แฮปปี้เบิร์ธเดย์ 69 ปี ลุงตู่ 6 (ล้ม) หรือ 9 (หน้า) บนเส้นทางลุ้นนายกฯ

บทความในประเทศ

 

แฮปปี้เบิร์ธเดย์

69 ปี ลุงตู่

6 (ล้ม) หรือ 9 (หน้า)

บนเส้นทางลุ้นนายกฯ

 

เปิดให้พี่ใหญ่อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะผู้อาวุโสในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นตัวแทน ครม.ร่วมอวยพรวันคล้ายวันเกิดครบ 69 ปี เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมาของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สวมหมวกอีกใบเป็นประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) รอเพียงการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรค รทสช. อย่างเป็นทางการอีกหนึ่งตำแหน่ง เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้

การอวยพรวันคล้ายวันเกิด พล.อ.ประยุทธ์ ภายในทำเนียบรัฐบาล ช่วงระยะเวลาเกือบ 9 ปีเต็ม ในฐานะนายกรัฐมนตรี แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกที่พ่วงเก้าอี้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างปี 2557-2562 และต่อเนื่องมาถึงช่วงที่สอง หลังการเลือกตั้งระหว่างปี 2562-2566 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์นั่งเป็นนายกฯ ต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

แม้งานเบิร์ธเดย์เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา จะเกิดขึ้นภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศยุบสภาไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ก่อนหน้าวันเกิดเพียงหนึ่งวัน ทำให้อยู่ในสถานะรัฐบาลรักษาการ แต่มิตรภาพระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลยังคงแน่นแฟ้นหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่การวิเคราะห์และตีความของแต่ละฝ่าย

หากยึดตามมุมมองของ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านคำพูดภายหลัง ครม.เข้าร่วมอวยพรวันเกิด ซึ่งเจ้าตัวย่อมไม่คิดอะไรมาก ที่ระบุออกมาว่า

“ต้องขอบคุณ ครม. ที่ได้อวยพรวันคล้ายวันเกิดให้กับตนในนาม ครม. โดย พล.อ.ประวิตรได้นำอวยพรทุกครั้งทุกปี อันนี้ถือเป็นธรรมเนียมคนไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครม.ได้อยู่ด้วยกันมายาวนาน ความรักความผูกพันมันมีมามากกว่าอย่างอื่น หลายเรื่องพยายามอย่าให้เป็นการทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกันเลยก็แล้วกัน คำอวยพรก็เป็นคำอวยพรดีๆ ให้มีสุขภาพแข็งแรง ประสบความสำเร็จ อะไรทำนองนี้ ไม่มีแปลกประหลาดอะไรอย่างอื่น ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรในเรื่องการอวยพร”

 

ส่วนนัยยะของพรรคร่วมรัฐบาลที่แสดงออกอย่างชัดเจน คงไม่พ้นพรรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มี “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่โชว์ภาพสวมกอดแนบอกเจ้าของวันเกิดเพื่อสยบความกินแหนงแคลงใจระหว่างแกนนำพรรค ภท.กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ก่อนหน้านั้น “เสี่ยหนู” นำทีมแกนนำพรรค ได้แก่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรค ภท. และ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ส.ส.อุทัยธานี และรองหัวหน้าพรรค ภท. ร่วมรับประทานอาหารกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. เพื่อโชว์นัยยะปิดดีลการจับมือในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งระหว่างพรรค พปชร. กับพรรค ภท.

โดยภาพ “เสี่ยหนู” กอดแนบอก “บิ๊กตู่” ในวันคล้ายวันเกิด นัยยะหนึ่งคือ ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ และแกนนำพรรค รทสช. เกิดความสบายใจว่า พรรค ภท.ยังยืนยันที่จะจับมือกับขั้วเดิมก่อนในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้

โดย พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรค ภท.ไว้ว่า “มีความสุขทุกวันในการทำงานของ ครม. ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับ ครม.เลย ทุกพรรคการเมืองก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลมาโดยตลอด และเราไม่รักกันคงทำอะไรไม่สำเร็จหรอก 4-5 ปีที่ผ่านมาเยอะแยะ ก็ร่วมมือกัน รักกัน ไม่ได้ขัดแย้งกัน ยืนยันว่ากับพรรค ภท. ไม่มีอะไรอยู่แล้ว ส่วนการปิดดีลระหว่างพรรค พปชร.กับพรรค ภท.ที่มีภาพออกมานั้น ส่วนตัวไม่ไปดีลอะไรกับใครทั้งนั้น ยังเลือกตั้งไม่เสร็จเลย”

