9 เคล็ด (ไม่) ลับ ในการเอาชนะ ‘สงครามอากาศเป็นพิษ’ ของจีน | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
(Photo by PETER PARKS / AFP)

อากาศเป็นพิษ โดยเฉพาะฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เป็นปัญหาเรื้อรังในบ้านเราหลายพื้นที่ จึงน่าจะดีหากได้เรียนรู้บทเรียนจากประเทศที่เคยจัดการปัญหานี้อย่างได้ผลเป็นรูปธรรมมาแล้ว

แน่นอนว่าบริบทของประเทศต่างๆ ย่อมมีส่วนที่แตกต่างจากเราหลายอย่าง เช่น แหล่งกำเนิดของมลพิษ รวมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ เช่น โครงสร้างภาคการผลิต คมนาคม และพลังงาน แต่อาจมีบางแง่มุมที่เรานำมาปรับใช้ได้

จีนเป็นตัวอย่างที่น่าทึ่งในเรื่องนี้ ช่วง ค.ศ.1998-2019 จีนติดอันดับ Top 5 ของโลกที่มีมลภาวะสูงสุด

แต่พอถึง ค.ศ.2020 จีนก็หลุดออกจาก Top 5 ที่ไม่น่าพึงประสงค์นี้

นับตั้งแต่ ค.ศ.2013 แม้ว่าหลายพื้นที่ในโลกจะมีมลภาวะทางอากาศเพิ่มขึ้น แต่ค่าเฉลี่ยมลภาวะทางอากาศของโลกกลับลดลง

โดยการลดลงนี้มาจากปัจจัยเดียวคือการที่จีนสามารถลดสภาพอากาศเป็นพิษได้อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 8 ปี คือ ค.ศ.2013-2020 จีนสามารถลดความเข้มข้นของ PM 2.5 ลงได้มากถึง 39.5%

ใน ค.ศ.2021 เมืองหลวงเป่ยจิง (กรุงปักกิ่ง) มีคุณภาพอากาศเป็นไปตามมาตรฐานระดับชาติเป็นครั้งแรก

กล่าวคือ ความเข้มข้นของ PM 2.5 เท่ากับ 33 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าค่ามาตรฐานคือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (เทียบกับราว 1 ทศวรรษก่อนหน้าซึ่งค่านี้สูงถึง 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญย่อมช่วยเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยของคนจีนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่เป่ยจิง-เทียนจิน-เหอเป่ย การลดลงของมลพิษฝุ่น 48.8% หมายถึงอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นถึง 4.1 ปีสำหรับประชากรจำนวน 108 ล้านคน หากว่าการลดลงยังอยู่ในระดับนี้

แง่มุมหนึ่งที่น่ารู้ก็คือ สหรัฐอเมริกาปรับปรุงคุณภาพอากาศโดยการเสนอ Clean Air Act และใช้เวลาราว 3 ทศวรรษ โดยเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจถึง 5 ครั้ง ส่วนยุโรปใช้เวลาราว 2 ทศวรรษ โดยเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ 2 ครั้ง จึงจะลดปริมาณสารพิษในอากาศลงได้ในสัดส่วนเดียวกับที่จีนทำได้

แต่จีนสามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นได้โดยไม่เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด

ภาพแสดงการคาดการณ์อายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นหากจีนสามารถคงระดับการลดมลภาวะทางอากาศได้ดีในระดับที่ดำเนินการมา
ที่มา > https://aqli.epic.uchicago.edu/policy-impacts/china-national-air-quality-action-plan-2014/

ลองนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปดูเรื่องราวต่างๆ กันก่อนเล็กน้อยเพื่อให้เห็นที่มา

ปลายทศวรรษที่ 1990 สาธารณชนเริ่มตระหนักถึงประเด็นคุณภาพอากาศ พอถึง ค.ศ.2007 สถาบันกิจการสาธารณะและประเด็นสิ่งแวดล้อม (Institute of Public and Environmental Affairs) ในกรุงปักกิ่งได้เปิดเผยแผนที่แสดงมลภาวะทางอากาศของจีน

ค.ศ.2008 สถานทูตสหรัฐในกรุงปักกิ่งเริ่มรายงานคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดได้ผ่านทางเว็บไซต์และทวิตเตอร์ของสถานทูต ประเด็นสำคัญคือ ข้อมูลคุณภาพอากาศที่สถานทูตรายงานแตกต่างจากข้อมูลจากทางการของจีนอย่างมีนัยสำคัญ จุดนี้เองที่ทำให้ผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากทางการจีน

ค.ศ.2012 สถานกงสุลของสหรัฐอเมริกาในนครกว่างโจว (กวางเจา) และนครช่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) ก็เริ่มรายงานคุณภาพอากาศ

พอถึงปีสำคัญคือ ค.ศ.2013 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ นครฉือเจียงจวงซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเหอเป่ยวัดค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ได้สูงถึง 393 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

และต่อมาค่านี้พุ่งสูงกว่า 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในบางวัน

ส่วนกรุงปักกิ่งมีค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 สูงกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 7 เท่า เมืองใหญ่อื่นๆ ก็มีค่า PM 2.5 สูงเช่นกัน เช่น เซี่ยงไฮ้และฮาร์บิน

ในปีนี้เองที่สถาบันนโยบายพลังงานที่มหาวิทยาลัยชิคาโก (Energy Policy Institute at the University of Chicago) ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนจีนทางตอนเหนือต่ำกว่าคนจีนทางตอนใต้ราว 5 ปี อันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศที่ไม่ดี

ส่วนที่ประชุมประจำปีสภาประชาชนแห่งชาติของจีนก็ให้ข้อมูลว่าฝุ่นพิษทำให้คนจีนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 1.2 ล้านคน

วันที่ 10 กันยายน ค.ศ.2013 คณะมนตรีรัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมมลภาวะทางอากาศ (Air Pollution Prevention and Control Action Plan) ระยะ 5 ปี คือ ค.ศ.2013-2017 ถือเป็นแผนในเฟสแรกที่จีนมุ่งจัดการปัญหาอย่างจริงจังและเป็นระบบ

ส่วนแผนในเฟสที่สองในช่วง ค.ศ.2018-2020 มีชื่อที่หวือหวากว่าคือ แผนปฏิบัติการ 3 ปีเพื่อเอาชนะสงครามให้ได้ท้องฟ้าสีคราม (Three-Year Action Plan for Winning the Blue Sky War)

 

อันว่าแผนนั้นใครๆ ก็จัดทำได้ แต่เหตุใดจีนจึงไม่ได้ “วาง” แผน (ไว้เฉยๆ) แต่เดินหน้าทำตามแผนจนถือได้ว่าประสบผลสำเร็จ?

ผมขอสรุปเป็นประเด็น 9 ข้อเพื่อให้ความคิดคมชัดดังนี้ครับ

หนึ่ง – รัฐบาลจีนถือว่าการจัดการมลภาวะทางอากาศเป็น “วาระแห่งชาติ” จัดเป็นหนึ่งในการต่อสู้ที่ยากลำบาก 3 อย่าง อีกสองอย่างคือ ความยากจนและเสถียรภาพทางการเงิน

สอง – แผนปฏิบัติการมี “เป้าหมายชัด” ทั้งในแง่พื้นที่ ค่าตัวเลขคุณภาพอากาศ และกำหนดเวลาที่ชัดเจน เช่น แผนในเฟสแรก กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 3 แห่ง ได้แก่ (1) เป่ยจิง-เทียนจิน-เหอเป่ย (2) สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล และ (3) สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 3 แห่งนี้มีปัญหามาก

ตัวอย่างเป้าหมายค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ในพื้นที่ทั้ง 3 แห่งนี้คือ เมื่อถึง ค.ศ.2017 ต้องลดลงจากค่าใน ค.ศ.2012 ให้ได้ถึง 25%, 15% และ 20% สำหรับพื้นที่ (1), (2) และ (3) ตามลำดับ

สาม – จีนสร้าง “ระบบติดตามคุณภาพอากาศและระบบรายงานข้อเท็จจริงที่มีประสิทธิภาพ” ระบบนี้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย เชื่อถือได้ในทางวิทยาศาสตร์ และเปิดเผยต่อสาธารณะ

สี่ – รัฐบาลจีนจัดการกับ “ผู้ปล่อยมลภาวะทางอากาศทุกระดับ” ตั้งแต่แหล่งใหญ่ๆ อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานเหล็กกล้า โรงงานปูนซีเมนต์ ยานพาหนะ เรื่อยลงไปจนถึงครัวเรือนที่ใช้เตาถ่าน

ในกรณีของถ่านหิน แผนเฟสหนึ่งตั้งเป้าลดปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจาก 68% เหลือ 65% ภายใน ค.ศ.2017 และมีการปิดเหมืองถ่านหินในมณฑลส่านซี (ผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่สุดของจีน) ถึง 27 เหมือง แถมยกเลิกแผนการสร้างโรงงานไฟฟ้าจากถ่านหินอีก 193 แห่ง

ในกรณีของยานพาหนะ มีแผนนำยานยนต์ที่ปล่อยมลภาวะสูงออกจากระบบถึง 15 ล้านคันภายใน ค.ศ.2017 (ยานยนต์กลุ่มนี้โดยสัดส่วนจำนวนคิดเป็น 15% แต่ปลดปล่อยอากาศพิษออกมาในสัดส่วนถึง 60%)

ส่วนเตาถ่านในครัวเรือนก็เปลี่ยนเป็นเตาแก๊สแทน ผู้บริหารของทางการจีนคนหนึ่งบอกว่าแต่ละครัวเรือนอาจจะปลดปล่อยมลภาวะออกมาไม่มากนัก แต่เมื่อคิดรวมกันทั้งหมดย่อมมีปริมาณมาก

ห้า – จีนกำหนด “มาตรฐานการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศที่เข้มข้น” และ “บังคับใช้อย่างจริงจัง” ในอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น พลังงานและยานยนต์ ในช่วงปลาย ค.ศ.2017 จีนสั่งระงับการผลิตยานยนต์ถึง 553 รุ่นที่ไม่ผ่านมาตรฐานการประหยัดเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ยังติดตั้งระบบตรวจจับการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศแบบต่อเนื่องในอุตสาหกรรมหลักๆ หลายแห่ง ทำให้สามารถปรับโทษได้แบบอัตโนมัติ จัดเป็นนวัตกรรมได้ทีเดียว

หก – จีนมี “ระบบแรงจูงใจสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ” โดยวัดจากเกณฑ์ผลงานด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจ ใครทำได้ตามเป้าก็ได้เลื่อนขั้น ใครทำไม่ได้ก็โดนคาดโทษ ระบบนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุกเพื่อให้ได้ผลงานตามแผน

เจ็ด – จีนมี “มาตรการและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน” เช่น ใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ใช้บิ๊กดาต้าและการวิเคราะห์เพื่อจัดการปัญหาที่เกิดจากรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันดีเซล นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยอื่นๆ เช่น การสำรวจทางอากาศและการรับรู้ระยะไกล เป็นต้น

แปด – จีน “ดึงการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมพลังงาน” เพิ่มขึ้น ใน ค.ศ.2017 จีนกลายเป็นแหล่งลงทุนด้านพลังงานสะอาดชั้นนำระดับโลก รวมทั้งก่อตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุด การดำเนินการนี้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เก้า – รัฐบาลจีน “ปรับปรุงแผน หรือริเริ่มแผนใหม่ให้ครอบคลุมและลงไปในรายละเอียดมากขึ้น” เช่น ปรับพื้นที่เป้าหมายจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลไปเป็นบริเวณที่ราบเฝินเว่ย เพิ่มแผนที่ใช้รับมือช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวเนื่องจากสองฤดูนี้มีปัญหาคุณภาพอากาศมากกว่าช่วงฤดูอื่น เพิ่มแผนปฏิบัติการสำหรับรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันดีเซลโดยเฉพาะ และปรับปรุงแผนเดิมที่ให้เปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินไปเป็นก๊าซ (เท่านั้น) ไปเป็นแหล่งพลังงานอื่นๆ ที่เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่มากที่สุด

เมื่อได้เห็นการจัดการปัญหาอากาศพิษสไตล์จีนไปแล้ว อาจลองคิดดูว่าบ้านเราทำข้อใดได้บ้างนะครับ!