อภิญญ ตะวันออก : ในสวนดอกไม้ ในสวนวิทู : ไรยุม

ในตอนนั้น ราวปี 2540 ที่เธอเดินทางไปกัมพูชาด้วยเป้าหมายบางอย่าง ไม่ใช่ความยุ่งเหยิง เปราะบาง ทว่า มาจากสภาพการขาดแรงบันดาลใจในชีวิตตะหากที่ผลักดันให้เธอมุ่งหน้ามาที่นี่ และสิ่งอื่นๆ เช่น ศิลปะ นอกเหนือไปจากการตกหลุมรักใครบางคน ที่ทำให้เธอค้นพบความชุ่มชื่นใจในการอยู่ในประเทศนี้

มันคือสิ่งที่ผลักดันให้เธอปรารถนาจะเรียนรู้ เติมเต็ม และชดเชยสิ่งขาดหายใหม่ๆ แก่ตน โดยเฉพาะอันเกี่ยวกับศิลปะ เพราะว่าเธอเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์

นั่นเองชีวิตของ อิงกริด มวน (Ingrid Muan)

ตอนได้ยิน/หรืออ่านว่าเป็นนามสกุลแบบนั้น ฉันได้แต่คิดเอาเองว่า อิงกริด มวน คงมีเชื้อสายเขมรทางบิดาและอ่านว่า มวน อิงกริด ไม่เท่านั้น นามสกุลของเธอยังไปพ้องเสียงพ้องนามกับนักสื่อสารมวลชนหนุ่มคนหนึ่ง

แต่ อิงกริด มวน ไม่มีพื้นเพอะไรเกี่ยวกับเขมรเลย เธอมาจากฝั่งอเมริกา เป็นชาวอเมริกัน และท่องผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ แต่เมื่อผ่านมากัมพูชา ก็ตกหลุมรักประเทศนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น

อิงกริด มวน กลับประเทศและอยู่ที่นั่นอย่างไม่เป็นสุข อิงกริดยังรักสายงานอาชีพเธออย่างมาก

แต่อยากมาตั้งรกรากที่เขมร

 

โดยแม้ในปี 2540 ที่เกิดภาวะยุ่งเหยิงทางการเมืองจากกรณีรัฐประหารนั้น อิงกริด มวน กลับหาทุนได้ก้อนหนึ่ง ซึ่งทำให้เธอก่อตั้ง “ไรยุม” ที่แปลว่า “เสียงกรีดร้องของนางจักจั่น” อันเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งแรกของพนมเปญเวลานั้น/2541

เธอยังก่อตั้งองค์กร Reyum Institute แห่งนี้ร่วมกับ ลี ดาราวุธ ดีกรีนักประวัติศาสตร์ศิลป์ดุษฎีบัณฑิตที่ลี้ภัยในฝรั่งเศสสมัยเขมรแดง และยังเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะ วิทยาลัยวิจิตรศิลปะแห่งกรุงพนมเปญ

นับเป็นการพบกันระหว่าง 2 ฟากนักประวัติศาสตร์ศิลป์จาก 2 สำนัก (ฝรั่งเศส-อเมริกา) บนแผ่นดินกัมพูชาซึ่งขณะนั้น วงการศิลปะร่วมสมัยในเขมร ถูกทิ้งร้างมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง

แม้จะระบุสถานะว่าเป็นศิลปิน แต่ดูเหมือนการสร้างกิจกรรมศิลปะต่างหากอันเป็นงานหลักของคนทั้งสอง โดยเฉพาะอิงกริด ผู้บุกเบิกโครงการนี้อย่างจริงจัง

โดย “ไร” ในที่นี้ นอกจากจะแปลว่าจักจั่นแล้ว ยังมีความหมายว่า “อาสาสมัคร” ผู้ทำงานแก่องค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์อีกด้วย

โดยนัยอีกด้านหนึ่ง “ไรยุม” ยังหมายถึงการกรีดร้องคร่ำครวญหวนไห้ ตามในบทกลอนตอนหนึ่งของ “ตุมเตียว” วรรณคดีคลาสสิคของกัมพูชา

แต่ อิงกริด มวน เป็นฝรั่ง เธอไม่มีธรรมเนียมความวิตกเรื่องโชคลางแบบนั้นเช่นคนเขมร และคงไม่มีใครให้ข้อสังเกตถึงคำว่า “ยุม” ที่แปลว่า “ร้อง,ร้องไห้” มาตั้งชื่อนั้น ดูจักไม่เป็นมงคล

