ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กันยายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
10 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่เป็นสถานการณ์ใหม่แบบธรรมดา คือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกล้มโดยการรัฐประหาร แต่เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่คนก็ยังเลือกกลับมาเป็นรัฐบาลอีก แล้วก็ถูกล้มอีกโดยตุลาการภิวัฒน์ แต่เมื่อมีเลือกตั้งก็กลับมาเป็นรัฐบาล และก็ถูกรัฐประหารอีกครั้ง
หลังรัฐประหาร 2557 มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านประชามติแล้ว แต่ดูจากหลักเกณฑ์ที่เป็นหัวใจทางการเมืองพบว่าโอกาสที่พรรครัฐบาลเดิมจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งเป็นเรื่องยากมากๆ สถานการณ์การเมืองจะถูกเปลี่ยนแปลงใหม่
จึงขอเรียกว่า…สถานการณ์การเมืองใหม่ล่าสุด
สถานการณ์การเมืองใหม่ล่าสุดเป็นอย่างไร
สถานการณ์นี้เคยเกิดขึ้นคล้ายๆ กันในช่วงสมัยรัฐบาลนายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ คือมีบทบาทของ ส.ว. มาช่วยสนับสนุนรัฐบาลและมีพรรคการเมืองหลายพรรคมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม
แต่ยุคใหม่นี้จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2559 ที่ร่างเสร็จและจะนำมาใช้ในปี 2560 ซึ่งจะต่างกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 อย่างมาก ตั้งแต่วิธีการเลือกตั้งจนไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล การควบคุมตรวจสอบ และตัดสินขององค์กรอิสระและศาล การบริหารของรัฐบาลจะถูกจำกัด
ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นจึงมีความเป็นไปได้ตามปัจจัยตัวแปรต่างๆ เป็นไปตามขั้นตอนดังนี้
อำนาจในการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่อยู่ในมือ ส.ส.
หลังผลประชามติออกมา กรธ. ต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2559 ตามคำถามพ่วงทำให้อำนาจและขั้นตอนในการสรรหานายกรัฐมนตรีเปลี่ยนแปลงไป ตามบทเฉพาะกาล 5 ปี
1. การประชุมเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรีมิใช่เป็นการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นการประชุมรัฐสภาซึ่งมีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งมี ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน
2. การเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรก ทำได้ยาก เพราะต้องเลือกจากบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อซึ่งพรรคการเมืองแจ้งไว้ และต้องมีคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ทั้ง 2 สภาในการประชุมนั้น คือเกินกว่า 375 คน แต่ชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอออกมาในช่วงหาเสียง จะไม่ได้เสียงโหวตจาก ส.ว. 250 คน จึงต้องไปหาเสียงจาก ส.ส. 500 คน
ถ้า ส.ส. หลายพรรคการเมืองไม่พร้อมใจกัน โอกาสที่จะได้คะแนนถึง 375 ก็ไม่มีอยู่แล้ว
คะแนนสูงสุดที่จะได้ถ้าเพื่อไทยกับ ปชป. ร่วมกันอาจมีถึง 300 เสียง แต่ในสถานการณ์นี้เป็นไปได้ยากมาก ที่ 2 พรรคใหญ่จะร่วมกัน
