3 ข้อสังเกต หลังไปเที่ยว ‘ปัตตานี’

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

3 ข้อสังเกต

หลังไปเที่ยว ‘ปัตตานี’

 

ท่ามกลางบรรยากาศสนามเลือกตั้งที่กำลังทวีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

วันนี้ผมขอชวนคุยเรื่องสบายๆ ไม่หนักหน่วงดูบ้างนะครับ

และเมื่อพูดถึงเรื่องสบายแล้วอะไรจะมาสบายกายสบายใจเท่ากับเรื่องของการเดินทางท่องเที่ยวเห็นจะไม่มีอีกแล้ว

ในช่วงเวลาที่หลายคนรวมทั้งผมกำลังรอฟังข่าวเรื่องการยุบสภาว่าเมื่อไหร่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาเสียที

ผมกับคณะท่องเที่ยวจำนวนรวมสิบคนซึ่งในจำนวนนี้มีมีอาชีพผู้สื่อข่าวรวมอยู่ด้วยสองคนได้วางแผนล่วงหน้ามานานแล้วตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมว่าเราจะไปเที่ยวปัตตานีกันสักทริปหนึ่ง กำหนดการประมาณสามวันสองคืนน่าจะพอดีสำหรับกิจกรรม

ก่อนเดินทาง เมื่อผมเล่าให้ใครต่อใครฟังว่าจะไปเที่ยวปัตตานี ถึงแม้ท่านเหล่านั้นจะไม่พูดออกปากมาโดยตรงแต่ผมก็อ่านแววตาได้ว่า ทุกคนล้วนตั้งคำถามว่า ไม่กลัวภัยอันตรายบ้างหรือ

จากประสบการณ์ของผมเองรวมทั้งจากการประเมินข่าวสารในช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าพื้นที่ชายแดนภาคใต้สามจังหวัดซึ่งมีจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เหตุการณ์ถึงแม้จะไม่ราบรื่นเป็นปกติเต็มร้อย

แต่การเดินทางท่องเที่ยวก็สามารถทำได้

และไม่ใช่แต่เพียงแค่คนไทยเรานะครับ ช่วงนี้นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเขาก็มาเที่ยวบ้านเรามากพอสมควร

ซึ่งระหว่างเดินทางท่องเที่ยวคราวนี้เองผมก็ได้เห็นชาวมาเลเซียนับสิบขี่รถจักรยานคันใหญ่มาไหว้หลวงพ่อทวดที่วัดช้างให้

ทั้งไทยทั้งมาเลย์ต่างช่วยกันจุดประทัดกันหูดับตับไหม้เชียวครับ

 

วิธีเดินทางไปท่องเที่ยวปัตตานีของผมคราวนี้เลือกใช้วิธีการที่ประหยัดเวลาได้มากที่สุดคือขึ้นเครื่องบินไปลงที่สนามบินหาดใหญ่

แล้วเช่ารถจากสนามบินนั้นเองไปที่ตัวเมืองปัตตานี คณะของเรามีจำนวนสมาชิก 10 คน จะใช้รถตู้สองคันก็ดูใหญ่โตเกินไป

ตกลงจึงเป็นการเช่ารถตู้ที่มีคนขับหนึ่งคันสำหรับนั่งหกคน อีกสี่คนเช่ารถเก๋งแล้วเราขับกันเอง มีรถคันใหญ่ รถคันเล็กวิ่งตามกันอย่างนี้สะดวกดีครับ

จากสนามบินหาดใหญ่ไปถึงปัตตานีใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ถ้าเราไม่ใช่คนขับ หลับกำลังเพลินเลยทีเดียว เผลอตัวตื่นขึ้นมาก็ถึงตัวเมืองปัตตานีเสียแล้ว

ถ้าจะให้เล่ารายละเอียดรายชั่วโมงรายนาทีว่าผมไปเที่ยวไปกินอะไรมาบ้างเรื่องก็จะยาวเกินไป

เรามาตกลงกันดีกว่าครับว่าผมขออนุญาตรายงานแต่เพียงสังเขป ว่าตลอดการเดินทางสามวันสองคืนนี้มีอะไรที่สะดุดตาสะดุดใจผมเป็นพิเศษบ้าง

ตกลงนะครับ

 

