ข้อคิดการสงครามปัจจุบัน : ปัจจัยอาวุธและเทคโนโลยี

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

ข้อคิดการสงครามปัจจุบัน

: ปัจจัยอาวุธและเทคโนโลยี

 

“ผู้ชนะในการต่อสู้ ไม่ใช่ผู้ที่ทุบทำลาย แต่เป็นผู้ที่ทำให้อีกฝ่ายเหนื่อยล้า ไม่ใช่เป็นผู้ที่เอาชนะ แต่เป็นผู้ที่ทำให้อีกฝ่ายอ่อนแรงลงต่างหาก”

Giovanni Botero (รัฐบุรุษชาวอิตาลี, 1544-1617)

 

สงครามทางบกขนาดใหญ่เช่นที่เกิดในยูเครน ทำให้เกิดข้อถกเถียงทางยุทธศาสตร์อย่างน่าสนใจว่า รัฐเล็กจะ “ดำรงสภาพ” ในสงครามได้หรือไม่ เมื่อต้องเผชิญกับการรุกของรัฐมหาอำนาจใหญ่

คำตอบในด้านหนึ่งเป็นปัญหาการนำผนวกเข้ากับขวัญกำลังใจที่เป็น “อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน” ของฝ่ายยูเครน ได้กลายเป็นพลังอำนาจทางทหารในแบบที่ผู้นำรัสเซียคาดไม่ถึง

และเมื่อตะวันตกตัดสินใจส่งอาวุธให้แล้ว ยูเครนดูจะมีขีดความสามารถในการดำรงสภาพการรบได้มากกว่าที่หลายฝ่ายคิด

 

อำนาจกำลังรบ

สิ่งที่เป็นอุดมคติที่คู่สงครามต้องการมากที่สุดคือ การมี “อำนาจกำลังรบที่มีตัวตน” ที่ประสานเข้ากับ “อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน” ได้อย่างเหมาะสมและลงตัว

อันจะทำให้รัฐนั้นสามารถขับเคลื่อนสงครามได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์อย่างที่ต้องการ

เนื่องจากสงครามไม่ได้ทำบนฐานความคิดที่เลื่อนลอย แต่กระทำโดยมีความต้องการทางยุทธศาสตร์เป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งความสำเร็จของการ “ยันทางยุทธศาสตร์” ของกองทัพยูเครนกลายเป็นการพิสูจน์สมมุติฐานเช่นนี้ได้เป็นอย่างดี

ความสำเร็จในเบื้องต้นเช่นนี้ตอบสนองโดยตรงต่อเป้าประสงค์ทางยุทธศาสตร์ทหารของยูเครน ที่สามารถหยุดยั้งการขยับแนวรบของกองทัพรัสเซียได้อย่างแท้จริงในสนามรบ และยังสามารถเปิดการรุกกลับได้อีกด้วย

ในทำนองเดียวกันการถอยร่นของกองทัพรัสเซียก็เป็นการพิสูจน์สมมติฐานเช่นนี้ในด้านกลับ

ดังจะเห็นได้ว่ากองทัพรัสเซียมียุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก หากเปรียบเทียบในเชิงปริมาณแล้ว กองทัพรัสเซียใหญ่กว่ากองทัพยูเครนในทุกมิติ

แต่ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียกลับไม่อาจสร้างผลตอบแทนทางยุทธศาสตร์ให้กับประธานาธิบดีปูตินได้เช่นที่หวัง

เนื่องจากกองทัพรัสเซียไม่สามารถมีชัยชนะเด็ดขาดต่อยูเครนได้

และภาวะเช่นนี้ส่งผลให้การรบในยูเครนกลายเป็น “สงครามยืดเยื้อ” อย่างแท้จริง

เพราะรบกันนานกว่า 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีฝ่ายใดสามารถที่จะสถาปนาชัยชนะของฝ่ายตนได้เลย

กล่าวคือ เกิดสภาวะที่นักวิชาการด้านการทหารบางส่วนเรียกว่าเป็น “frozen conflict”

