ข้อควรระวังการหาเสียง ช่วงรอมฎอนที่ชายแดนใต้

รายงานพิเศษ | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

ข้อควรระวังการหาเสียง

ช่วงรอมฎอนที่ชายแดนใต้

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ชายแดนภาคใต้โค้งสุดท้ายก่อนรับรอมฎอนระดับหัวหน้าพรรค (เกือบ) ทุกพรรค ลงหาเสียงตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงคืน

อย่างไรก็แล้วแต่ ช่วงเดือนรอมฎอน หรือถือศีลอด ตั้งแต่ 23 มีนาคม 2566-22 เมษายน 2566 การลงพื้นที่เพื่อหาเสียงของแต่ละพรรคคงต้องปรับอย่างแน่นอน

เพราะวิถีชีวิตมุสลิมช่วงเดือนนี้แตกต่างจากทุกวันรวมทั้งมีข้อควรระวังการหาเสียง

 

ศีลอดคืออะไร

บรรดานักปราชญ์อิสลามได้ให้คำจำกัดความของการถือศีลอด (นิยามในภาษาอาหรับ) ไว้ว่า “การถือศีลอดหมายถึงการงดเว้นจากการบริโภค การละเมิดกฎกติกามารยาทและการปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำนับตั้งแต่แสงรุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า (เวลากลางวัน)” อยู่ในประมาณเวลา 04.40-18.30 น.

กฎกติกามารยาทมีดังนี้

– เงื่อนไขของการถือศีลอด 1.นับถือศาสนาอิสลาม 2.บรรลุนิติภาวะ 3.มีความสามารถถือศีลอดได้ 4.มีสติสัมปชัญญะ 5.ไม่ใช่ผู้เดินทาง

– เงื่อนไขของการถือศีลอดที่ใช้ได้ 1.นับถือศาสนาอิสลาม 2.มีสติสัมปชัญญะ 3.ไม่มีประจำเดือน หรือเลือดหลังคลอด 4.การตั้งเจตนาด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ความจำเป็นที่สามารถอนุโลมไม่ต้องถือศีลอดได้แก่ ผู้ที่มีคุณสมบัติ 1.เดินทาง 2.ป่วย (ที่นำมาซึ่งความหายนะต่อร่างกาย) 3.หิวหรือกระหายจนเกินไป 4.ถูกบังคับ 5.ผู้ที่ทำงานหนัก 6.ผู้ที่ต้องการช่วยคนจมน้ำ 7.ตั้งครรภ์ 8.คนที่ให้นมลูก 9.คนชรา (โดยผู้ที่ได้รับการอนุโลมไม่ให้ถือศีลอดในกรณีดังกล่าวทั้ง 6 ข้อแรกต้องถือศีลอดชดเชยภายหลัง ส่วนบุคคล 3 กลุ่มหลังดังกล่าวสามารถเลือกระหว่างการถือศีลอดชดเชยและจ่ายทานชดเชย กล่าวคือ บริจาคอาหารให้คนจนจำนวน 1 มื้อต่อ 1 วันที่ขาดไป)

– สิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะและจำเป็นต้องชดเชยนั้น ได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้

1. เจตนาบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม (โดยไม่มีความจำเป็นทางศาสนา)

2. เจตนาทำให้น้ำอสุจิหลั่งออกมา (จะด้วยวิธีใดก็ตาม)

3. เสียสติ (โดยเป็นบ้าเป็นลมหรือสลบ)

4. เจตนาทำให้สิ่งใดล่วงล้ำเข้าไปภายในอวัยวะที่เป็นรู (เช่น หู จมูก ทวารหนัก และทวารเบา)

5. เจตนาทำให้อาเจียน

6. ปรากฏมีเลือดประจำเดือน (หัยฎฺ) และเลือดหลังคลอด (นิฟาส)

7. มุรตัด (สิ้นสภาพการเป็นมุสลิม)

– สำหรับผู้ที่เจตนาร่วมประเวณีในเวลากลางวันนั้น บุคคลดังกล่าวจะต้องถือศีลอดชดเชยพร้อมกับการขอไถ่โทษและถูกประจาน (ประกาศให้คนในชุมชนรู้) โดยกระบวนการขอไถ่โทษนั้นจะต้องปฏิบัติดังนี้ ปล่อยทาสหญิงให้เป็นอิสระ 1 คน หรือหากไม่มีความสามารถจะต้องถือศีลอดชดเชย 2 เดือนติดต่อกัน หรือหากไม่มีความสามารถอีกก็จะต้องบริจาคอาหารแก่คนยากจน 60 ทะนาน จำนวนคนละ 1 ทะนาน

– สิ่งที่พึงกระทำในการถือศีลอด

1. รับประทานอาหารมื้อที่ 2 (ประมาณเวลา 02.00-04.30 น.) ให้ช้าที่สุด

2. รีบละศีลอดด้วยอินทผาลัมก่อนละหมาดมัฆริบ

3. ไม่แปรงฟันหลังเวลาเที่ยง

4. บริจาคทาน

5. อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน

6. การปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิด

7. ทำดีและละเว้นความชั่วทุกชนิด

 

