เมืองร้อยเอ็ด ไม่ใช่เมืองสิบเอ็ด | สุจิตต์ วงษ์เทศ

จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ชื่อ “ร้อยเอ็ด” จากคัมภีร์ “อุรังคธาตุ” (คือหนังสือตำนานพระธาตุพนม) ต้นฉบับเป็นใบลานที่จารอักษรธรรม ราว 400 ปีมาแล้ว (ปัจจุบันเก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ)

ตำนานพระธาตุพนม (“อุรังคธาตุ”) มีตอนหนึ่งเล่าเรื่องบ้านเมืองสมัยเริ่มแรกในอีสาน ว่ามีเมืองหนึ่งชื่อเมืองสาเกตนคร สร้างกำแพงล้อมรอบ และสร้างประตูเรียงรายร้อยเอ็ดประตู นับแต่นั้นเมืองสาเกตนครได้สมญาอีกว่า “เมืองร้อยเอ็ดประตู”

ต่อมามีนักค้นคว้ากลุ่มหนึ่งคัดค้านการอ่านเลขบอกจำนวนตามประเพณีอีสานและลาวว่า 101 (หนึ่ง-ศูนย์-หนึ่ง) ต้องอ่าน สิบเอ็ด (11) ไม่อ่านร้อยเอ็ด

“เมืองร้อยเอ็ดประตู” ไม่ถูก เพราะที่ถูกคือ “เมืองสิบเอ็ดประตู” และมีเมืองขึ้น 11 เมือง

ผู้มีอำนาจจังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อหลายปีมาแล้ว และยังมีอำนาจสืบทอดถึงทุกวันนี้ เชื่อคำบอกเล่านั้นโดยไม่ตรวจสอบหลักฐานวิชาการ และไม่ฟังคำทักท้วงจากกรมศิลปากรและนักวิชาการสถาบันต่างๆ

จากนั้นสร้างคำขวัญประจำจังหวัดว่า “สิบเอ็ดประตูเมืองงาม” พร้อมกับเผยแพร่ข้อมูลชุดนี้อบรมครอบงำครูและนักเรียนให้เชื่อตาม

 

ไม่มีเมืองสิบเอ็ดประตู

“เมืองร้อยเอ็ดประตู” ถูกทำให้เป็น “เมืองสิบเอ็ดประตู” มีต้นเรื่องจากไหนไม่รู้?

แต่พบต้นตอชุดหนึ่งในบทความชื่อ “ประวัติบางเรื่องเกี่ยวกับอีสาน” ของ จารุบุตร เรืองสุวรรณ ใน อีสานคดี หนังสือรวบรวมบทความเกี่ยวกับอีสาน โดยคณะอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (ที่ระลึกเนื่องในงานการละเล่นพื้นบ้านอีสาน ณ โรงละครแห่งชาติ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2521 หน้า 1-19) มีเนื้อความสำคัญ ดังนี้

“นครสาเกตุ หรือ 101 ประตู (สิบเอ็ดประตู) อยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน มีพระยาสุริยวงศาครอง ครั้นทิวงคตแล้วบ้านเมืองแตกสลายประชากรอพยพไปอยู่ทางจังหวัดหนองคายเดี๋ยวนี้”

“การอ่านสิบเอ็ด กลายเป็นร้อยเอ็ด การเขียนและอ่านภาษาอีสานโบราณนั้น สิบเอ็ดต้องเขียน 10 เสียก่อนแล้วจึงจะเขียนเลข 1 ต่อท้าย เมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีโปรดเกล้าให้ตั้งชื่อเมืองคงจะอ่านตามภาษาเขียนของทางภาคกลางจึงเพี้ยนไปเป็น 101 อ่านว่าร้อยเอ็ด คนภาคกลางมักจะเข้าใจภาษาทางภาคอีสานคลาดเคลื่อนบ่อยๆ”