อีกประการหนึ่งก็คือพรรคขนาดกลางขนาดเล็กก็จะไม่เลือกคนของพรรคใหญ่เป็นนายกฯ จะรอไปร่วมรัฐบาลกับนายกฯ คนนอก ดังนั้น เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นคือที่ประชุมรัฐสภาจะไม่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีที่เสนอจากพรรคการเมืองในรอบแรกได้
3. หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ส.ส. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ 500 คนคือไม่น้อยกว่า 251 คน สามารถเข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาให้ยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีที่พรรคการเมืองแจ้งไว้คือเอาคนนอกมาก็ได้
ตรงนี้แสดงว่าถ้ามี ส.ส. พรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งและพรรคขนาดกลางขนาดเล็กร่วมกันเกินกว่า 251 เสียงก็สามารถยื่นได้ (ในทางกลับกันถ้ามีกลุ่มที่เกินกว่า 251 เสียงไม่ยอมยื่น เกมนี้ก็จะเดินต่อไม่ได้)
เลือกนายกฯ รอบสอง จะได้คะแนนเกิน 500 เสียง
4.ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมของ ส.ส. และ ส.ว. และจะต้องลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดซึ่งก็คือเกินกว่า 500 คนเพื่อเปิดช่องให้ดำเนินการเลือกนายกฯ โดยเสนอชื่อใครก็ได้ที่มีคุณสมบัติตาม รธน. ขั้นตอนนี้มีเสียงของ ส.ส. เกินกว่า 250 คนซึ่งเข้าชื่อเปิดทางอยู่แล้ว จึงต้องมีเสียงของ ส.ว. สนับสนุนเกือบทั้งหมดของ 250 คน ทำให้จะได้เสียงเกินกว่า 500 คน กระบวนการเลือกนายกฯ จึงจะดำเนินต่อได้
5. การเลือกนายกฯ ในรอบสอง กรธ. ผู้เสนอชื่อยังคงเป็น ส.ส. เหมือนเดิม ส.ว. ไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อ แต่เมื่อ ส.ส. รวมกันเกินกว่า 250 เข้าชื่อเปิดทาง แสดงว่ามีคนพร้อมที่จะเสนอชื่อนายกฯ คนนอกอยู่แล้ว
6. ผลการเลือกนายกฯ คนนอก มั่นใจได้ว่าต้องเกินกว่า 375 เพราะนายกฯ จะต้องได้เสียงสนับสนุนจากครึ่งหนึ่งของ ส.ส. เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล เมื่อรวมกับเสียงจาก ส.ว. เกือบทั้งหมด คะแนนจากการลงมติเลือกนายกฯ รอบสอง จะได้เกินกว่า 500 เสียง
รัฐบาลจัดสรรปันส่วน…ผสม โดยนายกฯ คนกลาง
มีฝ่ายค้านไม่เกิน 200 เสียง
การสถาปนาอำนาจรัฐใหม่…ที่ใช้คำว่าจัดสรรปันส่วน…ผสม เพราะสามารถใช้ในการเลือกตั้ง และการตั้งรัฐบาลเช่นกัน ถ้าดูจากข้อกำหนดกฎเกณฑ์และขั้นตอนการเลือกนายกฯ ทั้ง 6 ที่แสดงให้เห็น จะพบว่า การตั้งรัฐบาลก็จะเป็นไปแบบเดียวกันดังนี้
1. ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ว่าจะมาจากคนนอกหรือคนในก็ต้องมีเสียง ส.ส. สนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะตั้งรัฐบาลที่มั่นคงได้เพราะอำนาจในการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจยังอยู่ที่ ส.ส. ถ้าหากมีเสียงสนับสนุนน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง รัฐบาลอาจถูกล้มได้ ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลแม้มี ส.ว. ร่วมโหวตถึง 250 คน แต่เพื่อความปลอดภัยไม่มีนายกฯ คนไหนจะหาเสียง ส.ส. เพียงร้อยกว่ามาสนับสนุนตนเอง เพราะการทำเกมเสี่ยงแบบนั้นมีบทเรียนสมัยนายกฯ เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งถูกโค่นล้มเพียงเวลาไม่ถึงปี
เมื่อเป็นแบบนี้การรวมเสียงของพรรคการเมืองเพื่อให้ได้ประมาณ 280-300 เสียงจึงเป็นเรื่องจำเป็น
และนั่นหมายความว่าจะมีพรรคฝ่ายค้านซึ่งมีเสียงรวมกันประมาณ 150-200 เสียง
