คำ ผกา : โลกกว้าง กะลาเคลื่อน

คำ ผกา

 

นักเรียนสวนกุหลาบฯ ถือป้ายในขบวนพาเหรดเขียนว่า “ไทยแลนด์แดนกะลา”

ถามว่าแรงไหม? คำตอบคือ – ก็แรงอยู่นะ – ฟังดูให้ร้ายประเทศชาติยังไงชอบกล ประเทศไทยทั้งประเทศจะเป็น “กะลา” ไปได้อย่างไร แล้วพวกเราที่หัวโด่เป็นพลเมืองของไทยแลนด์มิกลายเป็นกบไปกันหมดหรือ? รวมทั้งไอ้เจ้าคนเขียนป้ายคนถือป้ายก็ด้วย

กบในกะลาครอบ เป็นสุภาษิตไทย หมายถึงความโลกแคบ มีชีวิตอยู่ในพื้นที่อันจำกัด อุปมาว่าเป็นกะลา (ชะรอยเพราะเป็นเมืองร้อน มะพร้าวเยอะ) เลยไม่รู้ว่าขอบฟ้าของโลกแห่งความเป็นจริงนั้นกว้างขวางเหลือประมาณ

คำว่า “อยู่ในกะลา” จึงหมายถึง การไม่รู้จักไปเปิดหูเปิดตาดูโลก ดูบ้านอื่นเมืองอื่นเขาบ้าง

เช่น เมื่อฉันเป็นเด็ก ฉันคิดว่า เครื่องเขินลงรักปิดทองมีแต่ที่สันกำแพงเท่านั้น แล้วทีนี้ฉันก็ภูมิใจมากว่า เครื่องเขินคืองานหัตถกรรมล้ำค่านครพิงค์ เป็นงานฝีมือวิจิตรของคนสันกำแพง ฝรั่งมังค่า ใครต่อใครก็ต้องมาซื้อเครื่องเขินของเราเพราะสวยงามหาใดจะเปรียบ

ต่อมาเมื่อเติบโตขึ้น ได้เดินทาง ได้เห็นโลกมากขึ้น ออกจากกะลา เด็กสันคะยอม เชียงใหม่ ฉันจึงได้รู้ว่า เครื่องเขินนั้น ที่จีนก็มี ที่ญี่ปุ่นก็ยิ่งล้ำเลิศ ที่พม่าก็มีหลากหลาย และที่เชียงตุงก็งาม

มิหนำซ้ำ เครื่องเขินเชียงใหม่ก็น่าจะมากับชาวเขินในยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง

หันมามองเครื่องเขินสันกำแพงอีกที – โอ้ มันช่างกระจ้อยร่อยน้อยนิด

ครั้งหนึ่งที่ไปสัมภาษณ์คนทำเครื่องเขินที่เชียงตุง คุณป้ายังมาเล่าให้ฟังอีกว่า “โอ๊ย เครื่องเขินบ้านเราสู้ญี่ปุ่นไม่ได้เลย เขาพาเราไปดูงานที่ญี่ปุ่นนะ ของเพิ่นมีเทคนิคก้าวหน้า ของที่เพิ่นทำในห้องปลอดเชื้อ บ่มีขี้ฝุ่นเลย ของเราตึงสู้ของเพิ่นบ่ได้ ของเพิ่นตึงงามแต๊ๆ”

นี่คือตัวอย่างของการออกจาก “กะลา”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่กะลาของฉันสั่นสะเทือน ครั้งหนึ่ง อาจารย์สอนประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่บอกฉัน (ขณะนั้นยังเด็กจ้อย) ว่า “คุณต้องได้ไปเห็นวัดที่พุกามสักครั้ง แล้วคุณจะรู้เชียงใหม่เป็นแค่เมืองชายขอบทางวัฒนธรรมระหว่างสยามกับพม่าจริงๆ”