แต่หลักฐานตามต้นฉบับ “อุรังคธาตุ” ตำนานพระธาตุพนม (อยู่ในหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ) เขียนเป็นตัวอักษรว่า “เมืองร้อยเอ็ดประตู” ไม่ได้มีครั้งเดียว แต่พบหลายแห่งล้วนเป็นตัวอักษร

และไม่เขียนเป็นตัวเลขสักแห่งเดียว

ดังนั้น “เมืองสิบเอ็ดประตู” จึงไม่มี ตามที่มีผู้พยายามทำให้มี

 

ไม่มีเมืองขึ้นสิบเอ็ดเมือง

“เมืองสิบเอ็ดประตู” มี “เมืองขึ้นสิบเอ็ดเมือง” พบข้อความในหนังสืออีสานคดี (2521) บอกรายชื่อเมือง ดังนี้

“ในสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชนั้นมีเมืองขึ้นอยู่สิบเอ็ดเมือง มีทางเข้าสิบเอ็ดประตูด้วยโดยถือเป็นสัญลักษณ์พิเศษของนครนี้

ด้านทิศเหนือ 1. ประตูเมืองฟ้าแดด (บ้านฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย) 2. ประตูเมืองสีแก้ว (บ้านสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด) 3. ประตูเมืองเซียงเหียน (บ้านเซียงเหียน อำเภอเมืองมหาสารคาม)

ด้านทิศตะวันตก 4. ประตูเมืองเปือย (บ้านเมืองเปือย อำเภอเมืองร้อยเอ็ด) 5. ประตูเมืองทอง (บ้านเมืองทอง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด) 6. ประตูเมืองหงส์ (บ้านเมืองหงส์อำเภอจตุรพักตรพิมาน)

ด้านทิศใต้ 7. ประตูเมืองบัว (บ้านเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย) 8. ประตูเมืองคอง (อยู่บริเวณอำเภอเมืองสรวง-สุวรรณภูมิ)

ด้านทิศตะวันออก 9. ประตูเมืองเซียงขวง (บ้านจาน อำเภอธวัชบุรี) 10. ประตูเมืองเซียงดี (บ้านโนนหัว อำเภอธวัชบุรี) 11. ประตูเมืองไพ (บ้านเมืองไพร อำเภอเสลภูมิ)”

แต่หลักฐานต้นฉบับใบลานอักษรธรรมของคัมภีร์ “อุรังคธาตุ” ตำนานพระธาตุพนม ไม่มีเรื่องเมืองขึ้นสิบเอ็ดเมือง

แผนที่ทหารเมืองร้อยเอ็ดถูกทำขึ้นใหม่ พ.ศ.2483 ใช้อ้างเป็นหลักฐานเรื่อง “สิบเอ็ดประตู” ไม่ได้ (เว้นเสียแต่ดันทุรัง) เพราะคูน้ำกำแพงดินของเมืองโบราณถูกรบกวนเปลี่ยนสภาพอย่างต่อเนื่องหลายครั้งเมื่อ 165 ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ.2318 ช่องตามคันดินว่ามีนับสิบ-สิบเอ็ด-สิบแปด ฯลฯ ถูดขุดเจาะโดยคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยที่ทำแผนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการคมนาคมเข้าออกในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ช่องทั้งหมดในแผนที่ทหารจึงไม่มีมาแต่เดิม ถ้าจะหาช่องเดิมก็ต้องตรวจสอบทางโบราณคดีเสียก่อน แต่ขณะนี้ไม่มีการตรวจสอบ จึงสรุปไม่ได้ [ภาพคัดลอกจากแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณเขตปลอดภัยในราชการแห่งจังหวัดทหารบกร้อยเอ็ด พ.ศ.2483 แสดงให้เห็นว่าคันดินรอบคูเมืองร้อยเอ็ดมีมากกว่า 11 ช่อง (นับได้ 18 ช่อง)]
ความทรงจำเรื่องตัวเลข

การบอกจำนวนตามประเพณีลุ่มน้ำโขง มี “ข้อสังเกต” ในงานวิจัยของ ธวัช ปุณโณทก อักษรไทยน้อย : การศึกษาในด้านอักษรวิทยา (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ของมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2521 หน้า 70) ดังนี้