เสมือนหนึ่งเป็นสภาวะที่สงครามถูกแช่แข็งให้อยู่ในเวทีโลกไปนานๆ

หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ สงครามจากนี้ไปจะ “รบหนัก รบยาว รบต่อเนื่อง”

ซึ่งการรบในเงื่อนไขเช่นนี้ทำให้มีความต้องการยุทโธปกรณ์จำนวนมาก และมีระดับของเทคโนโลยีที่สูงกว่า

 

เทคโนโลยี-แนวคิดการยุทธ์

หลักการสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับสงครามคือ “ทำอย่างไรที่รัฐจะสามารถแปรเปลี่ยนความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีในสนามรบไปเป็นชัยชนะทางยุทธศาสตร์?”

เพราะปัจจัยเทคโนโลยีทหารจะต้องทำให้เกิดแนวคิดทางทหารใหม่ อันจะทำให้เกิดความเหนือกว่าเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม

เช่น พัฒนาการของรถถังที่เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นำไปสู่แนวคิดใหม่ของทหารม้า (ที่เริ่มเปลี่ยนผ่านจาก “ม้าเนื้อ” ไปเป็น “ม้าเหล็ก”) คือแนวคิดเรื่อง “สงครามรถถัง” (Tank Warfare และ/หรือ Armored Warfare)

แนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในกองทัพบกเยอรมนีอันเป็นผลจากพัฒนาการของรถถังและยานเกราะคือ “สงครามสายฟ้าแลบ” (Blitzkrieg Warfare) ในช่วงทศวรรษ 1930 จนต้องถือเป็นต้นทางความคิดของแนวคิดในเรื่อง “สงครามดำเนินกลยุทธ์” (Maneuver Warfare) หรืออาจเรียกในแบบหนึ่งว่าเป็น “สงครามเคลื่อนที่”

อันเป็นการปฏิวัติทางความคิดของการยุทธ์ในสนามที่สำคัญชุดหนึ่งในวงการทหารของโลก อันเป็นผลจากการกำเนิดของยานเกราะและยานยนต์ในทางทหาร ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วของหน่วยทหาร ผสมเข้ากับการโจมตีทางอากาศในลักษณะของ “การสนับสนุนทางอากาศ” อย่างใกล้ชิด (Close Air Support : CAS) จนแนวตั้งรับของข้าศึกไม่สามารถต้านทานการบุกโจมตีของกองทัพเยอรมนีได้

ดังตัวอย่างของการยุทธ์ที่เริ่มต้นด้วยการโจมตีของกองทัพเยอรมนีต่อโปแลนด์ในเดือนกันยายน 1939 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 และตามมาด้วยการยุทธ์ในปี 1940 ด้วยการโจมตียุโรปตะวันตก ซึ่งมีฝรั่งเศสเป็นเป้าหมายหลัก

ซึ่งจะเห็นได้ว่ากองทัพเยอรมนีชนะสงครามอย่างรวดเร็ว (และอย่างคาดไม่ถึง ดังจะเห็นได้ว่าปารีสแตกอย่างรวดเร็ว จนอังกฤษตั้งหลักไม่ทัน!)

แม้กองทัพเยอรมนีจะให้กำเนิด “แนวคิดการยุทธ์ในสนามใหม่” และนำไปสู่ชัยชนะอย่างรวดเร็วในช่วงต้นของสงคราม

แต่ในท้ายที่สุดแนวคิดเช่นนี้ไม่สามารถนำไปสู่ชัยชนะในทางยุทธศาสตร์ได้อย่างแท้จริง

เพราะเมื่อสหรัฐตัดสินใจเข้าสู่สงครามเพื่อที่จะปลดปล่อยยุโรปจากการยึดครองของนาซีแล้ว สงครามก็เริ่มเกิดจุดพลิกผัน เนื่องจากสหรัฐมีความเหนือกว่าทั้งทางด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์

และหลังจากการเปิดประตูยุโรปที่ชายหาดนอร์มังดีในเดือนมิถุนายน 1944 กองทัพเยอรมนีเริ่มเป็นฝ่ายถอยร่นในแนวรบด้านตะวันตก และนำไปสู่การพ่ายแพ้สงครามในปี 1945

