ปูตินส่ง “อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี” ไปเบลารุส สัญญาณขยายสงคราม?

(Photo by Alexander NEMENOV / AFP)

ความวิตกว่าการทำสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซียอาจขยายวงลุกลามจนอาจทำให้สงครามนิวเคลียร์อุบัติขึ้นได้ มีขึ้นหลังวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศคำสั่งเตรียมความพร้อมกองกำลังป้องปรามนิวเคลียร์ของตนเองนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากบุกโจมตียูเครนวันแรกๆ เมื่อกว่าหนึ่งปีก่อน

ความกังวลนี้มีสัญญาณความเป็นไปได้มากขึ้นอีกหลังจากสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปูตินออกมาประกาศแผนการที่จะส่งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical Nuclear Weapons) ในคลังแสงของตนเข้าไปประจำการในประเทศเบลารุส พันธมิตรทางทหารที่เลือกยืนข้างรัสเซียในการทำศึกรุกรานยูเครนครั้งนี้มาตั้งแต่ต้น

ความเคลื่อนไหวข้างต้นมีขึ้นหลังจากอังกฤษตัดสินใจที่จะจัดหากระสุนเจาะเกราะที่มีแร่ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะบรรจุอยู่ให้กับยูเครน โดยที่ปูตินกล่าวอ้างถึงแผนการนี้ว่าเป็นไปตามคำร้องขอของ อเล็กซานเดอร์ กรีกอร์เยวิช ลูกาเชนโก ผู้นำเบลารุส ที่ร่ำร้องมานาน กระทั่งบรรลุความเห็นพ้องกันเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งก่อนหน้านี้รัสเซียก็ได้ช่วยเบลารุสในการอัพเกรดเครื่องบินของตนเองให้สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์มาได้แล้ว

ปูตินยังกล่าวย้อนสหรัฐอเมริกาด้วยว่า สิ่งที่รัสเซียจะทำนี้เป็นไปในแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกากระทำมาตลอดหลายช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจากการนำอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีของสหรัฐไปประจำการในดินแดนของชาติพันธมิตรยุโรปในกลุ่มนาโต ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ตุรกี และกรีซ

แต่ย้ำว่าสิ่งที่รัสเซียทำไม่เป็นการละเมิดพันธผูกพันระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์แต่ประการใด

 

หากถามว่าอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีคืออะไร มีพิษสงขนาดไหนถึงทำให้ชาติพันธมิตรตะวันตกเป็นกังวลจนอยู่นิ่งไม่ได้ที่รัสเซียจะนำเข้าไปติดตั้งในเบลารุส ชาติเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับยูเครนเป็นระยะทางถึง 1,084 กิโลเมตร ซึ่งรัสเซียได้ใช้เป็นฐานในการเคลื่อนกำลังพลและอาวุธเข้าไปสู้รบในยูเครนมาก่อนแล้ว

ต่อคำถามนี้บรรดานักวิชาการและนักเจรจาด้านการควบคุมอาวุธได้ใช้เวลานานอยู่พอสมควรในการถกเถียงกันว่าจะให้คำนิยามของอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีนี้อย่างไร

กระทั่งจำกัดความได้ว่าคืออาวุธที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายกองกำลังและอาวุธของศัตรูในสนามรบ เป็นอาวุธที่มีพิสัยโจมตีระยะใกล้และก่อผลในระดับต่ำกว่าอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ที่ใช้ติดตั้งบนขีปนาวุธพิสัยไกล ซึ่งสามารถทำลายล้างเมืองทั้งเมืองให้พินาศได้

นอกจากนี้ อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธียังไม่ได้ถูกกำกับอยู่ภายใต้ข้อตกลงการจำกัดควบคุมอาวุธระหว่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด

ซึ่งต่างจากอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ที่มีข้อตกลงควบคุมอาวุธคอยจำกัดไว้อยู่

รัสเซียไม่เคยเปิดเผยจำนวนหรือข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีที่ตนเองมีอยู่ในครอบครอง

แต่สหรัฐอเมริกาเชื่อว่ารัสเซียมีอาวุธดังกล่าวอยู่ในครอบครองราว 2,000 ลูก ซึ่งรวมถึงระเบิดนิวเคลียร์ที่สามารถประจำการบนเครื่องบิน หัวรบนิวเคลียร์สำหรับติดบนขีปนาวุธพิสัยใกล้และกระสุนปืนใหญ่

หากรัสเซียส่งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีเข้าไปติดตั้งในเบลารุสตามแผนที่ปูตินประกาศไว้ ก็จะกลายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 ที่รัสเซียจะมีการเคลื่อนอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีไปประจำการนอกประเทศของตนเอง

 

ความเคลื่อนไหวนี้ของรัสเซียถือเป็นการเพิ่มเดิมพันของปูตินในความขัดแย้งครั้งนี้และเป็นการส่งสัญญาณความพร้อมของรัสเซียที่จะยกระดับสงครามในยูเครน

โดยการส่งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีเข้าไปในเบลารุส จะช่วยให้เครื่องบินรบและขีปนาวุธของรัสเซียสามารถโจมตีเป้าหมายที่เล็งไว้ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น หากรัสเซียตัดสินใจใช้อาวุธนี้ และยังจะเพิ่มขีดความสามารถของรัสเซียในการกำหนดเป้าหมายที่อยู่ในดินแดนชาติสมาชิกนาโตในยุโรปคตะวันออกและยุโรปกลางอีกด้วย

นักวิเคราะห์ทางทหารของยูเครนรายหนึ่งวิเคราะห์ท่าทีของผู้นำรัสเซียว่า ปูตินกำลังใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือข่มขู่เพื่อสร้างสถานการณ์เหนือกว่าในสนามรบและบีบให้พันธมิตรตะวันตกลดการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับยูเครน

ความเคลื่อนไหวนี้ของรัสเซียเป็นพัฒนาการที่สำคัญที่จะต้องจับตาต่อไปว่าปูตินจะลงมือกดปุ่มคำสั่งให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีนี้จริงๆ หรือไม่และเมื่อใด

เมื่อนั้นสงครามคงจะไม่จำกัดวงอยู่แค่ในยูเครนเป็นแน่!