โห…ในใจของฉันกรีดร้อง เป็นไปได้ยังไง ฉันเชื่อ ฉันรู้ ฉันเห็นของฉันมาโดยตลอดว่า เชียงใหม่คือเมืองหลวงแห่งล้านนา และวัดเก่าๆ ในเชียงใหม่นั้นแสนจะละเมียดละไมงดงาม ไหนจะหอคำวัดพระสิงห์ ไหนจะวิหารวัดเจ็ดยอด ฯลฯ อาจารย์ฟังแล้วก็ส่ายหัวพูดอยู่คำเดียวว่า “คุณต้องไปเห็นพุกาม”

มีอะไรที่เป็นประสบการณ์การออกจากกะลาของฉันอีก?

การที่ได้รู้ว่า ผัดไทย นั้นที่ปีนังก็มี ที่มาเลเซียก็มี ที่สิงคโปร์ก็มี ที่เวียดนามก็มี ดังนั้น ผัดไทยจึงไม่ใช่อาหารไทยของคนไทยเท่านั้น

การได้รู้ว่า พริกเอย มะละกอเอย เป็นพืชต่างด้าวต่างแดนที่เพิ่งถูกนำเข้ามาปลูกเมืองไทยไม่ช้านาน ดังนั้น ส้มตำที่ดูไท้ไทยก็อาจจะไม่ใช่ไทย

หรือเรื่องตลกๆ อย่างที่ได้เจอเพื่อนบราซิลเอาแคบหมูมาให้กินกับไส้กรอกที่รสชาติเหมือนไส้กรอกอีสานเปี๊ยบ – เราก็เฮ้ยยยย ไม่ใช่ละ นี่มันอาหารล้านนาบ้านชั้น และนี่ก็อาหารอีสานบ้านชั้น มันจะโผล่เป็นอาหารบราซิลได้ไง ปั้ดโธ่!!

ดังนั้น คำว่า “กบในกะลา” ก็ไม่ใช่คำด่าทอที่รุนแรงอะไรเลย มันก็แค่ความ shallow โลกแคบเท่านั้น และเพียงเปิดใจนิดๆ เปิดการรับรู้ให้กว้างๆ ขึ้นอีกหน่อย เราก็สามารถออกมานอกกะลา เจอขอบฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาลได้

กะลาของฉันคืออะไรอีก?

ฉันเคยคิดว่าอาหารไทยอร่อยที่สุด! ที่ไหนได้ อาหารแอฟริกันก็อร่อย อาหารอาหรับก็อลังการ อาหารอินเดียยิ่งหลากหลายไปอีกตามภูมิภาค

ไม่ต้องพูดอาหารจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่แข่งกันเล่นใหญ่เว่อร์วังอลังการ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างเรื่องราวใหม่ๆ ขึ้นมาตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างหลากหลาย

แค่เรื่องของก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ เกี๊ยว – นั่งดูแล้วก็รู้สึกตัวลีบเล็กลงเรื่อง – ฮ่วย บะหมี่ เกี๊ยวบ้านเรานี่ก็ช่างชายขอบของอารยธรรม (แต่ถามว่าชอบกินแบบไหน ก็ชอบกินแบบไทยๆ บ้านๆ แหละ แต่พอกะลาเปิดก็เลยรู้อันตัวเราช่างกระจอกแท้)

เคยคิดว่า Street food ของไทยเจ๋งมากๆ อ้าว เปิดดู CNN โห สตรีตฟู้ดตุรกี อียิปต์ เวียดนาม สิงคโปร์ มุมไบ จาเมกา แอฟริกาใต้ ฯลฯ ดาหน้ามาสิ – โอเค – กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ไม่แพ้ใคร แต่ที่ไหนๆ เขาก็ไม่แพ้เราเหมือนกัน

