จดหมาย

จดหมาย

ประจำวันที่ 31 มี.ค.-6 เม.ษ. 2566 ฉบับที่ 2224

 

• ร้อน (1)

หากเป็นลูกฟุตบอลโลก

“จดหมาย” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ปานประหนึ่งการยิงลูก “แฮตทริก”

ที่บรรจงปั่น “ฟรีคิก” ด้วย “ไซด์โป้ง” กระแทกยอดอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

…แฉลบผ่านปลายก้อย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เข้าประตูไปอย่างแยบยล-โล่งโจ้ง (ช็อกบรรดาสาวกฝั่งตรงข้ามให้หนาวสั่น งันงก)

ด้วยว่าเป็นลูกฟรีคิกที่แสนจะคลาสสิค (อำมหิต ลับ ลวง พราง อย่างเลือดเย็น) ส่งท้ายเกม ก่อนปิดฤดูกาล

เป็นลูกสูตรจากสโมสรเดียวกันเป๊ะทุกกระเบียด ในท่วงทำนอง เอาดีใส่ตัว เทความหมองมัวให้ผู้อื่น (ไม่เว้นแม้แต่คนเคยร่วมหัวจมท้ายในสถาบันเดียวกันมาอย่างนานนับเนื่อง)

…อาฟเตอร์ช็อกให้สามัญชนคนธรรมดาสูญเสียความมั่นคง ปลงมิได้ ร่ำไห้มิออก

โดยเฉพาะถ้อยแถลงที่ว่า “รัฐบาล คสช.โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความรู้ความชำนาญด้านการเมืองฯ”

อ่านแล้วพรั่นพรึงถึงอนิจจัง!!

…อนิจจา เป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ใหญ่ของประเทศชาติบ้านเมืองระดับนี้ไม่รู้ตัว ไม่รู้ขีดความสามารถของตน

แล้วยังดันทุรังมุทะลุไปบริหารจัดการชีวิตของประชาชนคนทั้งประเทศโดยที่ตัวเองไม่มีความรู้ความชำนาญ

แล้วกาลต่อมาเมื่อสุดจะยื้ออายุ คสช.

แล้วทำไมสมาชิกวุฒิสภา-หัวหน้าพรรคการเมือง-พรรคร่วมรัฐบาลจึงดั้นเมฆ (ทู่ซี้) ให้ท่านได้ไปต่อ

หรือว่ากลุ่มคนพวกนั้นก็ไม่สำเหนียก

ไม่มีความรู้ความชำนาญในการเลือกคนด้วยวุฒิภาวะ สามัญสำนึก ความรับผิดชอบต่อสังคมประเทศชาติตามมาตรฐานสากลโลกอย่างที่เขาว่า Put the right man on the right job

…คำตอบย่อมประจักษ์จากกาลเวลาที่ผ่านไป (ก่อนรัฐประหารพฤษภาคม 2557-นโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง มีนาคม 2562 และระยะกาลของรัฐเชียงกง – Veryกู้ – ยื้อยุทธ์ – หน้ากากคนดี)

ว่าผู้ใหญ่ – หัวหน้าพรรคการเมืองไทยบ้านเรา ณ วันนี้

ยังคงมีท่านใดให้ประชาชนเคารพ ศรัทธา เลื่อมใสในความซื่อสัตย์-สัจวาจา

เป็นผู้เสียสละ ทรงเกียรติยศศักดิ์ศรีเยี่ยงวิญญูชนผู้สร้างคุณประโยชน์ตอบแทนบุญคุณประเทศชาติบ้านเมืองโดยแท้จริง หรือไม่

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

อากาศร้อน-ร้อน เช่นนี้

“สงกรานต์ บ้านป่าอักษร”

ควรจะเตรียมน้ำเย็นๆ ให้พี่น้อง 3 ป. รินลดใส่กัน

จะได้คลายความร้อนรุ่มลงบ้าง

แต่ก็กลับทำให้เป็น สงกรานต์ (ระอุ)

ที่ทำให้ 3 ป.ผู้ซึ่งกำลังช่วงชิงในสมรภูมิเลือกตั้ง

สาดน้ำ “ร้อนร้อน” ใส่กัน!?!

• ร้อน (2)

สืบเนื่องจากรายงานข่าว

ที่ว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 อ.แม่สอด กองกำลังนเรศวร เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.ตาก

และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พร้อมหน่วยข่าวด้านความมั่นคง สนธิกำลังเข้าตรวจค้นตึกแถวในบริเวณหมู่บ้านมารวย ชุมชนหนาแน่น ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก เกือบ 40 คูหา

และมีการสอบปากคำพลเมืองเมียนมาประมาณ 100 คน ซึ่งในนั้นมีเด็กรวมอยู่ด้วย

เมื่อวันที่ 22 และ 23 มีนาคมที่ผ่านมา

เนื่องจากทราบว่ามีฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า กลุ่มกองกำลังป้องกันประชาชน หรือ PDF หลบหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในแม่สอด

นางเส็ง (Nang Sein) นักวิจัยประเทศเมียนมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ทางการไทยต้องไม่เนรเทศพลเมืองเมียนมาเหล่านี้กลับประเทศ

พวกเขาอาจเสี่ยงที่จะถูกคุมขัง ทรมาน หรือสั่งประหารชีวิตตามคำสั่งของกองทัพเมียนมา

พลเมืองเมียนมาซึ่งหลบหนีข้ามพรมแดนเข้ามา

คงต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว เพราะอาจถูกส่งกลับประเทศ และไม่ทราบชะตากรรมของตนเอง

หลายคนหลบหนีจากบ้านเกิด หลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้ปลอดภัยจากการปราบปรามการชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรงของกองทัพเมียนมา

พวกเขาต้องตกอยู่ในอันตราย เพียงเพราะเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ หรือเพราะความเชื่อทางการเมืองของตน

พวกเขาไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใครได้ และมีโอกาสในการหาเลี้ยงชีพไม่มากนัก

ในประวัติศาตร์ที่ผ่านมา ประเทศไทยรองรับและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้ลี้ภัยทั่วทั้งภูมิภาค

ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาและรัฐภาคีอาเซียน ประเทศไทยสามารถมีบทบาทให้ความคุ้มครองที่จำเป็นต่อประชาชนที่หลบหนีจากการถูกกดขี่และปราบปรามในเมียนมา

ทางการไทยควรยึดมั่นตาม “หลักการไม่ส่งกลับ” (principle of non-refoulement) ที่รับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของไทยเอง ประชาชนเหล่านี้มีสิทธิที่จะมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และเข้าถึงการขอลี้ภัย

แอมเนสตี้

อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

การเปิดด่านชายแดนไทย-เมียนมา

หลายจุด ทำให้สถานการณ์ร้อน-ร้อน

ที่ชายแดนของทั้ง 2 ประเทศคลายลง

ด้วยบรรยากาศของการติดต่อค้าขาย และท่องเที่ยว

แต่กระนั้น การสู้รบ

รวมถึงการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเผด็จการทหาร ในฟากฝั่งเมียนมา

ก็ทำให้สถานการณ์ร้อนระอุ

ข้อเรียกร้องแอมเนสตี้ฯ

จึงไม่รู้ว่าจะได้รับการตอบสนองจากฝ่ายรัฐบาลไทย หรือไม่-อย่างไร •