 

ฉันยังจำตึกแถวหลังหนึ่งตั้งอยู่ตรงหัวมุมตรงกับประตูฝั่งตะวันตกของวิทยาลัยศิลปากรที่เก่าแก่และสงบงามแห่งนั้นได้

ไรยุมตั้งนิวาสสถานห่างออกไปไม่กี่ก้าว แวดล้อมด้วยร้านรวงจำหน่ายภาพเขียนศิลปะและของที่ระลึก แกลเลอรี่ไรยุมจึงเป็นตึกแถวที่ใช้โถงชั้นล่างซึ่งเปิดโล่งผนังด้านหนึ่ง เป็นห้องนิทรรศการแสดงงานศิลปะ

อิงกริด มวน ยังอาศัยประสบการณ์สมัยที่เธอเป็นผู้ช่วยพิพิธภัณฑ์หอศิลป์แห่งหนึ่งในสหรัฐ และการเรียนปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ของเธอ ทำให้แกลเลอรี่ไรยุมพนมเปญแห่งนี้ อัดแน่นไปด้วยโปรแกรมนิทรรศการแขนงต่างๆ ทั้งงานภาพเขียนร่วมสมัย ศิลปะพื้นถิ่น เช่น อุปกรณ์ดำรงชีพของชาวแขฺมร์

เพื่อให้เกิดความผูกพันทางตรงต่อผู้คน ไรยุมจึงเปลี่ยนหน้าที่ตนเองโดยเป็นสถาบันที่ไม่แสวงหากำไรจากการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรฝึกเขียนภาพแบบจารีตนิยมและแบบสมัยใหม่ให้แก่เยาวชนเขมรทุกกลุ่มวัย

เธอยังผลิตงานหนังสือ ซึ่งเน้นการรวบรวมข้อมูลเนื้อหาจากงานศิลปะ ที่นำมาจัดแสดงไม่ต่างจากข้อมูลเอกสารสูจิบัตรนิทรรศการนั่นเอง งานทั้งหมดนี้เกิดขึ้นระหว่างปี 2542-2547 และมีทั้งสิ้น 17 เล่ม

ทั้งหมดนี้ ก็ทำให้กัมพูชาซึ่งขาดกิจกรรมการเสพพื้นถิ่นมายาวนาน มีความน่ารื่นรมย์แห่งการพบปะ ถกเถียง (ในกลุ่มคนนอก)

โดยปรากฏการณ์นักส่งเสริมศิลปะและหนังสือที่กัมพูชานี้ มิใช่แต่ อิงกริด มวน เท่านั้น แต่เคยมีสตรีตะวันตกคนแรกๆ ที่เคยทำหน้าที่นี้ในอดีต นั่นคือ ซูซานน์ คาร์เปเลส ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างงานอันหลากหลายทั้งศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรมและศาสนา อีกทั้งในเชิงลึกไว้เป็นจำนวนมาก

ซ้ำยังเป็นนักเก็บงำตนเอง ไม่เคยเปิดเผยเครดิตใดๆ ในการเผยแพร่ แต่ดูเหมือน อิงกริด มวน จะยกเครดิตในนามบรรณาธิการ-ผู้อำนวยการไรยุมแก่ ลี ดาราวุธ ผู้เป็นหุ้นส่วนชีวิตของเธอ

แต่สำหรับอิงกริดนั้น เธอทำหน้าที่ส่งเสริมกิจกรรมศิลปะกัมพูชาให้กลับมาเป็นที่นิยมและพูดถึงในเวทีนานาชาติ ซึ่งเวลาเหล่านั้นช่างสั้นมาก

ก่อนที่มันจะหยุดลงอย่างกะทันหันและชะงักงันอีกครั้งหนึ่ง

 

แต่ไรยุมก็มีอายุขัยเพียง 7 ปีเท่านั้น

7 ปีแห่งการปลุกปั้นอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยของอิงกริด ผู้ที่ไม่มีโอกาสจะรับทราบในผลงานความสำเร็จต่อนักเรียนศิลปะบางคนของไรยุม ที่เติบโตอาศัยในวิถีขับเคลื่อนศิลปะสมัยใหม่ของเธอ จนกลายนักสถาปนิก จิตรกรสมัครเล่น นักวิชาการ นักละครเวทีอิสระ หรือแม้แต่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ในปัจจุบัน

