพื่อไทยยืนยันว่าไม่จับมือด้วยแน่ๆ ถ้าได้ ส.ส.เกิน 310

ส่วนพลังประชารัฐก็ปล่อยข่าวจับมือแน่ๆ ตลอดเวลา

ล่าสุด อดีตรัฐมนตรีพลังประชารัฐที่ย้ายมาเพื่อไทยอย่างคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน ก็ทำให้เรื่องนี้น่าเบื่อมากขึ้นไปอีก

เพราะคุณสมศักดิ์พูดตั้งแต่วันแถลงเข้าพรรคว่า พรรคการเมืองทุกพรรคจับมือกันได้หมด ที่ด่ากันตอนเลือกตั้งเดี๋ยวก็จบ ถึงเวลาทุกคนต้องมาจับมือกันเพื่อทำงานให้ประเทศร่วมกัน

ฟังดูไม่เห็นหัวประชาชนเลย และฟังดูเหมือนสะท้อนความคิดที่ไม่สนว่าคนที่เลือกคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา และคนที่ต้านคุณประยุทธ์จะรู้สึกอย่างไรด้วย หากจู่ๆ พรรคที่ตัวเองเลือกจะไปจับมือกับพรรคอื่นหลังจากหาเสียงกับประชาชนด้วยการด่าพรรคนั้นและแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคนั้นตลอดเวลา

ล่าสุดของล่าสุด คุณอนุชา นาคาศัย ซึ่งอยู่กลุ่มเดียวกับคุณสมศักดิ์ และคุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ผสมโรงปั่นประสาทเรื่องนี้ต่อไปอีก เพราะเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหลังไปรวมไทยสร้างชาติแล้วคุยกับคุณสมศักดิ์และคุณสุริยะที่ย้ายไปอยู่เพื่อไทยหรือไม่

คุณอนุชาก็ไม่ตอบปฏิเสธ แต่ใช้วิธีโบกมือเดินหนีนักข่าวไปทันที

 

เรื่องนักการเมืองบางพวกผสมพันธุ์ใครก็ได้เป็นเรื่องที่คนไทยสาปแช่งมานาน

และนอกจากก้าวไกลที่ประกาศแต่แรกว่าไม่ร่วมรัฐบาลกับ พปชร.และ รทสช.ทุกกรณี พรรคใหญ่อื่นก็ไม่พูดแบบนี้อีก เว้นเพื่อไทยที่ช่วงหลังรองหัวหน้าพรรคจึงแถลงว่าจะตั้งรัฐบาลกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยก่อน

คุณสมศักดิ์คือตัวอย่างของนักการเมืองที่พร้อมจับมือกับใครก็ได้ ขอให้ได้ตั้งรัฐบาล ซึ่งความหมายจริงๆ คือขอให้ได้เป็นรัฐมนตรี

หรือถ้าเป็นเองไม่ได้เพราะเงื่อนไขทางกฎหมาย ก็ให้ลูกเมียหรือลูกน้องเป็นแทน

หรือพูดง่ายๆ คือใช้การเมืองเข้าสู่อำนาจโดยไม่ต้องสนใจอุดมการณ์อะไรเลย

อุดมการณ์สำคัญหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องเถียงกัน แต่ที่แน่ๆ ไม่มีพรรคและนักการเมืองหน้าไหนกล้าประกาศว่าไร้อุดมการณ์ ทำงานการเมืองเพื่ออำนาจเท่านั้น

ส่วนคำพูดว่าอุดมการณ์ไม่สำคัญมักเกิดเมื่อต้องทำทุกทางให้ได้อำนาจ จากนั้นสื่อแนวเลียนายก็จะไปปั่นต่อว่าใครก็ทำแบบนี้เหมือนกัน

พรรคการเมืองกับสมาชิกไม่จำเป็นต้องมีจุดยืนตรงกันทุกกรณี

แต่คุณสมศักดิ์และคุณสุริยะมาพรรคพร้อมคนในสังกัดจนมีโอกาสเกิด “มุ้ง” และมีบทบาทในพรรคกว่าคนอื่นๆ

จนมุมมองเรื่องการตั้งรัฐบาลของคุณสมศักดิ์อาจมีผลต่อทิศทางของพรรคในอนาคตจนต่างจากที่พูดไว้ในปัจจุบัน

 

