คนยังลุ่มหลงเริงร่า แต่ ‘ระบบ’ บอบช้ำ

“อุปกิต ปาจรียางกูร” สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปิดหน้าสู้แล้วตั้งแต่จันทร์ที่ 27 มีนาคม วันแรกของสัปดาห์นี้

บางสำนวนสื่อใช้คำว่า “ดอดมอบตัว” บางสำนวนใช้ว่า “ชิงมอบตัว” หรือบ้างก็ว่า “ย่องเข้าพบ”

จะว่าไปแล้วการเดินทางเข้าพบผู้บังคับการกองปราบปรามยาเสพติด 3 ของนายอุปกิตครั้งนี้ ล่าช้าไปเกือบครึ่งปี

ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว หน่วยสืบสวนของตำรวจนครบาล แกะรอยติดตามจับกุมเครือข่ายยาเสพติดทั้งในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลต่อเนื่อง 6 คดี ต่อมาการสืบสวนสอบสวนขยายผลจนนำไปสู่การจับกุม “ตุน มิน ลัต” นักธุรกิจขาใหญ่ของเมียนมากับพวกรวม 6 คน

จากเล็กจึงบานปลายขยายวงพัวพันหลายธุรกิจ หลายนิติบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นเครือข่าย เป็นขบวนการ ดำเนินธุรกิจบังหน้า และเป็นช่องทางฟอกเงิน

“ตุน มิน ลัต” กับพวกถูกตั้งข้อหาสมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด สนับสนุนช่วยเหลือ และฟอกเงิน เจ้าหน้าที่ตำรวจอายัดทรัพย์รวมมูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาท รวมทั้งอายัดบัญชีต้องสงสัยฟอกเงินเพื่อพิสูจน์ทราบอีก 111 บัญชี

นั่นคือ ต้นเค้าของเรื่องระหว่างกันยายน-ตุลาคม 2565

 

ในวันที่ 3 ตุลาคม 2565 พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตรแห่งกองกำกับการ 2 กองบังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล ซึ่งเป็น 1 ในชุดสืบสวนจับกุมและขยายผลจนกระทั่งพบหลักฐานพอจะเชื่อได้ว่าพัวพันถึง “ส.ว.” คนหนึ่ง จึงคิดว่าจำเป็นจะต้องนำตัวเข้าสู่กระบวนการทางอาญาเพื่อพิสูจน์ จึงได้ทำคำร้องขอศาลให้ “ออกหมายจับ ส.ว.”

ระดับ “สารวัตร” นั้นวงการตำรวจยังถือว่าเด็กนัก แต่ด้วยพรรษาที่ยังไม่แก่ ความบริสุทธิ์ใจจึงยังคงมีอยู่มาก ไม่ซ่อนเร้น ซับซ้อน ยอกย้อนชวนให้น่าเวียนหัว

ดังจะเห็นได้ในคำชี้แจงของ “สารวัตรมานะพงษ์” ที่มีถึงนายปุณณะ จงนิมิตสถาพร 1 กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ว่า “ข้าพเจ้าใช้ดุลพินิจของข้าพเจ้าในการร้องขอออกหมายจับ เนื่องจากเห็นว่า มีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิตจำนวน 5 กรรม และสมาชิกวุฒิสภาที่ทำผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด จะต้องรับโทษหนักกว่าบุคคลธรรมดาหลายเท่าตัว จึงได้ยื่นคำร้องขอออกหมายจับ และหากผู้พิพากษาเห็นว่าไม่ควรให้มีการออกหมายจับก็สามารถทำได้ด้วยการไม่อนุมัติตามคำร้องของข้าพเจ้า”

จริงทีเดียว

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 8 ผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานองค์การการปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กรรมการ หรือผู้บริหาร หรือพนักงานรัฐวิสากิจ เจ้าพนักงาน กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของสถาบันทางการเงิน หรือกรรมการขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ กระทำความผิดตามหมวดนี้ ต้องระวังโทษ 2 เท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ฟอกเงิน มาตรา 10 และประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 180 ที่กำหนดโทษเป็น 3 เท่า

มองจากมุมของ “สารวัตรมานะพงษ์” ที่ทุ่มเทสืบสวนขยายผลจับกุมเครือข่ายยาเสพติด ที่กระทำลงไปในการยื่นคำร้องขอออกหมายจับ มิใช่หมายมุ่งปรักปรำ หากแต่ต้อง “ดำเนินต่อไป” เพื่อให้ “กระบวนการทางอาญา” พิสูจน์ จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับ ซึ่งต่อมาผู้พิพากษาเวรก็อนุมัติ “หมายจับ”