ข้อแรก เล่าถึงเรื่องความปลอดภัยในสายตาของผมก่อนก็แล้วกัน

ตามถนนหนทางซึ่งส่วนมากเป็นถนนสายหลักที่ผมใช้ในการเดินทาง มีเจ้าหน้าที่ด่านเพื่อตรวจตราเป็นระยะๆ ไป แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดหยุดรถเพื่อสอบถามอะไรหรอกนะครับ เจ้าหน้าที่ก็เพียงแต่ระแวดระวังอยู่โดยทั่วไป

บรรยากาศจึงไม่ตึงเครียดครับ แถมยังรู้สึกอุ่นใจดีเสียด้วยซ้ำ

ตามด่านทั้งหลายนั้น นอกจากบริเวณที่พักหลบแดดหลบร้อนหรือพักอาศัยนอนในเวลากลางคืนของเจ้าหน้าที่แล้ว ยังมีการวางเครื่องกีดขวางถนนในลักษณะที่วางเยื้องกัน เพื่อให้รถที่วิ่งผ่านต้องชะลอความเร็ว

เครื่องกีดขวางที่ว่านี้ชวนให้ผมนึกถึงคำโบราณที่อ่านพบในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าว่า ตามถนนในกรุงศรีอยุธยานั้นมีด่านเจ้าหน้าที่แบบนี้เหมือนกัน

และก็มีเครื่องมือที่เรียกว่า “จำหล่อ” ติดตั้งอยู่ประจำทำนองเดียวกับที่ผมได้เห็นมาในระหว่างการเดินทางคราวนี้ด้วย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า จำหล่อเป็นเครื่องกั้นขวางทางสมัยโบราณ ปักเสาสูงราวสองศอก มีไม้เสาทับหลัง ขวางถนนเป็นสองแนวเยื้องไม่ตรงกัน ปลายต่อปลายเกินกันทั้งสองข้าง แถมยังอธิบายขยายความไว้ด้วยว่าคำนี้น่าจะมาจากภาษาจีน โดยคำว่า จั้ง แปลว่ากีดหรือขวาง ส่วน โหล่ว แปลว่าถนน รวมความก็คือเครื่องกีดขวางถนนนั่นเอง

อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นรายการภาษาไทยวันละคำขึ้นมาเสียอย่างงั้น ใครจะทำไม

เส้นทางคมนาคมที่เราใช้เดินทางจากหาดใหญ่ไปปัตตานีก็ดี จากตัวเมืองปัตตานีไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมทั้งการไปถึงจังหวัดยะลาเพื่อกินข้าวกลางวันมื้อหนึ่ง ล้วนเป็นถนนเส้นใหญ่ที่มีผู้คนสัญจรไปมาอยู่เสมอ มีการตั้งด่านตรวจตราอย่างที่ว่าเป็นระยะๆ ไป

การเดินทางโดยตลอดสามวันของเราจึงราบรื่นดีครับ

 

ข้อสอง ข้อนี้ถ้าบอกว่าผมเป็นคนเห็นแก่กินก็ไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไรได้ แต่ขอยืนยันว่าอาหารการกินอร่อยๆ มีให้บริการมากมาย

ตั้งแต่เมนูโรตีชาชักซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของท้องถิ่นซึ่งมีขายอยู่ทั่วไป

แต่ผมได้หลงรักมุมโรตีชาชักของโรงแรมซีเอสซึ่งเป็นโรงแรมที่ผมพักนอนสองคืนเสียแล้ว เพราะสะดวกดีเหลือเกิน นั่งคุยนั่งกินกันจนถึงสี่ห้าทุ่มได้สบายๆ

นอกจากนั้น ยังมีอาหารทะเลสดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาเผาพร้อมน้ำจิ้มที่เป็นสูตรลับของร้านธารา ร้านอาหารเก่าแก่กลางเมืองยะลา

ตามมาติดๆ ด้วยข้าวมันแกงปลาที่เรียกตามภาษาถิ่นว่า นาซิดาแก ก็เหมาะสำหรับกินเป็นอาหารเช้ายิ่งนัก

บางร้านที่เราได้ยินกิตติศัพท์มาช้านานก็ยังพลาดโอกาสที่จะไปอุดหนุนในคราวนี้เพราะจำนวนมื้อไม่เพียงพอ เช่น ร้านเจ๊ะเยาะห์ มือยืนอันดับหนึ่งเรื่องซุปเนื้อของเมืองปัตตานี เรียกว่ากินกันจนเหนื่อยเชียวล่ะ

แต่นอกจากร้านอาหารที่ขายอาหารแบบดั้งเดิมแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมากคือร้านกาแฟ ซึ่งมีกาแฟนานาชนิดรสชาติต่างๆ และขนมให้เลือกกินได้ตามใจชอบ