ความระแวงว่าเพื่อไทยจะจับมือพลังประชารัฐสร้างความระคายเคืองให้เพื่อไทยมานาน และยิ่งคุณวิรัช รัตนเศรษฐ จากพลังประชารัฐพูดถึงขั้นว่าคุณทักษิณ ชินวัตร ตกลงให้คุณประวิตรเป็นนายกฯ เพื่อไทยยิ่งเสียหายจากคำพูดนี้ยิ่งขึ้นจนคุณทักษิณ, คุณภูมิธรรม เวชยชัย และคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ต้องยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีมูลเลย

นักการเมืองอาจมองว่าใครจับมือกับใครก็ได้เพื่อตั้งรัฐบาล แต่ความขัดแย้งทางการเมืองหลังปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2553 และย้อนไปถึง 2549 ทำให้สังคมไทยเกิด “ความขัดแย้งทางอุดมการณ์” จนการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่าง “ฝ่ายประชาธิปไตย” กับ “ฝ่ายเผด็จการ” เข้มข้นขั้นปฏิเสธไม่ได้เลย

สำหรับประชาชนที่ไม่ใช่กองเชียร์ของพรรคระดับไม่ลืมหูลืมตา ประเทศไทยปี 2566 คือประเทศที่ทหารรัฐประหาร 2 ครั้งจนมีอำนาจปกครองทางตรงและทางอ้อมกว่า 17 ปี โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะความสนับสนุนของชนชั้นสูงและ “อำมาตย์” ที่พรรคเพื่อไทยเคยเรียกหลังปี 2553 เป็นต้นมา

ภายใต้ระบอบการเมืองที่ “อำมาตย์” มีบทบาทอย่างแรงกล้ายิ่งขึ้นหลังปี 2557 รัฐบาล, ทหาร, ส.ว., พรรคการเมือง และองค์กรอิสระได้ทำเรื่องต่างๆ ที่สวนทางกับประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัคซีนโควิด, ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ, ยุบอนาคตใหม่, ยัดคดีผู้ชุมนุมปี 2563 ฯลฯ

นับตั้งแต่ปี 2557 จนปัจจุบัน นักการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลไม่เคยทำเรื่องที่ประชาชน “ฝ่ายประชาธิปไตย” เรียกร้องแม้แต่นิดเดียว

คุณสมศักดิ์และคุณสุริยะก็เหมือนรัฐมนตรีคนอื่นที่เงียบกริบตอนประชาชนขอวัคซีน mRNA, ไม่แก้รัฐธรรมนูญ และไม่ว่าอะไรตอนรัฐบาลยิงผู้ชุมนุม

ยิ่งฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอย่างเข้มข้นมา 4 ปี ความรู้สึกรังเกียจ ส.ส.และรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลามไม่หยุด

“ความขัดแย้งทางอุดมการณ์” ไม่ได้เป็นเพียงความแตกต่างทางอุดมการณ์ที่ต่างคนต่างอยู่ก็จบ แต่ยังเป็นความไม่พอใจต่อคนที่เกี่ยวข้องกับความล้มเหลวของรัฐบาลที่ผ่านมา

 

ทันทีที่มีข่าวเรื่องเพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐทั้งจากการปล่อยข่าว, จากคำพูดของคนในพรรค, จากรัฐธรรมนูญที่ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ และจากการประเมินความต้องการได้องค์กรอิสระเป็นพวก ความรู้สึกว่าเพื่อไทย “แปดเปื้อน” จึงลุกลามในระดับใดระดับหนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย

คุณทักษิณพูดถูกว่า ถ้าเพื่อไทยชูประวิตรเป็นนายกฯ ก็โง่เต็มที เพราะด้วยจำนวน ส.ส.พลังประชารัฐที่ย้ายมาเพื่อไทยพร้อมคุณสมศักดิ์, คุณสุริยะ และคุณสุชาติ ตันเจริญ และด้วยจำนวน ส.ส.ที่อาจน้อยกว่าเพื่อไทยเกือบ 4-5 เท่า เพื่อไทยไม่จำเป็นต้องจับมือกับพลังประชารัฐหรือชูคุณประวิตรเลย

พลังประชารัฐรอบที่แล้วได้ ส.ส.เขต 97 คนซึ่งเป็น ส.ส.ที่ดูดจากพรรคอื่น 37 คน, เป็นคนหน้าใหม่ซึ่งไม่เคยมีตำแหน่งอะไรเลย 19 คน และเป็นนักการเมืองท้องถิ่นมาก่อน 35 ซึ่งเมื่อหักจำนวน ส.ส.ที่ย้ายไปพรรคอื่น พลังประชารัฐรอบนี้ได้ ส.ส.ไม่มีทางเกิน 50 จนไม่คุ้มที่เพื่อไทยจะเสียชื่อเลย