นี่คืออาการเคลื่อนตัวของกะลา

สําหรับฉัน การอยู่ในกะลา ไม่ใช่อาชญากรรม และทุกบ้านทุกเมืองก็ย่อมมีกะลาเป็นของตนเอง เช่น ฝรั่งที่คิดว่าคนไทยขี่ช้างไหนต่อไหน หรือคนไทยทุกคนชกมวยไทยได้ อันนี้ก็ถือว่าเป็นการอยู่ในกะลาอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน หรือฝรั่งจำนวนไม่น้อยคิดว่าเมืองไทยต้องมีแต่ กล้วย อ้อย สับปะรด ต้มยำกุ้ง เลดี้บอย – อันนี้ไม่เรียกว่าอยู่ในกะลาก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร

เพราะฉะนั้น การที่นักเรียนมัธยมออกมาปรารภว่า ไทยแลนด์แดนกะลา – ฉันไม่คิดว่าเขากำลังดูถูกบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง

เพราะการที่เรารู้ตัวว่า เฮ้ย เรารู้น้อยละ โลกทรรศน์เรายังแคบ เรามีหน้าที่เปิดสมอง เปิดใจ ไปทำความรู้จักโลกภายนอก ไปดูบ้านอื่นเมืองอื่นเขาเป็นอย่างไร

เมื่อไหร่ก็ตามที่นักเรียนมัธยมของเราคิดได้แบบนี้ แปลว่า ไทยแลนด์ไม่ใช่แดนกะลา แต่มันแปลว่า ไทยแลนด์คือดินแดนที่ใจกว้างพอที่จะให้เยาวชนในชาติของตัวเองสามารถตั้งคำถาม และตรวจสอบตัวเอง ไม่มีอีโก้ คิดว่า เฮ้ย ฉันอยู่สวนกุหลาบฯ ชั้นเจ๋ง ในโลกนี้ไม่มีใครเจ๋งกว่าชั้นแล้ว

ในแง่นี้ ไม่มีอะไรน่ายินดีไปกว่าการที่นักเรียนไทยของเรารู้จักวิพากษ์ตัวเอง

ลองคิดดูว่า สมมุติเราเจอนักเรียนมัธยมมาจากประเทศ – สมมุติว่าเป็นอเมริกา – แล้วนักเรียนคนนั้นมาคุยให้เราฟังว่า

“ยูรู้มั้ย ไอเนี่ยนะ มาจากประเทศที่ยิ่งใหญ่มากเลยนะ ประเทศเราคือมหาอำนาจ คนเมริกันเนี่ยะ พิเศษมาก พวกเราใจกว้างนะยู้ เป็นประเทศที่เปิดให้คนร้อยพ่อพันแม่สารพัดสีผิว เชื้อชาติ ภาษา เข้ามาตั้งรกราก ทำมาหากิน เป็นพลเมืองของประเทศจนเขาว่าเป็น melting pot นะยู ร้อยพ่อพันแม่ ผสมกลมกลืน เป็นชาติอเมริกาที่ยิ่งใหญ่ ประเทศเรายังทำหน้าที่ผดุงสันติภาพโลก ใครมีปัญหาทะเลาะกับใคร เราต้องส่งทหารเราไปช่วยดูแล ไกล่เกลี่ยนะ อาหารเราก็อร่อย แมคโดนัลด์ เรานี่มีขายทั่วโลก ยูเห็นป่าว ใครๆ ก็ชอบอาหารเมกัน บลา บลา บลา”

กับถ้าเขาพูดว่า

“นี่ยู ไอมาจากประเทศที่ดูเหมือนจะยิ่งใหญ่ก็จริงนะ แต่ปัญหาในประเทศก็เยอะ โดยเฉพาะตอนนี้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และมันน่าละอายมากเลยที่ประเทศที่ดูเหมือนจะร่ำรวยมากๆ อย่างประเทศเรากลับไม่มีหลักประกันสุขภาพ ค่าเล่าเรียนระดับมหาวิทยาลัยของไอแพงลิบ ลูกคนจนอย่างไอต้องกู้เงินเรียน เรียนจบก็ไม่รู้จะหางานทำได้ดีกว่าเป็นพนักงานวอลล์มาร์ตหรือเปล่าในกรณีที่พ่อแม่ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร…”