โดยมรดกกรรมชิ้นสุดท้ายที่ อิงกริด มวน ได้ทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์

นั่นคือการชักชวน ไอโกะและโกมะ (Eiko & Koma) ศิลปินนักแสดงศิลปะแบบฉับพลันชาวญี่ปุ่น ผู้สร้างงานเคลื่อนไหวในเชิงศิลป์ที่ได้รับการชื่นชมถึงมิติสร้างสรรค์แนวใหม่ ในการขับเคลื่อนพลังเรือนร่างอย่างอิสระในองค์ศิลป์

ด้วยเทคนิคนี้เองที่สร้างความประทับใจแก่ อิงกริด มวน เมื่อพบกับไอโกะและโกมะที่นิวยอร์ก ตอนที่เธอแวะชมงานศิลปะที่นั่น อิงกริดชักชวนให้ศิลปินญี่ปุ่นคู่นี้มาเปิดเวิร์กช็อปให้กลุ่มนักแสดงสมัครเล่นของไรยุมที่ผ่านการฝึกฝนตนเองมาบ้างแล้วเวลานั้น จนไอโกะและโกมะตัดสินใจมาเปิดแสดงในรูปนิทรรศการของตนที่พนมเปญ

และเพื่อเป็นการรำลึกถึงเธอ

ทว่า กว่าโปรแกรมดังกล่าวจะเกิดขึ้น มัจจุราชก็ได้มาพรากเอาชีวิตของ อิงกริด มวน จากไรยุมอย่างโหดร้าย

ไม่เปิดโอกาสให้ใครได้ยื้อชีวิตเธอและลูกน้อย เพื่อต่อรอยความฝันของเธอที่มีต่อประเทศนี้

ที่แม้ว่าจะขาดผึงและเหลือไว้แต่เสียงยุม/คร่ำครวญ ในหมู่ผองเพื่อนผู้รักศิลปะของเธอในปีนั้น/2548 ที่พากันโศกเศร้าร่ำไห้

และเป็นครั้งแรกที่ฉันรู้สึกว่า ความโศกเศร้าร่ำไห้นั้น ช่างสำคัญเสียกระไร

 

มันเกิดขึ้นตอนที่อิงกริดตั้งครรภ์ราว 7 เดือน ลูกของเธอกับ ลี ดาราวุธ

แต่สายเลือดครรภ์ 7 เดือนของอิงกริด กลับเผชิญอาการแทรกซ้อนของโรคพิษสุนัขบ้า จากการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ของเธอมาก่อนหน้านั้น

เช้าวันหนึ่ง ในเดือนมกราคมของปี 2548 อิงกริดพยายามยื้อและแลกด้วยชีวิต เพียงเพื่อดำรงความผูกพันอันมีต่อกัมพูชาด้วยทารกในครรภ์ 7 เดือนของเธอ

ทารกน้อยในครรภ์อิงกริดนั้น ไม่ต่างจากไรยุมที่เธอเพียรสร้างมันมาด้วยความรักและเติบโตมาถึง 7 ปี

7 ปีที่กิจกรรมศิลปะและวัฒนธรรมของอิงกริดแห่งไรยุม โลดแล่นและมีตัวตนเท่ากับเวลาที่เธอได้ให้กำเนิดมัน และเหมือนสมัยตอนที่เธอยังมีชีวิต

เพราะเมื่อเธอหมดลมหายใจ ไรยุมก็ดับสิ้นแรงจะเคลื่อนไหว

ไม่ต่างจากที่อิงกริดเคยทุ่มเทรักษาองค์กรไรยุมแห่งราวกับทารกในครรภ์ ที่เธอพยายามจะยื้อไว้ให้มีชีวิต

แต่โลกใบนี้ก็ไม่ได้สวยงามอย่างที่เธอคิด

และมันคงจะดีกว่านั้นมาก หากอิงกริดยังมีชีวิตเพื่อดำรงความเป็นไรยุมไว้กับชาวเขมร

ผู้รอคอยการขับเคลื่อนวิถีศิลปะใหม่ๆ และการแสดงร่วมสมัยที่คล้ายจะยังแหว่งวิ่นและขาดหายไปกับการตายของอิงกริด

และสุสานประวัติศาสตร์ศิลป์สมัยใหม่กัมพูชา

ที่มีชื่อว่า-เสียงกรีดร้องของนางจักจั่น

ไรยุม