ถ้าจะสรุปว่ารถถัง ยานเกราะ และอากาศยานที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ของยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพเยอรมนีเป็นผู้ครอบครองนั้น ประสานเข้ากับชุดความคิดทางทหารใหม่ของสงครามสายฟ้าแลบ กลายเป็นปัจจัยที่สร้างความได้เปรียบทางทหารให้กับฝ่ายเยอรมนีอย่างมาก

แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้กองทัพเยอรมนีสามารถยึดครองพื้นที่ของยุโรปได้ตลอดไป

เพราะเมื่อกองทัพสัมพันธมิตรที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีอีกชุดจากสหรัฐ การยึดครองยุโรปภายใต้อำนาจของกองทัพนาซีก็เริ่มถูกผลักดันออก

ประกอบกับความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นในแนวรบด้านตะวันออก โดยมีการยุทธ์ที่สตาลินกราดในปี 1942-1943 เป็นหมุดหมายสำคัญ

ชัยชนะทางยุทธวิธีของกองทัพเยอรมนีในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นข้อเตือนใจว่า เมื่อชัยชนะในการรบไม่ได้ถูกแปรเป็นความเหนือกว่าทางยุทธศาสตร์ได้แล้ว อำนาจทางทหารของสหรัฐที่เหนือกว่าจึงเริ่มเป็นปัจจัยที่เปลี่ยนทิศทางของสงคราม

กล่าวคือ เทคโนโลยีทหารจะสร้างความเหนือกว่าได้อย่างแท้จริงในการกำหนดความเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะในสงครามนั้น

เทคโนโลยีนี้จะต้องไม่ใช่การสร้างเพียง “ความเหนือกว่าชั่วคราว” ในสนามรบเท่านั้น หากจะต้องทำให้รัฐสามารถดำรงสภาพในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น หรือเป็นปัจจัยที่ช่วยลดทอนค่าใช้จ่ายมหาศาลที่เกิดจากสงครามนั้นด้วย

ดังนั้น การเน้นแต่การแสวงหาเทคโนโลยีทหารที่เหนือกว่า หรือเทคโนโลยีที่ “เหมาะสม” อันเป็นความหวังในการเพิ่ม “ประสิทธิภาพในสนามรบ” (battlefield effectiveness) นั้น เป็นความจำเป็นในทุกการสงคราม

แต่ก็จะต้องไม่ละเลยการมองปัญหาในระยะยาว เนื่องจากปัญหาในระยะยาวนั้น ไม่ใช่เรื่องของปัจจัยทางเทคโนโลยีแต่เพียงประการเดียว

เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ใช่หลักประกันของความสำเร็จในทางยุทธศาสตร์ หากยังต้องคิดในเรื่องของปัจจัยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจที่รัฐจะต้องดำรงสภาพในสงครามให้ได้

รัฐที่ละเลยปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจทำสงครามในระยะยาวไม่ได้

รัฐที่ดำรงสภาพในสงครามไม่ได้เนื่องจากความอ่อนล้าที่เกิดขึ้นคือ “ผู้แพ้”

 

อำนาจในสงคราม

พลังอำนาจทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยหลักของการสร้าง “เศรษฐกิจสงคราม” (war economy) ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของรัฐ ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องของอุตสาหกรรมอาวุธ

การใช้เศรษฐกิจภายในเป็นปัจจัยสนับสนุนสงคราม ตลอดรวมถึงการจัดชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทางเศรษฐกิจในภาวะสงคราม อีกทั้งรัฐจะต้องดำรงอยู่ให้ได้ โดยไม่ล้มละลายในยามสงคราม

พร้อมกันนี้รัฐก็จะต้องมีพลังอำนาจทางการเมืองเพื่อที่จะสร้างขวัญกำลังใจของคน และทำหน้าที่ในการระดมสรรพกำลังให้สังคมไม่เพียงสนับสนุนการสงครามของรัฐเท่านั้น หากยังต้องทำให้สังคมเป็นเอกภาพทางความคิดร่วมกันในการต่อสู้กับข้าศึกด้วย