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังบอกกับ ครม.ทุกคนที่อยู่กันมาจนถึงการเป็น ครม.รักษาการว่า “ขอบคุณรัฐมนตรีทุกคนที่ทำงานร่วมกันมา ต่อให้ ครม.หมดอายุแล้ว แต่ไม่ใช่ยาหมดอายุ ครม.จึงต้องทำงานต่อไป ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จ และขอบคุณที่ทำงานร่วมกันมา 4 ปี”

 

คําพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สื่อถึง ครม.ทุกคน ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่า ถึง ครม.ชุดนี้จะหมดอายุไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ปฏิบัติหน้าที่ตามวาระ 4 ปี โดยอายุอานามของรัฐมนตรีแต่ละคน ยังไม่ใช่ยาหมดอายุ ยังสามารถทำงานและปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ นั่นเท่ากับว่า แม้นายกฯ ถึงปีนี้จะมีอายุ 69 ปีเต็ม แต่ก็พร้อมจะไปต่อในทางการเมือง ผ่านม็อตโตที่ พล.อ.ประยุทธ์กำหนดให้พรรค รทสช.ไปใช้หาเสียงว่า “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ”

แต่ พล.อ.ประยุทธ์จะก้าวหน้าไปในเส้นทางการเมืองได้หรือไม่ ก็คงต้องดูกันที่หน้างาน คือ ผลการเลือกตั้งที่จะออกมา ว่าพรรค รทสช.จะมีเสียงมากพอในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ เพราะต้องเจอกับขวากหนามและแรงเสียดทานทางการเมืองอยู่ไม่น้อย

ขั้นแรก พรรค รทสช.ต้องได้เสียง ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 25 เสียง ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 159 บัญญัติว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของสมาชิกที่มีอยู่ หรือ 25 คน จาก ส.ส.ทั้งหมด 500 คน

ขั้นที่สอง พรรค รทสช.ยังต้องลุ้นให้ได้เสียง ส.ส.มากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลเดิมหากคิดจะจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลกันอีกครั้ง เพราะหากพรรค รทสช.แม้จะได้เสียง ส.ส.มากกว่า 25 เสียง แต่ยังมีเสียงไม่มากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ทั้งพรรค ภท. พรรค พปชร. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

แน่นอนแกนนำพรรคร่วมดังกล่าวย่อมจะไม่ยอมให้พรรค รทสช.ดึงดันใช้ฉันทามติเสียงข้างน้อยมาฝืนตั้งนายกฯ อย่างแน่นอน

ส่วนขั้นที่สาม พรรค รทสช. และพรรคร่วมรัฐบาลในขั้วเดิม ต้องได้รับเลือกตั้งมีเสียง ส.ส.รวมกันแล้วในฝั่งเดิมใกล้เคียงกับตัวเลขปลอดภัย คือ 250 เสียง คือ กึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 500 คน เพราะถ้ารวมเสียง ส.ส.แล้ว เป้ายังห่างไกลกับเสียงที่จะช่วยให้รัฐบาลเดินหน้าทำงานได้ คือ ต้องไม่ต่ำกว่า 250 เสียง

หากจะดึงดันฝืนตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยใช้เสียง ส.ว.ทั้ง 250 คน มาโหวตตั้งนายกฯ ให้ได้ก่อน แล้วจึงเดินหน้าแผนดึงงูเห่าจากพรรคฝ่ายค้านมาเติมเสียงให้กับฝั่งรัฐบาล ย่อมเป็นเกมที่เสี่ยง นอกจากจะต้องใช้มันนี่โพลิติกส์อีกไม่น้อยในการค้ำยันรัฐบาล

อีกทั้งยังไม่ชัวร์ว่า “งูเห่า” จะเชื่อใจได้หรือไม่ หากแว้งกัดขึ้นมาเมื่อใดรัฐบาลย่อมถึงคราวรูดม่านเมื่อนั้น

คำตอบสุดท้ายที่จะชี้อนาคตการเมือง “บิ๊กตู่” ได้ชัดที่สุดว่าจะ 6 (ล้ม) หรือ 9 (หน้า) คือ ผลการเลือกตั้งที่ประชาชนจะเป็นผู้มอบฉันทามติให้ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้