เสฐียรพงษ์ วรรณปก : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ – พระเวสสันดรให้ทานด้วยปัญญา

 

บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (15) พระเวสสันดรให้ทานด้วยปัญญา

หลังเขียนข้อเขียนเล็กๆ น้อยๆ ลงในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ผ่านมา มีท่านผู้อ่านหลายท่านแจ้งมาว่า อ่านแล้วชอบใจและเข้าใจ แต่ก่อนไม่เคยคิดในแง่มุมที่ผมคิด ว่าอย่างนั้น

มีท่านหนึ่งเป็นอาจารย์ ขออนุญาตคัดลอกไปให้นักเรียนอ่าน เพื่อจะได้มีเจตนาอันถูกต้องต่อพระเวสสันดรและพระพุทธศาสนา

เมื่อไม่นานมานี้ไปค้นเจอหนังสือ วารสารอักษรศาสตร์ ฉบับเฉลิมฉลอง 80 ปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จาก ศาสตราจารย์กิติคุณ ปรีชา ช้างขวัญยืน มีบทความเรื่องพระปัญญาบารมีของพระเวสสันดร ที่ท่านเขียนรวมอยู่ด้วย ผมรีบเปิดอ่านด้วยความยินดี

อ่านไปก็ขนลุกไปครับ ที่ทราบว่าอาจารย์ปรีชาก็คิดคล้ายกับผม แต่ท่านคิดลึกกว่า ผมจึงขอนำมาขยายให้ฟังตรงนี้เลย เพื่อเสริมให้ข้อเขียนที่แล้วมาสมบูรณ์ขึ้น

เนื่องจากภาษาของศาสตราจารย์เป็นภาษาวิชาการที่อลังการมาก ผมจึงขอถ่ายทอดออกมาโดยภาษาคอลัมนิสต์ก็แล้วกันละครับ จะได้ไม่ลำบากหาบันไดมาปีนดู

ในประเด็นที่พระเวสสันดรโพธิสัตว์ให้ลูกเป็นทาสนั้น อาจารย์ปรีชาบอกว่าเหตุผลหลักคือ เพื่อโพธิญาณ เมื่อสละเพื่อโพธิญาณ จึงมิใช่เรื่องส่วนตัว เพราะการบรรลุโพธิญาณนั้นเพื่อประโยชน์แก่คนส่วนมาก พูดง่ายๆ คือ เพื่อช่วยเหลือคนให้พ้นทุกข์แทนที่จะมองว่าเป็นการเห็นแก่ตัวกลับเป็นการเสียสละอันยิ่งใหญ่เสียอีก

ถามว่า พระเวสสันดรไม่รักลูกรักเมียหรือ จึงให้ลูกเมียเป็นทาน ตอบว่า รักยิ่งชีวิตดั่งคำยืนยันจากพระเวสสันดร (ในพระไตรปิฏก) ว่า

“เพราะเหตุแห่งโพธิญาณนั้น ทั้งสองเป็นที่เกลียดชังของเราก็หามิได้ พระมัทรีเทวีไม่เป็นที่รักเราก็หามิได้ แต่สัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา ฉะนั้น เราจึงให้ของอันเป็นที่รักของเรา”

อาจารย์ปรีชาบอกว่า พระปรีชาญาณของพระเวสสันดรนั้นได้คิดหาอุบายเพื่อช่วยเหลือทั้งพระเทวี ทั้งพระโอรสธิดาอย่างชาญฉลาด ทั้งนี้เพราะความรักลูกเมียสุดชีวิต ไม่อยากให้ลูกเมียลำบากลำบนอยู่กับพระองค์ในป่า

อย่าลืมเรื่องเดิมว่า พระเวสสันดรถูกเนรเทศพระองค์เดียว ลูกเมียมิได้ถูกเนรเทศด้วย พระนางมัทรีได้ยืนยันจะติดตามพระสวามีเอง แม้พระเวสสันดรก็ทัดทานไม่ได้ พระเจ้ากรุงสีพีก็ทัดทานไม่ได้

ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ หม่อมฉันต้องไปแน่นอน แม่น้ำไม่มีน้ำก็เปล่าดาย แว่นแคว้นไม่มีพระราชาก็เปล่าดาย หญิงเป็นม่ายก็เปล่าดาย หม่อมฉันว่างเว้นพระเวสสันดรเสียแล้วไม่พึงปรารถนาแผ่นดินอันมีสาครเป็นขอบเขต ทรงไว้ซึ่งเครื่องปลื้มใจเป็นอันมาก บริบูรณ์ด้วยรัตนะต่างๆ เมื่อสามีตกทุกข์แล้ว หญิงเหล่าใดย่อมหวังสุขเพื่อตน หญิงเหล่านั้นเลวทรามหนอ หัวใจของหญิงเหล่านั้นเป็นอย่างไรหนอ

เมื่อนางมัทรีออกจากวังตามพระสวามีไป ก็เป็นเหตุให้กัณหาชาลีต้องติดตามแม่ไปด้วย

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้พระเวสสันดรมิได้เป็นผู้กำหนด

พระเวสสันดรนั้นด้วยความรักเมียและลูกมาก ไม่อยากให้ทั้งสามชีวิตต้องมาลำบากกับพระองค์ ถึงกับตรัสกับพระนางมัทรีว่าจงอยู่ในวังกับลูกเทิด ไปอยู่ป่ากับพระองค์นั้นลำบากและไม่รู้ว่าจะนานเท่าไรจึงจะได้กลับ

