การเมืองสุจริต? | คำ ผกา

คำ ผกา

ยิ่งใกล้การเลือกตั้ง การห้ำหั่นแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ยิ่งเข้มข้น

ในปีกที่เป็นตัวแทนขั้วอำนาจ “เก่า” คือ รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ก็ต่อสู้กันอย่างหนึ่ง แต่ในปีกประชาธิปไตยด้วยกันยิ่งต่อสู้ ฟาดฟันกันหนักหน่วงกว่า

นั่นคือการต่อสู้ ช่วงชิงชัยชนะระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล

ก่อนอื่นฉันต้องประกาศจุดยืนของฉันว่าเป็นนางแบกพรรคเพื่อไทย เชียร์พรรคเพื่อไทยเต็มเหนี่ยวสุดๆ เพราะฉะนั้น พึงอ่านบทความนี้ด้วยวิจารณญาณของท่านเองเกี่ยวกับความลำเอียงต่างๆ

ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยเสนอ “การเลือกเชิงยุทธศาสตร์” นั่นคือภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญปี 2562 ที่มีอำนาจ ส.ว. 250 คนอยู่ หนทางที่จะปิดสวิตช์ ส.ว. คือเลือกเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์ ให้ได้ 300 เสียงขึ้นไป เพื่อให้เพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกติกาการเลือกตั้ง

เหตุที่เสนอโมเดลนี้ เพราะเพื่อไทยเห็นว่าตนเองเป็นพรรคที่มีความเป็นไปได้สูงสุดที่จะได้ที่นั่ง ส.ส.มากที่สุด เมื่อเทียบกับพรรคแนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตยทุกพรรคที่มีอยู่ตอนนี้

 

แต่ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์นี้เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลไม่อาจจะรับได้

เพราะนั่นเท่ากับว่าพรรคก้าวไกลต้อง “ลดตัว” ลงมาเป็นพรรค “ตาม” ไม่ใช่พรรค “นำ”

ถ้าก้าวไกลเล่นบทบาทเป็นเพียงพรรคที่ต้อง “ตาม” พรรคเพื่อไทย ก็ย่อมขัดแย้งกับจุดยืน จุดขายของพรรคที่บอกกับโหวตเตอร์ของตัวเองว่า เราเป็นพรรคที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำการเมืองใหม่ ทำการเมืองสะอาด ทำการเมืองสุจริต เราเป็นพรรคที่กล้าหาญ เราเป็นพรรคที่จะแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เราจะปฏิรูปกองทัพ เราจะเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เราจะกล้าทำในสิ่งที่พรรคที่มาก่อนเราไม่กล้าทำ

เพราะฉะนั้น การสมาทานการโหวตเชิงยุทธศาสตร์จึงสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้พรรคเสียคะแนนนิยมจากโหวตเตอร์ของพรรคที่หลงใหลในจุดยืนอันห้าวหาญของพรรค

แล้วจะทำอย่างไร?

แกนนำตัวเด่นๆ ของพรรคก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ส.ส.ที่ได้มาเยอะแยะตอนเลือกตั้งครั้งก่อนก็เพราะส้มหล่นจากไทยรักษาชาติถูกยุบ และกติกาพิลึกของระบบการเลือกตั้งเรื่อง ส.ส.พึงมีทำให้ได้ปาร์ตี้ลิสต์มาเยอะ

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนานไม่เอื้อต่อพรรคการเมืองแบบก้าวไกลเอาเสียเลย (มันก็ absurd แหละ ที่กติกาอันออกแบบมาให้เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช.ครั้งนั้น ดันไปเอื้อให้กับพรรคเกิดใหม่อย่างอนาคตใหม่ด้วยในเวลาเดียวกัน เหมือนตอนนี้ที่ปรับมาเป็นระบบคู่ขนาน ตั้งใจจะทำให้พลังประชารัฐได้เปรียบแต่ก็ทำให้เพื่อไทยได้เปรียบด้วย)

หันไปดูความเป็นไปได้ที่จะชนะในสนามของ ส.ส.เขต ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกว่า ก้าวไกลที่เป็นพรรคการเมืองใหม่ ย่อมเสียเปรียบในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่ เสียเปรียบในเรื่องการทำงาน เสียเปรียบในเรื่องการสะสมผลงานของตัวบุคคล

ถ้ากระแสพรรคไม่แรงจริง ก็ย่อมจะชนะยาก เว้นแต่จะต้องยืนระยะอายุของพรรคให้ยาวนานพอจะทำงานต่อเนื่องในพื้นที่ คู่ขนานไปกับการสร้างผลงานและกระแสของพรรคให้หนักแน่นชัดเจน

พูดง่ายๆ คือ พรรคก้าวไกลต้องการเวลาอีกอย่างน้อย 4 ปีกับประชาธิปไตยเสียงข้างมากนี้

แต่รอ 4 ปีอาจจะรอไม่ได้ หรืออาจจะรู้สึกว่า เพื่อไทยเล่นเกมแลนด์สไลด์แบบนี้ไม่แฟร์ เหมือนก้าวไกลถูกมัดมือชกให้ต้องกลายเป็นพรรคไก่รองบ่อนของเพื่อไทย