 

แต่ในวันเดียวกัน ฉับพลันทันท่วงทีที่สารวัตรมานะพงษ์กลับถึงหน่วยก็ถูกเจ้าหน้าที่ศาลเรียกตัวกลับไปพร้อมให้นำหมายจับ ส.ว.กลับไปด้วย

จากนั้นก็คือสิ่งที่ปรากฏในคำชี้แจง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการร้องขอออกหมายจัยนายอุปกิต ปาจรียางกูร และการเพิกถอนหมายจับ ที่มีถึงนายปุณณะ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม

เหตุเกิด 3 ตุลาคม 2565 ณ ห้องอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา จบลงด้วยการ “ถอนหมายจับ”

ถัดมาวันที่ 4 ตุลาคม 2565 “สารวัตรมานะพงษ์” จึงนำเอกสารพยานหลักฐานทั้งหมดพร้อมสำเนาหมายจับที่ถูกเพิกถอน ประกอบรายงานกระบวนการพิจารณาเพิกถอนหมายจับ เข้าร้องทุกข์ “กล่าวโทษ” ให้พนักงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 ดำเนินคดีกับนายอุปกิต

นั่นผ่านไปเกือบ 6 เดือน

กระทั่งจันทร์ที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา “ส.ว.อุปกิต” ดอดไปที่ บก.3 ปส. แจ้งความประสงค์ “ขอต่อสู้คดี” ต่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบที่อัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งแต่งตั้งเป็นคณะทำงาน มี “วัชรินทร์ ภาณุรัตน์” รองอธิบดีอัยการสอบสวน เป็นหัวหน้า

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงว่า หลังจากพนักงานอัยการได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำให้นายอุปกิตทราบ ก็แจ้งข้อหา เป็นสมาชิกวุฒิสภา สมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน เป็นสมาชิกวุฒิสภาร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

 

ที่จริงแล้ว หลังจากศาลอาญาเพิกถอนหมายจับ “ส.ว.อุปกิต” แม้พนักงานสอบสวนจะไม่ออกหมายเรียก ไม่แจ้งข้อกล่าวหา แต่คำร้องทุกข์กล่าวโทษของ “สารวัตรมานะพงษ์” ก็ยังคาอยู่

ภายหลังการจับกุมเครือข่าย ตุน มิน ลัต นายอุปกิตออกมาแถลงยอมรับว่า เคยเป็นเจ้าของโรงแรมฝั่งท่าขี้เหล็ก เมียนมา แต่พอได้เป็น ส.ว.ก็ขายทิ้งหมด และที่ผ่านมาก็ทำธุรกิจขายไฟฟ้าให้ตุน มิน ลัต ซึ่งมาปักหลักทำธุรกิจไฟฟ้าที่ไทย ทั้งยังการันตีว่า ตุน มิน ลัต ไม่ได้ขายอาวุธเถื่อน ไม่ได้ยุ่งกับยาเสพติด

คำว่า อำนวยความยุติธรรม หมายถึง การให้โอกาสทุกฝ่ายได้ต่อสู้กันอย่างเป็นธรรม

“อุปกิต” อยู่ในสายนิติบัญญัติน่าจะเข้าใจ “ระบบกล่าวหา” หลังจากถูกพาดพิงว่าข้องเกี่ยวสัมพันธ์ น่าจะ “ขอเวลาไม่นาน” แล้วรีบเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อแสดงความประสงค์ขอต่อสู้คดีเสียตั้งแต่แรก

ไม่ใช่ทอดยาวมาครึ่งปี

กล่าวในแง่ “ระบบ” ที่เป็นรากฐานแล้ว “ระบบยุติธรรม” กับ “กฎหมายไทย” ทันสมัยไม่แพ้ชาติใดในโลก

มีคุณลักษณะที่เป็น “เสรีนิยม” มีระบบที่บังคับให้ “ต้องเปิดเผย” เพื่อแสดงให้เห็นถึง “ความโปร่งใส” และตรวจสอบได้ อันเป็น “หลักประกัน” แก่ความยุติธรรม

ถ้าจะมีจุดอ่อนก็อยู่ที่ทรัพยากรบุคคลของแต่ละองค์กรกับผู้นำขององค์กร

กระบวนการยุติธรรมไม่ควรจะบอบช้ำจากคดี ตุน มิน ลัต!?!!