ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2566 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน
เรื่องที่เคยทำได้ดี แต่ถูกทำให้ถอยหลัง
พลันที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ยอมลงนามในประกาศหลักเกณฑ์การบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2566 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ และเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาอย่างเห็นได้ชัด
สองสัปดาห์ที่แล้ว เกิดกลุ่ม ‘ภาคีทวงสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค’ เดินทางไปทวงสิทธิคืน หลังจากสิทธิใน 4 ด้าน ได้แก่
1.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
2.การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
3.บริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนและ
4.บริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หายไป เดินทางไปร้องเรียนต่อพรรคภูมิใจไทยและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพิกเฉยต่อสิทธิที่เคยมี และทำให้ประชาชนหลายสิบล้านคนไม่สามารถเข้าถึงบริการและการรักษาหลายอย่างได้
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ ณ วันนี้ก็คือเกิดปัญหาเรื่องการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับผู้ที่ไม่มีเชื้อ (Pre-exposure prophylaxis หรือยาเพรพ) ซึ่งกลุ่มคนนอกสิทธิบัตรทอง ที่แต่ละหน่วยงานเคยดูแลกันเองได้ โดยมีงบบัตรทองช่วยเหลือก็มีปัญหาขึ้นทันที
เพราะกลุ่ม ‘ประกันสังคม’ รวมถึงกลุ่มข้าราชการ ลูกจ้างส่วนราชการ ที่เคยได้รับยาเพรพ วันนี้กลับเข้าถึงไม่ได้ เพราะหน่วยงานเอ็นจีโอที่เคยเป็นหน่วยงานที่จ่ายยาไม่รู้จะจ่ายอย่างไร ไม่รู้จะใช้หลักเกณฑ์ใด ไม่รู้จะใช้งบประมาณส่วนไหน
กลับกลายเป็นทิ้งกลุ่มนี้ให้ต้องตกค้าง
การตัดสินใจไม่ลงนามของอนุทินนั้น เกิดขึ้นด้วยสาเหตุง่ายๆ คือ “ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงว่าการสาธารณสุขด้านกฎหมาย” เห็นว่าไม่ควรเซ็น เพราะเห็นว่าผิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากงบประมาณดูแลสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หรืองบประมาณ PP นั้นควรจะให้บริการเฉพาะกับผู้ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือคนบัตรทองเท่านั้น ผู้ที่อยู่นอกสิทธิ ไม่ว่าจะข้าราชการ ไม่ว่าจะประกันสังคม ไม่สามารถใช้ได้ เพราะเชื่อว่าผิดกฎหมาย
ฟังดูก็เหมือนจะเป็นเรื่องปกติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขควรจะมีอำนาจเฉพาะ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ที่อยู่ในอำนาจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยตำแหน่ง
หากแต่เรื่องของสิทธิดังกล่าวนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมากว่า 2 ทศวรรษ ล้วนลงนามในประกาศดังกล่าวทั้งสิ้น และก็ไม่เคยเกิดปัญหาใดๆ ตามมา รวมไปถึงอนุทินที่ก่อนหน้าก็ลงนามมาโดยตลอด แต่เพิ่งมาในปีนี้ ที่อนุทินไม่ยอมลงนาม
อันที่จริงเรื่องดังกล่าวเริ่มแดงมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่อรัฐมนตรีไม่ลงนาม หน่วยบริการหลายแห่งก็เริ่มไม่มีงบทำงาน เพียงเพราะรัฐมนตรีไม่อยากเซ็นชื่อ จนสุดท้ายรัฐมนตรีก็ต้องยอมเซ็นเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ภายใต้มติจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า หากไม่อยากให้พัวพันกับคนนอกสิทธิบัตรทองก็ให้แยกบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคกับคนนอกออกมา ด้วยงบประมาณราว 5,000 ล้านบาท
แต่การทำงานแยกประกาศในส่วนนี้ เมื่อไม่เคยทำมาก่อน ก็ติดปัญหาในหน้างานจริง ตัวอย่างเช่น บริการยาเพรพซึ่งคนนอกสิทธิบัตรทองเคยได้รับกันมาก่อนนั้น เมื่อถึงเวลาจริง คลินิกของเอ็นจีโอด้านเอดส์ที่จ่ายยาก็ไม่สามารถจ่ายได้ ไม่มีกฎหมายรับรอง