แม้สื่อสายเลียทุกค่ายจะอวยพรรคตัวเองโดยบอกว่าทุกพรรคทำทุกทางให้เป็นรัฐบาล คำประกาศของก้าวไกลเรื่องไม่เป็นรัฐบาลกับ พปชร.และ รทสช. ส่งผลให้พรรคอื่นเจรจาตั้งรัฐบาลตามใจชอบยากขึ้นแน่ เพื่อไทยก็บอกไม่จับมือมั่ว

และสิ่งที่เราไปลงคะแนนคือ “ผู้แทนราษฎร” ไม่ใช่รัฐบาล

 

ควรสังเกตด้วยว่าพรรคการเมืองส่วนมากปราศรัยหาเสียงโดยชูเรื่อง “ปากท้อง” มากกว่าอุดมการณ์ สื่อและนักวิชาการสายเลียบางคนจึงถึงกับดูถูกดูแคลนว่า “ชาวบ้าน” ไม่มีอุดมการณ์ สนใจแค่เรื่องกินอิ่มนอนหลับเท่านั้น ซึ่งเป็นข้ออ้างเดียวกับคุณประยุทธ์และรัฐบาลเผด็จการทั่วโลกเป๊ะเลย

สำหรับคนที่เหยียดหยามว่า “ชาวบ้าน” หรือ “คนจน” ไม่มีอุดมการณ์ รวมทั้งคนที่เลี่ยงบาลีไปใช้คำว่าคนรวยและคนชั้นกลางเรื่อง “อุดมการณ์” เพราะอยาก “ทำหล่อ” โปรดอย่าลืมว่าประเทศนี้มี “ชาวบ้าน” และ “คนจน” เป็นล้านๆ ที่ลงถนนในปี 2553 และต่อสู้รูปแบบอื่นๆ เพื่อต่อต้านเผด็จการ

คนเราจะยากดีมีจนล้วนมีอุดมการณ์ได้เหมือนกัน คนจนรักประชาธิปไตยและคิดเรื่องผิดชอบชั่วดีได้เหมือนคนรวย นักการเมืองและลิ่วล้อที่ทำทุกทางให้ได้เป็นรัฐบาลจึงไม่มีสิทธิเหยียดหยามว่าคนจนหรือ “ชาวบ้าน” หมกมุ่นแค่กินอิ่มนอนหลับ เพราะสำนึกเรื่องความเป็นคนมีอยู่ในคนทุกคน

สำหรับนักการเมือง การชูเรื่อง “ปากท้อง” เปิดทางให้มีข้ออ้างในการทำทุกทางเพื่อให้ได้อำนาจรัฐโดยไม่คำนึงถึงอุดมการณ์ พรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ที่หาเสียงว่าไม่เอาประยุทธ์ในปี 2562 ก็อ้างเรื่องนี้ในการร่วมรัฐบาลประยุทธ์ และก็ยังอ้างแบบนี้จนถึงการเลือกตั้งครั้งปัจจุบัน

แม้พรรคการเมืองและนักการเมืองจะดิ้นรนพูดแต่เรื่องปากท้องเพื่อหลบคำถามเชิงอุดมการณ์อย่างการแก้ 112, การเอาผิดคณะรัฐประหาร, ความรับผิดชอบของ ส.ส.ที่หนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ ฯลฯ แต่ทันทีที่การดีเบตเลือกตั้งเริ่มขึ้น สื่อจะตั้งคำถามนี้ต่อพรรคและนักการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย

การหาเสียงเป็นได้ตั้งแต่การแถลงนโยบายและการพูดโดยไม่รับผิดชอบเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล การเลือกตั้งครั้งนี้คือโอกาสเป็นรัฐบาลของทุกพรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลมานาน และคือโอกาสตกเก้าอี้นายกฯ ของคนที่เป็นรัฐบาลมาหลายปีด้วย จึงเป็นการเลือกตั้งที่แข็งขันเข้มข้นที่สุดครั้งหนึ่งแน่นอน

เตรียมผิดหวังได้เลยสำหรับพรรคการเมืองที่ไม่สนใจเรื่องอุดมการณ์ และเตรียมกลับบ้านได้เช่นกันสำหรับนักการเมืองที่คิดว่าประชาชนเป็นเหมือนวัวควายตามคอกที่ต้องการแค่กินอิ่มนอนสบาย