ในเงื่อนไขเช่นนี้ รัฐต้องการขีดความสามารถ 3 ประการในการทำสงครามคือ

1) ขีดความสามารถในการ “ดำรงสภาพ” ของรัฐในยามสงคราม ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รัฐสามารถเดินฝ่าวิกฤตนี้ไปได้

2) ขีดความสามารถในการ “ทำลาย” ฝ่ายตรงข้ามในสนามรบ

และ 3) ขีดความสามารถในการ “ลดทอน” ความเสียหายที่เกิดจากสงคราม

เทคโนโลยีอาจจะเป็นคำตอบในเบื้องต้นของขีดความสามารถทั้ง 3 ประการข้างต้น

กล่าวคือ อำนาจการยิง และ/หรืออำนาจการทำลายของอาวุธสมัยใหม่เป็นปัจจัยในการสร้างความสูญเสียให้กับกองทัพข้าศึกในสนามรบ เช่น อำนาจการยิงของปืนใหญ่ จรวดหลายลำกล้องในยูเครน

นอกจากนี้ ความเสียหายจากอำนาจการยิงของเทคโนโลยีสมัยใหม่อาจจะเป็นการเปิดทางไปสู่ชัยชนะได้ หากอาวุธดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อชีวิตของคนเป็นจำนวนมาก เช่น การใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีฮิโรชิมาและนางาซากิในเดือนสิงหาคม 1945 เป็นต้น

ซึ่งการทำลายเช่นนี้ทำให้รัฐข้าศึกไม่สามารถหากำลังพลทดแทนจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้

ในอีกด้านเทคโนโลยีอาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดทอนการสูญเสียชีวิต เช่น การใช้อาวุธยิงระยะไกลที่มีความแม่นยำสูง (long-range precision-guided munitions) ในสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 มีส่วนช่วยในการรักษาชีวิตกำลังพลอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าอัตราการสูญเสียของกองทัพอเมริกันอยู่ในระดับต่ำ

อีกทั้งเทคโนโลยีเช่นนี้ยังช่วยให้ค่าใช้จ่ายในสงครามไม่สูงมาก ดังเช่นการโจมตีเป้าหมายข้าศึกด้วย “ระเบิดฉลาด” (smart bomb) ช่วยลดการใช้ระเบิดจำนวนมากในแบบสงครามโลก หรือสงครามเวียดนาม

 

ปัญหาปัจจุบัน

ความคาดหวังว่าสงครามสมัยใหม่ที่ใช้อาวุธสมรรถนะสูงจะนองเลือดน้อยลง จะรบสั้นลง และจะใช้จ่ายน้อยลงนั้น อาจจะไม่เป็นจริงเท่าใดนักในบริบทของยูเครน

ผลจากการที่กองทัพรัสเซียไม่สามารถเอาชนะได้ในช่วงแรกของสงคราม และกองทัพยูเครนประสบความสำเร็จในการยันการรุกของรัสเซีย พร้อมกับการเทความช่วยเหลือของตะวันตกให้แก่ยูเครน

สงครามจึงมีภาวะของการเป็น “Attrition Warfare” ที่เป็นการรบหนัก รบยาว และรบต่อเนื่อง หรือเป็น “สงครามตามแบบที่ยืดเยื้อ”

ภาวะเช่นนี้ทำให้การดำรงสภาพของรัฐในสงครามเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด รัสเซียอาจจะได้เปรียบในความเป็นรัฐใหญ่ที่มีทรัพยากรมาก

แต่ยูเครนก็ได้เปรียบที่มีพันธมิตรในวงกว้างและได้รับความช่วยเหลือต่อเนื่อง

สงครามนับจากนี้คือการต่อสู้ระหว่าง “เจตจำนงของมนุษย์” (human will) ในฐานะของความเป็นคู่สงคราม

ดังนั้น สงครามในสภาพเช่นนี้จึงเป็นการกัดกร่อนและบ่อนเซาะให้สังคมพังทลายลง

และผู้ชนะคือผู้ที่ทำให้อีกฝ่ายอ่อนล้าจนหมดความสามารถในการดำรงสภาพการรบ!