2. พลังของอำนาจรัฐปัจจุบัน จนถึงวันที่มีรัฐบาลใหม่จะยังคงรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ คสช. ผู้มีอำนาจมากที่สุดย่อมเป็นหัวหน้าคณะ คสช. อำนาจที่มีพลังที่สุดคือการใช้อำนาจตาม ม.44 ซึ่งสามารถให้คุณให้โทษได้ในเกือบทุกเรื่อง โดยเฉพาะในการแต่งตั้งโยกย้ายบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในทุกองค์กร เช่น การแต่งตั้ง สนช.เพิ่ม หรือการปลด การปรับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการการ พักงานนักการเมืองท้องถิ่น นี่เป็นอำนาจที่มีพลังมหาศาล จะมีผลต่อการทำงาน และการเลือกตั้ง
3. การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่แบบจัดสรรปันส่วนผสม และแรงกดดันทางการเมืองจากสถานการณ์และอำนาจรัฐจะทำให้กำลังทางการเมืองในระบบสภาของกลุ่มต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะมีจำนวน ส.ส. ลดลง เพื่อไทยซึ่งครั้งสุดท้ายได้ ส.ส. ถึง 265 คนเกินครึ่งสภาครั้งนี้ จำนวน ส.ส. ที่ได้น่าจะลดลงไป 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ อาจจะได้ ส.ส. อยู่ที่ 180 คน
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะได้ ส.ส. จำนวนลดลงในสัดส่วนเดียวกันจะได้ ส.ส. อยู่ที่ประมาณ 120 คน
พรรคขนาดกลางสามารถเพิ่มจำนวน ส.ส. ได้ ถึง 50 คน นอกนั้นจะเป็นพรรคเล็ก แต่ในการจัดตั้งรัฐบาลผสมครั้งนี้พรรคเล็กๆ ก็มีความหมาย
คาดว่ากลุ่มที่เรียกตัวเองว่าไม่ใช่นักการเมืองก็อาจจะต้องลงมาตั้งพรรคเพื่อเดินตามแนวทางนี้ หลายพรรคเพราะต้องการเสียง ส.ส. ไปสนับสนุนตำแหน่งรัฐมนตรีซึ่งจะต้องแบ่งตามโควต้าหลังจากการจัดตั้งผสม การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี จึงเกี่ยวพันกับจำนวน ส.ส.
ความสามารถของนายกฯ คือจะต้องจัดสรรคนที่เหมาะสมทั้งความสามารถและสอดคล้องกับกำลังทางการเมืองของแต่ละฝ่าย
4. การตั้งรัฐบาลจึงต้องมี ส.ส. อย่างน้อยถึง 280 คน จาก 5 พรรค เพื่อความปลอดภัย แต่พรรคเล็กพรรคกลางรวมกันไม่ถึงอยู่แล้ว ดังนั้น ปชป. หรือเพื่อไทย พรรคใดพรรคหนึ่งจะต้องเข้าร่วมรัฐบาล (ตามข้ออ้างที่ว่าเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเดินหน้าต่อไป) และอีกพรรคหนึ่งต้องเป็นฝ่ายค้าน
พรรคใหม่ และนายกฯ ใหม่
วิถีแห่งอำนาจหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เราจะได้เห็นการแยกตัว แยกกลุ่ม การก่อตั้งกลุ่มใหม่เพื่อรองรับระบบการเมืองตามสถานการณ์ใหม่ล่าสุด คาดการณ์ได้ว่านักการเมืองจะดูสถานการณ์ไปเรื่อยและทำการต่อรองกับขั้วอำนาจต่างๆ ทุกกลุ่มจะประเมินคะแนนซึ่งเห็นลายแทงจากการลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ และยิ่งใกล้เลือกตั้งจะยิ่งเห็นภาพกลุ่มชัดเจนขึ้นเนื่องจากคนที่อยู่ในวงการเลือกตั้งรู้ดีถึงการแปรเปลี่ยนของสถานการณ์และมีความจัดเจนในการต่อรอง
ดูจากอดีตทุกอย่างเป็นไปได้ พลังประชาชนถูกยุบ กลุ่มเนวินแยกตัว ปชป. ก็เคยมีกลุ่ม 10 มกราแยกตัว ข่าวตั้งพรรคเฉพาะกิจยิ่งเป็นไปได้ เพื่อรวมเสียงให้ได้เกิน 500 เสียง
นปช. และ นปป. ไม่เป็นพรรคเพื่อการเลือกตั้ง แต่จะมีพรรค นปย. เพื่อการปฏิรูปและยุทธศาสตร์เกิดขึ้นจริง และจะเป็นทางเลือกว่านายกฯ จะเข้าทางประตูหน้าได้อย่างสง่าผ่าเผยหรือไม่?