ดูกรพระน้องมัทรี เธอพึงเอาใจใส่ในลูกทั้งสองในพระชนนี และพระชนกของพี่ อนึ่ง ผู้ใดพึงตกลงปลงใจว่าจะเป็นพระสวามี พระน้องนางเธอพึงบำรุงผู้นั้นโดยเคารพ ถ้าไม่มีใครมาปลงใจเป็นพระสวามีของพระน้องนาง เพราะพระน้องนางกับพี่ต้องพลัดพรากจากกัน พระน้องนางจงแสวงหาพระสวามีอื่นเถิด อย่าลำบากเพราะจากพี่เลย

ห่วงหาอาทรเมียจนกระทั่งบอกว่า จะหาสามีอื่นพี่ก็ไม่ว่า เห็นหรือยังว่ารักเมียปานใด

รักปานนั้นแล้ว จากไปทำไม อ้าว ก็เนรเทศท่านนี่คะ

แน่นอน เมื่อพระชายาและพระโอรสธิดาไปตกระกำลำบากด้วยในป่า ย่อมไม่เป็นที่พึงประสงค์ของพระเวสสันดร แต่ก็จนใจไม่รู้จะทำอย่างไร

เมื่อเห็นชูชกเข้ามา จึงดีพระทัย เพราะชูชกจะช่วยเป็นสะพานให้พระองค์ส่งลูกเมียกลับไปสู่มาตุภูมิ อันจะได้สุขสบายเสียที เริ่มด้วย

ให้สองกุมารเป็นทาน แล้วตั้งค่าไถ่ไว้แพงๆ ชูชกเป็นคนโลภอยู่แล้ว ยังไงๆ ก็ต้องพาสองกุมารไปกรุงสีพี พระเจ้าปู่ก็คงจะต้องไถ่หลานไว้แน่นอน และพระเจ้าหลานทั้งสองก็จะได้มีชีวิตที่สบายในวัง นี่ก็เป็นแผนการที่วางไว้ เพราะความรักลูกเป็นพื้นฐาน

ที่ไม่บอกนางมัทรีก็เพราะไม่แน่ใจว่านางมัทรีจะขัดขวางหรือไม่ จึงต้องรีบๆ บอกชูชกพาสองกุมารไปก่อนแม่จะกลับมา

พระเวสสันดรคาดว่า แม่ย่อมรักลูกยิ่งชีวิต เมื่อเห็นว่าลูกจากไปก็ต้องตามหาลูกไม่ต้องสงสัย โดยวิธีนี้ พระนางมัทรีคงจะตามลูกไปยังเมืองสีพี และได้อยู่กับลูกในที่สุด เป็นอันว่าพระเวสสันดรก็จะได้หมดห่วงเพราะลูกเมียได้กลับคืนสู่อ้อมกอดพ่อแม่และปู่แล้ว ไปสบายแล้ว ย่อมลำบากเฉพาะพระองค์แต่เดียวดายดีกว่า

แต่พระเวสสันดรคาดผิดอยู่อย่างหนึ่ง พระนางมัทรีพอรู้ว่าพระสวามีให้ลูกเป็นทาน มิได้ติดตามไปจนถึงเมืองสีพี ได้แต่ตามหา ณ สถานที่ใกล้ๆ นั้น เมื่อไม่พบก็สลบไสลไป ฟื้นขึ้นมา แทนที่จะโกรธพระสวามีที่สละลูกเป็นทาน พอรู้เป้าหมายของการกระทำกลับยินดีอนุโมทนาและอยู่ปรนนิบัติดูแลพระเวสสันดรตามปณิธานเดิมเมื่อเสด็จออกจากวัง

ท้ายบทความอาจารย์ปรีชา สรุปว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า พระเวสสันดรนั้นมิใช่เพียงแต่ทรงทำทานบารมีอันยิ่งใหญ่นั้น

แต่ยังทรงมีพระปัญญาบารมียิ่ง สามารถแก้ปัญหาให้จบลง โดยทุกคนทุกฝ่ายมีความสุข ความยินดี ไม่ต้องมีใครเป็นฝ่ายเสียหาย

แม้ชูชกก็กลายเป็นเศรษฐี (ในพระไตรปิฎก ชูชกได้รับค่าไถ่ และไม่มีเรื่องกินอาหารจนท้องแตกตาย) พระปัญญานี้แม้นางมัทรีไม่ทรงคาดได้แต่ก็แสดงความเชื่อมั่นในสิ่งที่พระสวามีทำ ว่าได้คิดดีแล้วและทรงแสดงถึงความรักที่มีต่อพระสวามีอย่างไม่เสื่อมคลาย จึงเห็นว่า ด้วยพระอุบายอันลึกล้ำเช่นนี้ เราน่าจะถือว่าเรื่องพระเวสสันดรชาดกเป็นเรื่องแสดงปัญญาบารมีไม่น้อยไปกว่าทานบารมี

คือทรงมองเห็นช่องทางที่ดีที่สุดที่จะได้ทั้งการทำทานและทำให้ทั้งตัวผู้เป็นทาน และผู้รับผลของทานมีความสุขโดยทั่วหน้า

และพระปัญญาเช่นนี้เอง ที่เป็นเครื่องทำให้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา