โลหะปราสาทกับความรู้สึกที่เพิ่งสร้าง : จากคัมภีร์มหาวงษ์ วัดต้องสาป

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

โลหะปราสาทกับความรู้สึกที่เพิ่งสร้าง

: จากคัมภีร์มหาวงษ์ วัดต้องสาป

และความหมายใหม่หลังรื้อเฉลิมไทย (จบ)

 

ราวเดือนเมษายน พ.ศ.2532 ศาลาเฉลิมไทยเริ่มถูกรื้อถอน โดยหลังจากนั้นราว 1 ปี พื้นที่ทั้งหมดก็ถูกปรับสภาพเปลี่ยนเป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ และในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2533 ก็ได้มีพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 และลานอย่างเป็นทางการ

นับตั้งแต่นั้น ภาพโลหะปราสาทที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อราวกลางทศวรรษ 2510 ก็ถูกเผยให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านมุมมองจากสะพานผ่านฟ้าฯ ซึ่งก็เป็นมุมมองใหม่ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นในสังคมไทยเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม โลหะปราสาทจากฝีมือการบูรณะและสร้างเติมจนเสร็จ โดยกรมโยธาเทศบาลเมื่อทศวรรษที่ 2510 ก็ยังมีสถานะและความหมายไม่สมบูรณ์ตามความหมายอันยิ่งใหญ่ของโลหะปราสาทในคัมภีร์มหาวงษ์เท่าไรนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ยอดปราสาททั้ง 37 ยอดยังเป็นเพียงการก่ออิฐฉาบปูนและทาสีขาวเพียงเท่านั้น ซึ่งทำให้ขาดสัญลักษณ์ในเชิงความหมายที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ ยอดปราสาทที่เป็นโลหะ

รวมไปถึงยังขาดสถานะอันศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของการเป็นพุทธเจดีย์ที่สำคัญอันเป็นหลักประธานของวัดและของเมือง นั่นก็คือ การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ด้วยเหตุนี้ ราว 5 ปีหลังจากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์สร้างเสร็จ ก็ได้มีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระเจดีย์บุษบกบนยอดกลางของโลหะปราสาท เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 โดยรัชกาลที่ 9 เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธี

และหลังจากนั้น 1 ปี ก็มีโครงการบูรณะยอดมณฑปทั้ง 37 ยอด โดยเป้าหมายหลักคือนำโลหะ (ทองแดงรมดำ) มาหุ้มยอดปราสาททั้งหมด เพื่อให้ตรงความหมายของโลหะปราสาท โดยการหุ้มยอดปราสาทใช้เวลาทั้งหมด 11 ปี แล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ.2550

กระนั้น ในเวลาต่อมา ได้มีข้อเสนอว่ายอดโลหะปราสาทตามแนวคิดที่แท้จริงของรัชกาลที่ 3 นั้นควรมีสีทอง โดยอ้างอิงมาจากภาพจิตรกรรมโลหะปราสาทบนฝาผนังวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดโพธิ์

จากข้อเสนอนี้ได้ทำให้ในปี พ.ศ.2555 มีการบูรณะโลหะปราสาทครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยการปิดทองยอดปราสาททั้ง 37 ยอด (แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2561) และได้กลายเป็นภาพจำล่าสุดมาจนถึงปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่า การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และการหุ้มยอดปราสาทด้วยโลหะสีดำ ที่ต่อมามีการเปลี่ยนเป็นสีทองนั้น ได้ทำให้สถานะและความหมายของโลหะปราสาทครบสมบูรณ์ทั้งตามเนื้อความในคัมภีร์มหาวงษ์และตามความคิดของรัชกาลที่ 3

ภาพศาลาเฉลิมไทยที่ถูกฟื้นชีวิตกลับมาอีกครั้งจาก โปรเจ็กต์ AR ‘ราษฎรดำเนิน’
ที่มาภาพ : เพจ คิดอย่าง

จากหลักฐานและข้อมูลที่ผมอธิบายมาหลายตอน เราคงเห็นร่วมกันแล้วนะครับว่า ความเปลี่ยนแปลงในเชิงความหมายและความรู้สึกของสังคมไทย (โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำ) ที่มีต่อโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม นั้นมีพลวัตที่สูงมาก

จากเป้าหมายแรกอันยิ่งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เพียงแค่ไม่ถึง 10 ปีทุกอย่างก็เปลี่ยนไป กลายเป็นวัดตกอับและสถาปัตยกรรมที่อาภัพยาวนานมากกว่า 100 ปี

สุดท้าย ความหมายก็พลิกกลับอีกครั้ง จากความผันแปรทางความรู้สึกของชนชั้นนำไทยหลัง พ.ศ.2500 ที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกรังเกียจคณะราษฎร ที่ผสมเข้ากับบทบาทหน้าที่ใหม่ของพื้นที่บริเวณนี้ในฐานะ “ประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์” และการสร้างสุนทรียภาพใหม่ของเมืองจากแนวคิดของ “คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์”

สถานะและความหมายใหม่เช่นนี้ ถูกผลิตซ้ำและตอกย้ำให้สังคมได้รับรู้ผ่านการการจัดนิทรรศการถาวรที่จัดอยู่ในพื้นที่บริเวณชั้นหนึ่งของตัวโลหะปราสาท (เปิดให้เข้าชมครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2554) โดยเนื้อหาภายในจัดแสดงประวัติความเป็นมาของโลหะปราสาทนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

แน่นอนประวัติความเป็นมาที่ถูกจัดแสดง ย่อมไม่กล่าวถึงช่วงเวลาของการเป็นวัดต้องสาปที่ยาวนานตลอดจนเหตุผลที่ทำให้เป็นเช่นนั้น

 

เนื้อหาการจัดแสดงภายใน เล่าเรื่องตัวโลหะปราสาทที่ค่อยๆ ถูกสร้างและต่อเติมบูรณะเรื่อยมาอย่างเป็นลำดับเส้นตรง เสมือนหนึ่งว่าแนวคิดของรัชกาลที่ 3 และการรับรู้ต่อโลหะปราสาทที่สังคมไทยมีอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างนั้นมานับตั้งแต่โลหะปราสาทถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3

นอกจากนิทรรศการดังกล่าว หนังสือและบทความเกือบทั้งหมดที่ตีพิมพ์และผลิตขึ้นนับตั้งแต่ศาลาเฉลิมไทยถูกรื้อลง ต่างก็ดำเนินโครงเรื่องการเล่าและนำเสนอประวัติศาสตร์ไปในแบบเดียวกันนี้ทั้งสิ้น

ยิ่งไปกว่านั้น แม้จะไม่ได้กล่าวออกมาโดยตรง แต่เนื้อหาการเล่าที่ปรากฏอยู่ในสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก็สื่อนัยยะชี้ชวนให้ผู้อ่านเห็นว่า ภาพมุมมองต่อโลหะปราสาทจากสะพานผ่านฟ้าฯ นั้น เป็นเสมือนมุมมองหลักแรกเริ่มที่เป็นมาโดยตลอดของสังคมไทยที่มีต่ออาคารหลังนี้

ทุกคนต่างหลงลืม (ที่ถูกต้องกว่า คือ ถูกทำให้ลืม) ไปแล้วว่า มุมมองที่แท้จริงต่อโลหะปราสาท (ตามแนวคิดของช่างก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3) คือมุมมองที่ต้องเดินเข้ามาจากประตูหน้าวัดราชนัดดา บริเวณถนนมหาไชย ไม่ใช่จากสะพานผ่านฟ้าฯ

 

อาการล่าสุดของสังคมไทยที่ถูกทำให้ลืมในประเด็นนี้ ปรากฎให้เห็นอีกครั้งเมื่อราวเดือนตุลาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา เมื่อทางกลุ่ม Urban Ally และ “คิดอย่าง” ได้ร่วมกันทำโครงการปลุกประวัติศาสตร์ในย่านถนนราชดำเนินขึ้นอีกครั้งผ่านโปรเจ็กต์ ‘ราษฎรดำเนิน’ ด้วยการจัดทำภาพด้วยเทคนิค Augmented Reality (AR) ที่รวมเอาสภาพแวดล้อมจริงมาผนวกเข้ากับสถาปัตยกรรมคณะราษฎรหลายชิ้นที่ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว นำกลับมาให้ปรากฏขึ้นใหม่

ภาพมุมหนึ่งที่โครงการนี้เลือกขึ้นมา คือ ภาพที่มองมาจากสะพานผ่านฟ้าฯ และมองเห็นศาลาเฉลิมไทยกลับฟื้นชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง (หากสนใจ ตามไปดูโปรเจ็กต์ AR ‘ราษฎรดำเนิน’ เพื่อค้นหาความทรงจำที่สูญหายบนถนนราชดำเนินได้ที่ https://open-data.urbanally.org/projects/ratsadondumnoen)

เมื่อภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ได้สร้างกระแสของการโจมตีศาลาเฉลิมไทยอย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏขึ้นจะเป็นแค่เพียงภาพ AR ในมือถือเท่านั้น

ความเห็นกระแสหลักต่างลงความเห็นไปทำนองคล้ายกันว่า ดีแล้วที่รื้อศาลาเฉลิมไทยออกไปเพราะเป็นอาคารที่ไร้คุณค่า น่าเกลียด และบดบังโลหะปราสาท

ข้อความดังกล่าว แทบไม่ต่างกันเลย (ในแง่ของสาระสำคัญ) กับสิ่งที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ (ซึ่งขอยกมาให้อ่านอีกครั้ง แม้ว่าจะยกมาหลายครั้งแล้วก็ตาม) เมื่อตอนรณรงค์ให้มีการรื้อศาลาเฉลิมไทยในปี พ.ศ.2532 ที่ว่า

“…การสร้างโรงหนังเฉลิมไทย ณ ที่นั้น เป็นการปิดบังวัดราชนัดดาเสียโดยสิ้นเชิง ใครที่มาตามถนนราชดำเนินนอก ข้ามสะพานผ่านฟ้า แทนที่จะเห็นวัดราชนัดดา อันเป็นสิ่งสวยงาม กลับแลเห็นโรงหนังเฉลิมไทย อันเป็นโรงมหรสพ และมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ซึ่งต่ำทรามกว่าสถาปัตยกรรมของวัดราชนัดดาเป็นอย่างยิ่ง

กรุงเทพฯ จึงเสียวัดราชนัดดา หรือเอาวัดราชนัดดาไปซ่อนไว้ ไม่ให้ใครเห็นได้ง่ายมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี ทั้งนี้ก็แสดงให้เห็นว่า คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่รับผิดชอบในการสร้างถนนราชดำเนินกลางขึ้นนั้น มิได้มีใจรักศิลปะหรือวัฒนธรรมของไทยแต่อย่างใดเลย และออกจะไม่เห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นของสำคัญหรือจำเป็นนักอีกด้วย จึงสามารถทำกับวัดราชนัดดาได้ถึงเพียงนั้น…”

 

ตัวอย่างกรณีโลหะปราสาท ทำให้เรามองเห็นถึงพลังของ “ความรู้สึกที่เพิ่งสร้าง” ที่มิได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกในจิตใจของเราเท่านั้น แต่ส่งผลกว้างไกลไปสู่การเลือกที่จะเก็บอะไรและรื้ออะไร ส่งผลต่อการนิยามว่าอะไรงามอะไรน่าเกลียด ส่งผลต่อการออกแบบและวางผังเมือง ตลอดจนส่งผลต่อความทรงจำทางประวัติศาสตร์ร่วมของสังคม

และคงมิใช่มีเพียงแค่กรณีโลหะปราสาทเท่านั้น ผมเชื่อว่า หากเราใช้กรอบวิธีคิดนี้ย้อนกลับไปมองสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์มากมายในสังคมไทย เราก็อาจจะเห็นประเด็นว่าด้วย “ความรู้สึกที่เพิ่งสร้าง” ในลักษณะเช่นนี้อีกมากมาย

การหันมาสนใจในประเด็นนี้ ผมเชื่อว่า จะเข้ามาช่วยเติมเต็มการทำความเข้าใจและศึกษาประวัติศาสตร์ในทุกแขนงได้อย่างลึกซึ้ง รอบด้าน และสนุกสนานมากยิ่งขึ้น

ความรู้สึกของเราที่มีต่อประวัติศาสตร์ ผู้คน ไปจนถึงการกำหนดนิยามความงามที่รายล้อมรอบตัวเราที่ส่งผลต่อการออกแบบเมือง หลายอย่างอาจจะเป็นแค่เพียง “ความรู้สึกที่เพิ่งสร้าง” ซึ่งไม่ใช่อะไรที่จริงแท้ยาวนานข้ามกาลเวลาหลายร้อยหลายพันปีแต่อย่างใด