สุดท้าย ภาพจึงกลายเป็นการวิ่งสู้ฟัด ต้านทานกระแสแลนด์สไลด์ของเพื่อไทยให้ได้ ด้วยโจทย์ว่า “ไม่อย่างนั้นก้าวไกลตายแน่”

 

ส่วนทางเพื่อไทยก็มองว่า เป็นไปไม่ได้ที่ก้าวไกลจะกลายเป็นไก่รองบ่อน กระแสก้าวไกลแข็งแรงมากในพื้นที่เขตเมือง เขตของคนรุ่นใหม่

แต่ก้าวไกลต้องยอมรับความจริงว่าไม่มีศักยภาพจะเป็นผู้นำเกมแลนด์สไลด์ปิดสวิตช์ ส.ว. ดังนั้น ควรจะเลือกทำเกมที่ยอมให้เพื่อไทยเป็นพรรคแกนนำในการตั้งรัฐบาลเพื่อถอดสลัก ปลดล็อกเราทุกคนจากกติกา กำแพง ค่ายกลต่างๆ ที่เหล่า คสช. และเครือข่ายวางเอาไว้

ก้าวไกลเอาพลังงานไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับกระแสพรรค เสริมความแกร่ง ทุ่มทรัพยากรไปเฉพาะพื้นที่ตนเองชนะแน่ๆ กับเกือบชนะ เพื่อรอการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่อาจจะมาเร็วกว่า 4 ปีก็ได้ อันจะเป็นการเดินทางบนถนนการเมืองที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับทรัพยากรและบุคลากรที่พรรคมีอยู่

ซึ่งดูจากการวิ่งสู้ฟัดระหว่างสองพรรคนี้ในเวลานี้ เราก็คงได้คำตอบว่า ก้าวไกลไม่ซื้อทางเลือกนี้

เมื่อต้องวิ่งสู้ฟัด ฟาดฟันกันระหว่างพรรคฝ่ายประชาธิปไตยทั้งสองพรรค มันย่อมมีสิ่งที่เรียกว่า by product ของการต่อสู้

และฉันพบว่า by product นี้น่ากลัวและอันตราย นั่นคือ เพื่อสกัดเกมแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย เราพบการปล่อยข่าวปลอมเพื่อดิสเครดิตพรรคเพื่อไทยอย่างดุเดือด

เช่น เลือกเพื่อไทยได้ประวิตร วงษ์สุวรรณ, การมีดีลระหว่างเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ, เพื่อไทยทำทุกอย่างเพื่อเอาทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านไม่เห็นหัวประชาชน, เพื่อไทยทรยศต่อประชาชน ไปดูดเอา ส.ส.พลังประชารัฐมาอยู่พรรคตัวเอง, เพื่อไทย คือการเมืองบ้านใหญ่ มาเฟีย ผู้มีอิทธิพล การเมืองใช้เงินซื้อเสียง เพื่อไทยสู้ไปกราบไป

และอีกสารพัดแฮชแท็ก ที่เอาไปปั่นบนพื้นฐานของข้อมูลเท็จ

เช่น พรรคเพื่อถอย เหล่านี้ต่อยอดมาจากการดิสเครดิตพรรคเพื่อไทยในเกือบทุกครั้งที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เช่น การกล่าวหาว่า พรรคเพื่อไทยมีดีลกับประวิตรจนรังสิมันต์ โรม ไม่ได้อภิปรายเรื่องตั๋วช้าง จนทำให้เกิดภาพจำว่า เพื่อไทยเท่ากับเพื่อถอย เพื่อไทยดีลกับประวิตร

สุดท้าย ปิยบุตร แสงกนกกุล ต้องไปยกมือไหว้ขอโทษคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มีการขอโทษ แต่การขอโทษนั้นไม่เป็นกระแสเพราะมันไม่แซบเท่ากับการปั่นข่าวลวง

ส่วนแฮชแท็กเพื่อการใส่ร้ายที่สกปรกนั้นก็อยู่ยั้งยืนยงต่อไปเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือบั่นทอนพรรคเพื่อไทยต่อไปอย่างได้ผล

 

ฉันไม่มีวันรู้ว่าพรรคก้าวไกลรู้เรื่องการใช้ข่าวลือข่าวปลอมนี้มากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกันก็รู้สึกเห็นใจสมาชิกพรรคก้าวไกลที่ตั้งหน้าตั้งตาประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรคเพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

แต่นโยบายของพรรคที่โดดเด่นกลับถูกมองข้าม ไม่ได้รับความสนใจ ไม่ได้ถูกนำมาพูดถึงต่อ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา รัฐสวัสดิการ การกระจายอำนาจ

เพราะ “แบรนดิ้ง” ของพรรคที่สร้างคะแนนิยมได้มากกลับเป็นภาพของพรรคที่ “สู้กว่าใครในเรื่องต้องห้าม” จนกลบเกลื่อนเรื่องอื่น ประเด็นอื่นไปหมด

และแม้แต่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ยังพยายามโน้มน้าวให้คนเลือกก้าวไกลเพราะ “เราทำในสิ่งพรรคอื่นๆ กลัวที่จะทำ” หรือการพูดว่า “พรรคอื่นกลัวไม่ได้ ส.ส. กลัวไม่ได้เป็นรัฐมนตรี กลัวไม่มีอำนาจ เลยไม่กล้าเสนอนโยบายแบบที่พรรคเราเสนอ”

ซึ่งฟังแล้วก็ขมวดคิ้ว มีคำถามตามมาว่า ถ้าไม่อยากเป็น ส.ส. จะมาลงเลือกตั้ง จะตั้งพรรคการเมืองเพื่ออะไร?

