ต่างประเทศอินโดจีน : “แดนซ์ วิท ทรัมป์”

US President Donald Trump (L) and Vietnam's President Tran Dai Quang attend a welcoming ceremony at the Presidential Palace in Hanoi in Hanoi on November 12, 2017. Trump told his Vietnamese counterpart on November 12 he is ready to help resolve the dispute in the resource-rich South China Sea, which Beijing claims most of. / AFP PHOTO / POOL / KHAM

การเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 25 ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ถือเป็นครั้งที่สองแล้วที่เวียดนามรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ

ภารกิจต้อนรับบรรดาผู้นำระดับโลกนี้ เหน็ดเหนื่อย สิ้นเปลืองยิ่ง แต่ก็เป็นโอกาสดีที่หายากยิ่งเช่นกันในการ “ทำแต้ม” ทางการทูต

เอเปคหนนี้ยิ่งถูกจับตามองอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นหนแรกของ “โดนัลด์ ทรัมป์” บนเวที “พหุภาคี” เพื่อดูว่าผู้นำอเมริกันยังคงรักษาท่าที “มองย้อนสู่ภายใน” สวนกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ผู้เชี่ยวชาญการต่างประเทศหลายคนตีตราว่าเปรียบเสมือนการ “เลิกราสถานะผู้นำโลก” เหมือนอย่างที่ประกาศไว้หรือไม่

สุดท้าย ในเวทีอย่างเอเปค ทรัมป์ก็ยังเป็นทรัมป์ อย่างน้อยที่สุดก็ตอกย้ำแนวทาง “อเมริกาเฟิร์สต์” ด้วยการส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะไม่ยอมให้ใครฉกฉวย เอารัดเอาเปรียบสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป

 

หลายประเทศที่เป็นหรือเคยเป็น “หุ้นส่วน” ของอเมริกาคาดหวังมากกว่านั้น อย่างน้อยก็ในสภาวะที่อิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคในยามนี้

ท่วงทำนอง “โปรเท็กชั่นนิสต์” ของทรัมป์ กลายเป็นเครื่องหมายคำถามสำหรับเวียดนาม

เวียดนามไม่เพียงเคยเป็นคู่สงครามชายแดนกับจีน ยังถือเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญที่สุด แข็งกร้าวที่สุดในกรณีอ้างสิทธิทับซ้อนซึ่งกันและกันในทะเลจีนใต้ ย่อมไม่อาจเริงระบำไปตามจังหวะดนตรีแห่งปักกิ่งเต็มที่ จนหลุดเข้าไปอยู่ใต้อิทธิพลจีนเต็มตัวได้

ได้แต่หันไปเต้นตามจังหวะก้าวย่างทางการทูตจากวอชิงตัน อย่างน้อยที่สุดเพื่อสร้างภาวะสมดุลของอำนาจให้ตัวเองได้มีโอกาสมีช่องได้หายใจ

มองอย่างผิวเผิน เวียดนามแทบไม่ได้รับสิ่งใดจากการประชุมสุดยอดเอเปคครั้งที่ 25 กระนั้นนักวิชาการถี่ถ้วนบางคนกลับยอมรับและชื่นชมต่อเหลี่ยมคูทางการทูตจากทางการฮานอย

เวียดนามจัดการจนได้ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นแขกของรัฐบาล พบหารือทวิภาคีกันที่ฮานอยหลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปคที่ดานัง

การแถลงร่วมระหว่างทรัมป์กับประธานาธิบดี เจิ่น ด่าย กวาง แล้วเสร็จเพียงไม่กี่นาที เครื่องบินของ สี จิ้น ผิง ก็ลงแตะรันเวย์ท่าอากาศยานฮานอยอีกคน

เวียดนามได้คำรับประกันอีกครั้งถึงการที่สหรัฐอเมริกายังคงบทบาทเป็น “หลักประกัน” เสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้จากทรัมป์ ในเวลาเดียวกันก็สามารถแถลงร่วมกับจีนตอกย้ำเป้าหมายร่วมในอันจะดำรงความเป็น “เพื่อนบ้านที่มั่นคงและสันติ” ร่วมกัน

ทางด้านเศรษฐกิจ เวียดนามได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการเยือนของทรัมป์ เป็นความตกลงด้านเครื่องยนต์และบริการเกี่ยวกับการบินและพลังงานมูลค่าสูงถึง 12,000 ล้านดอลลาร์

สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ระหว่างเอเปคหนนี้ มีการ “ปัดฝุ่น” ความตกลง “ทีพีพี” ที่เหมือนจะ “ตาย” ไปแล้ว หยิบยกขึ้นมาให้มีชีวิตอีกครั้งในชื่อใหม่ “ความตกลงก้าวหน้าเบ็ดเสร็จเพื่อหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชียแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)” โดยไม่มีสหรัฐอเมริกา

แต่มีเวียดนามเป็นหนึ่งใน 11 ประเทศภาคี

 

ในด้านความมั่นคงบนเวทีเอเปค ฝ่ายอเมริกันยังเสนอ “เวทีเจรจาด้านกลาโหมสี่ชาติ (คิวดีดี)” ที่ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่นและอินเดีย ที่เวียดนามให้ความสนใจอย่างแรงกล้า เพราะสามารถใช้เป็นหลังพิง ต้านอิทธิพลทางทหารของจีนได้เป็นอย่างดี

การบรรลุถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงเป็นเรื่องหนึ่ง ความท้าทายอย่างยิ่งก็คือ ทำอย่างไรถึงจะดำรงดุลยภาพนี้ให้ต่อเนื่องและยังประโยชน์ต่อไปได้

ไม่ให้ต้อง “เดินตามอเมริกา” ทุกย่างก้าวในอนาคต

นั่นเป็นเรื่องของวันข้างหน้า แต่ถึงตอนนี้ต้องยอมรับว่าเวียดนามใช้เวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ ทำ “แต้ม” ทางการทูตได้สูงมากแล้ว!