ในที่สุด อนุทินก็ต้องแก้ปัญหานี้แบบ “วัวพันหลัก” ด้วยการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาตามหลัง ภายใต้ชื่อสวยหรูว่า พระราชกฤษฎีกาส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคกลุ่มประชาชนนอกสิทธิบัตรทองแบบเร่งรีบในช่วงก่อนโค้งสุดท้ายก่อนยุบสภา เพราะรู้ว่าหากล่าช้ากว่านี้ คะแนนเสียงของพรรคภูมิใจไทย พรรคที่มีรัฐมนตรีกระทรวงนี้เป็นหัวหน้าอาจแย่ลงกว่านี้ได้
ทว่า ขั้นตอนการออกกฎหมายในประเทศนี้ไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น พระราชกฤษฎีกาที่ต้องออกมานั้นต้องร่างขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่า 6 ฉบับ เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ
2.กลุ่มผู้ประกันตน
3.กลุ่มพนักงานเมืองพัทยา
4.กลุ่มผู้มีสิทธิเบิกจ่ายเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของกรุงเทพมหานคร
5.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ และ
6.กลุ่มผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นของรัฐ
ซึ่งวันนี้ ต้นทางของร่างพระราชกฤษฎีกา 4 ฉบับแรก เพิ่งอยู่ในขั้นตอนที่คณะรัฐมนตรี “เห็นชอบในหลักการ” ไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่อีก 2 กลุ่มหลัง คือ กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ และกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นของรัฐ ไม่สามารถออกกฎหมายได้ทัน เพราะต้องมีหนังสือร่างข้อตกลงจาก 2 หน่วยงานนี้ แต่กลับทำไม่ทัน เพราะทั้งหน่วยงานวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐมีอีกจำนวนมาก จึงเสนอได้เพียง 4 ฉบับแรก
เท่ากับว่ายังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังตกหล่นจากการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคต่อไป และกว่าจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ อย่างเร็วที่สุดก็ต้องรอให้ถึงเดือนพฤษภาคม และเชื่อได้ว่า ในระหว่างการออกกฎหมาย ประชาชนที่อยู่นอกสิทธิบัตรทอง ก็ยังจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคต่อไปเรื่อยๆ
น่าแปลกใจก็ตรงที่คนอย่างอนุทินซึ่งอยู่กับ “กระทรวงหมอ” มานานกว่า 4 ปี กลับตีโจทย์นี้ไม่แตก และเลือกตัดสินใจแบบ “บ้าจี้” พาเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ถอยหลังกลับไป ไม่แก้ปัญหาเดิม แต่กลับไปเพิ่มปัญหาใหม่ กลัวผิดกฎหมายจนสร้างเรื่องให้วุ่นวาย และส่งผลกระทบให้กับประชาชนหลายล้านคนทันที
ไม่ต่างอะไรกับนโยบาย “กัญชาเสรี” ที่เพียงอยากจะหาเสียงกับกลุ่ม “สายเขียว” ทั้งหลาย แต่กลับเลือกใช้วิธี “ปลดล็อค” ไปก่อน ค่อยไปตามแก้ทีหลัง จนวันนี้ ทั่วบ้านทั่วเมืองวุ่นวายจากพิษกัญชาไปหมด จากการเลิกให้กัญชาเป็นยาเสพติด และ “กฎหมายควบคุม” ไม่สามารถออกตามหลังได้ทัน และยังค้างเติ่งจนถึงปัจจุบัน
ประเด็นนี้แม้อนุทินจะให้สัมภาษณ์ย้ำว่า การชะลอการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนนอกสิทธิบัตรทองนั้น ไม่มีใครได้รับผลกระทบ และยืนยันว่าในหน้างานยังให้บริการไปก่อน แต่ในการปฏิบัติจริงไม่เป็นไปตามนั้น จนก่อให้เกิดกลุ่ม ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน ซึ่งเป็นการรวมตัวของเอ็นจีโอและเครือข่ายผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย ออกมาทวงคืนสิทธิ เพราะได้รับผลกระทบจริง
แม้กระทั่งนโยบายผ้าอ้อมผู้ใหญ่ที่พรรคภูมิใจไทยเอาไปใช้หาเสียงและบอกว่าเป็นผลงานการผลักดันของอนุทินนั้น ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะเดิมสามารถให้ได้กับคนไทยทุกคน แต่ผลจากการไม่ยอมลงนาม สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน ก็ทำให้คนนอกสิทธิบัตรทอง ไม่สามารถรับผ้าอ้อมผู้ใหญ่จากนโยบายนี้ได้
ถึงที่สุด ผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวบอกว่า “นโยบายสาธารณสุข” ที่คุยกันว่าดีนักดีหนานั้นดีจริงหรือไม่ ถึงประชาชนจริงหรือไม่ และ “ภาวะผู้นำ” ของเจ้ากระทรวงตลอด 4 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร ดูได้จากเรื่องงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพียงเรื่องเดียวก็เห็นไปถึงข้างในว่าหน้าตาเป็นแบบไหน