และถ้าไม่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือเสียที จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้?

หรือจะวางตำแหน่งแห่งที่ของพรรคตัวเองเป็นพรรคเชิงอุดมการณ์จริงๆ ก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า

“เราตั้งพรรคการเมือง ไม่ได้หวังชัยชนะในระยะสั้น แต่ต้องการปักธงความคิดในระยะยาว วันนี้เราอาจได้ ส.ส.ไม่มาก ยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่ในจำนวน ส.ส.ไม่กี่คนที่เรามี จะใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือ ทำงานทางความคิดให้มีพลังที่สุด เพื่อวันหนึ่งเราจะได้ครองอำนาจจากฉันทานุมัติของประชาชนที่เห็นตรงกับแนวทางของเรา”

 

แต่การเสนออะไรแบบนี้ก็ดูเป็นการ “เสือก” ในกิจการของพรรคการเมืองที่เราไม่เลือก สิ่งที่ทำได้คือเคารพใน “วิธีการ” ที่แต่ละพรรคเลือกใช้ในการต่อสู้

และถ้าจะให้พูดกันอย่างถึงที่สุด ตัวฉันไม่เห็นว่ามีความจำเป็นอะไรต้องประกาศ ทำสัตยาบันว่าจะไม่จับมือกับคนนั้นจะไม่จับมือกับคนนี้ ไม่ใช่เพราะอยากให้เพื่อไทยไปจับมือกับประชาธิปัตย์ หรือพลังประชารัฐ

แต่เพราะอยากให้คนไทย และสังคมไทยมีภูมิคุ้มกันสำหรับการอยู่ในวัฒนธรรมการเมืองระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากจริงๆ ว่า

1. เราจะเริ่มต้นจากการวางเป้าแลนด์สไลด์ ปลดล็อกจาก ส.ว. และกติกาของ คสช. ในรัฐธรรมนูญ 2560

2. แม้เราวางเป้าแลนด์สไลด์ แต่ถ้าเรายึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยเสียงข้างมากจริงๆ การจัดตั้งรัฐบาลว่าจะออกมาเป็นแบบไหนขึ้นอยู่กับตัวเลขหลังเลือกตั้งเท่านั้น

3. เมื่อมีตัวเลขอยู่ในมือแล้ว สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาว่าจะร่วมรัฐบาลกับใครต้องวาง priority ไว้ที่การทำงานให้บรรลุซึ่งนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน จากนั้นก็ใช้ปัจจัยเรื่องตัวเลข กับแนวทางในการทำงาน นโยบายว่า พรรคไหนที่มาร่วมกันแล้วบรรลุวัตถุประสงค์สูงสุด

4. ถัดจากตัวเลข นโยบายสอดคล้องหรือไม่ มีวัฒนธรรมการทำงานที่ไปด้วยกันได้หรือไม่ ก็ต้องมองข้ามช็อตไปอีกว่า การร่วมรัฐบาลกับพรรคนี้ พรรคนั้น จะส่งผลต่อคะแนนเสียง ภาพลักษณ์ของพรรคในการเลือกตั้งในอนาคตหรือไม่?

5. สุดท้ายสิ่งที่พรรคของคำนึงถึงคือ ประชาชนที่เป็นฐานเสียงทั่วประเทศ ไม่ใช่กลุ่มบุคคลที่เสียงดังอยู่ในโซเชียลมีเดียที่ใช้ “เสียง” กรรโชกเอาสิ่งที่ตนเองต้องการเหนือคนอื่นที่เสียงดังไม่เท่า ไม่ต่างอะไรจาก “ชนชั้นกลาง” ในยุคพันธมิตรฯ

 

แบบฝึกหัดที่คนไทยทุกคนต้องก้าวข้ามไปให้ได้คือแบบฝึกหัดของการอยู่กับประชาธิปไตยเสียงข้างมากที่ไม่สวยงาม ไม่ทระนงองอาจเหมือนภาพนักต่อสู้หรือฮีโร่ประชาธิปไตยในความทรงจำ

แต่สิ่งที่สง่างามที่สุดของประชาธิปไตยที่คือการเคารพความอัปลักษณ์ของเพื่อนร่วมชาติที่ล้วนมี 1 เสียงเหมือนกันกับเรา

และถ้าเชื่อเรื่องการเมือง “ใหม่” จริง ต้องเลิกเล่นการเมืองด้วยวิธีการสาดโคลน ใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นให้ได้เสียก่อน