ร้านกาแฟนี้มีไปตลอดเส้นทางตั้งแต่สนามบินหาดใหญ่ไปจนถึงปัตตานี และลุกลามไปจนถึงยะลาด้วย

แม้แต่เวลาที่เราขับรถเข้าไปวนดูบริเวณของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ขนาดตึกอธิการบดีก็ยังมีร้านกาแฟเลยครับ

เพราะฉะนั้น คนติดกาแฟจึงสบายใจได้ว่า ท่านจะไม่ขาดแคลนกาแฟเลยเป็นอันขาด

ขอพูดเลยเถิดไปอีกนิดหนึ่งว่า ด้วยเหตุผลอะไรไม่แน่ชัด แต่ผมสังเกตเห็นว่าเด็กวัยรุ่นสมัยนี้หลายคนมีความฝันที่จะมีร้านกาแฟเป็นของตัวเอง

ส่วนจะมีกี่คนทำความฝันให้เป็นจริงได้บ้าง และความฝันจะยืดยาวเพียงใด หรือเป็นเพียงแค่ความฝันชั่ววูบ เห็นจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นศึกษาวิจัยแล้วล่ะ

 

ข้อสังเกตข้อที่สาม ความคิดเห็นข้อนี้เกิดขึ้นจากการได้พบกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีซึ่งรู้จักกันกับผมมานานกว่าสิบปีแล้ว และท่านก็รู้จักกับสมาชิกในคณะเดินทางของผมอีกหลายคนด้วย ท่านชื่อ พาตีเมาะ สะดียามู ท่านเป็นผู้ว่าฯ สตรีมุสลิมคนแรกของประเทศไทย

ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นผู้หญิงเรามีมาหลายคนแล้ว แต่ที่เป็นผู้หญิงด้วยและเป็นอิสลามศาสนิกด้วย ก็เพิ่งจะมีท่านผู้ว่าฯ เมาะนี่แหละ

ตลอดเวลาสามวันผมได้พบกับท่านผู้ว่าฯ สองรอบ รอบแรกเป็นการกินข้าวมื้อค่ำอย่างง่ายๆ ที่จวนกลางเมืองปัตตานี

คุยกันไปมาท่านเลยชวนผมไปเยี่ยมชมเมืองโบราณยะรังซึ่งเป็นแหล่งโบราณสถานสมัยลังกาสุกะ อายุกว่าพันปีที่กำลังขุดค้นของเมืองปัตตานี

เจ้าเมืองชวนกันอย่างนี้จะปฏิเสธได้อย่างไรเล่า ฮา!

การพบกันรอบที่สองจึงเกิดขึ้นในเช้าวันรุ่งขึ้น ที่แหล่งโบราณสถานเมืองยะรังพร้อมกันกับการพบปะพูดคุยกับผู้นำชุมชนท้องถิ่นในที่นั้น

จากการพบปะกับท่านผู้ว่าฯ เมาะ ได้เห็นการทำงานของท่านท่ามกลางมวลชน รวมทั้งการพูดคุยกับสมาชิกอีกหลายคนในคณะเดินทาง ซึ่งมีบางคนเป็นผู้มีถิ่นกำเนิดในละแวกนี้ด้วย ทำให้ผมรู้ว่า บทบาทของผู้หญิงในท้องถิ่นย่านนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก บทบาทและการรับรู้สถานะของผู้หญิงเลยไปจนถึงเรื่องของโอกาสที่สตรีจะได้รับการศึกษามีกรอบหรือเพดานที่ก้าวข้ามได้ยาก

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้หญิงสามารถได้รับโอกาสทัดเทียมกับผู้ชายแล้ว ผู้หญิงก็จะสามารถทำอะไรที่เกิดคุณประโยชน์ให้กับตัวเอง กับครอบครัว และกับส่วนรวมได้อีกมาก

 

ไปเที่ยวมาสามวัน มีข้อสังเกตแต่เพียงสามข้อข้างต้นนี้ก็น่าจะพอแล้วนะครับ

เขียนจบแล้วมาอ่านทบทวนอีกครั้งหนึ่ง สรุปว่ายังไม่ได้เล่าเลยว่าไปเที่ยวอะไรมาบ้าง เล่าแต่เพียงเรื่องอาหารการกิน การเดินทางและบทบาทของผู้หญิงเท่านั้น

อายุมากแล้วก็เลอะเทอะอย่างนี้แหละครับ ฮา!