ถ้าเราฟังแบบนี้ เราจะบอกว่า ไอ้เจ้าคนที่สองนี่มันทรยศต่อชาติ ดูถูกชาติบ้านเมืองตัวเอง ไม่เห็นแก่โคลัมบัส อุตส่าห์ล่องเรือมาจากสเปนมาค้นพบอเมริกา สร้างบ้านสร้างเมืองให้ ยังมาเจอเด็กบ้ามานั่งด่าประเทศตัวเองเป็นวรรคเป็นเวร แล้วตัวเองเคยทำอะไรให้ประเทศชาติบ้างหา?

หรือในทางกลับกัน เราฟังคนที่หนึ่งพูดแล้วเราอยากจะเถียงและรู้สึกว่า เฮ้ย ไอ้บ้านี่ขี้คุยขี้โม้สมกับเป็นคนเมกันวุ้ย

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ชอบกะลา ไม่ชอบให้ใครมาว่าเราเป็นกบในกะลา

สิ่งแรกที่เราต้องทำคือสำรวจกะลาของตนเอง

ฉันไม่เชื่อว่ากะลามีไซซ์เดียวหรือเลเยอร์เดียว

เช่น ตัวฉันเองแม้ออกจากกะลาได้หลายเลเยอร์แล้วก็ยังมีหลายเลเยอร์ที่ครอบงำฉันอยู่

เช่น ฉันชอบคิดว่าไม่มีที่ไหนจะน่าอยู่ไปกว่าเชียงใหม่ และเกียวโต

ไม่มีที่ไหนจะ “อาร์ต” จะรุ่มรวยทางรสนิยม ทางศิลปะเท่าสองเมืองนี้ และฉันก็พูดเช่นนี้โดยเปิดเผยตลอดเวลา ใครมาแย้งก็เถียงคอเป็นเอ็น

แต่ถามว่า ในชีวิตนี้เคยไปเห็นไปอยู่ที่อื่นมาหรือยัง – ก็ยัง – เออ แล้วเอาความมั่นหน้ามาจากไหนว่าสองเมืองนี้อาร์ตสุด รสนิยมดีสุด?

การเคลื่อนกะลาของเรา ไม่ยากเลย แค่เราจะรู้จักถ่อมตัวว่า เออ ฉันมาจากประเทศเล็กๆ นะ และเราก็เพิ่งเป็น Modern nation state ไม่นานมานี้ ไม่ใกล้ไม่ไกลไปกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรา

แล้วก็เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านของเราทุกประเทศที่เราต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองหลายๆ ครั้ง มีอุปสรรคของการพัฒนาการประชาธิปไตย เจอสงครามโลก มีปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา ชาติพันธุ์ในดีกรีที่ต่างๆ กันออกไปในแต่ละพื้นที่ เผชิญกับผลพวงของการพัฒนาประเทศที่หลงลืมการกระจายทรัพยากรไปถึงคนส่วนใหญ่ และก็เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ที่เราต้องพยายามฝ่าฟันขวากหนามนี้ไปด้วยหวังว่าทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้น

ประเทศเราเผชิญกับการรัฐประหารหลายครั้ง และเราก็หวังจะเห็นพัฒนาการทางการเมืองที่ประชาชนเข้มแข็งขึ้น ฯลฯ

เพียงตระหนักและยอมรับในความจริง กะลาก็พลิกหงาย และไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรเลยที่ประเทศเรายังกะพร่องกะแพร่ง ประเทศไหนๆ ในโลกนี้กะพร่องกะแพร่งทั้งนั้น ประเทศที่ว่าดีนักดีหนาดีไปหมด อย่างแถบสแกนดิเนเวีย คนยังฆ่าตัวตายสูงมาก