(1.) เลขหลักสิบ มักจะเขียน 0 อยู่ด้วย เช่น 105 = สิบห้า

(2.) เลขหลักร้อย มักจะเขียนเป็นตัวหนังสือ เช่น สองพันห้าร้อยซาวสาม = สองพันห้าร้อยยี่สิบสาม

ผศ.ดร. บุญชู ภูศรี (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) อธิบายว่าการเขียนเลขลาวหลักสิบมี 0 คั่น เช่น สี่สิบเอ็ด เขียน 401 ต่อมาได้ยกเลิกไปราว พ.ศ.2100 ดังนั้น หนังสืออุรังคธาตุ เรียบเรียงหลัง พ.ศ.2100 จึงเขียนชื่อร้อยเอ็ดเป็นตัวอักษรว่าเมืองร้อยเอ็ด (ไม่เขียนเป็นตัวเลข)

ความทรงจำของคนท้องถิ่นตามประเพณีลุ่มน้ำโขงสมัยก่อน ไม่ได้แยกหลักสิบ-หลักร้อย และไม่ได้แยกก่อน พ.ศ.2100-หลัง พ.ศ.2100 แต่จำซื่อๆ อย่างเหมารวมว่าร้อยเอ็ด เขียนตัวเลข 101 ต้องอ่าน สิบเอ็ด หรือ 11 เท่านั้น โดยไม่เคยเห็นต้นฉบับตัวเขียนที่เขียนตัวอักษรธรรมว่า “เมืองร้อยเอ็ด” ไม่ได้เขียนตัวเลขว่า “101” (ผู้รู้สมัยหลังที่เขียนเรื่องร้อยเอ็ดก็ไม่ได้ตรวจสอบ)

ร้อยเอ็ดเป็นเมืองมีประตู 11 ช่อง เป็นเรื่องเล่าปากต่อปากแต่เมื่อไร? ตรวจสอบไม่ได้ แต่พบขณะนี้มีลายลักษณ์อักษรเก่าสุดที่บันทึกไว้จากคำบอกเล่า 62 ปีมาแล้ว ในหนังสือสภาพอีสาน ของ ฟรานซิส คริปส์ (เขียน พ.ศ.2504 แปลโดย ตุลจันทร์)

เรื่องนี้เป็นความทรงจำที่เกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับชื่อเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งยกเป็นหลักฐานไม่ได้ แต่เป็นพยานได้ว่าเคยมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน

 

“ร้อยเอ็ด” หมายถึงอะไร?

1. “ร้อยเอ็ด” ในชื่อจังหวัดร้อยเอ็ด ได้จากชื่อศักดิ์สิทธิ์ของเมืองในตำนานพระธาตุพนม (อุรังคธาตุ) ว่าเมืองสาเกตนครซึ่งเป็น “เมืองร้อยเอ็จประตู”

2. “เมืองร้อยเอ็จประตู” เป็นโวหารอุปมาอุปไมย โดยไม่ต้องการบอกปริมาณว่ามีมากถึงร้อยเอ็ดประตูอยู่จริงๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้

3. “เมืองร้อยเอ็จประตู” เป็นอุปมาโวหารดั่งเมืองทวารวดี ซึ่งแปลว่าเมืองที่มีประตูเป็นรั้วหรือกำแพง ซึ่งหมายถึงเมืองใหญ่มากที่มีช่องทางเข้าออกนับไม่ถ้วน เพราะมีพ่อค้าวาณิชนานาประเทศทั้งปวงเข้าออกเพื่อทำมาค้าขายวายล่องท่องไปๆ มาๆ สร้างความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์

เมืองทวารวดี (มีประตูมาก) เป็นเมืองของพระกฤษณะ ซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุ (คือ พระนารายณ์) พระวิษณุนอกจากอวตารเป็นพระกฤษณะแล้วยังอวตารเป็นพระราม (ในเรื่องรามเกียรติ์) •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