เป้าหมายการถือศีลอด

พระเจ้าได้ตรัสว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้า ดังที่พระองค์ได้เคยบัญญัติแก่ชนยุคก่อนจากท่าน เพื่อว่าสูเจ้าจะเป็นผู้ที่ยำเกรง” (อัลกุรอาน บทที่ 2 โองการที่ 183)

คำว่าผู้ยำเกรงตามทรรศนะอิสลาม หมายถึงการกระทำความดีและละเว้นความชั่ว

อิหม่ามชะฮาบุดดีน ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอิสลาม ได้อธิบายคำว่า ความดีในหนังสือ (al-Furuk) หน้า 15 ไว้ว่า “การกระทำความดีหมายถึงการช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ การบริจาคทานแก่คนยากจน การให้อาหารแก่ผู้ที่หิวโหย การให้เครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ขัดสน การพูดจาไพเราะอ่อนโยนกับทุกคน การให้ความเมตตาต่อผู้คน การปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน เพื่อขจัดความขัดแย้งและการทะเลาะวิวาท และอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับความดีทุกชนิด”

ท่านศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า “การถือศีลอดเป็นโล่ ถ้าหากว่าผู้หนึ่งในพวกท่านถือศีลอดในวันหนึ่งแล้วเขาไม่ทำชั่วและพูดจาหยาบคาย เมื่อมีผู้หนึ่งด่าทอต่อเขาหรือระบายความไม่ดีแก่เขา (ผู้ถือศีลอด) จงกล่าวว่า แท้จริงฉันถือศีลอด”

การถือศีลอดคือการขัดเกลาและฝึกฝนวิญญาณของมนุษย์เกี่ยวกับการอดทนและมีความพร้อมที่จะเผชิญกับทุกสถานการณ์ในแนวทางของอัลลอฮฺสุบหานะฮูวะตะอาลา

การถือศีลอดเป็นการรักษาร่างกายทั้งภายนอกและภายใน อีกทั้งยังได้มาซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ นั้นคือ การตักวา (การมีความสำนึกถึงอัลลอฮ หรือความเกรงกลัวอัลลอฮฺ)

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า กลางวันมุสลิมจะถือศีลอด งดเว้นจากการรับประทานอาหาร หักห้ามจากการทำไม่ดี ในขณะที่กลางคืนจะรวมตัวปฏิบัติศาสนกิจที่มัสยิด (บางมัสยิดมีคนเป็นพันทั้งผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็กๆ หญิงและชาย) โดยเฉพาะช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนการปฏิบัติศาสนกิจนั้นจะมีความเข้มข้นทั้งกลางวันและกลางคืน

 

ข้อควรระวังลงพื้นที่หาเสียง

1.(อ้าง) เกณฑ์ชาวบ้านตรวจราชการ

ในช่วงเดือนรอมฎอนไม่ควรอย่างยิ่งในการเกณฑ์คนไปฟังปราศรัยโดยเฉพาะช่วงเย็นใกล้ในเวลาใกล้ละศีลอด

อย่างไรก็แล้วแต่ มีแนวโน้มที่ผู้สมัครแต่ละคนแต่ละพรรคจะลงไปตามมัสยิด หรือชุมชนต่างๆ ที่เขาจะจัดงานละศีลอดร่วมซึ่งจะมีผู้นำศาสนา ตัวแทนผู้นำจากหลากภาคส่วนและประชาชนหลายพันหรืออาจถึงหมื่นร่วมกิจกรรม อย่างไรก็แล้ว ผู้สมัครจะต้องละมัดระวัง ก็บริจาคสมทบทุนเพื่อละศีลอด เพราะอาจผิดกฎหมาย กฎระเบียบ กกต.

3. ไม่ใช้ศาสนาหวังคะแนนเสียง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนมีวิถีชีวิตผูกพันกับศาสนา แต่ละวันจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับศาสนา มีผู้คนร่วมในศาสนสถาน เช่น มัสยิด ทุกอาทิตย์ ทุกวันศุกร์ประชาชนจะรวมตัวไปละหมาด อีกทั้งต้องฟังปาฐกถาธรรม หรือคนพื้นที่เรียกว่า คุตบะห์ ซึ่งมีไม่น้อยที่นักการเมืองจะใช้โอกาสนี้ร่วมกิจกรรม แต่ขณะนี้ผู้นำศาสนาและชาวบ้านเริ่มรณรงค์ไม่ใช้มิมบัร (แท่นอ่านคุตบะห์) และคุตบะห์ เป็นเวทีในการหาเสียง เพราะจะยิ่งสร้างความแตกแยกในชุมชน

นอกจากนี้ ผู้นำศาสนาและสำนักจุฬาราชมนตรี เริ่มรณรงค์ ห้ามนักการเมืองและประชาชนซื้อสิทธิ์ขายเสียงแม้บางคนจะพยายามเลี่ยงบาลี ด้วยวาทกรรมต่างๆ ในช่วงนี้ ไม่ว่า ฮิบะห์ ศอดาเกาะห์ และฮาดียะห์ มันก็เข้าข่ายริซวะห์ (สินบน) ตามหลักกฎหมายอิสลาม ผิดทั้งกฎหมายและหลักการอิสลาม โดยเฉพาะช่วงเดือนรอมฎอนอันมีเกียรติอันทรงคุณค่าจะมาเสียเพราะการเมือง