นักเรียนมัธยมสวนกุหลาบฯ ที่ถือป้ายไทยแลนด์แดนกะลา อาจจะแค่อยากบอกพวกเขาด้วยกันเองให้กล้าหาญพอที่จะเผชิญหน้ากับความจริง ภูมิใจ และรักในบ้านเกิดเมืองนอนของเราอย่างที่มันเป็น เมื่อเรารักในความกะพร่องกะแพร่งนี้ได้ เราก็จะมีกำลังวังชาในการขับเคลื่อนประเทศให้มันดีขึ้น เพราะหากมองไม่เห็นปัญหา จะออกจากปัญหาได้อย่างไร – ใช่ไหม?

พวกเขาอาจจะอึดอัดว่า เอ๊ ทำไมยังมีคนไทยจำนวนมากชอบคิดว่า อะไรๆ ในบ้านเราก็ดีไปหมด ต้องรัก ต้องภูมิใจ อย่างไม่มีเงื่อนไข หรืออยู่กับการบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือมีชีวิตอยู่โดยไม่ยอมเปิดหูเปิดตา ไม่ยอมรับรู้ความเป็นไปของโลกภายนอก มีคนเอาราเมนมาให้ลองชิมก็ไม่กิน จะกินแต่บะหมี่ร้านปากซอย

แล้วก็โวยวายว่า บะหมี่ที่ไหนก็ไม่อร่อยเท่าร้านหน้าบ้าน

นักเรียนมัธยมเหล่านั้นอาจจะแค่อึดอัดเวลาได้ยินคนพูดว่า ทะเลไทยสวยที่สุด อาหารไทยอร่อยที่สุด คนไทยใจดีที่สุด เมืองไทยน่าเที่ยวที่สุด ผู้หญิงไทยสวยที่สุด คนไทยมีน้ำใจที่สุด ก็เลยอยากให้เราหันไปมองโลกกว้างๆ ที่อื่นบ้าง จะได้เลิกพูดว่าอะไรๆ ของเราก็ดีที่สุด (แต่ถ้าเราจะชอบทุกอย่างในบ้านเราที่สุด ก็เป็นอีกเรื่อง เช่น ยังไงฉันก็ชอบก๋วยเตี๋ยวของไทยมากที่สุด ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ดีที่สุด)

หรือพวกเราอาจจะกำลังตั้งคำถามต่อระบบการเรียนการสอนที่พวกเขาอยู่กับมันว่า การเรียนการสอนของไทยไม่ค่อยเชื่อมโยงประเทศไทยไว้ในบริบทโลกหรือแม้กระทั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวลาพูดถึงประเทศ ก็ดูลอยเท้งเต้ง ไม่เกี่ยวกับใคร ไม่มีมิติของการศึกษาเปรียบเทียบ เช่น เปรียบเทียบประวัติศาสตร์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในห้วงเวลาเดียวกันหรือประวัติศาสตร์โลกในห้วงเวลาเดียวกัน

พวกเขาเลยบอกว่า เหมือนอยู่ในโลกแคบ

เราจะเห็นด้วยกับเขาก็ได้ จะไม่เห็นด้วยและถกเถียงกับเขาก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ เราควรดีใจที่นักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่งได้เคลื่อน เขย่ากะลาของพวกเขาแล้ว อย่างน้อยที่สุด พวกเขาไม่หลงตัวเอง และได้หัดวิพากษ์ตัวเองและสังคมที่ตนเองสังกัดเป็นส่วนหนึ่งของมัน

กีฬาจตุรมิตรของพวกเขาจึงจะมิใช่กีฬาเสริมอีโก้ของแต่ละโรงเรียน แต่เป็นการแข่งขันกีฬาที่นักเรียนทุกคนได้สำรวจอีโก้ตัวเอง และข่มมันลงเพื่อเห็นโลกที่กว้างขึ้น